1 ก.ย. 2021 เวลา 05:12 • ความคิดเห็น
ฉันไม่ใช่คนไม่ดี ฉันแค่เล่นหวย
เมื่อวันที่ 1 และ 16 ของแต่ละเดือนมาถึง หนึ่งเหตุการณ์ที่สามารถดึงดูดหลายสายตาเข้าไปหาไปได้ ก็หนีไม่พ้นการประกาศผลสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือที่หลายๆ คนเรียกกันว่า “หวย”
ฉันแค่ "เล่นหวย"
ขณะเดียวกันยังมีผู้คนอีกส่วน ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยมองต่างว่า “หวย” ไม่ต่างอะไรจากการพนันที่โอกาสจะชนะนั้นริบหรี่ เสียจนไม่คุ้มค่าที่จะเสี่ยง และก็ค่อนแคะว่าทำไมถึงไม่นำเงินไปใช้กับสิ่งที่มีประโยชน์กว่านี้ล่ะ
ในวันนี้ทาง Bnomics เลยจะพาทุกท่านไปลองดูว่า เบื้องหลังความคิดของการเล่นหวย หากดูตามมุมมองของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมแล้ว มันมีแง่มุมที่น่าสนใจของเรื่องนี้อยู่อย่างไรบ้าง และการซื้อหวยเป็นการกระทำที่ผิดแปลกไปจากพฤติกรรมของมนุษย์ทั่วๆ ไปจริงหรือไม่?
หวย คือ การพนันที่โอกาสชนะเพียงน้อยนิด
ถ้าเราเปรียบหวยเป็นการพนันอย่างหนึ่งแล้ว การพนันชนิดนี้ต้องถือเป็นการพนันที่เจ้ามือได้เปรียบคนเล่นอย่างมาก เพราะคนเล่นมีโอกาสที่จะชนะเกมนี้เพียงน้อยนิด
หากคิดตามหลักสถิติแล้ว การซื้อหวยแต่ละใบนั้นเป็นความเสี่ยงที่ไม่น่าลงทุนเลย โดยโอกาสที่จะถูกรางวัลใดก็แล้วแต่จากการซื้อหวย 1 ใบอยู่ที่แค่ประมาณ 1.4% และถ้ามองแค่โอกาสที่จะถูกรางวัลที่หนึ่งก็จะลดลงมาอยู่ที่แค่ 0.0001% เท่านั้น
ถ้ามองกลับมาเป็นตัวเลขรายได้กลมๆ แล้ว การที่ซื้อหวย 1 ใบ ในราคา 80 บาทนั้น จะมีโอกาสได้ผลตอบแทนจากการถูกรางวัลใดๆ ก็แล้วแต่อยู่ที่ 48 บาท ซึ่งพอหักจากต้นทุนจากราคาของหวยแล้วก็คิดเป็นการขาดทุนถึง 32 บาท!! (ซึ่งยิ่งถ้าซื้อหวยมาแพงกว่า 80 บาทก็ยิ่งจะขาดทุนเยอะกว่านี้อีก)
1
พอเห็นตัวเลขแบบนี้ หลายคนก็จะยิ่งเห็นว่าการลงทุนในหวยนั้นไม่คุ้มค่าเลย และก็อาจจะเริ่มสงสัยแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นทำไมคนถึงตัดสินใจซื้อหวยกัน?
ทำไมคนถึงเล่นหวย
ถ้าพูดกันง่ายๆ แล้ว เหตุผลหลักๆ ที่คนตัดสินใจซื้อหวย ก็เพราะว่าเขามองเห็น “โอกาสที่จะถูกหวย” มากกว่าความเป็นจริง
ในงานศึกษาชื่อก้องของ Daniel Kahneman และ Amos Tversky สองนักวิจัยคนสำคัญผู้บุกเบิกวงการเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมอย่าง Prospect Theory: An Analysis of Decision under Risk (ชื่ออาจจะดูยากนิดนึง แต่อย่าพึ่งถอดใจนะครับ) ได้อธิบายการตัดสินใจเสี่ยงๆ ของคน และมีหนึ่งในข้อสรุปที่สำคัญที่บอกว่าผู้คนจะมองเห็นโอกาสที่เล็กๆ ใหญ่กว่าความเป็นจริง
อย่างที่เราบอกไปข้างต้นโอกาสที่จะถูกหวยมีอยู่ที่ประมาณ 1.4% เท่านั้น แต่ด้วยวิธีการคิดของคนนั้นโอกาส 1.4% อาจจะใหญ่กว่านั้นมาก และยิ่งพอเป็นการตัดสินใจเพื่อเงินจำนวนมากๆ ก็จะยิ่งทำให้คนมองโอกาสเล็กๆ ที่จะถูกรางวัลยิ่งใหญ่กว่าเดิมไปอีก (และสำหรับคนไทย ยิ่งเป็นตัวเลขที่ได้มาจาก การไปขอตัวเลข จากสิ่งที่เขาเชื่อ ศรัทธา ความมั่นใจก็ตะเพิ่มเท่าทวีคูณ และโอกาสที่จะถูกในใจ ก็จะมากกว่า 1.4% อย่างเทียบกันไม่ได้)
ลองยกตัวอย่าง ที่ผมอยากให้ผู้อ่านตอบโดยคิดให้น้อยที่สุดว่าจะเล่นหรือไม่เล่นเกมต่อไปนี้ โดยเกมที่ว่านี้คุณมีโอกาส 0.0001% ที่จะชนะเงินรางวัลห้าพันล้านบาท แต่ถ้าคุณแพ้จะต้องเสียเงินเป็นจำนวนหนึ่งหมื่นบาทแทน
หลายคนที่เห็นคำถามนี้จะเลือกที่จะเสี่ยงเล่นเกมทันที ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเมื่อคำนวณผลตอบแทนคาดการณ์ของเกมนี้แล้วมันติดลบ แต่ด้วยเงินรางวัลที่จูงใจมากขนาดนั้นก็ทำให้โอกาสเล็กๆ นั้นใหญ่ขึ้นมาอย่างที่บอกไป
คราวนี้เวลาคนตัดสินใจซื้อหวยจริงๆ อาจจะไม่ได้มองเห็นโอกาสที่จะเสียเงินเลยด้วยซ้ำ เพราะว่าในสื่อหรือในสังคมที่อาศัยอยู่ เราแทบจะไม่ได้ยินเรื่องราวของคนที่ไม่ถูกรางวัลจากหวยเลย แต่กลับมีแต่ข่าวสารที่คอยส่งเสริมให้คนซื้อหวย ทั้งเลขเด็ดสำนักดังบ้าง เจ้าแม่น้ำแดง เจ้าแม่น้ำหนึ่ง หรือ ข่าวของคนที่ถูกรางวัลใหญ่ๆ มากมาย
ลองจินตนาการดูนะครับ ถ้าเราเปลี่ยนข่าวในทีวีจาก “รางวัลที่ 1 แตกอีกครั้งจากการตามเลขเจ้าแม่ ดัง” เปลี่ยนมาเป็น “งวดนี้ผู้คนนับล้านร่ำไห้ เหตุไม่ถูกรางวัลจากการซื้อหวย” ความรู้สึกคาดหวังของคนที่จะถูกหวยก็อาจจะจะลดลงได้ เพราะเขาได้เห็นแง่มุมของคนที่ไม่ถูกหวยบ้าง
ประเด็นนี้ยังเป็นหลักการที่สำคัญอย่างหนึ่งของการโฆษณาด้วย คือการเลือกให้คนเห็นแง่มุมที่เราต้องการ เช่น ถ้าเราบอกว่า ลูกชิ้นของเราเป็นหมูล้วน 95% กับการบอกว่าลูกชิ้นของเรามีส่วนที่ไม่ใช่หมูแท้ 5% ความรู้สึกของคนอ่านก็ต่างออกไป ทั้งๆ ข้อความทั้งสองมีความหมายเท่ากัน
ยังมีอีกหนึ่งประเด็นเรื่องหวยที่มีการพูดและถกเถียงกันอย่างมาก ก็คือประเด็นที่ว่า “หวยเป็นเรื่องของคนจนเท่านั้น”
หวยเป็นแค่เรื่องของคนจนจริงหรือ?
เป็นเรื่องจริงที่ว่า สัดส่วนของคนจนที่ซื้อหวยนั้นมีมากกว่าคนรวย แต่ถ้ามองลึกลงไปมันก็มีรายละเอียดที่น่าสนใจของเรื่องนี้อยู่เช่นกัน และแท้จริงแล้วคนรวยกับคนจนก็อาจจะมีพฤติกรรมลึกๆ ที่ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก
งานวิจัยหนึ่งจากมหาวิทยาลัย Harvard ทำการศึกษาจำนวนเงินที่ซื้อหวยของกลุ่มชุมชนคนรวยกับกลุ่มชุมชนคนจน พบว่าเมื่อมีรางวัลจูงใจในระดับที่สูงมากๆ ในตอนที่เงินรางวัล Jackpot สะสมเพิ่มมากขึ้นนั้น จำนวนเงินที่ซื้อหวยต่อคนของกลุ่มคนรวยและคนจนนั้นแทบจะไม่มีความแตกต่างกันเลย อย่างไรก็ดี เมื่อรางวัลของ Jackpot จากการซื้อหวยนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำลงมา กลุ่มคนรวยก็จะมีการใช้จ่ายเงินซื้อหวยน้อยกว่ากลุ่มคนจน
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าพื้นฐานของสินทรัพย์และรายได้มีผลต่อการตัดสินใจซื้อหวย เพราะว่ามันเป็นเหมือนจุดอ้างอิงว่ารางวัลเท่าไรถึงจะเรียกได้ว่ามากในสายตาของคนที่ซื้อ โดยสำหรับคนจนแล้ว การถูกรางวัลที่จำนวนน้อยกว่าก็อาจจะมีผลต่อคุณภาพชีวิต ให้เขาสามารถลืมตาอ้าปากจากชีวิตที่ไม่ดีของเขาได้แล้ว เรียกว่าพลิกชีวิตของเขาได้
1
นอกจากนี้ ความตื่นเต้นจากการได้ลุ้น ช่วยลุ้น จากความหวังที่จะถูกรางวัล ก็มีส่วนในการทำให้คนบางส่วนชอบเล่นหวย หรือเสพติดการเล่นหวย
ในกรณีของไทย เงินรางวัลในระดับพันบาทหรือหมื่นบาท สำหรับคนบางคนที่รายได้ไม่สูงแล้ว เงินจำนวนนี้ก็ถือเป็นเงินรางวัลที่สูงมากแล้ว แต่สำหรับคนรวย เขาอาจจะไม่ได้มองว่าเงินรางวัลเล็กๆ จำนวนเล็กๆ มีค่าเท่าไร ความดึงดูดของหวยสำหรับคนรวยก็เลยลดน้อยลงไปด้วย
ท้ายที่สุด การตัดสินใจที่มีความเสี่ยงของมนุษย์ก็มักจะถูกครอบงำด้วยอคติบางอย่างเสมอ แรงจูงใจของแต่ละคนก็ไม่เท่ากันในการเลือกจะทำหรือไม่ทำอะไรสักอย่าง ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าสิ่งเหล่านั้นคือความไม่เป็นเหตุเป็นผล แต่แท้จริงแล้ว สิ่งเหล่านั้นอาจจะเป็นธรรมชาติของพฤติกรรมมนุษย์ต่างหาก
สำหรับบทความวันนี้ทาง Bnomics ก็จบกันไปแล้ว สำหรับสัปดาห์หน้าจะมีบทความนอกกรอบเรื่องอะไรมาฝากทุกท่านอีก ก็อย่าลืมติดตามกันนะครับ และก็สำหรับทุกท่านที่กำลังรอผลประกาศของสลากกินแบ่งรัฐบาลวันนี้ ก็ขอให้สมหวังกันทุกคนด้วยนะครับ
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economicsฉ
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:
หนังสือ Thinking, Fast and Slow by Daniel Kahneman

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา