25 มิ.ย. 2021 เวลา 09:30 • การศึกษา
[ตอนที่ 29] แนะนำภาพรวมของภาษาสเปนฝั่งละตินอเมริกา
An overview of Latin American Spanish Language
สำหรับเนื้อหาตอนที่ 9 ของซีรีส์ "ภาษาละตินเเละกลุ่มภาษาโรมานซ์" จะมายังหัวข้อเกี่ยวกับภาษาสเปน แต่เป็นเรื่องภาพรวมของภาษาสเปนฝั่งละตินอเมริกา และความแตกต่างของภาษาสเปนฝั่งนี้จากภาษาสเปนในประเทศสเปน ซึ่งอาจช่วยให้เราแยกภาษาสเปนทั้งสองฝั่งได้ดีขึ้น โดยมีเรื่องการออกเสียง คำศัพท์ และไวยากรณ์
ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น...เชิญอ่านกันได้เลยครับ
[ที่มาของภาพ : www.ibc.org]
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ : เพลง "Despacito" เพลงภาษาสเปนที่ออกมาใน ค.ศ.2017 โดย Luis Fonsi และ Daddy Yankee ศิลปินชาวปวยร์โตรีโก
แม้ว่าภาษาสเปน (Spanish หรือคำเรียกในภาษาสเปนว่า “Español” หรือ “Castellano”) เป็นภาษาที่มีผู้ใช้เป็นภาษาแม่มากถึง 489 ล้านคนทั่วโลก แต่ผู้ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาแม่ส่วนใหญ่กลับเป็นคนจากภูมิภาคละตินอเมริกา ตั้งแต่ประเทศเม็กซิโก กลุ่มประเทศอเมริกากลาง หมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน และทวีปอเมริกาใต้ รวมถึงบางรัฐในสหรัฐฯ (โดยเฉพาะรัฐฟลอริดา เท็กซัส นิวเม็กซิโก แอริโซนา แคลิฟอร์เนีย และเนวาดา) แทนที่จะเป็นคนในประเทศสเปนตามชื่อภาษา
ประเทศที่มีประชากรใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาแม่ (native speakers) มากที่สุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย...
1) เม็กซิโก 119.6 ล้านคน
2) โคลอมเบีย 50.2 ล้านคน
3) อาร์เจนตินา 44.3 ล้านคน
4) สเปน 43.5 ล้านคน
5) สหรัฐฯ 41.8 ล้านคน (ประมาณ 13.5% ของประชากรสหรัฐฯ ทั้งหมด)
แผนที่แสดงทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ พร้อมสีที่สื่อถึงสัดส่วนของประชากรที่พูดภาษาสเปนในแต่ละพื้นที่ โดยอาศัยข้อมูลช่วงคริสต์ทศวรรษ 2010 [Credit แผนที่ : User 'Giggette' @ Wikipedia.org]
แม้หากเราเรียนภาษาสเปนฝั่งประเทศสเปน (Castilian Spanish) มาก่อน ก็สามารถใช้สื่อสารกับคนจากทวีปอเมริกาเหนือหรืออเมริกาใต้ที่ใช้ภาษาสเปนฝั่งละตินอเมริกา (Latin American Spanish) พอได้ ซึ่งความแตกต่างระหว่างภาษาสเปนทั้งสองฝั่งจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับความแตกต่างและระหว่างภาษาอังกฤษฝั่งต่าง ๆ (บริติช อเมริกัน แคนาดา ออสเตรเลีย) หรือภาษาโปรตุเกสฝั่งยุโรป-ฝั่งบราซิล
นอกจากนี้ ยังมีความแตกต่างระหว่างภาษาสเปนฝั่งละตินอเมริกาด้วยกันเอง เนื่องจากภูมิภาคละตินอเมริกามีพื้นที่กว้างมาก ตั้งแต่เม็กซิโก กลุ่มประเทศอเมริกากลาง หมู่เกาะทะเลแคริบเบียน และทวีปอเมริกาใต้ (จากโคลอมเบียไล่ลงไปจนถึงชิลี-อาร์เจนตินา) จึงมีกลุ่มชนท้องถิ่นที่แตกต่างกัน (เช่น กลุ่มคนมายาในเม็กซิโก หรือกลุ่มคนเคชัวในเปรู) รวมไปถึงการย้ายถิ่นฐานเข้ามาของผู้คนจากทวีปแอฟริกาและชาติยุโรปชาติอื่น ๆ (เช่น คนอิตาลีที่เคยอพยพเข้าอาร์เจนตินา) ภาษาสเปนในแต่ละพื้นที่จึงมีวิวัฒนาการของตนเอง และได้รับอิทธิพลจากภาษาอื่นแตกต่างกันไป
แผนที่ทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ แสดงพื้นที่ที่มีผู้พูดภาษาสเปนฝั่งละตินอเมริกาเป็นกลุ่มต่าง ๆ เช่น ภาษาสเปนฝั่งอเมริกาเหนือ-อเมริกากลาง (สีส้มเข้ม) ภาษาสเปนฝั่งทะเลแคริบเบียน (สีฟ้า) ภาษาสเปนฝั่งอเมริกาใต้ ที่แบ่งย่อยเป็นแถบเทือกเขาแอนดีส (สีส้มอ่อน) แถบประเทศชิลี (สีชมพู) และแถบปากน้ำริโอเดลาปลาตา (สีเหลือง) [ที่มาของแผนที่ : https://cvc.cervantes.es/lengua/espanol_economia/02.htm ]
ในทางภาษาศาสตร์ สามารถแบ่งภาษาสเปนฝั่งละตินอเมริกาออกเป็นกลุ่มภาษาสเปนแบบที่ใช้ในพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้
- ภาษาสเปนฝั่งอเมริกาเหนือ (สหรัฐฯ และเม็กซิโก)
- ภาษาสเปนฝั่งอเมริกากลาง (เบลีซ กัวเตมาลา เอลซัลวาดอร์ ฮอนดูรัส นิการากัว คอสตาริกา และปานามา)
- ภาษาสเปนฝั่งทะเลแคริบเบียน (คิวบา สาธารณรัฐโดมินิกัน และปวยร์โตรีโก)
- ภาษาสเปนฝั่งอเมริกาใต้ ที่สามารถแบ่งกลุ่มภาษาสเปนย่อยลงไปอีก เช่น ภาษาสเปนแถบปากน้ำริโอเดลาปลาตา (อาร์เจนตินาและอุรุกวัย) หรือภาษาสเปนแถบเทือกเขาแอนดีส (พื้นที่สูงจากโคลอมเบีย เอกวาดอร์ เปรู โบลิเวีย และชิลี)
ความแตกต่างระหว่างภาษาสเปนดังกล่าว มักปรากฏในรูปแบบต่าง ๆ ของภาษาพูด ดังนี้
- การออกเสียง
- คำศัพท์
- ไวยากรณ์
[1. การออกเสียง]
ความแตกต่างในการออกเสียงที่เด่นชัดระหว่างภาษาสเปนสองฝั่งอยู่ที่เสียงพยัญชนะต้น C (เมื่อนำหน้าสระ E กับ I) และ Z
- ภาษาสเปนฝั่งประเทศสเปน : มีตัว IPA เป็น /θ/ เป็นเสียงเสียดแทรกที่ฟัน (วางลิ้นระหว่างฟันบนกับฟันล่าง แล้วพูดให้ลมออกระหว่างฟัน) เหมือนเสียง th ในภาษาอังกฤษ
- ภาษาสเปนฝั่งละตินอเมริกา : มีตัว IPA เป็น /s/ ซึ่งปลายลิ้นจะวางที่ปุ่มเหงือก (เหงือกที่อยู่หลังสองฟันบนตรงกลาง) และเหมือนเสียง s ในภาษาอังกฤษ กับ “ซ” ในภาษาไทย
อย่างไรก็ตาม อักษรไทยไม่สามารถใช้เขียนทับศัพท์เพื่อแยกเสียงตาม IPA ของเสียงภาษาสเปน /θ/ กับ /s/ ได้ คนไทยฟังเสียงภาษาสเปนสองเสียงนี้เป็นเสียง ซ ทั้งคู่
นอกจากการออกเสียงพยัญชนะต้น C กับ Z แล้ว ยังมีการออกเสียงตัวอักษรในรุปแบบเฉพาะตัวของภาษาสเปนในท้องถิ่น เช่น ภาษาสเปนในประเทศชิลี หรือภาษาสเปนแถบปากน้ำริโอเดลาปลาตา รวมถึงความแตกต่างของการออกเสียงสูงต่ำในแต่ละพยางค์ (Intonation) ระหว่างภาษาสเปนแต่ละท้องถิ่นด้วย
[2. คำศัพท์]
ความเหมือนกันหรือความแตกต่างกันระหว่างคำศัพท์ภาษาสเปนทั้งสองฝั่ง มีประเด็นต่าง ๆ ได้แก่
- อิทธิพลจากภาษากลุ่มชนท้องถิ่น : ภาษาสเปนฝั่งละตินอเมริกาได้รับคำยืมจากภาษากลุ่มชนท้องถิ่นต่าง ๆ ในภูมิภาค คำยืมเหล่านี้ส่วนหนึ่งส่งต่อไปยังภาษาสเปนฝั่งประเทศสเปน จนถึงภาษาตะวันตกภาษาอื่น ๆ
- คำภาษาสเปนส่วนที่ใช้ต่างกันระหว่างประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคละตินอเมริกาด้วยกันเอง
คำกริยาคำเดียวกันสามารถมีความหมายแตกต่างกันระหว่างฝั่งประเทศสเปนกับฝั่งละตินอเมริกา ทำให้ต้องระวังการใช้งาน เช่น คำกริยา “Coger”
ประเทศสเปน : ขึ้นรถ โดยสารรถ (to take, catch)
ประเทศที่ใช้ภาษาสเปนเป็นหลักในภูมิภาคละตินอเมริกาส่วนใหญ่ : การมีเพศสัมพันธ์ การผิดประเวณี (คำแสลง)
ดังนั้น หากเราต้องการพูดประโยคว่า “ฉันจะโดยสารรถแท็กซี” (I’m going to take a taxi) ในประเทศสเปน จะใช้ Voy a coger un taxi. ได้ แต่ถ้าใช้ในภูมิภาคละตินอเมริกา ควรเปลี่ยนเป็น Voy a tomar un taxi. จะปลอดภัยกว่า ซึ่งคำกริยา tomar มีความหมายตามภาษาอังกฤษว่า to take เช่นกัน
- คำภาษาสเปนที่ใช้เหมือนกันตามประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคละตินอเมริกา แต่แตกต่างออกไปจากภาษาสเปนในประเทศสเปน
- คำภาษาสเปนฝั่งละตินอเมริกาที่ใช้เหมือนกันกับภาษาสเปนฝั่งประเทศสเปน ซึ่งคำศัพท์ส่วนใหญ่ในภาษาสเปนฝั่งละตินอเมริกาจะเป็นกรณีนี้
[3. ไวยากรณ์]
ไวยากรณ์ภาษาสเปนฝั่งละตินอเมริกาส่วนใหญ่จะเหมือนกับภาษาสเปนฝั่งประเทศสเปน นอกจากประเด็นทางไวยากรณ์ที่แตกต่าง ดังนี้
- คำสรรพนามบุรุษที่ 2
คำสรรพนามบุรุษที่ 2 “คุณ / พวกคุณ” ในภาษาสเปนฝั่งประเทศสเปน :
Tú (เอกพจน์ – ใช้ในภาษาแบบเป็นกันเองกับเพื่อน คนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ผู้อาวุโสน้อยกว่า)
Usted (เอกพจน์ – ใช้ในภาษาแบบสุภาพทางการกับคนที่ไม่รู้จัก ผู้อาวุโสกว่า หัวหน้า/เจ้านาย)
Vosotros/Vosotras (พหูพจน์ – ใช้ในภาษาแบบเป็นกันเอง)
Ustedes (พหูพจน์ – ใช้ในภาษาแบบสุภาพทางการ)
ขณะที่ภาษาสเปนฝั่งละตินอเมริกา มักใช้คำ Ustedes กับสรรพนามบุรุษที่ 2 พหูพจน์ (พวกคุณ) ทั้งภาษาแบบเป็นกันเองและภาษาแบบสุภาพทางการ (ใช้ Ustedes แทน Vosotros/Vosotras)
ส่วนภาษาสเปนแถบปากน้ำริโอเดลาปลาตา ภาษาสเปนในปารากวัยกับฝั่งตะวันของโบลิเวีย และภาษาสเปนฝั่งอเมริกากลาง (กัวเตมาลา เอลซัลวาดอร์ ฮอนดูรัส นิการากัว และคอสตาริกา) จะนิยมใช้คำสรรพนามบุรุษที่ 2 “Vos” (คุณ) แทนคำว่า “Tú”
- การผันคำกริยาอดีตกาล สำหรับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นและจบลงไปไม่นาน
ภาษาสเปนฝั่งประเทศสเปนมักใช้ Present Perfect Tense ที่ใช้คำกริยาช่วย (auxiliary verb) คำว่า Haber (เทียบเท่า to have ในภาษาอังกฤษ) ขณะที่ภาษาสเปนฝั่งละตินอเมริกานิยมใช้ Past Simple Tense
ประโยคตัวอย่าง : ฉันกินส้มวันนี้ (I have eaten an orange today.)
ภาษาสเปนฝั่งประเทศสเปน : (Yo) he comido una naranja hoy.
ภาษาสเปนฝั่งละตินอเมริกา : (Yo) comí una naranja hoy.
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านคงจะพอเห็นภาพรวมของภาษาสเปนฝั่งละตินอเมริกา และความแตกต่างจากภาษาสเปนฝั่งประเทศสเปน ทั้งเรื่องการออกเสียง คำศัพท์ และไวยากรณ์ ซึ่งอาจช่วยให้เราแยกภาษาสเปนทั้งสองฝั่งได้ดีขึ้นครับ
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
[แหล่งที่มาข้อมูล]
- Juan Kattan-Ibarra. Complete Latin American Spanish. London, UK: Hodder Education; 2010.
- เพจ "ว่าด้วยเรื่องของภาษา" : https://www.facebook.com/languagesandlinguistics/posts/2404584116320442/
โฆษณา