30 ก.ค. 2021 เวลา 09:30 • การศึกษา
[ตอนที่ 34] แนะนำภาพรวมของภาษาฝรั่งเศส
An overview of French language
สำหรับเนื้อหาตอนที่ 10 ของซีรีส์ "ภาษาละตินเเละกลุ่มภาษาโรมานซ์" จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ "ภาษาฝรั่งเศส" ภาษาสมาชิกในกลุ่มภาษาโรมานซ์อีกภาษาที่มีผู้ใช้จำนวนมากและใช้กันแพร่หลายในระดับนานาชาติ ให้คนอ่านได้เข้าใจและเห็นภาพถึงลักษณะเฉพาะ ความสำคัญ ประวัติความเป็นมา รวมถึงตัวอย่างไวยากรณ์ในภาษาฝรั่งเศสครับ
ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น...เชิญอ่านกันได้เลยครับ
Parlez-vous français? ประโยคคำถามภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “คุณพูดภาษาฝรั่งเศสไหม?” [ที่มาของภาพ : www.alpadia.com]
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ : เพลง "Voilà" เพลงแบบช็องซง (Chanson) ซึ่งเป็นเพลงแนวที่เน้นเสียงเนื้อร้องของฝรั่งเศส โดย Barbara Pravi ศิลปินตัวแทนประเทศฝรั่งเศสที่ร่วมการประกวดเพลงระดับยุโรป Eurovision เมื่อปี ค.ศ.2021 ที่เมืองรอตเทอร์ดัม เนเธอร์แลนด์
ภาษาฝรั่งเศส (ชื่อในภาษาอังกฤษ : French / ชื่อในภาษาฝรั่งเศส : Langue française หรือ Français) เป็นภาษาสมาชิกในกลุ่มภาษาโรมานซ์ (Romance languages) ที่สืบทอดมาจากภาษาละตินสามัญ (Vulgar Latin : ภาษาละตินแบบภาษาพูดในระดับสามัญชนคนทั่วไปในจักรวรรดิโรมัน) ร่วมกับภาษาโปรตุเกส ภาษาสเปน ภาษาอิตาลี และภาษาโรมาเนีย
หากพิจารณาภาษาต่าง ๆ ในกลุ่มภาษาโรมานซ์ให้แคบและย่อยลงไปเฉพาะแถบดินแดนกอล (Gaul : ดินแดนประเทศฝรั่งเศส เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก สวิตเซอร์แลนด์และตอนเหนือของอิตาลี ที่กลุ่มชนชาวเคลต์เคยอาศัยในอดีต) จะเรียกว่า “กลุ่มภาษากอลโล-โรมานซ์” (Gallo-Romance) เมื่อแบ่งย่อยลงไปอีกจะแบ่งชื่อตามคำว่า “ใช่” ในภาษาต่าง ๆ (ยกเว้นกลุ่ม Franco-Provençal) ได้แก่...
แผนที่ดินแดนกอล (Gaul / Gallia) ในช่วงเริ่มสงครามกอลในปีที่ 58-50 ก่อนคริสตกาล ที่จบลงด้วยการผนวกดินแดนกอลเข้ามาในสาธารณรัฐโรมัน และแบ่งดินแดนกอลออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ Gallia Belgica, Gallia Celtica, Gallia Cisalpina, Gallia Narbonensis และ Gallia Aquitania [Credit แผนที่ : User 'Feitscherg' @ Wikipedia]
- กลุ่มภาษา oïl (Langues d'oïl) : กลุ่มภาษาหรือสำเนียงต่าง ๆ ทางตอนเหนือของฝรั่งเศสและทางตอนใต้ของเบลเยียม ซึ่งกลุ่มภาษา oïl ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8-14 จะมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “ภาษาฝรั่งเศสเก่า” (Old French) สำเนียงภาษาในกลุ่มนี้ที่เคยใช้ในแคว้นอีล-เดอ-ฟร็องส์ (Île-de-France) ที่มีศูนย์กลางที่กรุงปารีส เรียกว่า “ภาษาฟร็องเซียง” (Francien) ซึ่งจะวิวัฒนาการกลายเป็น “ภาษาฝรั่งเศสสมัยกลาง” (Middle French) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 และเป็นรากฐานของภาษาฝรั่งเศสมาตรฐานในปัจจุบัน
แผนที่ทางตอนเหนือของฝรั่งเศสแสดงพื้นที่ที่มีคนใช้ภาษาสำเนียงต่าง ๆ ในกลุ่มภาษา oïl รวมถึงภาษาฟร็องเซียง (Francien) ในแถบกรุงปารีส [Credit แผนที่ : User 'Vida Nova' @ WIkimedia.org]
- ภาษาอุตซิตา (Occitan หรือ Langue d'oc) : ภาษาท้องถิ่นทางตอนใต้ของฝรั่งเศส
- กลุ่มภาษา Franco-Provençal (Arpitan) : กลุ่มภาษาสำเนียงต่าง ๆ ทางตะวันออกของฝรั่งเศสและทางตะวันตกของสวิตเซอร์แลนด์
แผนที่ประเทศฝรั่งเศส แสดงพื้นที่ท้องถิ่นต่าง ๆ เช่น กลุ่มภาษา oïl (Langues d'oïl), ภาษาอุตซิตา (Occitan) และกลุ่มภาษา Franco-Provençal (Arpitan) ส่วนพื้นที่สีแดง "Croissant" (แปลว่า "เสี้ยวจันทร์") เป็นรอยต่อระหว่างพื้นที่กลุ่มภาษา oïl กับภาษาอุตซิตา ส่วนพื้นที่สีม่วงทางตะวันตกเป็นพื้นที่ภาษาเบรอตง (Breton) ซึ่งอยู่ในกลุ่มภาษาเคลต์ [Credit แผนที่ : User 'Vida Nova' @ WIkimedia.org]
จากประวัติศาสตร์ของดินแดนกอลจนกระทั่งกลายเป็นประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบัน ทำให้นอกจากอิทธิพลของภาษาละตินสามัญแล้ว ภาษาฝรั่งเศสยังได้รับอิทธิพลจากภาษากอล (Gaulish) ในกลุ่มภาษาเคลต์ (ผ่านกลุ่มชนชาวเคลต์ที่เคยตั้งถิ่นฐานในดินแดนกอลก่อนโรมันจะเข้ามา) และภาษาแฟรงก์ (Frankish ผ่านกลุ่มชนชาวเยอรมานิกที่เข้ามารุกรานดินแดนกอลช่วงจักรวรรดิโรมันล่มสลาย ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 5)
ตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการของฝรั่งเศสคือ พระราชกฤษฎีกาวีแลร์-ก็อตแร (Ordonnance de Villers-Cotterêts) ที่ประกาศใช้ในฝรั่งเศสสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา เมื่อปี ค.ศ.1539 ที่บังคับเปลี่ยนจากใช้ภาษาละตินไปใช้ภาษาฝรั่งเศสแทนในการเขียนเอกสารทางราชการและกฎหมาย ทำให้คนฝรั่งเศสหันมาใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาเขียนมากขึ้น แต่คนฝรั่งเศสในแต่ละท้องถิ่นยังคงใช้ภาษาพูดตามภาษาท้องถิ่นของตน จึงยังมีอุปสรรคในการติดต่อสื่อสารกันระหว่างคนท้องถิ่นต่าง ๆ ในฝรั่งเศส
เนื้อหาที่ตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ.1539 ในพระราชกฤษฎีกาวีแลร์-ก็อตแร มาตรา 111 การอ่านออกเสียงและการร่างเอกสารทางกฏหมายทุกฉบับต้องเป็นภาษาฝรั่งเศส (CXI. De prononcer & expedier tous actes en langage francoys.)
ขณะที่กลุ่ม La Pléiade “ลา เปลยาด” กลุ่มกวีชาวฝรั่งเศสในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ได้ออกเอกสารประกาศด้านหลักวรรณกรรม “การปกป้องและแสดงตัวอย่างภาษาฝรั่งเศส” (La Défense et illustration de la langue française) ในปี ค.ศ.1549 ซึ่งมีการเสนอคำศัพท์จำนวนมากมาใช้ในภาษาฝรั่งเศส
รัฐบาลฝรั่งเศสพยายามลดความแตกต่างระหว่างภาษาในท้องถิ่นต่าง ๆ สร้างและผลักดันภาษาฝรั่งเศสให้มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงได้ก่อตั้ง “สถาบันภาษาฝรั่งเศส” (L’Académie française) ในปี ค.ศ.1635 โดยเป็นหน่วยงานที่มีสมาชิกจากนักปราชญ์และผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง งานส่วนหนึ่งของหน่วยงานนี้ ได้แก่...
อาคารบัณฑิตยสถานฝรั่งเศส (Institut de France) ในกรุงปารีส ซึ่งมี “สถาบันภาษาฝรั่งเศส” (L’Académie française) เป็นหนึ่งในหน่วยงานย่อยในปัจจุบัน [Credit ภาพ : User 'Benh LIEU SONG' @ Wikimedia.org]
- ความพยายามรักษา “ความเป็นฝรั่งเศส” ของภาษา (ซึ่งเป็นงานด้านภาษาที่ออกไปทางอนุรักษ์นิยม) ซึ่งในปัจจุบันนี้ สถาบันภาษาฝรั่งเศสรับผิดชอบงานประมวลและปรับปรุงคำศัพท์ภาษาฝรั่งเศสในพจนานุกรมฉบับสถาบันภาษาฝรั่งเศส (Dictionnaire de l'Académie française) และขจัดคำศัพท์ที่ไม่เหมาะสมต่อความเป็นฝรั่งเศสของภาษา
หน้าปกของพจนานุกรมฉบับสถาบันภาษาฝรั่งเศส (Dictionnaire de l'Académie française) ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 6 ค.ศ.1835
- การตัดสินให้อ้างอิงภาษาฝรั่งเศสมาตรฐานจากภาษาฟร็องเซียง (หนึ่งในสมาชิกกลุ่มภาษา oïl) ที่ใช้ในแถบกรุงปารีส ศูนย์กลางการบริหารราชการและการเมืองของฝรั่งเศส
กลับมาที่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งคนฝรั่งเศสฝั่งเหนือใช้กลุ่มภาษา oïl คนฝรั่งเศสฝั่งใต้ (แคว้นอ็อกซีตานี (Occitanie)) ใช้ภาษาอุตซิตา ทางราชสำนักกรุงปารีสมองว่าการใช้ภาษาอุตซิตาในทางฝั่งใต้เป็นภัยต่อความมั่นคงของอำนาจกษัตริย์ นโยบายการบังคับใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการหนึ่งเดียวของชาติในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 จึงเป็นไปเพื่อรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางที่กรุงปารีส ซึ่งในประวัติศาสตร์ก่อนหน้านี้ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 อาณาจักรฝรั่งเศสร่วมกับคริสตจักรโรมันคาทอลิกที่กรุงโรม ทำสงครามครูเสดกับแคว้นอ็อกซีตานีที่ประชาชนนับถือศาสนาคริสต์ลัทธิแกตาร์ (Catharism) ที่ศาสนจักรกรุงโรมมองว่าเป็นลัทธินอกรีต จนชาวอ็อกซีตานีถูกปล้นฆ่าไปเป็นจำนวนมาก
ภาพถ่ายมุมสูงของเมืองการ์กาซอน (Carcassonne) หนึ่งในพื้นที่สู้รบในสงครามครูเสดในตอนใต้ของฝรั่งเศส ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 [Credit ภาพ : User 'Chensiyuan' @ Wikipedia.org]
แม้ความพยายามจะลดการใช้ภาษาอุตซิตาและภาษาถิ่นอื่น ๆ ในนโยบายรัฐของฝรั่งเศสจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะยุติลงในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 เช่น การกำหนดห้ามนักเรียนใช้ภาษาถิ่นตามโรงเรียนในฝรั่งเศสที่สิ้นสุดลงในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 ก่อนที่จะมีการฟื้นฟูและอนุรักษ์ภาษาถิ่นในฝรั่งเศส และในปัจจุบันนี้ ภาษาถิ่นต่าง ๆ ก็ยังคงมีคนใช้งานอยู่ในฝรั่งเศส
ฝรั่งเศสในฐานะดินแดนเพื่อนบ้านที่มีประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับอังกฤษ ส่งผลให้ภาษาฝรั่งเศสมีอิทธิพลต่อภาษาอังกฤษ แม้ว่าทั้งสองภาษานี้จะอยู่คนละกลุ่มภาษาก็ตาม (ภาษาฝรั่งเศสอยู่ในกลุ่มภาษาโรมานซ์ ส่วนภาษาอังกฤษอยู่ในกลุ่มภาษาเยอรมานิก)
ตราแผ่นดินของสหราชอาณาจักร มีภาษาฝรั่งเศสในภาษิตประจำพระมหากษัตริย์ว่า Dieu et Mon Droit (พระเจ้าและสิทธิ์แห่งข้า) และคำขวัญของเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ว่า Honi soit qui mal y pense (ความละอายจงมาเยือนผู้ใดที่คิดร้าย)**
การบุกพิชิตอังกฤษของชาวนอร์มันจากแผ่นดินฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1066 ทำให้คำศัพท์จากภาษาฝรั่งเศสเก่า (Old French) และภาษานอร์มัน (Norman) เข้ามาในภาษาอังกฤษสมัยกลาง (Middle English) ระลอกใหญ่หลังจากนั้น ซึ่งคำที่อังกฤษรับมาจากฝรั่งเศสมีประมาณ 1 ใน 3 ของคำในภาษาอังกฤษสมัยใหม่ และเนื่องจากภาษาละตินเป็นรากฐานแฝงอยู่ในภาษาฝรั่งเศส ภาษาฝรั่งเศสจึงกลายเป็นตัวกลางให้อิทธิพลคำภาษาละตินเข้าไปในภาษาอังกฤษด้วย
แผนที่แสดงพื้นที่ที่ชาวนอร์มันผู้พูดภาษานอร์มันอาศัยอยู่ทางชายฝั่งตอนเหนือของฝรั่งเศส [Credit แผนที่ : User 'Carport' @ Wikimedia]
ในทางกลับกัน ภาษาอังกฤษก็เข้ามามีอิทธิพลในภาษาฝรั่งเศส ในช่วงที่ชาติในกลุ่มที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก (Anglophones) ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก อย่างจักรวรรดิบริติช (British empire) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 - ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 และสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 จนคนฝรั่งเศสรับคำศัพท์ในภาษาอังกฤษเข้ามาใช้ โดยเฉพาะคำศัพท์ด้านธุรกิจ IT วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนเกิดภาษาฝรั่งเศสปนอังกฤษที่เรียกว่า Le franglais (มาจากชื่อภาษาทั้งสองในภาษาฝรั่งเศส Français และ Anglais)
ทางสถาบันภาษาฝรั่งเศสและรัฐบาลฝรั่งเศสพยายามลดการใช้ภาษาฝรั่งเศสปนภาษาอังกฤษในสังคมเพื่อรักษา “ความเป็นฝรั่งเศส” ของภาษาไว้ อย่างการประกาศห้ามใช้คำภาษาอังกฤษในเอกสารทางราชการ หรือการออกกฎหมายในปี ค.ศ.1994 ให้เพลงที่เปิดในรายการวิทยุของสถานีวิทยุในฝรั่งเศสต้องเป็นเพลงภาษาฝรั่งเศสไม่น้อยกว่า 40%
- ตัวอย่างเพลงภาษาฝรั่งเศสล้วน ที่ฝรั่งเศสส่งเข้าร่วมการประกวดเพลงนานาชาติ : เพลง "Et S'il Fallait Le Faire" เพลงแบบช็องซง (Chanson) และแจ๊ส โดย Patricia Kaas ศิลปินตัวแทนประเทศฝรั่งเศสที่ร่วมการประกวดเพลงระดับยุโรป Eurovision เมื่อปี ค.ศ.2009 ที่กรุงมอสโก รัสเซีย
- ตัวอย่างเพลงภาษาฝรั่งเศสกับภาษาอังกฤษ ที่ฝรั่งเศสส่งเข้าร่วมการประกวดเพลงนานาชาติ : Official MV ของเพลง "J'ai cherché" เพลงแบบดนตรีป๊อปโดย Amir ศิลปินตัวแทนประเทศฝรั่งเศสที่ร่วมการประกวดเพลงระดับยุโรป Eurovision เมื่อปี ค.ศ.2016 ที่กรุงสต็อกโฮล์ม สวีเดน
สำหรับภูมิภาคยุโรปนั้น ภาษาฝรั่งเศสมีประวัติศาสตร์ยาวนานในฐานะ “ภาษากลางระดับนานาชาติ” ในวงการวรรณกรรม วิทยาศาสตร์ และการทูต (ก่อนถูกแทนที่ด้วยภาษาอังกฤษในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20) ด้วยปัจจัย ดังนี้...
- ภาษาฝรั่งเศสเคยเป็นภาษาที่นิยมใช้กันในหมู่ชนชั้นสูงและผู้ได้รับการศึกษาในยุโรปต่อจากภาษาละติน โดยเฉพาะในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 – 18 เหล่าชนชั้นสูงตามราชสำนักชาติต่าง ๆ ในยุโรปส่วนใหญ่ (อย่างปรัสเซีย ออสเตรีย รัสเซีย) ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษากลางในการติดต่อกับชนชั้นสูงในชาติยุโรปอื่น ๆ
ภาพวาดสีน้ำมันใน ค.ศ.1812 วาดโดย Anicet Charles Gabriel Lemonnier แสดงการพบปะสังสรรค์ของชนชั้นสูงเพื่อฟังงานเขียนของวอลแตร์ (Voltaire) นักเขียนและนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ซึ่งการพบปะโดยมีเจ้าภาพเพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนและเพิ่มพูนความรู้ในชุมชนเมืองของฝรั่งเศสเรียกว่า "ซาลอง" (Salon) เป็นธรรมเนียมการเคลื่อนไหวทางวรรณกรรมและปรัชญาในฝรั่งเศส ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-19
- ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 - 19 ฝรั่งเศสเป็นชาติชั้นนำของยุโรปในด้านศิลปะ วรรณกรรม และวัฒนธรรม แม้ว่าจะชะงักงันระหว่างทางในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส (ค.ศ.1789-1799) อีกทั้งฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในชาติยุโรปที่วงการนักปราชญ์และนักวิทยาศาสตร์ผลักดันให้เกิด “ยุคเรืองปัญญา” (Siècle des Lumières) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 – 18 ซึ่งแวดวงเหล่านี้พยายามปฏิรูปสังคมด้วยการส่งเสริมการใช้เหตุผลและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มากกว่าหลักจารีตและความเชื่อ อย่างเช่น เรอเน เดการ์ต (René Descartes) นักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เจ้าของวาทะ “เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่” (je pense, donc je suis) ในปี ค.ศ.1637 ที่ได้กลายเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของปรัชญาตะวันตก
ส่วนบทบาทของภาษาฝรั่งเศสในภูมิภาคยุโรปนั้นยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน โดยเป็นภาษาต่างประเทศที่มีจำนวนผู้ใช้และผู้เรียนมากเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) รองจากภาษาอังกฤษ ขณะที่สถาบันต่าง ๆ ภายใต้ EU จะใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาในการทำงานควบคู่กับภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมัน แต่หน่วยงานบางแห่งอย่างศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (CJEU) ก็ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาในการทำงานเพียงภาษาเดียว
การออกหาอาณานิคมของฝรั่งเศสในประวัติศาสตร์ ทำให้ภาษาฝรั่งเศสไม่ได้จำกัดการใช้เป็นภาษาราชการอยู่แต่ในทวีปยุโรป (ประเทศฝรั่งเศส โมนาโก สวิตเซอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์กและเบลเยียม) อย่างเดียว แต่ยังใช้เป็นภาษาราชการในภูมิภาคอื่น เช่น...
- ทวีปแอฟริกา (21 ประเทศ ในแถบแอฟริกาตะวันตก แอฟริกากลาง เกาะต่าง ๆ ทางตะวันออกของทวีป)
- ทวีปอเมริกา (แคนาดา โดยเฉพาะรัฐควิเบกทางตะวันออกของประเทศ, เฮติในทะเลแคริบเบียน)
- มหาสมุทรแปซิฟิก (วานูอาตู)
ภาษาฝรั่งเศสยังเป็นภาษาที่มีจำนวนผู้ใช้มากเป็นอันดับ 7 ของโลก ด้วยประชากรผู้ใช้ 267 ล้านคน (แบ่งเป็นผู้ใช้เป็นภาษาแม่ 80 ล้านคน และผู้ใช้เป็นภาษาที่สอง 187 ล้านคน) ซึ่งยังไม่นับกรณีที่ภาษาฝรั่งเศสเกิดการผสมผสานกับภาษาท้องถิ่นของดินแดนอดีตอาณานิคมเกิดเป็น “ภาษาครีโอลที่มีรากฐานจากภาษาฝรั่งเศส” (French-based creole languages) เช่น ภาษาครีโอลเฮติ (Haitian creole)
แผนที่โลกแสดงพื้นที่ที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสในกรณีต่าง ๆ เช่น ใช้เป็นภาษาหลัก (พื้นที่สีน้ำเงิน) ใช้เป็นภาษาทางราชการแต่ไม่ใช่ภาษาที่ประชากรส่วนใหญ่ใช้เป็นหลัก (พื้นที่สีฟ้าเข้ม) ใช้เป็นภาษาที่สอง (พื้นที่สีฟ้าอ่อน) และใช้ในกลุ่มชนส่วนน้อย (สัญลักษณ์สีเขียวอ่อน) โดยแผนที่นี้แสดงส่วนหนึ่งของทวีปแอนตาร์ติกาที่ฝรั่งเศสอ้างสิทธิ์ด้วย [Credit แผนที่ : User 'Axtoche' @ Wikipedia.org]
คนที่พูดภาษาฝรั่งเศสและกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสในการสื่อสาร จะเรียกว่า Francophone ซึ่งกลุ่มประเทศดังกล่าวได้ก่อตั้ง “องค์การกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสระหว่างประเทศ” (Organisation international de la Francophonie : OIF) เพื่อความร่วมมือด้านวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ กระบวนการยุติธรรม และสันติภาพระหว่างกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส
จำนวนประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการมีมากถึง 29 ประเทศ ส่งผลให้ภาษาฝรั่งเศสยังคงมีความสำคัญในระดับนานาชาติในปัจจุบัน จนเป็น 1 ใน 6 ภาษาทางการที่ใช้ในสหประชาชาติ ขณะที่องค์กรระหว่างประเทศระดับนานาชาติหลายแห่งยังคงใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในภาษาทางการ เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) หรือคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)
สำหรับตัวอย่างของไวยากรณ์ในภาษาฝรั่งเศสที่เด่นชัด ได้แก่...
1) ประโยคบอกเล่าส่วนใหญ่มักมีโครงสร้างประโยคเป็นแบบ SVO (ประธาน-กริยา-กรรม) คล้ายภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
2) มักมีคำ ne (ใกล้เคียงคำว่า no ในภาษาอังกฤษ) ในประโยคปฏิเสธ หากคำว่า ne นำหน้าคำที่ขึ้นต้นด้วยสระ จะลดรูปเหลือ n’ ซึ่งบางครั้งมีคำว่า pas ร่วมในประโยคด้วย
3) คำนามในภาษาฝรั่งเศสมีเพศทางไวยากรณ์ (Grammatical gender / Genre grammatical) คือ เพศชายและเพศหญิง
4) คำนำหน้านาม (Article) จะเปลี่ยนแปลงไปตามเพศทางไวยากรณ์ของคำนาม ประกอบด้วยแบบชี้เฉพาะ (คล้าย “The” ในภาษาอังกฤษ) และแบบไม่ชี้เฉพาะ (คล้าย “A” กับ “An” ในภาษาอังกฤษ)
5) คำคุณศัพท์ (Adjective / Adjectif) ผันตามเพศทางไวยากรณ์ของคำนาม
6) คำกริยาในภาษาฝรั่งเศส จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ลงท้ายด้วย -er, -ir และ -re ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีการผันท้ายคำกริยาแตกต่างกัน
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านคงจะพอเห็นภาพรวมของ "ภาษาฝรั่งเศส" ในฐานะภาษาสำคัญภาษาหนึ่งในกลุ่มภาษาโรมานซ์ เข้าใจและเห็นภาพถึงลักษณะเฉพาะ บทบาทความสำคัญ ประวัติความเป็นมา ภาษาสำเนียงต่าง ๆ ในประเทศฝรั่งเศส อิทธิพลระหว่างภาษาฝรั่งเศส-ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศสในทวีปยุโรปและระดับนานาชาติ รวมถึงตัวอย่างไวยากรณ์ในภาษาฝรั่งเศสครับ
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
[แหล่งที่มาของข้อมูล]
- Jean-Claude Arragon. Perfect Your French. London, UK: Hodder Education; 2011.
- Celia Dixie. French : language, life & culture. London, UK: Hodder & Stoughton Educational; 2000.
- Western Europe : Phrasebook & Dictionary. Lonely Planet; 2013.
โฆษณา