7 ก.ย. 2021 เวลา 07:55 • การศึกษา
ออนไลน์วิทยา สถานศึกษาไม่สมัครใจเรียน
[ ต้นทุนชีวิตที่แตกต่าง ]
‘เมจิ’ เด็กหญิงวัยมัธยมจากครอบครัวรายได้ดี หาความสุขได้จากการไปโรงเรียนในยุคก่อนโควิด สถานศึกษาคือที่ที่เธอได้เจอเพื่อน ทำกิจกรรม
ถึงจะไม่เข้าใจเนื้อหาในหลายๆ วิชา แต่เมจิไม่กังวลเรื่องการเรียนมากนัก เพราะคุณพ่อทุ่มเงินค่าเรียนพิเศษหลังเลิกเรียนให้
แม้เมจิจะแปลกใจว่าทำไมอาจารย์หลายคนที่สอนไม่ค่อยรู้เรื่องในคาบเรียน กลายร่างมาเป็นติวเตอร์ชั้นนำทันทีหลังออดคาบสุดท้ายดัง แต่เธอก็ไม่ได้ใส่ใจจะตั้งคำถาม
เพราะในการเรียนพิเศษหลังเลิกเรียน อาจารย์ให้เธอทำแบบฝึกหัดที่หน้าตาคล้ายข้อสอบจริง จนชื่อของเธอติดท็อป 5 เป็นเรื่องปกติ
มองข้ามฟากไปอีกด้านหนึ่ง ชีวิตก่อนยุคโควิดของ ‘มล’ เด็กหญิงที่ตามพ่อแม่มาทำงานก่อสร้างตึกระฟ้าในมหานคร ยังพอถูไถไปได้จากโครงการเรียนฟรี 15 ปี
แม้ว่าค่าใช้จ่ายที่รัฐหนุนคือค่าเล่าเรียน หนังสือ อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบ และกิจกรรมพิเศษนั้น จะไม่รวมค่าจิปาถะอื่นที่โรงเรียนเรียกเก็บ แต่เธอก็ยังได้รับการศึกษาซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
 
แม้การเข้าถึงการศึกษาของเมจิและมลจะต่างกันลิบลับ แต่อย่างน้อย ก่อนโควิดจะมาเยือน ทั้งสองก็ยังเข้าถึงการศึกษาได้ด้วยการเรียนรู้ในห้องเรียนร่วมกับเพื่อนร่วมชั้น
[ สวรรค์หรือสมรภูมิสำหรับนักเรียนออนไลน์? ]
อย่างไรก็ตาม เรารู้กันดีว่าโควิดทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ที่ราว 20,000 คนต่อวัน เท่ากับว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มอย่างน้อย 1 คน ในทุก 4 วินาที
ทำให้เด็กไทย 20.54 ล้านคน ถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องย้ายห้องเรียนไปอยู่ในระบบออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
และนี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการการศึกษาไทย ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้ว เหมือนจะยิ่งถูกเน้นด้วยปากกาสะท้อนแสงให้เห็นชัดกว่าที่เคยเป็นมา
ในช่วงแรก บางคนอาจไม่ติดขัดอะไร ดีเสียอีกที่ไม่มีค่าเดินทาง ไม่ต้องตื่นเช้ามาก แถมแอบกินขนมไปด้วยได้โดยไม่ถูกทำโทษ
แต่หลังจากเรียนออนไลน์นานเป็นปีๆ หลายเสียงกลับเริ่มตั้งคำถามว่า หรือการเรียนออนไลน์จะไม่ใช่รูปแบบการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพในระยะยาว?
ปัญหาเบื้องต้นเริ่มตั้งแต่สภาพแวดล้อมที่บ้านไม่เอื้อกับการเรียน เด็กจำนวนมากอาศัยอยู่ในแหล่งชุมชนพร้อมครอบครัวใหญ่ ยากที่จะเลี่ยงเสียงรบกวนได้
และหากจะย้ายไปจุดอื่น อาจเป็นจุดอับสัญญาณที่ภาพและเสียงล่าช้า กว่าจะคุยกันรู้เรื่อง เล่นเอาหอบทั้งคนเรียนและคนสอน เพราะการจะมี e-Learning ที่สมบูรณ์ได้ สัญญาณอินเทอร์เน็ตต้องเสถียรกันทั้งสองฝ่าย
ปัญหาข้อนี้พอจะแก้ได้ โดยอาศัยความช่วยเหลือจากภาครัฐและเอกชนในการส่งมอบอุปกรณ์กระจายสัญญาณ เช่น Repeater ที่รับสัญญาณอินเทอร์เน็ตมาจากเราเตอร์แล้วกระจายตามจุดต่างๆ ในบ้าน ซึ่งมีราคาไม่สูงมาก ใช้งานง่าย และช่วยลดปัญหาเรื่องของสัญญาณลงไป
แต่ปัญหาที่ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่แต่แก้ไขค่อนข้างยาก คือการที่นักเรียนบางกลุ่มมีทั้งสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่เสถียร รวมถึงอุปกรณ์ในการเรียนเช่น โน้ตบุ๊ค แท็บเล็ต ครบครัน แต่ขาดสิ่งที่เป็นหัวใจของการเรียนออนไลน์ นั่นคือ แรงจูงใจและสมาธิ
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีนโยบายให้โรงเรียนต่างๆ ไปดำเนินการตาม ‘5 On’ คือ
-On Line: เรียนผ่านช่องทางออนไลน์
-On Air: เรียนผ่านโทรทัศน์
-On Hand: จัดส่งหนังสือไปให้นักเรียน
-On Site: จัดการเรียนในที่ปลอดภัย
-On School Line: ติดต่อผ่านแอปไลน์
แต่ถึงอย่างนั้น เด็กๆ เองก็มีหลักการของตนเองเช่นกัน ซึ่งรู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่นักเรียนภายใต้ชื่อ ‘3 ป’ ที่ย่อมาจาก ปิดกล้อง-ปิดไมค์-ไปนอน
2
‘เบลล์’ นักเรียนชั้น ม.6 จากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ยอมรับว่า “ตั้งใจเรียนเฉพาะบางวิชาที่ถนัดหรือชอบเท่านั้น แต่บางวิชาที่สมาธิหลุดไปแล้ว หรือวิชาที่ไม่เข้าใจ ก็จะเอามือถือมาเล่น ไม่ก็ปิดกล้องนอน”
ขณะที่ ‘มิ้น’ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสาธิตปทุมวัน เปิดเผยว่า “ทำทุกอย่างตั้งแต่เล่นมือถือไปจนตากผ้า หนูพยายามโฟกัสแล้ว แต่รู้สึกว่าการนั่งเรียนหน้าจอแทบทุกวันส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจในระยะยาว จึงต้องหาอย่างอื่นทำ เพื่อไม่ให้รู้สึกดาวน์”
แน่นอนว่าการเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์ทุกวิชาเต็มรูปแบบ ไม่เหมือนการเลือกเข้าคลาสที่เราสนใจจริงๆ แบบใน Coursera จึงไม่แปลกที่นักเรียนจะเกิดความท้อหลัง ออนไลน์วิทยาดูไม่มีทีท่าจะปิดตัวลงเร็วๆ นี้
และนี่เป็นเพียงเสียงสะท้อนบางส่วนของนักเรียนที่เหนื่อยหน่ายกับออนไลน์วิทยา แต่มีนักเรียนอีกจำนวนมากที่ไม่พอใจการจัดการการเรียนออนไลน์ของรัฐ
จนเกิดกระแสติดแฮชแท็ก #ไม่เรียนออนไลน์แล้วอิ... ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของเทรนด์ทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 5-6 ก.ย. โดยส่วนใหญ่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐต่อการศึกษา โดยเฉพาะการเรียนออนไลน์
ซึ่งกลุ่มนักเรียนที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ทำการนัดกันว่าจะพร้อมใจหยุดเรียนออนไลน์ในวันที่ 6-10 ก.ย.นี้ เพื่อกดดันให้รัฐปฏิบัติตามข้อเรียกร้องต่างๆ เช่น ปรับรูปแบบการสอน จัดหาอุปกรณ์การเรียนให้นักเรียนที่ขาดแคลนได้เรียนออนไลน์ เป็นต้น
เมื่อพูดถึงนักเรียนที่ขาดแคลน หลายคนคงนึกภาพไม่ออกว่าเด็กกลุ่มนี้จะเรียนออนไลน์ได้อย่างไร
แน่นอนว่านี่คือปัญหาทางการศึกษาที่น่ากังวลที่สุดในช่วงนี้ เด็กจากครอบครัวยากจนอย่างมลที่ขาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้เลย แม้เธอจะอยากเรียนแค่ไหนก็ตาม
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจาก PISA ระบุว่า ก่อนวิกฤตโควิด เด็กนักเรียนในกลุ่มยากจนเข้าถึงคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเพียง 20% เท่านั้น
และด้วยทางบ้านต้องเผชิญกับความยากจนซ้ำซ้อนกว่าเดิมจากโควิด รายได้ครัวเรือนจึงเสี่ยงจะกลายเป็นศูนย์ทันทีที่ผู้ปกครองตกงานเฉียบพลันและต้องย้ายกลับภูมิลำเนา
เมื่อมื้อต่อไปยังไม่มีจะกิน การซื้ออุปกรณ์ไอทีราคาสูงเพื่อเรียนออนไลน์จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับมล และอาจส่งผลให้มลและนักเรียนยากจนคนอื่นต้องหลุดออกจากระบบมากขึ้นจนน่าวิตก
โดยสาเหตุอันดับหนึ่งของการหลุดออกจากระบบการศึกษาของนักเรียนยากจนพิเศษกลุ่มรอยต่อ คือการที่ผู้ปกครองให้ออกมาช่วยที่บ้านหารายได้นั่นเอง
ซึ่ง ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิดทำให้เด็กยากจนพิเศษมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นนิวไฮ คือ 1,302,968 คน ในภาคเรียนแรกของปีการศึกษา2564
และทาง กสศ.คาดว่าจะมีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาราว 65,000 คน ภายในสิ้นปีนี้
โดยเด็กส่วนใหญ่ที่หลุดจากระบบและต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานเร็วกว่าที่ควรด้วยความจำเป็นด้านปากท้อง จะกลายเป็นแรงงานค่าแรงถูกที่ไม่มีทักษะความรู้ไปอย่างน่าเสียดาย
ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่จัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาสูงติดอันดับท็อป 10 โลก
แต่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กสศ.กล่าวว่า การจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษ (รายได้ครัวเรือนน้อยกว่า 3,000 บาทต่อเดือน) หรือที่เรียกว่าทุนเสมอภาคอยู่ที่ปีละ 3,000 บาทต่อปีเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าค่าใช้จ่ายจริง แถมยังเป็นอัตราเดิมที่ไม่ได้มีการปรับขึ้นมา 10 กว่าปีแล้วด้วย
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามความเห็นของสำนักงบประมาณให้ปรับลดงบประมาณ กสศ. ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2565 จำนวน 904.57 ล้านบาท ทำให้งบช่วยนักเรียนยากจนพิเศษไม่สามารถปรับขึ้นได้ และยังย่ำอยู่ที่จำนวนเท่าเดิม
คำถามคือ แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้นักเรียนยากจนพิเศษที่คิดเป็น 18% ของนักเรียนทั้งหมด หลุดออกจากระบบการศึกษาไปมากกว่านี้
[ รัฐช่วยอะไรได้บ้าง ]
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ระบุว่า หากจะเร่งแก้ปัญหาจริงจัง ต้องปรับเงินอุดหนุนรายหัวให้สอดรับกับค่าใช้จ่ายจริง เนื่องจากต้นทุนการศึกษานั้นมีค่าใช้จ่ายแฝง เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร
ยิ่งไปกว่านั้น ควรมีการประเมินว่าเด็กกลุ่มไหนควรได้รับเงินช่วยเหลือมากกว่ากัน เนื่องจากตอนนี้งบการศึกษารวมของประเทศ 1,242,378 ล้านบาท ถูกแจกจ่ายให้นักเรียนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
นั่นแปลว่าเมจิและมลได้รับการช่วยเหลือจากรัฐเท่ากัน ซึ่งนำมาสู่คำถามว่า ก่อนมีความเท่าเทียม (Equality) กันได้นั้น รัฐควรทำให้การศึกษามีความเสมอภาค (Equity) ก่อนหรือไม่
ในเมื่อเมจิและมลมีสถานภาพและโอกาสไม่เท่ากัน จึงควรได้รับความช่วยเหลือที่ต่างกันด้วย โดยคนที่มีโอกาสน้อยที่สุด ควรได้รับการช่วยเหลือมากที่สุด เพื่อลดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นธรรม
และหากนักเรียนด้อยโอกาสอย่างมลไม่ต้องหมดโอกาสทางการศึกษาเพราะโรคระบาดแล้ว เนื้อหาที่ไม่ว่าจะเป็นมลหรือเมจิได้เรียนก็น่าจะมีคุณภาพ ทันโลก และจุดประกายทางความคิด
ลองคิดเล่นๆ ว่าหากการศึกษาทางไกลอย่าง DLTV หรือการเรียนออนไลน์ทั่วไป มีวิชาแปลกใหม่อย่าง Coding วิจารณ์วรรณกรรม หรือการพัฒนา AI ให้เลือกเรียนตามความสนใจ น่าจะเป็นอะไรที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่การศึกษาไทยไม่น้อย
ซึ่งถ้าเด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาก็มีความเป็นไปได้ที่จะสูงตามสมกับงบประมาณการลงทุนด้านการศึกษาที่เทียบเท่ากับ 5% ของจีดีพีประเทศ
[ อย่าลืมพวกเรา: เสียงนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ]
แม้ว่านักเรียนยากจนพิเศษจำนวนมากกำลังเสี่ยงหลุดจากระบบ แต่หน่วยงานต่างๆ ก็กำลังหาทางช่วยเหลือไม่ให้สถานการณ์แย่ไปกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม มีนักเรียนอีกกลุ่มที่แม้ได้รับผลกระทบอย่างสาหัส แต่ตัวตนของพวกเขาถูกกลืนหายไปเพราะความรุนแรงของวิกฤตโควิด ทั้งที่พวกเขาก็ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนไม่แพ้ใคร
เด็กๆ ที่ว่านี้ คือกลุ่มนักเรียนพิการนั่นเอง
จากฐานข้อมูลของ กสศ. ปัจจุบันมีนักเรียนพิการทั้งหมด 246,651 คน โดยที่ 83.94% เป็นนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เช่น สมาธิสั้น ตามมาด้วยนักเรียนพิการที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เช่น ออทิสติก ดาวน์ซินโดรม อยู่ที่ 6.2%
นักเรียนทั้งสองกลุ่มนี้ มักมีความพิการอื่นร่วมด้วย เช่น ความผิดปกติทางพฤติกรรม ตาบอด หูหนวก เกร็ง ชัก แต่ละรายมีมิติความรุนแรงของอาการต่างกัน
บางรายมีอาการระดับน้อยถึงปานกลาง ก็จะเข้าสังคมและช่วยเหลือตนเองได้ระดับหนึ่ง ส่วนรายที่อาการรุนแรง มักมีอาการพยาธิสภาพ และจำเป็นต้องมีผู้ดูแลใกล้ชิดตลอดชีวิต
ก่อนโควิดจะแผลงฤทธิ์ เด็กกลุ่มนี้ก็ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการและการศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด
เพราะแม้ว่าการรักษาสมองส่วนที่เสียไปให้กลับคืนมาทำงานเป็นปกตินั้นไม่สามารถทำได้ แต่การได้ฝึกฝนทักษะก็สามารถช่วยคงสภาพ หรือฟื้นฟูสภาพทางสมองส่วนที่เหลืออยู่ให้ทำงานได้เต็มที่
ทำให้นักเรียนพิการสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด การเรียนรู้และฝึกฝนทักษะต่างๆ จึงเป็นหัวใจหลักของการดำเนินชีวิตสำหรับนักเรียนกลุ่มนี้
ด้วยความที่เด็กพิการมักจะมีร่างกายที่อ่อนแอและเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย อีกทั้งในเด็กพิการระดับรุนแรง หากติดโรคก็ไม่สามารถที่จะบอกพ่อแม่ได้ว่าเจ็บปวดร่างกายตรงไหน อาการเป็นอย่างไร เพราะพวกเขาไม่สามารถจะสื่อสารหรือเคลื่อนไหวได้ตามใจต้องการ
ดังนั้นผู้ปกครองจึงต้องระวังไม่ให้เด็กกลุ่มนี้อยู่ในภาวะเสี่ยงเป็นพิเศษ การเรียนการสอนหรือการส่งเสริมพัฒนาการแบบตัวต่อตัวโดยผู้เชี่ยวชาญจึงเป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตกมาก
เนื่องจากเด็กพิการทางสมองควรได้รับการส่งเสริมพัฒนาการตั้งแต่เล็ก โดยเฉพาะการฝึกกล้ามเนื้อและกายภาพบำบัด เพราะยิ่งปล่อยเวลาล่วงเลยไป เมื่อเด็กกลุ่มนี้โตขึ้น กล้ามเนื้อจะตึงตัว ทำให้พัฒนาได้ยากขึ้น
หากการเรียนออนไลน์คือสะพานเดียวที่เชื่อมต่อระหว่างนักเรียนและการศึกษา นักเรียนพิการทางสมองก็คือกลุ่มแรกที่สะพานแห่งการเรียนรู้ถูกตัดขาดสะบั้น
เมื่อไม่สามารถเรียนแบบปกติได้ ก็ต้องเริ่มเรียนออนไลน์แทน ซึ่งมีข้อจำกัดมากกว่านักเรียนทั่วไปมาก
เพราะเด็กพิการทางสมองมีความอดทนต่ำกว่าเด็กทั่วไป เป็นเรื่องลำบากที่จะให้พวกเขาจดจ่อกับผู้เชี่ยวชาญที่ถูกย่อส่วนให้ไปอยู่ในจอเล็กๆ จากที่เคยอยู่ใกล้ชิดมาตลอด
เมื่อเป็นเช่นนี้ แน่นอนว่าภาระต้องตกไปอยู่ที่ผู้ปกครองที่ต้องมาคอยดูแลลูกหลานเองเต็มตัว ซึ่งอาจสร้างความเครียดในครอบครัวได้
การเรียนออนไลน์นั้น ดูเผินๆ ในช่วงแรกอาจดูเหมือนการศึกษาของโลกอนาคตที่เชื่อมเด็กที่ไม่สะดวกไปโรงเรียน หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกลให้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้
แต่ในทางปฏิบัติการเรียนออนไลน์มีข้อจำกัดอยู่พอตัว โดยเฉพาะกับนักเรียนพิการที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่ง e-Learning ไม่สามารถชดเชยการเรียนตัวต่อตัวได้
ดังนั้นการจัดหาวัคซีนประสิทธิภาพสูงที่สามารถฉีดให้นักเรียนอายุต่ำกว่า 18 ปีอย่างเร็วที่สุดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และทำให้นักเรียนทุกคนกลับมาเรียนตามปกติอีกครั้ง อาจเป็นหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาจากต้นเหตุที่มีประสิทธิภาพที่สุดในสถานการณ์นี้
ส่วนการเรียนออนไลน์นั้นสามารถทำหน้าที่เป็นอาหารเสริม ช่วยในเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของนักเรียนได้ ทั้งนี้เนื้อหาควรคำนึงถึงผู้เรียนทุกกลุ่ม รวมถึงเด็กพิการด้วย
โดย ดร.นันทนุช สุวรรนาวุธ ผู้พิการทางสายตา ผู้เป็นนักวิชาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านโทรศัพท์ว่า สื่อการเรียนการสอนออนไลน์หรือการเรียนทางไกลของนักเรียนทั่วไปและนักเรียนพิการนั้นมีเนื้อหาเหมือนกัน แต่สิ่งที่ควรพัฒนาเพิ่มคือการออกแบบการสอนโดยคำนึงถึงเด็กพิการด้วย
ยกตัวอย่าง หากคุณครูถามนักเรียนผ่าน DLTV ว่า โจทย์ข้อนี้ตอบตัวเลือกไหนดี โดยที่ไม่อธิบายเนื้อหาทุกอย่างด้วยเสียง แน่นอนว่านักเรียนพิการทางสายตาจะงง ไม่สามารถเข้าใจได้ ยกมือถามก็ไม่ได้ด้วย
เช่นเดียวกันกับนักเรียนที่มีปัญหาด้านการได้ยินก็ไม่สามารถที่จะอ่านคำบรรยายได้ เนื่องจาก DLTV ยังไม่มีคำบรรยายใต้ภาพประกอบการสอน
เพราะฉะนั้นจะเป็นเรื่องที่ดี หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำเนื้อหาให้เด็กพิการเรียนได้ตั้งแต่ต้นทาง
[ อย่าทิ้งใครไว้ข้างหลังในออนไลน์วิทยาสาขาประเทศไทย]
หากการศึกษาไทยเปรียบเสมือนบริษัทหรือธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ประกอบด้วยหลายฝ่ายมาทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่ดีให้ลูกค้า พัฒนาองค์กร และขับเคลื่อนสังคม
ดังนั้น การที่บริษัทจะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้ ต้องอาศัยหลักธรรมาภิบาลที่ดี และคนที่มีส่วนในบริษัทจะต้องร่วมกันปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมเพื่อให้บริษัทก้าวไปข้างหน้า
โดยที่บริษัทเองก็ต้องคำนึงถึงทั้ง Equity และ Equality ของพนักงานทุกคน ใส่ใจความต้องการของบุคคล และเติมเต็มในสิ่งที่แต่ละคนขาด บริษัทต้องใส่ใจรายละเอียด เน้นย้ำ Inclusiveness และให้ความสำคัญกับทุกคน ไม่ว่าพนักงานคนนั้นจะเป็นแม่บ้าน หรือหัวหน้าแผนกก็ตาม
เช่นเดียวกันกับการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรคำนึงถึงความสำคัญของนักเรียนทุกคน ไม่ว่าจะฐานะดีเหมือนอย่างเมจิ หรือยากจนแบบมล นักเรียนโอลิมปิกวิชาการ นักเรียนเรียนอ่อน หรือนักเรียนพิการ ใครที่มีความต้องการมาก ยิ่งต้องช่วยเหลือมาก
และคงเป็นเรื่องน่าเศร้าหากเราต้องปล่อยให้ใครถูกทิ้งไว้กลางทางและเสียโอกาสจะมีความรู้ ความสามารถ
บางทีการขาดความพร้อมในการเรียนออนไลน์ อาจทำให้เด็กหลายคนที่มีศักยภาพพอจะกลายเป็นบุคคลที่สร้างประโยชน์ให้ประเทศหรือมนุษยชาติ ถูกกลืนหายไปในตลาดแรงงานค่าแรงราคาถูกอย่างน่าเสียดาย
ไม่ใช่แค่ได้เรียน แต่เด็กไทยควรได้เรียนอย่างมีคุณภาพ โดยเนื้อหาและวิธีการเรียนการสอนควรสร้างสรรค์ ทันกระแส ไม่ปิดกรอบทางความคิด และมีพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กสามารถแสดงความเห็น
ขณะที่บุคลากรอย่างครูก็ต้องพร้อมรับความเห็นต่าง และมีความสามารถในการปรับเปลี่ยน ฃ
ครูควรเป็นคนที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กและมีภาพลักษณ์ที่เข้าถึงง่าย เหมือนผู้บริหารที่ไม่ทำตัวแตกต่างจากพนักงานทั่วไป เข้าถึงได้ง่าย ทำให้พนักงานกล้าแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อยกระดับคุณภาพองค์กร
ถึงแม้หลายคนที่อ่านบทความนี้จะอยู่ในวัยทำงานหรือไม่ได้มีลูกหลานวัยเรียน แต่ต้องบอกเลยว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้นกระจายผลกระทบสู่ทุกคนในประเทศเป็นวงกว้าง
เนื่องจากในทางเศรษฐศาสตร์ การที่เด็กหลุดออกจากระบบยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดคาดการณ์ว่า หากประเทศไทยจัดการปัญหานักเรียนหลุดระบบได้ จีดีพีประเทศจะเพิ่มขึ้น 3%
ขณะที่ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า หากปิดโรงเรียนถึงสิ้นปีนี้ ความรู้ของเด็กไทยจะถดถอยไป 1.27 ปี มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็น 30% ของจีดีพี
และอดีตนักเศรษฐศาสตร์ยูเนสโกประเมินว่า หากแก้ไขปัญหานี้ได้ จะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากกว่า 228,000 ล้านบาทต่อปี
ดังนั้น หากเราสามารถป้องกันปัญหานักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษา และพัฒนาพวกเขาให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ เด็กๆ เหล่านี้ก็จะกลายมาเป็นบุคลากร แรงงาน หรือผู้ประกอบการ ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนบริษัท หน่วยงานต่างๆ ที่มีคุณภาพได้
เมื่อเกิดองค์กรคุณภาพที่ยึดหลักธรรมาภิบาลมากขึ้นในประเทศ ความหวังว่าประเทศไทยจะกลายมาเป็นประเทศพัฒนาแล้วตามประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ อาจไม่ห่างไกลเป็นภาพฝันกลางวันอีกต่อไป
หวังว่าเราจะมีโอกาสได้เห็น ‘เมจิ’ และ ‘มล’ ได้รับโอกาสทางการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพทั้งคู่ ไม่แน่ในอนาคตทั้งสองอาจได้มีโอกาสร่วมงานกัน ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ระดมไอเดียเพื่อขับเคลื่อนองค์กร อาจได้เป็นหุ้นส่วน หรือเป็นคู่แข่งทางธุรกิจของกันและกัน
ใครจะรู้ว่าเมจิและมลอาจจับมือกันสร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์มหาศาลต่อสังคมก็เป็นได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อไม่มีใครต้องหลุดออกจากออนไลน์วิทยาสาขาประเทศไทยอีก
บทความชิ้นนี้เขียนโดย: วาสิตา ทัพภะสุต จากทีม Founder Fellow ผู้เข้าประกวดการแข่งขันนักข่าวรุ่นใหม่ NEWSGEN by Dtac

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา