25 ก.ย. 2021 เวลา 07:00 • การศึกษา
ข้อสอบการฟัง
รูปแบบของคำถามที่ผู้สอบต้องตอบให้ได้หลังจากการฟังนั้นมี 7 รูปแบบ ได้แก่ สาระสำคัญ, รายละเอียด, จุดประสงค์, ทัศนะคติ, การเรียบเรียง, ความเชื่อมโยง และการอนุมานหรือการลงความเห็น
1. คำถามให้ตอบสาระสำคัญ (Gist-Content & Gist-Purpose) มีสองแบบคือสาระสำคัญของเนื้อหาซึ่งถามให้ตอบหัวใจสำคัญหรือประเด็นหลักของการบรรยาย/บทสนทนา ส่วนการถามสาระสำคัญของจุดมุ่งหมายนั้นต้องการให้ตอบว่าการสนทนา/การบรรยายนั้นเกี่ยวข้องหรือทำเพื่ออะไร ผู้สอบจะสังเกตคำถามแบบนี้ได้จากวลีเช่น Mainly about, Mainly discussing, Why does the student …?, What is the main purpose…? เป็นต้น
คำถามประเภทนี้มักเป็นข้อแรกและจะถามเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งคือ Gist-Content หรือไม่ก็ Gist-Purpose เท่านั้น อย่างไรก็ตามหากเนื้อหาเหล่านั้นมีประเด็นสำคัญถึงสองประเด็น ข้อสอบก็จะบอกและผู้สอบต้องเลือกตอบให้ครบ
ผู้เชี่ยวชาญของ ETS แนะนำว่า
การฟังบรรยายหรือการสอนจากอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นภาษาอังกฤษจะช่วยเสริมทักษะการฟังเพื่อทำข้อสอบแบบนี้ได้ ผู้สอบควรเริ่มจากการบรรยายในเนื้อหาวิชาสาขาที่ตนคุ้นเคยแล้วค่อยขยับไปที่สาขาอื่น ๆ ซึ่งไม่มีความคุ้นเคยหรือเกี่ยวข้อง ปัจจุบันการบรรยายหรือการสอนหลากหลายสาขาไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา ศิลปะศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ศิลปะศาสตร์หรืออื่น ๆ สามารถหาชมได้ผ่านเว็บไซต์
2. คำถามให้ตอบลงรายละเอียด (Detail) นั้นตรงไปตรงมา คือถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ผู้สอบได้ยินในการบรรยายหรือการสนทนานั้น คำถามแบบนี้จะมีวลีเช่น What is หรือ According to เป็นต้น
ผู้เชี่ยวชาญของ ETS แนะนำว่า
การฝึกจดบันทึกสิ่งสำคัญระหว่างฟังจะช่วยให้ตอบคำถามแบบนี้ได้ ผู้สอบอาจฝึกฝนโดยฟังคลิปเสียงสนทนาหรือการบรรยายกับเพื่อนหรือคู่หูแล้วจดบันทึก จากนั้นแลกเปลี่ยนกันดูเพื่อเปรียบเทียบสิ่งที่แต่ละคนจดบันทึกและวิเคราะห์ว่าส่วนใดเป็นใจความสำคัญหรือรายละเอียดที่เกื้อหนุนประเด็นนั้น
3. คำถามให้ตอบจุดประสงค์ (Function) นั้นต้องการคำตอบว่าผู้บรรยายหรือผู้พูดต้องการอะไร หรือแจกแจง/เน้นยำบางประโยคเพราะอะไร หรือก็คือถามถึงเจตนาของผู้พูดนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่นเราอยู่ในห้องกับหลายคนแล้วมีใครคนหนึ่งพูดว่า "It's getting chilly in here." (ในนี้มันชักจะเย็นขึ้นนะ) เราอาจคาดเดาเจตนาหรือจุดประสงค์ของคนพูดได้ว่าจริง ๆ แล้วเขาน่าจะหมายถึง "Could someone close the window?" (ใครสักคนควรปิดหน้าต่างหน่อยไหม ? - เพราะอากาศมันเย็นขึ้นแล้ว)
คำถามแบบนี้สังเกตได้จากวลีว่า What does the professor mean when he says…? หรือ Why does the student say … ?
ผู้เชี่ยวชาญของ ETS แนะนำว่า
ให้สังเกตเจตนาของผู้พูดว่าต้องการอะไรจากผู้ฟังหรือต้องการให้ผู้ฟังทำอะไร เช่น ชี้นำ แนะนำ บ่น ตั้งคำถาม เห็นด้วยหรือเห็นต่างจากคู่สนทนา เมื่อคาดเดาเจตนาได้ก็จะรู้วัตถุประสงค์ของบทสนทนานั้น ๆ
4. คำถามให้ตอบทัศนคติ (Attitude) นั้นต้องการคำตอบว่าผู้พูดรู้สึกหรือคิดอย่างไรเกี่ยวกับบางสิ่ง ตัวอย่างคำถามเช่น What is the professor's attitude ?, What does the student think about…? และ What can be inferred…? ซึ่งหากผู้สอบเข้าใจบทสนทนาก็จะรู้ว่าผู้พูดมีทัศนคติหรือความรู้สึกอย่างไร
ผู้เชี่ยวชาญของ ETS แนะนำว่า
กุญแจสำคัญเกี่ยวกับทัศนคติของผู้พูดที่เราจะได้ยินจากเสียงสนทนาคือวลีเช่น What I think... หรือ It seems to me… เป็นต้น
น้ำเสียงของผู้พูดก็บ่งบอกความรู้สึกและทัศนคติได้ว่าผู้พูดผ่อนคลายหรือมีบางอย่างกวนใจ เยือกเย็นหรือมีอารมณ์ สับสนหรือแน่ใจ กระตือรือร้นหรือเบื่อหน่าย ฯลฯ การดูละคร ซีรี่ย์ ซิทคอมหรือภาพยนตร์แล้วสังเกตน้ำเสียงขณะพูดของตัวละครจะช่วยให้ผู้สอบคุ้นเคยและบอกได้ว่าเจ้าของเสียงสนทนามีความรู้สึกหรือทัศนคติอย่างไร
5. คำถามให้ตอบการเรียบเรียง (Organization) นั้นใช้ทดสอบว่าผู้สอบเห็นเค้าโครงของหัวข้อการบรรยายหรือการสนทนาและเข้าใจที่มาที่ไปของเนื้อหาในบทสนทนาหรือไม่ ตัวอย่างของคำถามแบบนี้ได้แก่ Why does the professor mention…? หรือ Why does the professor discuss…? โดยคำถามมักเกี่ยวข้องกับการยกตัวอย่างเพื่ออธิบายเนื้อหาบางประเด็น
ผู้เชี่ยวชาญของ ETS แนะนำว่า
ผู้สอบต้องจับสัญญาณ (signal words) จากการบรรยายหรือบทสนทนาให้ได้ว่าส่วนใดเป็นการเกริ่นนำ ประเด็นหลัก เหตุผลสนับสนุนหรือบทสรุปโดยอาจสังเกตจากคำเหล่านี้แล้วจดบันทึกไว้
คำแสดงลำดับ เช่น first, next และ then
คำแสดงช่วงเวลา เช่น before, during หรือ since
คำแสดงการเชื่อมโยงเหตุและผลลัพธ์ เช่น accordingly หรือ as a result
คำแสดงการยกตัวอย่าง เช่น for example หรือ for instance
คำแสดงการสรุป เช่น in conclusion หรือ to summarize
6. คำถามให้ตอบความเชื่อมโยง (connecting content) นั้นใช้ทดสอบว่าผู้สอบประเด็นหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ในบทสนทนาหรือการบรรยายนั้นสัมพันธ์กันอย่างไร ซึ่งจะตอบคำถามได้ก็ต่อเมื่อผู้สอบสามารถรวบรวมและปะติดปะต่อข้อมูลจากบทสนทนาได้ การตอบอาจเป็นการเติมข้อมูลลงในตารางหรือให้สรุปว่าผลลัพธ์ที่เป็นไปได้/อาจเกิดขึ้นได้คืออะไร หากลงลึกในรายละเอียดตัวคำถามอาจถามถึงส่วนที่เป็นขั้นตอนต่าง ๆ ถามถึงสาเหตุหรือที่มาของผลลัพธ์ ถามให้จัดจำแนกข้อมูลเป็นกลุ่มหรือให้ผู้สอบทำนายว่าเหตุการณ์ต่อจากบทสนทนาจะดำเนินไปอย่างไร
ผู้เชี่ยวชาญของ ETS แนะนำว่า
ควรฝึกทำความเข้าใจและสรุปใจความของบทสนทนาให้ได้ในเวลาอันสั้นและพร้อมจะจดบันทึกไว้ ซึ่งอาจทำได้โดยหาคลิปการบรรยาย/การสนทนามาฟังแล้วหยุดเป็นช่วง ๆ เพื่อจดแล้วตรวจสอบว่าสิ่งที่ทำความเข้าใจนั้นถูกต้องหรือไม่ นอกจากนี้การหยุดเป็นช่วง ๆ ยังใช้เพื่อฝึกคาดเดาบทสนทนาที่จะเกิดขึ้นถัดไปได้ด้วย
7. คำถามให้ตอบการอนุมานหรือลงความเห็น (Inference) ต้องการคำตอบที่เป็นความหมายแฝงซึ่งในการบรรยายหรือการสนทนาไม่ได้พูดบอกไว้ ต้องอาศัยการตีความ ตัวอย่างคำถามเช่น What are the implications of …?, What does the professor imply…? หรือ What can be inferred…?
ผู้เชี่ยวชาญของ ETS แนะนำว่า
ควรฝึกฟังเสียงสนทนาเกี่ยวกับหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งที่มีผู้บรรยายสองคนให้มุมมองเกี่ยวกับหัวข้อนั้นในด้านที่แตกต่างกัน ลองสังเกตถ้อยคำที่ใช้ว่ามีแนวโน้มไปในทางบวกหรือลบ และผู้บรรยายสื่อสารเป็นนัยอย่างไรโดยไม่กล่าวเรื่องนั้นออกมาตรง ๆ
การฝึกฝนเพื่อการสอบฟังมีสามแนวทางที่ต้องทำ ได้แก่
1. เสริมทักษะและปรับพื้นฐาน
เราฝึกทักษะการฟังได้จากการนำเนื้อหาของบทสนทนาหรือการบรรยายมาแล้วเลือกลบหรือปิดบางคำไว้ อาจปิดทุก 5-10 คำจากนั้นฟังแล้วเติมคำลงไป
การดูภาพยนตร์ ละคร ข่าว หรือฟังการบรรยายของวิชาเรียนในระดับมหาวิทยาลัยในภาษาอังกฤษนั้นจะช่วยเสริมทักษะการฟังได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันมีคลิปวีดีโอการบรรยายเผยแพร่ซึ่งหาชมได้ไม่ยากนัก นอกจากนี้ยังมีแหล่งเนื้อหาสำหรับฝึกการฟังและเรียนรู้ภาษาอังกฤษผ่านเว็บไซต์อีกมากมาย เช่น
CNN Audio - Podcasts and News Briefs
YR Media - It's Your Media
BBC Sounds - Music. Radio. Podcasts
BBC Learning English - BBC Learning English - Homepage
เราสามารถฟังข่าวหรือการบรรยายโดยดูเทียบไปกับตัวเนื้อหาด้วยแล้วสังเกตว่าผู้พูดเน้นเสียง (stress) ที่จุดไหนเพราะอะไร
วิธีการฝึกฝนเริ่มจากฟังเนื้อหาที่คุ้นเคย อาจฟังเพียงระยะเวลาสั้น ๆ พร้อมอ่านคำบรรยาย (subtitle) ตามไปก่อน เมื่อคุ้นเคยแล้วก็ฟังให้นานขึ้นและขยับไปหัวข้ออื่น ๆ ที่ใหม่และไม่คุ้นเคยแล้วสังเกตว่าจับใจความได้แค่ไหน ข้อมูลพื้นฐาน (ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไรและทำไม) มีอะไรบ้าง
สังเกตเค้าโครงให้ได้ว่าส่วนไหนเป็นการเกริ่นนำ ประเด็นหลัก ข้อสนับสนุน/โต้แย้ง ตัวอย่าง และบทสรุป หาความเชื่อมโยงระหว่างประเด็นรวมถึงแยกแยะความคิดเห็นออกจากข้อเท็จจริง รวมถึงลองคาดเดาว่าบทสนทนาถัดไปจะเป็นอย่างไร
ฟังการบรรยายหรือบทสนทนาส่วนที่เป็นประเด็นสำคัญแล้วเขียนสรุป จากนั้นฟังการบรรยายหรือบทสนทนาทั้งหมดแล้วเปรียบเทียบสรุปประเด็นสำคัญกับเนื้อหาส่วนต่าง ๆ ของการบรรยายหรือบทสนทนา
เนื่องจากระหว่างสอบสามารถจดบันทึกได้ เราจึงควรฝึกฟังแล้วจดใจความสำคัญพร้อมรายละเอียดที่จำเป็นให้ได้โดยไม่ต้องเขียนแทบทุกคำที่ได้ยิน
2. ฟังให้เกิดความเข้าใจ
เราอาศัยการฟังจากสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์และการบรรยายได้ ให้ฟังแล้วคิดตามว่าผู้พูดต้องการอะไรหรือมีเป้าหมายอะไร ตัวรายการหรือการบรรยายมีจุดประสงค์อะไร เช่น ให้คำแนะนำ บ่น เชื้อเชิญหรือขออภัย
สังเกตวิธีและรูปแบบการพูด ภาษาที่ใช้นั้นเป็นทางการหรือลำลอง น้ำเสียงของผู้พูดสม่ำเสมอหรือไม่ มีอารมณ์หรือสงบราบเรียบ และการมีน้ำเสียงที่แตกต่างกันในบางช่วงนั้นหมายความว่าอย่างไร เช่นมีความมั่นใจหรือลังเลใจ
สังเกตความหมายที่ผู้พูดต้องการสื่อและการย้ำบางถ้อยคำ สิ่งนี้ช่วยให้เราทำความเข้าใจมุมมองของผู้พูดได้
สังเกตการณ์เน้นย้ำประเด็นสำคัญว่าผู้พูดเพิ่มความหนักแน่นให้แนวคิดที่เสนออย่างไร
3. ฟังแล้วจำแนกแยกแยะและสังเคราะห์ข้อมูล
สังเกตว่าเนื้อหาหรือบทสนทนานั้นมีเค้าโครงอย่างไร signal word อะไรบ่งบอกส่วนเกริ่นนำ ประเด็นสำคัญ ตัวอย่างหรือบทสรุปของเนื้อหา
สังเกตความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดในเนื้อหา เช่น เป็นเหตุเป็นผลกัน เปรียบเทียบหรือตรงกันข้ามกัน หรือดำเนินไปเป็นขั้นเป็นตอน
สังเกตรอยต่อหรือการเชื่อมโยงระหว่างแนวคิดในเนื้อหาว่าผู้พูดเกริ่นหรือเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อเข้าประเด็นอย่างไร
คาดเดาบทสนทนาถัดไปว่าผู้พูดจะนำเสนออะไร และหยุดเป็นช่วง ๆ เพื่อสรุปสิ่งที่ได้ยินหรือสิ่งที่ตีความได้
ฝึกฟังเสียงสนทนาเกี่ยวกับหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งที่มีผู้บรรยายสองคนให้มุมมองเกี่ยวกับหัวข้อนั้นในด้านที่แตกต่างกัน ลองสังเกตถ้อยคำที่ใช้ว่ามีแนวโน้มไปในทางบวกหรือลบ และผู้บรรยายสื่อสารเป็นนัยอย่างไรโดยไม่กล่าวเรื่องนั้นออกมาตรง ๆ
เทคนิคการจดบันทึกระหว่างฟังสามารถอ่านได้จาก Strategies for Success: Taking Notes at the University Level ที่แนบลิ้งค์ไว้ด้านล่าง
อ้างอิง
Answers to Common Questions for TOEFL® Test Preparation: The Insider’s Guide
TOEFL® Test Preparation: The Insider’s Guide เป็นคอร์สเรียนบนเว็บไซต์ edX แค่สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซต์ก็สามารถลงทะเบียนเรียน (enroll) ฟรีได้
Strategies for Success: Taking Notes at the University Level เป็นแนวทางการจดเล็คเชอร์หรือจดบันทึกขณะฟังบรรยายสำหรับนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยซึ่งนำมาประยุกต์ใช้ได้กับการสอบฟัง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา