3 ก.ย. 2021 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
‘ทองคำ ดอลล่าร์ และคริปโทฯ’ การต่อสู้ของ 3 แนวคิดแห่งโลกการเงินในอนาคต
ตั้งแต่ปี 2561 ที่ประเทศไทยมี พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฉบับแรก ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ประเทศไทยก็ถือเป็นประเทศแรกๆ ในโลก ที่มีกฎหมายเข้ามาควบคุมดูแล และจัดการธุรกิจที่ดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับ ‘คริปโทเคอร์เรนซี’ แม้ว่าจะมีการเสียงวิพากษ์วิจารณ์และถูกตั้งคำถามจากจากผู้ประกอบการว่า การออก พ.ร.ก. หรือกฎหมายเข้ามาควบคุมธุรกิจคริปโทเคอร์เรนซีนั้น อาจจะเป็นปัจจัยในการลดอัตราการเร่งของการเติบโตของกลุ่มธุรกิจด้าน Fin Tech ในประเทศ แต่การออกกฎหมายของภาครัฐไทยในตอนนั้น เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นในการที่รัฐยอมรับการเข้ามา และมีอยู่ของกลุ่มธุรกิจเหล่านี้อย่างเป็นทางการ
นอกจากการรับรู้การ “มาถึง” และการ “มีอยู่” ของคริปโทเคอร์เรนซีแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญ คือ การยอมรับแนวคิดใหม่ ที่กำลังจะเปลี่ยนโครงสร้างทางการเงินและรูปแบบสินทรัพย์ ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่เป็นเรื่องที่คนทั่วโลกให้ความสนใจเช่นกัน
[ ย้อนเวลาหาอดีต ในยุคแรกเริ่มของมนุษย์ ในการแลกเปลี่ยน ‘คุณค่า’ และความเชื่อที่เปลี่ยนไป]
‘ทองคำ’ (Gold Standard) แร่หายาก และมีอยู่อย่างจำกัด มีวิวัฒนาการควบคู่กันไปมากับระบบ “การแลกเปลี่ยนคุณค่า” ช่วยให้ทุกประเทศ หรืออีกชื่อหนึ่งของการรวมตัวทางกลุ่มสังคมในสมัยนั้น “ยอมรับร่วมกัน” เป็น “มาตรฐานเดียวกัน” ในร้อยกว่าปีที่แล้ว โดยตกลงกันว่าให้ทองคำเป็น “หลักยึด” ในคุณค่าของสกุลเงินในรัฐนั้นๆ
ในช่วงตั้งแต่หลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ความถดถอยทางเศรษฐกิจ ขั้วอำนาจทางสังคมโลก และความเชื่อที่เปลี่ยนไป ทำให้ดอลล่าร์สหรัฐ (USD) กลายเป็น “มาตรฐาน” (Dollar Standard) ที่ยอมรับร่วมกัน ซึ่งแน่นอนว่าผ่านการ “ต่อสู้” มาแล้วในเชิงกายภาพ ผ่านภาพ “สงคราม สนามรบ และชัยชนะ” ในบริบท ประเทศ ต่อประเทศ ซึ่งอยู่ในภาวะ “จำยอม” มากกว่า “ยอมรับร่วมกัน” เหมือนในอดีตที่ผ่านมา และมีผลต่อเนื่องมาอย่างน้อยๆ กว่าครึ่งศตวรรษ
จากภาวะ “จำยอม” ในเวลานั้น จนถึงปัจจุบัน ที่หลายๆ คนหรือประเทศ เริ่มมองหาทางเลือกใหม่ในปัจจุบัน อาจจะเป็นเพราะระหว่างการเดินทางกว่าครึ่งศตวรรษ ที่เรียกได้ว่าถ้าเทียบเวลากันแล้วระบบนี้ทำงานเร็วกว่าระบบแรก ก็เพราะว่าระหว่างทาง เราพบ “ความไม่ชอบมาพากล” ที่ซับซ้อนมากกว่า ปัญหาในสมัยการใช้ระบบ Barter System หรือ Gold Standard มากกว่าซะอีก
ไม่ว่าจะเป็น การให้รัฐมีอำนาจทางการเงินอย่างเต็มไม้เต็มมือ (ในขณะที่ตอนยุคทองคำยังมีเรื่องทรัพยากรธรรมชาติมาแบ่งออกไปบ้าง) คำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ว่าจะรักษาสมดุลของสกุลเงินใหม่ ไหนจะเป็นความไม่พอใจที่ถูกกดไว้ของผู้แพ้สงครามที่อยู่ภายใต้ภาวะจำยอม ขั้วอำนาจที่ถูกแย่งชิง “ความมั่งคั่ง” ไป หรือภาวะหรือสภาพเศรษฐกิจที่เผชิญกับเงินเฟ้ออย่างรุนแรงเพราะการแอบพิมพ์เงินที่ควรจะเป็นการ “ยอมรับร่วมกัน” แต่ดันกลายเป็น แค่จากรัฐบาลของรัฐเพียงไม่กี่รัฐที่เป็นผู้กำหนดเท่านั้น
ในระหว่างครึ่งศตวรรษ ก็เรียกได้ว่า องค์ประกอบของระบบที่ว่านี้ก็เติบโตขึ้นอย่างควบคู่กัน ไม่ว่าจะเป็นระบบธนาคารกลาง ระบบธนาคารพาณิชย์ เงินตราในรูปแบบกายภาพ และบริการทางการเงินในรูปแบบต่างๆ
การรวมศูนย์อำนาจทางการเงินโดยรัฐไม่กี่รัฐ แบบรวมศูนย์ (Centralized) ถูกท้าทายด้วยชุดความคิดใหม่ในปี 2008 ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “White Paper” ที่ยาวไม่ถึง 10 หน้า กระดาษA4 ใน MIT Public License ภายใต้ชื่อบุคคลนิรนามอย่าง Satoshi Nakamoto หรือที่เราอาจจะรู้จักกันในนาม “บิตคอยน์” ภายใต้เทคโนโลยี “บล็อกเชน” ที่กำลังจะกลายเป็นสกุลเงิน / สินทรัพย์ / ตัวกลาง แห่งอนาคต
แม้ว่าบิตคอยน์ จะเป็นสกุลเงินแรก แต่ไม่ใช่สกุลเงินเดียวในจักรวาลคริปโทเคอร์เรนซี หรือ สกุลเงินเข้ารหัส ที่ทำงานผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน โดยเป็นภาครวมร่างของทั้ง สกุลเงินที่ “ยอมรับร่วมกัน” จากทั้ง “ขั้วอำนาจแบบรวมศูนย์” และ “การยอมรับร่วมกันแบบกระจายศูนย์” ด้วยเช่นกัน
[แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง จาก 3 แนวคิดเมื่อต้องอยู่ร่วมกัน]
ถ้าจะพูดถึงแนวคิดการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียม ตัวกลางของมูลค่า หรือการเป็นที่ยอมรับร่วมกันก็น่าจะพอเป็นคำจำกัดความ และเป็นฉันทามติของ มาตรฐานทางการเงินในอดีตและปัจจุบันได้ชัดเจนพอๆ กับการเป็นตัววัดมูลค่า (measure of value) การเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน (medium of exchange) การเป็นตัวชำระหนี้สิน (standard of deferred payment) การเป็นตัวรักษามูลค่า (store of value) และการเป็นตัวโอนย้ายมูลค่า (transfer of value) ที่มีมาร่วมกัน
และแน่นอนว่านอกจากจุดร่วมที่ทำให้ทั้ง ทองคำ ดอลล่าร์ฯ และคริปโทเคอร์เรนซี ถูกเรียก และใช้เพื่อเป็นสื่อกลางของมูลค่า ใช้ในการใช้จ่าย หรือได้รับการยอมรับแล้ว ยังเป็น 3 สิ่งที่ ถูกท้าทายซึ่งกันและกันในหลายๆ ห้วงเวลา และมิติทั้งเรื่องแนวคิดในการสร้างแบบรวมศูนย์และกระจายศูนย์ ทั้งขั้นตอนในการยอมรับผ่านสนามรบ กับเทคโนโลยี หรือแม้แต่แรงเสียดทานที่มีต่อการปรับใช้ในแต่ละยุคสมัยที่ประชาสมโลก รู้ เห็น และเรียนรู้ในช่วงเวลาที่เร็วขึ้นเรื่อยๆ
แต่ถ้ามองมาในปัจจุบันทั้ง 3 แนวคิดยังทำงานร่วมกันอยู่ภายในบริบทที่แตกต่างกันภายใต้การดูแล ควบคุม หรือสอดส่องของ “รัฐ”
[โลกอนาคตที่ไม่เหมือนเดิม ของ 3 แนวคิดภายใต้กรอบ “คุณค่าที่ยอมรับร่วมกัน”]
ช่วงเวลานี้ เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นที่สุด ถ้าเรามองว่าตั้งแต่ Gold Standard จนถึง Dollars Standard ใช้เวลากว่าเกือบ ศตวรรษ และจาก Dollars Standard มาถึงการมีคริปโทเคอร์เรนซีตัวแรก ใช้เวลาน้อยกว่าการเปลี่ยนครั้งแรก กว่าครึ่งหนึ่ง คือไม่ถึงครึ่งของศตวรรษ และดูท่าว่าจะรวดเร็วมากขึ้นด้วยแล้วนั้น อาจะเรียกได้ว่าช่วงเวลานี้เป็นเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ ของความคิดเชิงกระจายศูนย์ ความเชื่อในผู้ปกครองหรืออำนาจในคนในคนหนึ่งหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงสิ่งเดียว ก็ยังต้องยอมรับว่าทำงานกับคนบางกลุ่มอยู่
ในขณะเดียวกัน ความคิดเชิงความคิดเห็นร่วมกันในระดับบุคคล การดูแลตัวเอง (At your own risk) หรือความเชื่อในโครงสร้าง มากกว่ากลุ่มคน เริ่มมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้น
ความจริงที่ว่า โลกของเราย้อนเวลากลับไปไม่ได้แล้ว และเวลาจะมีแต่เดินหน้าเท่านั้น โลกข้างหน้าจะมีสภาพหน้าตาเป็นอย่างไร ภายใต้แนวคิด และความหลากหลายที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งในเชิงสังคม ความหลากหลาย และวิวัฒนาการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ตั้งแต่เริ่มมีเผ่าพันธุ์นี้มา การมองแค่อดีต อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ของอนาคตได้เหมือนเดิมที่เป็นมาอีกต่อไป เชื่อว่าคน ไม่ว่าในฐานะใด ก็พึงคิดถึงความจริงข้อนี้
ดังจะเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลง ที่จากเดิมทองคำที่เคยเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน ลดระดับลงไปเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ในบางช่วงเวลา หรือแม้แต่การที่เศรษฐี และความมั่งคั่งของโลกเริ่มมีการเคลื่อนย้ายไปสู่แนวคิดที่ทันต่อยุคสมัย ราคาที่พุ่งขึ้นสูงตามความต้องการเชิงอุปสงค์ อุปทานของตลาดคริปโทเคอร์เรนซีโดยเฉลี่ย และการเข้าถึงที่มากขึ้นกับคนในวงกว้างในทิศทางเดียวกัน หรือตลาดคริปโทเคอร์เรนซีที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโรคระบาดที่เราเผชิญอยู่
3 แนวคิดของสินทรัพย์ หรือมาตรฐานที่เราพูดคุยกันมา เป็นสิ่งที่น่าติดตาม ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ ในสนามรบ หรือ “สงครามเชิงความคิด” ในโลกการเงินในอนาคตกันแน่
บทความชิ้นนี้เขียนโดย : จิตเจริญ อัศวศรีพงศ์ธร และ ภัทริน ไชยานุพงศ์ จากทีม PMs ผู้เข้าประกวดการแข่งขันนักข่าวรุ่นใหม่ NEWSGEN by Dtac
#NEWSGEN
#TODAYBizview
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
ไม่พลาดข่าวธุรกิจ การตลาดที่สำคัญ ติดตาม TODAY Bizview https://bit.ly/3picIeS
ติดตามรายการของ workpointTODAY ทาง YouTube https://bit.ly/2YDfyiK
ติดต่อโฆษณา E-mail: advertorial@workpointnews.com

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา