28 ส.ค. 2021 เวลา 08:46 • ธุรกิจ
ตรวจชีพจร HealthTech ไทย อุปสรรคและหนทางไปต่อ เมื่อระบบสาธารณสุขรอไม่ได้
1
ช่วงปีที่ผ่านมา เราได้เห็นหลายประเทศเร่งรีบพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพื่อบริหารระบบสาธารณสุข และรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 อย่างน่าจับตามอง เช่น
- สิงคโปร์ สร้างแอปพลิเคชัน ‘Trace Together’ เพื่อระบุว่าใครเคยอยู่ใกล้ผู้ติดเชื้อโควิดในระยะ 2 เมตร เกิน 30 นาทีผ่านการติดตามไทม์ไลน์ของประชาชนที่เชื่อมต่อ Bluetooth บนมือถือ ทำให้คนกลุ่มเสี่ยงรู้ตัวและป้องกันการแพร่ระบาดได้มากขึ้น
1
- ไต้หวัน จัดทำแผนที่อินเทอร์แอคทีฟสำหรับระบุตำแหน่งร้านขายหน้ากากอนามัยทั่วประเทศ ด้วยระบบ Google GPS ทำให้ประชาชนรู้แหล่งซื้อหน้ากากอนามัย และร้านขายยาแต่ละแห่งประเมินได้ว่าต้องเตรียมหน้ากากอนามัยไว้จำนวนเท่าไร
การคิดค้นนวัตกรรมจัดการด้านสาธารณสุขภายในเวลาอันสั้น เพื่อพลิกสถานการณ์เป็นตัวอย่างที่ทำให้แต่ละประเทศต้องกลับมาทบทวนกลยุทธ์ด้านระบบสาธารณสุขครั้งใหญ่ และให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้พัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์และสุขภาพหรือ ‘HealthTech’ มากขึ้น เพราะนอกจากเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้คนเข้าถึงการบริการสุขภาพและสาธารณสุขที่ดีขึ้นในวงกว้าง แบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานหนักเกินควร พัฒนาการบริหารงานของโรงพยาบาลให้ก้าวหน้าแล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยได้รับประสบการณ์การรักษาที่ดีขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในปี 2564 การใช้จ่ายเม็ดเงินสำหรับ HealthTech ในไทยกลับอยู่ที่ราว 300-400 ล้านบาทเท่านั้น และส่วนใหญ่เป็นการใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนเมื่อเทียบกับชาติอื่น ๆ ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้
คำถามคืออุปสรรคอะไรที่ขวางกั้นการเติบโตของธุรกิจ HealthTech ไทย และเราจะเปิดทางให้ HealthTech เข้ามาช่วยพัฒนาโรงพยาบาลและระบบสาธารณสุขของประเทศให้ก้าวหน้ามากขึ้นได้อย่างไร
[ ตลาด HealthTech เติบโตในระดับโลก ช่วยลดภาระได้ทุกฝ่าย ]
HealthTech เป็นอุตสาหกรรมที่กว้างและซับซ้อน ‘McKinsey & Company’ บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ วิเคราะห์ว่าในปี 2562 ตลาดนี้มีขนาดราว 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในระดับโลก แบ่งย่อยบริการออกเป็น 5 หมวดใหญ่ ซึ่งคาดว่าแต่ละหมวดจะเติบโตขึ้นอย่างน้อย 8% ต่อปีจนถึงปี 2567 ดังนี้
1. การรักษา (Care Delivery) เช่น การรักษาทางไกล (Telemedicine) และระบบสั่งซื้อยาทางดิจิทัล มีขนาดตลาดใหญ่สุดในทุกหมวดหมู่ ราว 157,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (45% ของตลาด)
2. การวิจัยและพัฒนา (Research and Development) เช่น การใช้ AI และ Machine Learning เพื่อพัฒนายาเฉพาะบุคคล มีขนาดตลาดราว 109,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (31% ของตลาด)
3. การคัดกรองและวินิจฉัย (Screening and Diagnosis) เช่น การใช้ Computer Vision วิเคราะห์โรคจากรูปภาพ
4. การดูแลสุขภาพและป้องกันโรค (Wellness & Disease Prevention) เช่น อุปกรณ์สวมใส่ที่ตรวจวัดกิจกรรมของร่างกาย
5. การเงินและระบบจัดการ (Finance and Operations) มีขนาดตลาดราว 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (7% ของตลาด) และมีแนวโน้มอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงที่สุดในทุกหมวด (15-18%)
HealthTech หมวดหมู่ที่ 5 อาจไม่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาทางการแพทย์โดยตรงเหมือนอีก 4 หมวดหมู่ แต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เช่น ระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (Hospital Information System หรือ HIS) ที่ประสานข้อมูลจากแผนกต่าง ๆ ไว้อย่างเป็นระบบ ทำให้ดูแลผู้ป่วยได้รวดเร็ว ถูกต้อง ไม่เสียเวลากับกระบวนการทับซ้อน
แม้ว่าในอนาคต บริการทางการแพทย์หลายอย่างจะเกิดขึ้นนอกโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เนื่องจากผู้ป่วยมีเครื่องมือในการดูแลตัวเอง และสถานพยาบาลชุมชนจะมีศักยภาพในการรักษามากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน โรงพยาบาลยังต้องรองรับผู้ป่วยที่สูงวัย มีความซับซ้อนเฉพาะทางของโรค และจำเป็นต้องส่งต่อข้อมูลเพื่อทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ในระบบสุขภาพมากขึ้น
การจัดเก็บและบริหารข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพจึงจำเป็น เพื่อให้โรงพยาบาลพร้อมให้บริการได้อย่างไม่ติดขัด เช่น การใช้ระบบของ ‘Suki AI’ ที่ได้ชื่อว่าเป็น Alexa แห่งวงการแพทย์ ช่วยแปลคำพูดของแพทย์ตอนวินิจฉัยผู้ป่วยเป็นตัวอักษรแบบเรียลไทม์ ส่งข้อมูลไปที่ห้องสั่งยา และส่งอีเมลนัดตรวจคนไข้ครั้งถัดไป โดยไม่ต้องเสียเวลาพิมพ์หรือแปลงข้อมูลทำให้โรงพยาบาลรับคนไข้ได้เพิ่มถึง 12% ต่อวัน
รวมทั้งสามารถพยากรณ์ความต้องการของผู้ป่วยล่วงหน้า และวางแผนทรัพยากร เช่น เตียง บุคลากร เครื่องมือแพทย์ อย่างเหมาะสม ต่อไปผู้ป่วยอาจไม่ต้องรอคิวนาน ไม่ต้องรับยาที่ไม่เหมาะกับตัวเอง และไม่ต้องกรอกข้อมูลเดิม ๆ ซ้ำ ๆ อีกเหมือนเคย
[ AI คือภาพฝัน เมื่ออุปสรรคคือขยะข้อมูล ]
ปัญหาที่ทำให้ HealthTech ไทยหลายรายยังไม่สามารถพัฒนานวัตกรรมเพื่อเข้าไปช่วยงานในระบบสาธารณสุขเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน เริ่มตั้งแต่เรื่องข้อมูลที่ควรเป็นขุมทรัพย์ แต่กลับใช้ประโยชน์ไม่ได้เท่าไหร่นัก เพราะฐานข้อมูลสุขภาพมักถูกเก็บอย่างกระจัดกระจายตามหน่วยงานสาธารณสุขต่าง ๆ โดยไม่ได้ผ่านการวางแผนโครงสร้างให้เก็บข้อมูลด้วยมาตรฐานเดียวกัน
เช่น การใช้ระบบ EHR (Electronic Health Records) คนละระบบ หรือการบันทึกข้อมูลเวชระเบียนลงกระดาษ ทำให้ข้อมูลอาจผิดพลาด ไม่อัปเดต และไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพระหว่างหน่วยงาน เปรียบเสมือนการคุยกันคนละภาษา นำข้อมูลไปใช้งานต่อไม่ได้
แม้ตอนนี้จะมีระบบคลาวด์ที่ช่วยเชื่อมต่อข้อมูลแต่ละหน่วยงานด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกลง ฟังก์ชันที่มากขึ้น แต่การปรับเปลี่ยนต้องลงทุนและใช้เวลา โรงพยาบาลอาจมองว่ายุ่งยาก เห็นผลช้า ระบบเดิมยังใช้บริการได้อยู่ รวมถึงยังคงกังวลเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูล โรงพยาบาลจำนวนมากจึงเร่งพัฒนาแต่สิ่งที่เป็นความต้องการเฉพาะหน้าเป็นหลัก
ทั้งนี้ ถ้าอยากให้สถานพยาบาลและระบบสาธารณสุขก้าวหน้า การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเบื้องหลังเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ เช่น สวีเดน มีระบบเก็บข้อมูลของประชากรทั่วประเทศที่ป่วยเป็นโรคต่าง ๆ เรียกว่า National Quality Registries (NQRs) ที่ทางภาครัฐได้ให้งบสนับสนุนกว่า 6 พันล้านบาทในระยะเวลา 5 ปี ช่วยให้รู้ว่าผู้ป่วยได้รับการรักษาตามไทม์ไลน์หรือไม่ รักษาแล้วอาการป่วยดีขึ้นไหม และใช้วัดคุณภาพของโรงพยาบาลต่าง ๆ ไปในตัว
หรืออย่างในรัฐยูทาห์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีโรงพยาบาลขนาดเล็ก 22 แห่ง และคลินิกกว่า 185 แห่งร่วมกันลงทุนระบบไอที และแชร์ข้อมูลระบบจัดการหลังบ้านด้วยกัน ทำให้ผู้ป่วยเข้ารับบริการจากที่ใดก็ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมลดต้นทุนของโรงพยาบาล
ปัจจุบัน หน่วยงานภาครัฐหลายแห่งกำลังพยายามสร้างระบบเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพมาตรฐานใหม่ เช่น ‘Healthlink’ โดยสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (สวข.) กับกระทรวงสาธารณสุข แต่โครงการเหล่านี้ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น ต้องปรับเปลี่ยนอีกมากจนกว่าจะมีจำนวนข้อมูลคุณภาพมากพอให้ต่อยอดถึงระดับที่ใช้ AI หรือ Machine Learning ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
หากระบบเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพมาตรฐานใหม่ของไทยมีประสิทธิภาพ HealthTech สาขาต่าง ๆ จะมีโอกาสใช้ข้อมูลเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่แก้ปัญหาสาธารณสุขได้ดีขึ้น เช่น ระบบ Adverse Event Early Warning AI ที่ช่วยให้แพทย์วางแผนอย่างทันท่วงทีว่าควรเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยคนไหนก่อนโดยวิเคราะห์จากแนวโน้มอาการ ผู้ป่วยจะไม่ถูกประเมินจากสายตามนุษย์พลาดและเสียชีวิตไปอย่างน่าสลด หรือระบบที่ใช้ AI และ Machine Learning มาประเมินเวลาผ่าตัดคนไข้ที่ทำให้โรงพยาบาลจัดตารางและรับคนไข้ผ่าตัดได้เพิ่มขึ้นถึง 30% ซึ่งพัฒนาจากความร่วมมือระหว่าง Beth Israel Deaconess Medical Center กับ Data Scientist ของ Amazon และ Google
[ บทบาทภาครัฐนโยบายต้องชัดหนุนสตาร์ทอัพ ดันตลาด HealthTech ไทย]
นอกจากปัญหาการบริหารข้อมูลแล้ว สิ่งที่ไทยยังพัฒนาต่อได้เพื่อสนับสนุนให้ HealthTech ทุกหมวดหมู่เติบโตอย่างไม่โดดเดี่ยวคือการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ให้แข็งแรง พร้อมยกระดับสาธารณสุขไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มตัว
ผู้เล่นสำคัญคือภาครัฐที่มีเม็ดเงินลงทุนมหาศาลและมีอำนาจออกนโยบาย ควรจัดสรรงบประมาณมาพัฒนาโครงสร้าง เช่น การเปิดพื้นที่ Sandbox ให้ผู้ประกอบการ HealthTech กับโรงพยาบาลมาจับคู่พัฒนาและทดลองนวัตกรรมการแพทย์ร่วมกันและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งยังควรมีนโยบายต่าง ๆ มาคอยสนับสนุนให้สตาร์ทอัพเติบโตรวดเร็วมากขึ้นและต่อเนื่อง เช่นที่สิงคโปร์ สตาร์ทอัพแต่ละสเตจสามารถนำไอเดียหรือปัญหาอะไรไปปรึกษากับหน่วยงานภาครัฐอย่าง Startup SG แล้วทดลองทำตัวต้นแบบ (Prototype) ได้โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนมากมาย มีผู้พร้อมให้คำแนะนำและเงินสนับสนุน ตั้งแต่ขั้น Pre-Seed หรือการนำไอเดียธุรกิจที่มีไปเสนอแก่นักลงทุน ไม่ได้เป็นเพียงการแข่งขัน Hackathon ของบางแห่งที่ให้เงินแล้วจบไปเฉย ๆ
นอกจากนี้ การปรับกฎหมายบางอย่างร่วมกับหน่วยงานอื่นก็จะช่วยปลดล็อกข้อจำกัดของ HealthTech ได้มาก เช่น กำหนดให้บริการ HealthTech ครอบคลุมอยู่ในประกันสุขภาพหรือประกันสังคม เพื่อช่วยให้คนทั่วไปเข้าถึง HealthTech ในราคาที่เอื้อมถึง สร้างฐานลูกค้าใหม่ให้ธุรกิจและลดจำนวนผู้ป่วยที่แออัดในโรงพยาบาล หรือปรับกฎหมายด้านภาษีที่ช่วยสนับสนุนให้นักลงทุนต่างชาติอยากเข้ามาลงทุนใน HealthTech ไทยมากขึ้น อย่างที่สิงคโปร์ยกเว้นการเก็บภาษีจากการลงทุน (Capital Gain Tax) ในสตาร์ทอัพเพื่อจูงใจนักลงทุนในระยะยาว
อีกหนึ่งหนทางที่ควรส่งเสริมคือการรวมผู้เล่นในวงการมาจัดตั้งเป็น Hub ที่ทำงานร่วมกัน เช่น เมืองออสติน รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกาก็ประสบความสำเร็จด้านเทคโนโลยีการแพทย์มาก เพราะมี Hub ของสตาร์ทอัพด้าน HealthTech ที่ทำงานอยู่ร่วมกับมหาวิทยาลัยแพทย์และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
ส่วนในไทยเองก็มีความพยายามขับเคลื่อน ‘ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี’ ภายใต้ความร่วมมือของสํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ และหน่วยงานพันธมิตรจาก 3 กระทรวง ที่น่าติดตามความคืบหน้าต่อไป
[ HealthTech กับความหวังของระบบสาธารณสุขไทย ]
จากตัวอย่างทั้งหมด เห็นได้ว่า HealthTech ด้านระบบจัดการสาธารณสุขและโรงพยาบาลนั้นสามารถช่วยลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ และยกระดับสาธารณสุขของประเทศได้จริง ถึงแม้การพัฒนาเรื่องนี้ต้องอาศัยงบประมาณก้อนใหญ่ แต่หากภาครัฐเข้ามาสร้างระบบอย่างจริงจัง ย่อมเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศในระยะยาวแน่นอน
นอกจากนี้ ความร่วมมือของทางโรงพยาบาลก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ส่วนในฝั่งของประชาชนนั้น การเปิดใจลองใช้งาน HealthTech อาจทำให้พบกับความสะดวกรูปแบบใหม่ที่หาไม่ได้มาก่อนในบริการทั่วไปของโรงพยาบาล
อย่างไรก็ดี ในอนาคต HealthTech จะเป็นความหวังช่วยป้องกันปัญหาขาดแคลนเตียง ไม่เกิดภาพผู้ป่วยล้มตายโดยไม่ได้รับการรักษา และระบบบริหารจัดการด้านสาธารณสุขของไทยจะพัฒนาจนมีมาตรฐานไม่แพ้สากลในเร็ววัน
บทความชิ้นนี้เขียนโดย : ปัน หลั่งน้ำสังข์ และ อภิชญา ฉกาจธรรม จากทีม The Revolution Times ผู้เข้าประกวดการแข่งขันนักข่าวรุ่นใหม่ NEWSGEN by Dtac
#NEWSGEN
#TODAYBizview
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
ไม่พลาดข่าวธุรกิจ การตลาดที่สำคัญ ติดตาม TODAY Bizview https://bit.ly/3picIeS
ติดตามรายการของ workpointTODAY ทาง YouTube https://bit.ly/2YDfyiK
ติดต่อโฆษณา E-mail: advertorial@workpointnews.com

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา