31 ส.ค. 2021 เวลา 12:56 • สุขภาพ
ยาบำรุงเลือด 🩸 FBC และ Folic acid
แตกต่างกันอย่างไร?
หลายๆ คนน่าจะเคยได้รับยาบำรุงเลือด 2 ตัวนี้มาบ้าง เคยสงสัยมั้ยค่ะ เม็ดแดงๆรีๆ กับ เม็ดกลมเหลือง ต่างกันอย่างไร วันนี้สุขภาพดีไม่มีในขวดจะอธิบายความเหมือนและต่างแตกกันให้เข้าใจง่ายๆ ค่ะ
.
🔴 ยาบำรุงเลือด ยาเม็ดแดงอมน้ำตาล หรือ เม็ดสีดำมันเงา (แล้วแต่บริษัทผลิต) ในที่นี้ของยกตัวอย่างยี่ห้อ FBC
ประกอบด้วย :
Ferrous fumarate 200 mg (เทียบเท่าธาตุเหล็ก 66 mg), Vitamin B1 2 mg , Vitamin B2 2 mg , Vitamin B12 5 mcg , Vitamin C 20 mg , Niacin (B3) 10 mg , Folic acid 100 mcg และ phosphate tribasic 100 mg
** สังเกตว่ามีวิตามินหลากหลาย มีธาตุเหล็ก มี folic acid 100 mcg (ไมโครกรัม) **
ข้อบ่งใช้ในการรักษา :
✅ ป้องกันและรักษาผู้ป่วยภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
✅ ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในหญิงตั้งครรภ์ หรือเป็นธาตุเหล็กเสริมในหญิงตั้งครรภ์
.
🟡 ยาบำรุงเลือดเม็ดกลมเหลือง
ประกอบด้วย : Folic acid 5 mg (มิลลิกรัม)
** มีปริมาณ folic acid สูงกว่า FBC แต่ไม่มีวิตามินอื่น ไม่มีธาตุเหล็ก **
ข้อบ่งใช้ในการรักษา :
✅ ผู้ที่มีภาวะขาด Folic acid
✅ ภาวะโลหิตจางชนิด Megaloblastic anemia (ภาวะโลหิตจางจากการขาด Folic acid)
✅ ป้องกันภาวะ Neural Tube Defect (NTD) ในหญิงตั้งครรภ์ คือภาวะหลอดประสาทไม่ปิด เป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดของระบบประสาทส่วนกลางและไขสันหลัง พบได้บ่อยทารกแรกเกิดที่มารดาขาด folic acid
.
ความแตกต่างอื่นๆ และข้อห้ามใช้
เนื่องจากยาบำรุงเลือดทั้ง 2 ตัว ใช้ในการป้องกันและรักษาภาวะโลหิตจาง แต่หากมองแยกย่อยภาวะโลหิตจางนั้นมีหลายชนิด!! บางชนิดไม่แนะนำให้ใช้สูตรยาที่มีธาตุเหล็ก (Ferrous) เป็นส่วนประกอบ เช่น FBC
อาการเบื้องต้นของโรคโลหิตจางชนิดต่างๆ นั้นเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง ส่วนมากมักมีอาการซีดและอ่อนเพลียง่าย แต่จะมีโรคโลหิตจางชนิดที่ไม่ควรใช้ยา FBC ซึ่งก็คือโรคโลหิตจางที่เกิดจากการที่เม็ดเลือดแดงแตก เช่น "โรคธาลัสซีเมีย" 🩸
โรคธาลัสซีเมีย เมื่อเม็ดเลือดแดงแตก จะทำให้ธาตุเหล็กที่สะสมอยู่ในเม็ดเลือดถูกปลดปล่อยออกมา เหล็กเหล่านี้จะเป็นส่วนเกินไปสะสมอยู่ตามอวัยวะต่างๆของร่างกายโดยเฉพาะหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นเมื่อมีเหล็กมากเกินในกระแสเลือดอยู่แล้วจึงไม่ควรหรือห้ามรับประทานยากลุ่มที่มีส่วนประกอบของเหล็ก (ferrous) เพิ่มเข้าไปอีก แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องทาน folic เสริมเพื่อช่วยในการกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงขึ้นมาใหม่แทน (ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้รับการให้เลือดทดแทน) 💉
.
🩺 ดังนั้นหากผู้ป่วยที่มีอาการซีดและอ่อนเพลียง่ายและสงสัยว่าอาจจะเกี่ยวข้องเป็นโรคโลหิตจางแต่ไม่ทราบว่าตัวเองมีความผิดปกติหรือเป็นโลหิตจางชนิดใด จึงไม่ควรซื้อยาหรือแบ่งยาจากญาติหรือคนรู้จักมารับประทานเองนะคะ
.
👩🏻‍👧🏻‍👦🏻 กรณีการใช้ในหญิงตั้งครรภ์ Folic acid นั้นสามารถใช้ในหญิงตั้งครรภ์ตลอดระยะการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันภาวะความผิดปกติในการสร้างสมองและไขสันหลังของเด็ก โดยควรแนะนำให้ใช้ folic acid 0.4-0.5 mg/วัน โดยควรเริ่มทานติดต่อกันเป็นเวลา 2 เดือนก่อนเริ่มตั้งครรภ์ และสามารถทานต่อเนื่องได้ตลอดการตั้งครรภ์
.
🩸 สำหรับ FBC นั้นให้ในหญิงตั้งครรภ์เพื่อเป็นการเสริมธาตุเหล็ก โดยความต้องการปริมาณเหล็ก (iron element) ที่ต้องการต่อวันในหญิงตั้งครรภ์เท่ากับ 27 mg/วัน เพราะในช่วงตั้งครรภ์มารดามีความต้องการเหล็กเพิ่มขึ้นมากเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของมารดาและเด็กและเป็นการป้องกันภาวะโลหิตจางซึ่งอาจส่งผลต่อทารก ซึ่งจะทำให้น้ำหนักตัวทารกต่ำ หรือภูมิต้านทานโรคต่ำ ทั้งนี้ปริมาณและระยะเวลาที่ให้ขึ้นอยู่กับการได้รับธาตุเหล็กของมารดาแต่ละคนว่ามีโอกาสได้รับเหล็กจากอาหารมากหรือน้อยเพียงใด ซึ่งโดยทั่วไปอาหารที่รับประทานรวมกันแต่ละวันมักไม่เพียงพอต่อความต้องการแพทย์จึงนิยมให้มารดาตั้งครรภ์ทานเหล็กเสริมร่วมด้วยเสมอนั่นเองค่ะ
.
.
เรียบเรียงโดย : สุขภาพดีไม่มีในขวด
ขอบคุณข้อมูลจาก :นภชาญ เอื้อประเสิรฐ, อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์ Essential hematology for general practitioners 2552 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ
โฆษณา