13 ก.ย. 2021 เวลา 00:00 • นิยาย เรื่องสั้น
ยุทธจักรวาลกิมย้ง
ตอน 1 : กำเนิดบู๊เฮียบ
2
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
ในปี 1954 ชายสองคนพบกันที่เวทีการประลอง ทั้งสองต่อสู้ด้วยมวยจีนคนละแบบ คนหนึ่งคืออู๋กงหยี (吳公儀) ยอดฝีมือมวยไท่เก๊ก อีกคนหนึ่งคือเฉินเก้อฟู (陈克夫) ยอดฝีมือมวยกระเรียนขาว
7
ไท่เก๊ก (太極拳) เป็นวิชามวยที่เชื่อกันว่าให้กำเนิดโดย จางซานเฟิง (เตียซำฮง) แห่งสำนักอู่ตัง (บู๊ตึ๊ง) ในศตวรรษที่ 12 เป็นวิชาการต่อสู้ที่ใช้ความอ่อนโยน เคลื่อนไหวไหลลื่นเหมือนกระแสน้ำ สอดคล้องกายและจิตเป็นหนึ่งเดียว เมื่อนั้นสายน้ำอันอ่อนโยนก็อาจทรงพลังทำลายภูผา
1
ต่อมาไท่เก๊กถูกพัฒนาแตกสายธารออกไปห้าสาย ห้าสำนักที่โดดเด่นคือสำนักสกุลหยาง อู๋ เฉิน ซุน และหวู่-ห่าว
1 แบบสกุลหยาง (楊氏太極拳) เป็นแบบขยายจากไท่เก๊กเดิม แพร่หลายมากที่สุด พัฒนาโดยปรมาจารย์หยางลู่ฉาน
2
2 แบบสกุลอู๋ (吳氏太極拳) เป็นไท่เก๊กที่แพร่หลายเป็นลำดับสอง มีสไตล์การวางมือเท้าเฉพาะตัว ช่วงเท้าค่อนข้างชิดและวงมือแคบกว่า เมื่อเทียบกับไท่เก๊กสกุลอื่น
1
3 แบบสกุลเฉิน (陳氏太極拳) เป็นไท่เก๊กทางเหนือ จัดเป็นต้นฉบับ วิทยายุทธ์สายนี้เหมือนการคลี่ผ้าไหม สลับช้ากับเร็ว และปลดปล่อยพลังอย่างแรงออกมา
2
4 แบบสกุลซุน (孙氏太極拳) จุดเด่นคือเคลื่อนไหวไหลลื่นไหล อ่อนช้อย
2
5 แบบสกุลหวู่-ห่าว (武郝式太極拳) กำเนิดที่เหอเป่ย เป็นวิชาที่เน้นพลังภายในที่เป็นเอกลักษณ์อีกแบบหนึ่ง เป็นสำนักที่เล็กและรู้จักกันน้อยที่สุด ส่วนหนึ่งเพราะไม่จำเป็นต้องหาเลี้ยงชีพจากการสอน
1
ส่วนมวยกระเรียนขาวเป็นวิทยายุทธ์ทางใต้ กำเนิดที่หย่งชุน จังหวัดฟู้เจียน
ชื่อหย่งชุนนี้ (永春县) เป็นคนละชื่อกับมวยหย่งชุน (詠春拳) ของปรมาจารย์ยิปมัน ซึ่งเป็นมวยทางใต้เหมือนกัน
4
มวยกระเรียนขาว (白鶴拳) มีรากมาจากมวยวัดเส้าหลิน และเลียนแบบท่วงท่าของกระเรียน มีทั้งกระบวนท่าช่วงสั้นแบบประชิดและช่วงยาว
2
หนึ่งปีก่อนการประลองในวันนั้น อู๋กงหยีประกาศ “ขอรับการสั่งสอน” ท้าหาคู่ประลองยุทธ์ทางหน้าหนังสือพิมพ์โดยไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม เจตนาเพื่อพัฒนาวิชาการต่อสู้ คำท้าคือ “ใครก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ทุกเวลา”
7
ตอนนั้นอู๋กงหยีอายุห้าสิบสาม เป็นหัวหน้าสมาคมไท่เก๊กที่ก่อตั้งโดยพ่อของเขา ปู่ของเขาเป็นศิษย์ของหยางลู่ฉานผู้ให้กำเนิดมวยสกุลหยาง เขามาจากตระกูลนักสู้
3
พลันมีเสียงตอบรับจากชายคนหนึ่ง “ยินดีน้อมรับการสั่งสอน”
1
ชายผู้นี้คือเฉินเก้อฟู อายุ 35 ครูมวยที่มาเก๊า เชี่ยวชาญเพลงมวยกระเรียนขาว
เฉินเก้อฟูเกิดที่กว่างตง นอกจากมวยกระเรียนขาวแล้ว ยังเรียนยูโดและมวยตะวันตก
3
ทั้งสองสู้กันด้วยน้ำลายผ่านสื่อนานหลายเดือน
7
เฉินเก้อฟูเกทับผ่านหนังสือพิมพ์ “จากเหนือลงใต้ ผมไม่เคยเจอคู่ต่อสู้ และจากใต้ขึ้นเหนือ ผมก็ไม่เคยเจอคู่ต่อสู้”
เกทับกันนาน ในที่สุดก็มีคน ‘จัดให้’ เป็นศึกชิงเจ้ายุทธจักร
1
อู๋กงหยีศิษย์ไท่เก๊ก vs. เฉินเก้อฟูศิษย์กระเรียนขาว
เพื่อไม่ให้เป็นเรื่องรุนแรง การประลองจึงอยู่ในรูปประลองฝีมือเพื่อการกุศล เนื่องจากก่อนหน้านั้น เกิดเหตุอัคคีภัยในวันคริสต์มาส 1953 เกือบหกหมื่นครอบครัวไร้บ้าน รายได้จากการขายตั๋วประลองยุทธ์จะนำไปช่วยผู้ประสบภัย
2
ในเวลานั้น ฮ่องกงไม่อนุญาตการชกบนเวที ดังนั้นศึกชิงเจ้ายุทธจักรจึงเกิดขึ้นที่มาเก๊า เวทีประลองแบบมวยตะวันตก กำหนดวันประลอง 17 มกราคม 1954
4
มันเป็นข่าวใหญ่แห่งยุค เพราะนี่คือการต่อสู้ระหว่างมวยกระเรียนขาวกับมวยไท่เก๊ก
หัวหน้าบรรณาธิการซินหวั่นเป้า (New Evening Post) แห่งฮ่องกงชื่อโรเวอร์ มองเห็นโอกาสขายเรื่องมากกว่าแค่ขายข่าว และขยายฐานผู้อ่าน ซินหวั่นเป้ามีเซ็กชันนิยาย เขาคิดว่าน่าจะตีพิมพ์นิยายการต่อสู้ที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ของสองจอมยุทธ์ครั้งนี้
3
แต่เขาต้องหานักเขียนก่อน
เขามองไปรอบตัว และหยุดที่ชายหนุ่มสองคนในออฟฟิศ สองคนนี้วันๆ คุยแต่เรื่องวิชาการต่อสู้
คนหนึ่งชื่อเฉินเหวินถ่ง (陳文統) อีกคนหนึ่งชื่อฉาเหลียงยง (查良鏞)
3
เขาจึงโน้มน้าวใจเฉินเหวินถ่งให้เขียนนิยายเกี่ยวกับการต่อสู้ของจอมยุทธ์มาลงซินหวั่นเป้า
2
เฉินเหวินถ่งลังเล แต่ทนลูกตื๊อไม่ไหว ก็เขียน
เป็นบางอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน
นิยายกำลังภายในแบบใหม่
ทำไมบรรณาธิการจึงชวนสองคนนี้?
1
ในปี 1947 หนังสือพิมพ์ต้ากงเป้าที่เซี่ยงไฮ้รับสมัครนักแปลสามตำแหน่ง หลังจากลงโฆษณา มีคนไปสมัครงาน 109 คน เนื่องจากหลังสงคราม หางานยาก
หลังจากสอบคัดเลือก หนังสือพิมพ์คัดผู้สมัครจนเหลือเพียงสิบคนให้สอบรอบสุดท้าย เป็นการสอบข้อเขียนให้แปลบทความจากภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น รัสเซียเป็นภาษาจีน
2
ผู้สมัครคนหนึ่งส่งกระดาษคำตอบให้เป็นคนแรกหลังผ่านไป 65 นาที แล้วไปสอบสัมภาษณ์ต่อ
2
เขาสอบได้ที่ 1 ทั้งสองอย่าง และได้งานที่ต้ากงเป้า
เขาชื่อฉาเหลียงยง วัยยี่สิบสาม มาจากจังหวัดเจ้อเจียง
ปีถัดมาต้ากงเป้าสาขาฮ่องกงต้องการล่าม เบื้องบนก็ส่งฉาเหลียงยงไป ทำงานฝ่ายข่าวระหว่างประเทศ
ในปี 1949 ชายหนุ่มคนหนึ่งไปสมัครงานเป็นนักแปลที่ต้ากงเป้า หัวหน้าสั่งให้ฉาเหลียงยงเป็นผู้สัมภาษณ์
2
คนทั้งสองถูกชะตากันทันที คนหนุ่มคนนั้นได้งาน และทั้งสองก็กลายเป็นเพื่อนกัน
ชายหนุ่มคนนั้นชื่อเฉินเหวินถ่ง
3
ฉาเหลียงยงเล่าภายหลังว่า “ภาษาอังกฤษของเฉินเหวินถ่งใช้การได้ แต่ภาษาจีนของเขาดีกว่าภาษาอังกฤษหลายสิบเท่า ภาษาจีนของเขาดีมากพอเป็นครูของผม”
5
ฉาเหลียงยงอาจถ่อมตัวตามนิสัย เพราะภาษาจีนของเขาก็ดีมาก แต่เฉินเหวินถ่งก็ไม่ธรรมดาจริงๆ
2
เฉินเหวินถ่งมาจากครอบครัวนักปราชญ์ เขาเกิดที่เหมิงซาน จังหวัดกว่างสี อ่านงานเขียนจีนเก่าทะลุปรุโปร่ง อายุเจ็ดขวบสามารถท่องโคลงราชวงศ์ถังสามร้อยบท (唐詩三百首) ได้หมด และเริ่มเขียนโคลงเอง อ่านประวัติศาสตร์และวรรณกรรมทะลุ แต่เรียนจบสายเศรษฐศาสตร์ในปี 1948 แล้วมาหางานทำที่ฮ่องกง
3
ทั้งสองมีความสนใจคล้ายกัน รักการอ่านและการเขียนเหมือนกัน มีรสนิยมทางวรรณกรรมคล้ายกัน ตอนเด็กๆ อ่านหนังสือมาแบบเดียวกัน แล้วทั้งคู่ก็ชอบคุยเรื่องนิยายจอมยุทธ์
สองนักหนังสือพิมพ์หนุ่ม ฉาเหลียงยงและเฉินเหวินถ่ง
ความจริงนิยายจอมยุทธ์มีประวัติมายาวนานย้อนไปถึงสมัยฮั่น นักประวัติศาสตร์ ซือหม่าเชียน (145-87 ก่อนคริสตกาล) เขียนบทหนึ่งเกี่ยวกับนักสู้ในบันทึกประวัติศาสตร์ของเขา
1
นอกจากนี้ก็มีงานในสมัยราชวงศ์ถัง ราชวงศ์หมิง เช่น ซ้องกั๋ง ฯลฯ
1
ที่ร่วมสมัยกว่านั้นก็คืองานของไป่อี่ หรือแป๊ะอู้ (白羽) นักเขียนที่มีชื่อเสียงในยุคสาธารณรัฐจีน (รัฐที่เกิดจากการล้มราชวงศ์ชิง) เป็นนักเขียนที่เฉินเหวินถ่งชอบมาก
1
ในห้วงเวลานั้น คนหนุ่มทั้งสองเชื่อมกันด้วยนิยาย คุยเรื่องนิยายตลอดเวลา แต่ทั้งสองจินตนาการไปไกลกว่างานเขียนยุคเดิม คุยถึงตัวละครแปลกๆ เหตุการณ์แปลกๆ เช่น ตัวละครถูกไล่ล่าจนตกเขา แล้วพบถ้ำที่เก็บคัมภีร์วิชา หรืออาวุธวิเศษ หรือกินดอกไม้บางประเภทเข้าไปแล้วเพิ่มพูนวิทยายุทธ หรือตัวละครขอทานที่เชี่ยวชาญการใช้ยาพิษ หลวงจีนและนางชีที่เก่งกาจวิทยายุทธ
3
ใครๆ ในออฟฟิศก็เห็นความบ้านิยายของพนักงานสองคนนี้ ดังนั้นในปีถัดมา เมื่อต้ากงเป้าออกหนังสือพิมพ์ใหม่ในเครือ ชื่อ ซินหวั่นเป้า หัวหน้าบรรณาธิการให้สองหนุ่มรับผิดชอบเรื่องหานิยายมาลงในหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่นี้
4
และเมื่อเกิดเหตุการณ์ประลองยุทธ์ของมวยไท่เก๊กกับกะเรียนขาว โรเวอร์ บรรณาธิการก็ขอให้ช่วยเขียนนิยายเกี่ยวกับชาวยุทธจักรเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ
1
บรรณาธิการคะยั้นคะยอให้เฉินเหวินถ่งเขียน จนเขารับปาก
2
เหตุนี้เปลี่ยนแปลงทั้งชีวิตของเขาและโลกวรรณกรรมไปตลอดกาล
ในวันที่ 17 มกราคม 1954 คนฮ่องกงกว่าหมื่นคนลงเรือข้ามไปฝั่งมาเก๊า ดาราใหญ่น้อยก็ร่วมวงด้วย แน่นอนมีการพนันมาเกี่ยว
1
แล้วการประลองยุทธ์ก็อุบัติ
เมื่อเสียงระฆังดังขึ้น สองนักสู้ก็ปราดเข้าหากัน ประมือกันอย่างดุเดือด จังหวะหนึ่งหมัดของเฉินเก้อฟูพุ่งใส่หน้าอาจารย์ไท่เก๊ก อู๋กงหยีสวนกลับ ผลักฝ่ามือไท่เก๊กใส่จมูกกระเรียนขาว ผลคือเลือดทะลักออกมา เสียงระฆังดังขึ้น จบยกหนึ่ง
1
ขึ้นยกที่สอง ทั้งคู่สู้กันต่อ กระเรียนขาวฉกคู่ต่อสู้ เรียกเลือดจากปากอู๋กงหยี กระเรียนขาวพุ่งโถมต่อมิหยุด ฝ่ามือกระแทกหน้าท้องอู๋กงหยี อู๋กงหยีสวนกลับกระเรียนด้วยฝ่ามือไท่เก๊กที่จมูกเฉินเก้อฟูอีกครั้ง เลือดไหลจนเสื้อเปรอะสีแดง ทั้งสองนัวเนียกัน ทั้งเตะทั้งชก คนดูชมภาพการต่อสู้ตาไม่กะพริบ พลันกรรมการยุติการประลอง
5
ไม่มีผู้แพ้ผู้ชนะ
1
อู๋กงหยี (คนขวา) ปล่อยหมัดไท่เก๊กใส่เฉินเก้อฟู (คนซ้าย)
สองนักชกกล่าวชมกันและกันตามมารยาท
ผลคือได้เงินมาแสนเหรียญฮ่องกง ส่งไปช่วยผู้ประสบอัคคีภัย
2
ฉากการประลองจริงของมวยคู่นี้น่ากลัวกว่าที่เห็นในหนัง เพราะเลือดสาด ไม่มีความงามใดๆ เหมือนนักชกริมถนน ไม่ทำให้ประชาชนผู้ชมรู้สึกประทับใจอย่างที่คิดฝัน
6
สี่วันต่อมานวนิยายของเฉินเหวินถ่งปรากฏบนหน้าซินหวั่นเป้า ชื่อเรื่อง หลงหู่โต้วจิ่งหัว (龍虎鬥京華 แปลว่า มังกรพยัคฆ์ถล่มนครา) ใช้นามปากกา เหลียงอี่เซิน (梁羽生) หรือที่บ้านเราคุ้นเคยในชื่อ เนี่ยอู้เซ็ง
4
คำว่า อี่เซิน ในชื่อเหลียงอี่เซิน มีความหมายว่า ‘ศิษย์ของไป่อี่’ เนื่องจากเขาเสื่อมใสไป่อี่มาก ตั้งนามปากกาดั่งถือไป่อี่เป็นครู
3
มังกรพยัคฆ์ถล่มนครา บนหน้าหนังสือพิมพ์
มังกรพยัคฆ์ถล่มนครา เป็นซีรีส์นิยายกำลังภายในแบบใหม่ ลงต่อกันนานเจ็ดเดือน นิยายฮิตระเบิด ประสบความสำเร็จใหญ่หลวง คนอ่านชอบมาก
3
ในเวลาเดียวกับที่เฉินเหวินถ่งเขียน ฉาเหลียงยงก็นึกสนุก และเขียนเช่นกัน งานของเขาตีพิมพ์ตามหลังมาราวหนึ่งปี
1
งานเรื่องนั้นชื่อ จอมใจจอมยุทธ์ (書劍恩仇錄) ใช้นามปากกา จินหยง หรือที่ชาวเราคุ้นเคยในชื่อ กิมย้ง
5
นวนิยายเรื่องนี้สร้างแรงสะเทือนต่อวงการหนังสือทันที ผู้คนแปลกใจในรสชาติใหม่ของอาหารจานนี้
2
ชายหนุ่มนามเฉินเหวินถ่งและฉาเหลียงยงสองคนนี้เป็นหัวหอกให้กำเนิดนิยายกำลังภายในรุ่นใหม่ ผสมผสานไอเดียของเก่ากับของใหม่ สร้างจักรวาลนิยายกำลังภายในแบบใหม่ที่เรียกว่า บู๊เฮียบ (武侠)
2
ซินหวั่นเป้าขายดิบขายดี คราวนี้หนังสือพิมพ์อื่นๆ ก็ร่วมวงด้วย
2
มีสามปัจจัยที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์นี้
1
หนึ่ง เกิดเหตุประลองยุทธ์ ระหว่างมวยไท่เก๊กกับกะเรียนขาว
1
สอง บรรณาธิการอยากได้นิยายมาตีพิมพ์
1
สาม ชายหนุ่มสองคนมาพบกันในสำนักหนังสือพิมพ์เดียวกัน
เดิมทีเนี่ยอู้เซ็งไม่เคยคิดจะเอาดีทางนี้ แต่กระแสตอบรับดีมากจนตลอดชีวิตเนี่ยอู้เซ็งเขียนนิยายกำลังภายในไว้รวม 35 เรื่อง เช่น นางพญาผมขาว (白发魔女 ชื่อเดิม แม่เสือขาว) เจ็ดนักกระบี่แห่งเทียนซาน (七劍下天山) รอยแหนเงาจอมยุทธ์ (萍踪侠影录 ชื่อเดิม กระบี่กู้บัลลังก์) สามกระบี่สาว (江湖三女俠) จอมยุทธ์สัญจรแห่งราชวงศ์ถัง (大唐游俠傳) ฯลฯ
งานเขียนของเนี่ยอู้เซ็งอิงประวัติศาสตร์ รักษาขนบและคตินิยมแบบจีนไว้ชัดเจน มีกลิ่นของศิลปะวัฒนธรรมจีน ตัวละครมีความเป็นวีรบุรุษ ความกล้าหาญที่พิทักษ์คุณธรรม ขณะที่ตัวละครของกิมย้งหลากหลาย และลุ่มลึก ทั้งดีและเลวร้าย งานของกิมย้งมีความเป็นสากลกว่า แม้จะอิงประวัติศาสตร์เช่นกัน แต่สะท้อนสภาพความเป็นมนุษย์ เลือดเนื้อจิตใจ
6
สไตล์งานเขียนของเนี่ยอู้เซ็งมักเปิดเรื่องด้วยบทกวี เนื่องจากเขาชอบบทกวีจีนโบราณ ใช้ภาษาสวยงาม ตัวละครเอกของเขาในเรื่องนอกจากวิทยายุทธ์แล้ว ก็มักเป็นผู้มีสติปัญญา สนใจในวรรณกรรม
1
จนถึงปี 1984 เนี่ยอู้เซ็งก็วางปากกา ถอนใจเบาๆ กล่าวว่า “ทีแรกผมจะทำงานเขียนด้านวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ไปๆ มาๆ ผมเขียนนิยายกำลังภายใน อยู่ใต้เงาดาบ หมดเวลาไปสามสิบปี”
8
ส่วนกิมย้งนั้น หลังจากตีพิมพ์เรื่องแรก ก็เสิร์ฟอาหารจานที่สองตามมาทันที คือ เพ็กฮวยเกี่ยม หรือ กระบี่เลือดเขียว (碧血劍)
1
พอถึงจานที่สาม คือ มังกรหยก (射鵰英雄傳) กิมย้งก็ดังระเบิดสนั่นสะท้านแผ่นดิน จารึกชื่อในปฐพีอักษร
5
เรื่องที่ 4 จิ้งจอกภูเขาหิมะ (雪山飛狐) เป็นนวนิยายขนาดสั้น เป็นแนวทดลอง ที่แปลกออกไปจากเดิม
ครั้นถึงเรื่องที่ 5 อินทรีเจ้ายุทธจักร (神鵰俠侶) ซึ่งเป็นภาคสองของ มังกรหยก นามกิมย้งก็สลักมั่นในภูผาบรรณพิภพ
5
โลกให้กำเนิดนักเขียนคนใหม่ที่แตกต่างจากเดิม ใหม่สด รสอร่อย
2
เรื่องราวและตัวละครมากมายหลากหลายพรั่งพรูออกมา
ยุทธจักรวาลของกิมย้งถือกำเนิดแล้ว
4

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา