18 ก.ย. 2021 เวลา 02:40 • การศึกษา
ข้อสอบการอ่าน
รูปแบบของคำถามที่ผู้สอบต้องตอบให้ได้หลังจากอ่านบทความนั้นมี 6 รูปแบบ ได้แก่ ข้อเท็จจริง, ความหมายแฝง, ประมวลศัพท์, อธิบายอย่างเข้าใจง่าย, แทรกประโยคลงในบทความ และสรุปใจความสำคัญ
1. คำถามให้ตอบข้อเท็จจริง (Factual information) จะถามถึงสิ่งที่ปรากฏอยู่ในบทความ อาจเป็นประเด็นหลัก เหตุผลที่สนับสนุนสมมติฐานบางอย่างหรือการนิยาม ตัวคำถามจะมีทั้งแบบถามว่าตัวเลือกใดเป็นจริง หรือถามว่าตัวเลือกใดเป็นเท็จ คำถามประเภทนี้จะสังเกตได้จากวลี According to the paragraph หรือ Paragraph X answers which of the following: หรือ The author mentions all of the following EXCEPT:
ผู้เชี่ยวชาญของ ETS แนะนำว่า
การจะตอบคำถามประเภทนี้ได้อย่างรวดเร็วนั้นต้องอาศัยทักษะการจับใจความสำคัญจากเนื้อหา ขณะอ่านต้องสังเกตส่วนที่เป็นการนิยาม หากพบว่าคำหรือข้อความไหนสำคัญก็จดบันทึกไว้ จะช่วยเตือนความจำและง่ายต่อการกวาดตามองหาเนื้อความเพื่อยืนยันคำตอบแม้ว่าขณะทำข้อสอบเราสามารถเลื่อนดูเนื้อหาบทความได้ก็ตาม
การฝึกฝนเพื่อตอบข้อสอบประเภทนี้
อาศัยการอ่านบทความแล้วเขียนจดสิ่งที่จะเตือนความจำแยกต่างหาก จากนั้นนำสิ่งที่จดมาวิเคราะห์ว่าเป็นประเด็นสำคัญหรือไม่ การฝึกฝนบ่อยครั้งจะช่วยให้ผู้สอบหาวิธีจดสิ่งที่จะเตือนความจำได้อย่างกระชับและไม่ตกหล่นประเด็นสำคัญ
2. คำถามให้ตอบความหมายแฝง (Inference & Rhetorical) จะถามถึงใจความหรือแนวความคิดซึ่งไม่มีปรากฏในเนื้อหาโดยตรง ต้องอาศัยการตีความหรือ “อ่านระหว่างบรรทัด” คำถามประเภทนี้แบบแรก (Inference-อนุมาน, ข้อสรุป) จะมีคำว่า infer, imply, suggest เช่น Which of the following can be inferred from paragraph 1 about X ? ส่วนแบบที่สอง (Rhetorical-สำนวนโวหาร) จะถามว่าทำไมบทความหรือผู้เขียนจึงกล่าวถึงข้อมูลนั้น ๆ เช่น Why does the author mention X ?
ผู้เชี่ยวชาญของ ETS แนะนำว่า
หากผู้สอบยังไม่มีคำตอบในทันที ให้พิจารณาตัดตัวเลือกที่ผิดออกไปก่อนแล้วค่อยควานหาคำตอบที่ถูกต้อง
การฝึกฝนเพื่อตอบข้อสอบประเภทนี้
อาศัยการอ่านเร็ว (skimming) เพื่อจับใจความสำคัญให้ได้ การอ่านเร็วคือการกวาดตาอ่านส่วนแรกของบทความซึ่งจะเกริ่นนำภาพรวมของเนื้อหา จากนั้นอ่าน 1-2 ประโยคแรกของแต่ละย่อหน้าเพื่อร่างภาพเรื่องราวและมองหาใจความสำคัญอย่างรวบรัด ลองอ่านบทความสองรอบโดยอ่านเร็วในรอบแรกเพื่อจับใจความ จากนั้นอ่านโดยละเอียดเพื่อตรวจสอบว่าตนจับใจความสำคัญหรือประเด็นหลักของบทความได้ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร
ส่วนเรื่องของสำนวนโวหารนั้น ให้สังเกตว่าบทความมีวัตถุประสงค์หรือต้องการสื่อสารกับผู้อ่านอย่างไร โดยสังเกตจากคำเหล่านี้ในตัวเลือก ได้แก่ To illustrate (เพื่อร่างภาพของ), To explain (เพื่ออธิบายว่า), To contract (เพื่อตกลงว่า), To refute (เพื่อหักล้าง), To note (เพื่อหมายเหตุว่า), To support (เพื่อสนับสนุนว่า) แล้ววิเคราะห์เปรียบเทียบกับตัวบทความ
3. คำถามให้ตอบความหมายของศัพท์ (Vocabulary) สังเกตได้ง่ายที่สุดในบรรดาคำถามทั้งหมดเนื่องจากคำศัพท์นั้นจะมีแถบสีบ่งบอก และคำถามจะมีวลีถามความหมายของคำอย่าง closest in meaning to หรือ the author means that เช่น The word "X" in the passage is closest in meaning to หรือ In stating "X", the author means that เป็นต้น
คำศัพท์ที่เลือกมาถามมักเป็นศัพท์ในระดับการเรียนมหาวิทยาลัยที่ผู้สอบควรรู้ (Academic volcabulary) ซึ่งยากจะคาดเดาความหมายจากบริบท แต่เป็นคำศัพท์ที่มักพบได้ในบทความทางวิชาการหรือเนื้อหาของบทเรียน เช่น Arbitrary, Capacity, Fluctuate, Relatively เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่คำศัพท์เฉพาะสาขาวิชาหรือศัพท์เทคนิค (Specialized Vocabulary) และหากในบทความมีศัพท์เฉพาะเหล่านี้ก็จะมีคำอธิบายเป็นเชิงอรรถแนบไว้
ผู้เชี่ยวชาญของ ETS แนะนำว่า
ผู้สอบควรศึกษารากศัพท์จากคำภาษากรีก, ละติน เพิ่มเติม เนื่องจากคำในภาษาอังกฤษส่วนใหญ่ก็อาศัยคำจากทั้งสองภาษานี้ การรู้รากศัพท์จะช่วยให้ผู้สอบคาดเดาความหมายของคำได้บ้าง เช่น bio เป็นรากศัพท์ภาษากรีกที่หมายถึงชีวิต retro เป็นรากศัพท์ภาษาละติดที่หมายถึงย้อนกลับหรือถอยหลัง เป็นต้น นอกจากนี้ควรจดจำความหมายของคำอุปสรรค (prefix) และปัจจัย (suffix) ด้วย
การฝึกฝนเพื่อตอบข้อสอบประเภทนี้
ไม่มีแนวทางการฝึกฝนโดยตรง แต่ต้องอาศัยการอ่านเนื้อหาภาษาอังกฤษและแปลคำศัพท์ที่ผู้สอบยังไม่รู้เพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ไปทีละน้อยอย่างต่อเนื่อง วิธีการที่แนะนำคือใช้สมุดเปล่าเล่มเล็ก ๆ เพื่อจดคำจากสิ่งรอบตัวทีละน้อยไม่ว่าจะเป็นคำจากฉลากผลิตภัณฑ์ จากรายการคำสั่งต่าง ๆ ของคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน แล้วจดคำเหล่านั้นพร้อมคำแปลลงสมุดทุกวัน
เรายังสามารถขยายคลังคำของเราได้จากการฝึกอ่านเนื้อหาบทความที่เกี่ยวข้องกับวิชาเรียนในมหาวิทยาลัยของชั้นปีที่ 1 หรือ 2 จากหลากหลายสาขาไม่ว่าจะเป็นชีววิทยา จิตวิทยา ธรณีวิทยาหรืออื่น ๆ แล้วจดบันทึกคำศัพท์และความหมายไว้ จากนั้นใช้ประโยชน์จากคลังคำนี้โดยทำบัตรคำหรือ flash card เพื่อใช้ทบทวนความจำอย่างสม่ำเสมอ
แอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนในปัจจุบันมีส่วนที่สนับสนุนการเรียนรู้คำศัพท์ด้วย เราอาจเลือกใช้บางแอปพลิเคชั่นเพื่อช่วยเรียนรู้ทั้งคำศัพท์และภาษาอังกฤษด้านอื่น ๆ เช่น Line Dict ก็มี Daily English, Words up และ Dictation ให้ใช้งาน ซึ่งเราประยุกต์ใช้แบบบัตรคำรวมถึงเพื่อเสริมทักษะในส่วนที่เรายังขาดหรือบกพร่องอยู่ได้ นอกจากนี้ ETS ก็ยังมีแอป TOEFL Go! ด้วย ซึ่งวันหลังผมอาจทดลองใช้แล้วเขียนรีวิว
4. คำถามให้อธิบายอย่างเข้าใจง่าย (Sentence simplification) เป็นการถามให้ผู้สอบตอบว่าตัวเลือกใดกล่าวถึงประเด็นหลักของบทความ ซึ่งตัวเลือกที่ถูกต้องจะอธิบายประเด็นหลักโดยละทิ้งประเด็นรองและข้อมูลยิบย่อย หรือก็คือใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายขึ้นเพื่ออธิบายใจความสำคัญนั้น
ผู้เชี่ยวชาญของ ETS แนะนำว่า
ผู้สอบควรฝึกฝนการจับใจความโดยสังเกตลักษณะของประโยคเชิงซ้อนแล้วแยกแยะว่าส่วนใดคือประโยคหลัก ส่วนใดคือประโยคย่อย ข้อมูลใดเป็นใจความสำคัญและข้อมูลใดเป็นรายละเอียดที่อาจละได้ ส่วนใหญ่ข้อมูลที่เป็นรายละเอียดมักเป็นตัวอย่าง เป็นข้อความในวงเล็บหรือข้อมูลตัวเลข
การฝึกฝนเพื่อตอบข้อสอบประเภทนี้
ผู้สอบต้องฝึกสังเกตความสัมพันธ์ระหว่างวลีและคำในตัวเลือกว่าเชื่อมโยงกันอย่างไร เพื่อสามารถเก็บชิ้นส่วนข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่มาประกอบกันเป็นใจความสำคัญได้และรู้ว่าตัวเลือกใดน่าจะถูกหรือผิด ความสัมพันธ์ระหว่างวลีและคำที่อาจเป็นไปในลักษณะเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน หรือเป็นข้อสรุปจากหลักฐาน
นอกจากนี้เราอาจสังเกตคำหรือวลีที่มีในตัวเลือกเพื่อย้อนกลับไปเปรียบเทียบมันกับตัวบทความเพื่อชี้ว่ามันถูกต้อง (อธิบายตรงตามบทความ) หรือผิด (อธิบายขัดแย้งกับบทความ) ได้
5. คำถามให้แทรกประโยคลงในตำแหน่งที่ถูกต้อง (Insert text) เป็นการทดสอบว่าผู้สอบรู้จักการเรียงลำดับเหตุและผลของวลีและประโยคในเนื้อความหรือไม่ ตัวข้อสอบจะยกบางส่วนของบทความและมีสัญลักษณ์ในตำแหน่งต่าง ๆ ที่เป็นตัวเลือก ผู้สอบสามารถคลิกที่สัญลักษณ์ให้ปรากฏข้อความจากโจทย์แทรกลงไปที่ตำแหน่งใดก็ได้ หรือจะสลับเปลี่ยนตำแหน่งก็ได้เช่นกัน เมื่ออ่านทบทวนจนแน่ใจแล้วค่อยยืนยันคำตอบ
ผู้เชี่ยวชาญของ ETS แนะนำว่า
วิธีฝึกการเรียงประโยคทำได้โดยเลือกทำสำเนาบทความจากข่าวหรือเนื้อหาทางวิชาการ จากนั้นตัดแยกแต่ละย่อหน้าแล้วลองเรียงกลับให้ถูกต้องตามตำแหน่งเดิม สังเกตว่าคำหรือข้อความใดทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างย่อหน้าหรือบ่งบอกว่ามันควรอยู่ที่ตำแหน่งไหน
การฝึกฝนเพื่อตอบข้อสอบประเภทนี้
ผู้สอบต้องฝึกสังเกตคำสรรพนามและคำสันธานของประโยค โดยคำสรรพนามจะอ้างถึงประธานหรือกรรมที่ต้องกล่าวถึงซ้ำเป็นครั้งที่สองขึ้นไป และคำสันธานจะบอกความเชื่อมโยงระหว่างประโยค เช่น เป็นเหตุเป็นผลกับประโยคก่อนหน้า เป็นข้อสรุปของสองสามประโยคก่อนหน้าหรือหรือขัดแย้งกันกับประโยคก่อนหน้า
6. คำถามให้ตอบใจความสำคัญโดยสรุปหรือเติมข้อมูลลงในตาราง (Prose summary & Fill in a table) แบบแรกเป็นการถามให้ผู้สอบตอบประเด็นหลักที่แสดงถึงข้อมูลส่วนสำคัญของบทความ ผู้สอบต้องเลือกตัวเลือกที่ถูกต้อง ส่วนตัวเลือกที่ผิดจะเป็นเพียงประเด็นรองหรือข้อมูลที่ไม่ปรากฏอยู่ในบทความ ส่วนแบบหลังจะคล้ายกับแบบแรกแต่มีตารางให้เติมข้อความจากตัวเลือกลงไป
ทั้งสอบแบบมีวิธีการทำเหมือนกันคือคลิกลากและวางตัวเลือกลงในช่องว่างโดยไม่ต้องคำนึงถึงลำดับแต่ให้คำนึงถึงความถูกต้องตรงตามหัวตารางหรือเป็นใจความสำคัญ ในแต่ละบทความจะมีคำถามให้ตอบใจความสำคัญหรือให้เติมข้อมูลลงในตารางเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
ผู้เชี่ยวชาญของ ETS แนะนำว่า
การฝึกสร้างแผนผังความคิด (mind mapping) หรือฝึกจดบันทึกสั้น ๆ ระหว่างอ่านบทความจะช่วยเตือนความจำและเผยเค้าโครงของบทความให้ผู้สอบเห็น ซึ่งการจดบันทึกนั้นควรเขียนในภาษาตามความเข้าใจของตน
การฝึกฝนเพื่อตอบข้อสอบประเภทนี้
ผู้สอบต้องฝึกสร้างหรือวาดภาพร่าง / เค้าโครง (outline) ของบทความให้ได้เมื่ออ่านจบแล้ว ตัวเค้าโครงนี้เองจะช่วยบอกว่าอะไรคือประเด็นหลัก ประเด็นรอง ข้อสนับสนุน / โต้แย้ง รายละเอียด หรือตัวอย่าง
การฝึกฝนเพื่อเพิ่มพูนทักษะที่จำเป็นสำหรับทำข้อสอบการอ่าน
1. เลือกบทความจากข่าว สารคดี หรือวารสารวิชาการเพื่ออ่านจับใจความหกข้อพื้นฐาน (ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร และทำไม) ซึ่งจะเป็นการดีหากมีเพื่อนคู่หูทำเช่นเดียวกันแล้วแลกเปลี่ยนกันตรวจเพื่อเปรียบเทียบกัน
2. ฝึกอ่านและจับเวลาโดยเริ่มจากบทความขนาดสั้น เริ่มต้นโดยการอ่านธรรมดาแล้วจับเวลาจากนั้นลองอ่านอีกครั้งให้เร็วขึ้น
3. ฝึกอ่านแล้วจดบันทึกกับสรุปใจความสำคัญของบทความไปพร้อม ๆ กัน ข้อนี้จะคล้ายคลึงกับสภาวะการสอบจริงที่ผู้สอบจดเพื่อเตือนความจำได้ ควรทดลองหาวิธีการที่เหมาะสมกับตนเพราะบางคนอาจไม่ถนัดที่จะอ่านไปจดไป แต่อย่างไรก็ดีในการสอบนั้นอนุญาตให้ผู้สอบจดได้ ผู้สอบจึงควรฝึกฝนเพื่อใช้ประโยชน์จากจุดนี้
4. ฝึกอ่านเพื่อสกัดข้อมูลโดยการกวาดตามองหาข้อมูลรายละเอียดเช่นวันที่ ศัพท์เฉพาะและตัวเลขต่าง ๆ รวมถึงมองหาถ้อยคำที่มีความหมายใกล้เคียงกันในบทความ ทำเครื่องหมายไว้เพื่อเปรียบเทียบกันว่าผู้เขียนบทความมีวิธีใช้คำเหล่านั้นอย่างไร
5. ฝึกอ่านเอาเรื่อง ลองกวาดตาอ่านผ่าน ๆ (Skimming & Scanning) เพื่อให้เกิดความรู้สึกนึกคิดคร่าว ๆ เกี่ยวกับประเด็นหลัก อาศัยการอ่านย่อหน้าแรกที่เป็นส่วนเกริ่นนำ จากนั้นอ่าน 1-2 ประโยคแรกของย่อหน้าถัดลงไปและอ่านย่อหน้าสุดท้ายที่เป็นส่วนสรุป เมื่ออ่านผ่าน ๆ แล้วค่อยอ่านโดยละเอียดเพื่อหาประเด็นสำคัญและแยกแยะข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ผู้เขียนยกมา รวมถึงถอดความบางประโยคและบางย่อหน้า
6. ฝึกอ่านเพื่อจำแนก เป็นการฝึกมองเค้าโครงของบทความ โวหารและการใช้ตรรกะ เมื่ออ่านบทความแล้วให้เขียนประเด็นหลัก ประเด็นรอง และข้อสนับสนุนของประเด็นเหล่านั้น ลองสร้างแผนผังเพื่อจัดกลุ่มข้อมูลเป็นหมวดหมู่ รวมถึงลองพูดหรือเขียนสรุปใจความสำคัญจากผังหรือเค้าโครงที่ได้
อ้างอิง
Answers to Common Questions for TOEFL® Test Preparation: The Insider’s Guide
TOEFL® Test Preparation: The Insider’s Guide เป็นคอร์สเรียนบนเว็บไซต์ edX แค่สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซต์ก็สามารถลงทะเบียนเรียน (enroll) ฟรีได้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา