18 ก.ย. 2021 เวลา 12:45 • การศึกษา
[ตอนที่ 41] แนะนำภาพรวมของภาษาฮินดี
An overview of Hindi language
สำหรับเนื้อหาตอนที่ 3 ของซีรีส์ "นานาภาษาในเอเชียใต้" จะเป็นเรื่องราวที่แนะนำภาพรวมของภาษาฮินดี หนึ่งในภาษาราชการของประเทศอินเดียในปัจจุบัน และเป็นภาษามีผู้ใช้เป็นภาษาแม่ในหลักร้อยล้านคน โดยเฉพาะทางเหนือของประเทศอินเดีย
ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น...เชิญอ่านกันได้เลยครับ
ภาพประกอบ : มุมมองของสุสานทัชมาฮาลจากฝั่งเหนือของแม่น้ำยมุนา [Credit ภาพ : David Castor]
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ : เพลงร้องในภาษาฮินดี "Chak De! India" (Go! India) ร้องโดย Sukhwinder Singh, Salim Merchant, Marianne D'Cruzในปี ค.ศ.2007 ที่ใช้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์กีฬาของอินเดียในชื่อเดียวกันกับเพลง
ภาษาฮินดี (ชื่อในภาษาอังกฤษ : Hindi, ชื่อในภาษาฮินดี : हिन्दी) เป็นภาษาสมาชิกในกลุ่มภาษาอินโด-อารยัน (Indo-Aryan languages) กลุ่มภาษากลุ่มหนึ่งที่อยู่ภายใต้ตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน (Indo-European language family) โดยมีจำนวนประชากรที่ใช้ภาษาฮินดีเป็นภาษาแม่ประมาณ 341 ล้านคน ผู้คนที่ใช้ภาษาฮินดีเป็นภาษาแม่ภายในประเทศอินเดียจะอยู่บริเวณตอนเหนือของอินเดีย
แผนที่แสดงประเทศอินเดีย และสัดส่วนของผู้ใช้ภาษาฮินดีเป็นภาษาแม่ ตั้งแต่ 0% (สีขาว) ไปจนถึง 100% (สีแดงจัด) ตามข้อมูลสำมะโนประชากรของประเทศอินเดียในปี ค.ศ.2011 [Credit แผนที่ : User "Aryaman Arora" @ Wikimedia.org]
จากจำนวนผู้ใช้ภาษาฮินดีเป็นภาษาแม่หลายล้านคน ทำให้ภาษาฮินดีมีอันดับ 4 ของภาษาที่มีจำนวนผู้ใช้เป็นภาษาแม่มากที่สุด (รองจากภาษาจีนกลาง ภาษาสเปน และภาษาอังกฤษ) นอกจากนี้ ยังมีผู้ใช้ภาษาฮินดีเป็นภาษาที่ 2 อีกราว 258 ล้านคน
ชื่อ “ฮินดี” ของภาษาฮินดีนั้นกลับไม่ได้มาจากภาษาฮินดีเอง แต่มาจากคำคุณศัพท์ هندی (Hindī) ในภาษาเปอร์เซียคลาสสิก (Classical Persian) แปลว่า “...ของอินเดีย” เพื่อใช้กล่าวถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำสินธุ-คงคา ก่อนที่จะกลายเป็นชื่อของภาษา
รากฐานแรกเริ่มของภาษาฮินดี (หากนับตั้งแต่ที่กลุ่มชนอินโด-อารยันอพยพมาถึงเอเชียใต้) คือ “ภาษาพระเวท” (Vedic Sanskrit : ภาษาสันสกฤตแบบที่ปรากฏในคัมภีร์ฤคเวทในศาสนาฮินดู) ในแถบลุ่มแม่น้ำสินธุ ซึ่งอยู่ในกลุ่มภาษาอินโด-อารยันสมัยเก่า (Old Indo-Aryan) ก่อนที่จะวิวัฒนาการเป็น “ภาษาปรากฤต” (Prakrit) ซึ่งเป็นกลุ่มภาษาอินโด-อารยันสมัยกลาง (Middle Indo-Aryan) ที่สามัญชนใช้ และวิวัฒนาการต่อไปกลายเป็นกลุ่มภาษาอินโด-อารยันสมัยใหม่ (Modern Indo-Aryan) ที่มีภาษาฮินดีเป็นสมาชิก
หากจะระบุเฉพาะเจาะจงว่าภาษาปรากฤต “แบบใด” ที่เป็นรากฐานของภาษาฮินดี จะมี 2 ภาษาตามยุคสมัย คือ...
- “ภาษาปรากฤตแถบสุรเสนะ” (Shauraseni Prakrit) เป็นภาษาที่นักภาษาศาสตร์สันนิษฐานว่าอาจเคยเป็นภาษาพูดที่สามัญชนใช้ในช่วงศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล ในพื้นที่อดีตอาณาจักรสุรเสนะ (Surasena) ที่สลายตัวไปก่อนหน้านี้ (อาณาจักรนี้อยู่ในช่วงปีที่ 700-300 ก่อนคริสตกาล) ภาษาปรากฤตแถบสุรเสนะถูกนำกลับมาใช้เป็นภาษาตามในบทละครตามแถบตอนเหนือของอินเดียสมัยกลาง (ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 3-10)
แผนที่แสดง "มหาชนบท" (Mahājanapadas) ซึ่งเป็นกลุ่มของอาณาจักรต่าง ๆ ทางตอนเหนือของอินเดียและปากีสถาน ประมาณช่วงปีที่ 600 - 345 ก่อนคริสตกาล ซึ่งรวมถึงอาณาจักรสุรเสนะ (Śūrasena) ไว้ด้วย [Credit แผนที่ : User 'Avantiputra7' @ WIkimedia.org
- “ภาษาอปภรังศะ” (Apabhraṃśa) ภาษาปรากฤตทางตอนเหนือของอินเดียรุ่นหลังที่มีความเปลี่ยนแปลงจนเกิดช่วงเปลี่ยนผ่านจาก “กลุ่มภาษาอินโด-อารยันสมัยกลาง” สู่ “กลุ่มภาษาอินโด-อารยันสมัยใหม่” ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6-13
เมื่อเวลาผ่านไป อินเดียได้ตกอยู่ภายใต้ผู้ปกครองชาวมุสลิมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 - กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีศูนย์กลางอำนาจอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย ในช่วงนี้ อิทธิพลทางภาษาจากภาษาอาหรับ เปอร์เซีย และตุรกีเข้ามาในภาษาฮินดูสถาน (Hindustani) ที่เป็นภาษาสมาชิกในกลุ่มภาษาอินโด-อารยันสมัยใหม่
แผนที่แสดงพื้นที่ในอิทธิพลของรัฐสุลต่านเดลี (Delhi Sultanate) ในช่วงเรืองอำนาจ (ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14) ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ตัคลุก ซึ่งเป็นผู้ปกครองชาวเติร์กมุสลิม [Credit แผนที่ : User 'Arab Hafez' @ WIkipedia.org]
ในขณะเดียวกัน ภาษาฮินดูสถานสำเนียงแถบกรุงเดลีในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13-15 เรียกว่า “ภาษาฮินดีสมัยเก่า” (Old Hindi) ได้พัฒนาต่อกลายเป็นภาษาฮินดีในปัจจุบัน โดยงานวรรณกรรมในภาษาฮินดีช่วงแรกเริ่มมีในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12-13 ซึ่งถือได้ว่าตรงกับช่วงภาษาฮินดีสมัยเก่า
แผนผังแสดงวิวัฒนาการของภาษาในกลุ่มภาษาอินโด-อารยัน (Indo-Aryan Languages) ที่เริ่มตั้งแต่ภาษาพระเวท (Vedic Sanskrit) - ภาษาปรากฤต (Prakrit) - ภาษาปรากฤตแถบสุรเสนะ (Shauraseni Prakrit) จนถึงภาษาฮินดูสถาน (Hindustani) และภาษาฮินดี (Hindi) โดยมองว่า "ภาษาอปภรังศะ” (Apabhraṃśa) เป็นเพียงช่วงเปลี่ยนผ่านทางภาษาเท่านั้น [Credit ภาพ : User 'Mandrak' @ WIkimedia.org]
คำว่า “ภาษาฮินดูสถาน” ยังกลายเป็นคำที่ไว้เรียกรวมภาษาฮินดี (ที่ฝั่งอินเดียในปัจจุบันใช้) และภาษาอูรดู (ที่ฝั่งปากีสถานในปัจจุบันใช้) โดยในระดับภาษาพูดนั้น ภาษาฮินดีและภาษาอูรดูใช้คำศัพท์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันโดยทั่วไปร่วมกัน คนพูดภาษาฮินดีกับคนพูดภาษาอูรดูจึงมี “ความเข้าใจภาษาระหว่างกัน” (Mutual intelligibility) ในกรณีภาษาพูดและรากฐานทางประวัติศาสตร์ของภาษา นักภาษาศาสตร์ส่วนหนึ่งจึงมองว่าภาษาทั้งสองเป็นภาษาเดียวกันในฐานะ “ภาษาฮินดูสถาน”
แต่ในกรณีภาษาเขียนระหว่างภาษาฮินดี-ภาษาอูรดูนั้นจะแตกต่างกัน โดยภาษาฮินดีใช้อักษรเทวนาครีเป็นระบบการเขียน แต่ภาษาอูรดูจะใช้อักษรเปอร์เซีย-อาหรับในการเขียน ดังนั้น การมองว่าเป็น “ภาษาฮินดูสถาน” หรือ “ภาษาฮินดี-ภาษาอูรดู” จะขึ้นกับบริบทมุมมองว่ามองในแง่มุมใด (รากฐานทางประวัติศาสตร์ของภาษา ภาษาพูดที่คำส่วนใหญ่ใช้ร่วมกัน ภาษาเขียนที่ใช้อักษรคนละแบบ หรือภาษาราชการของประเทศอินเดีย-ปากีสถานที่รัฐบาลทั้งสองฝั่งมีความขัดแย้งกัน)
ภาษาฮินดีในปัจจุบันยังมีสถานะเป็น “ภาษากลาง” ของพื้นที่ “แถบเข็มขัดภาษาฮินดี” (Hindi Belt) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีผู้ใช้ภาษาฮินดีจำนวนมากทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย กับท้องถิ่นอื่น ๆ ที่มีการใช้ภาษาฮินดีแบบที่ถูกปรับเปลี่ยนไป (เช่น ผสมกับภาษาท้องถิ่นภาษาอื่น) โดยมี “ภาษาฮินดีสมัยใหม่มาตรฐาน” (Modern Standard Hindi) ที่อ้างอิงตามภาษาพูดตามสำเนียงแถบนครเดลีและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งยังคงอ้างอิงภาษาสำเนียงนครเดลี เช่นเดียวกับเมื่อครั้งยังเป็น “ภาษาฮินดีสมัยเก่า”
ขณะที่ชื่อ “ภาษาฮินดี” หรือ “ภาษาฮินดูสถาน” ยังไปปรากฏในทวีปหรือภูมิภาคอื่นที่ห่างไกลจากประเทศอินเดีย เนื่องจากคนอินเดียจากท้องถิ่นต่าง ๆ ที่อพยพไปอยู่ในดินแดนเหล่านั้นตั้งแต่ในอดีต แม้ว่าภาษานั้นจะสืบทอดจากภาษาฮินดูสถานหรือภาษาฮินดีสำเนียงท้องถิ่นอื่นก็ตาม เช่น
1
- “ภาษาฮินดีแถบหมู่เกาะฟีจี” (Fiji Hindi) หนึ่งในสามภาษาราชการของหมู่เกาะฟีจีในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่มาจากภาษาโภชปุรี (Bhojpuri)
แผนที่แสดงที่ตั้งของหมู่เกาะฟีจีในมหาสมุทรแปซิฟิก [Credit แผนที่ : User 'TUFS' @ Wikimedia.org]
- “ภาษาฮินดูสถานแถบทะเลแคริบเบียน” (Caribbean Hindustani) ในแถบชายฝั่งตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ที่มาจากภาษาอวธี (Awadhi : ภาษาที่มีผู้ใช้มากที่สุดในบรรดาภาษาฮินดีสำเนียงตะวันออก) และภาษาโภชปุรี
ขณะที่ประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักรกับอินเดียมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยเฉพาะในช่วงที่อินเดียเป็นอาณานิคม ทำให้ระหว่างภาษาฮินดี-ภาษาอังกฤษนั้น ต่างฝ่ายมีคำศัพท์ที่ยืมคำจากอีกฝ่ายมาใช้
จนภายหลังอินเดียได้เอกราชจากสหราชอาณาจักรและการแยกตัวของปากีสถานออกจากอินเดียในปี ค.ศ.1947 แล้ว ภาษาฮินดี ภาษาอังกฤษ และภาษาในท้องถิ่นอื่นอีก 21 ภาษา รวมเป็น 23 ภาษา ได้รับการประกาศในรัฐธรรมนูญอินเดียให้ใช้เป็นภาษาราชการในประเทศ แบ่งเป็น “กลุ่มภาษาที่ถูกกำหนด” (Scheduled languages) ภาษาราชการระดับท้องถิ่น 22 ภาษา ขณะที่ภาษาฮินดีที่อยู่ในกลุ่ม 22 ภาษานี้มีสถานะเป็นทั้งภาษาราชการระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ส่วนภาษาที่ 23 คือ ภาษาอังกฤษ มีสถานะเป็นภาษาราชการระดับชาติเท่านั้น
1
ภาษาฮินดียังมีการแบ่งคำศัพท์ออกเป็น 5 กลุ่มตามลักษณะปรากฏ (การสะกดคำ) หรือแหล่งที่มาของคำศัพท์ โดยกลุ่มคำศัพท์ 5 กลุ่มในภาษาฮินดี ได้แก่...
1) ตัตสมะ (तत्सम / tatsama แปลตรงตัวว่า “เหมือนกับสิ่งนั้น”) : คำศัพท์กลุ่มที่สะกดเหมือนกันหรือต่างกันเล็กน้อยตรงพยางค์สุดท้าย ระหว่างคำศัพท์ความหมายเดียวกันในภาษาฮินดีกับภาษาสันสกฤต แม้ว่าการออกเสียงอาจแตกต่างกันได้เนื่องความระบบการออกเสียงที่แตกต่างกันระหว่างภาษาฮินดี-สันสกฤต
กรณีต่าง ๆ ของคำศัพท์ภาษาฮินดีแบบตัตสมะ เช่น...
- คำศัพท์ในภาษาฮินดีที่สืบทอดจากภาษาสันสกฤต (ผ่านภาษาปรากฤตระหว่างทาง) โดยไม่มีความเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนแปลงน้อยมาก
- คำศัพท์ที่ภาษาฮินดียืมมาจากภาษาสันสกฤตในสมัยใหม่
2) อัฒตัตสมะ (अर्धतत्सम / Ardhatatsama แปลตรงตัวว่า “กึ่งเหมือนกับสิ่งนั้น”) : คำศัพท์ที่ภาษาฮินดียืมมาจากภาษาสันสกฤต แต่เกิดความเปลี่ยนแปลงในการออกเสียงตามมาหลังการยืมคำ
3) ตัทภวะ (तद्भव / Tadbhava แปลตรงตัวว่า “เกิดมาจากสิ่งนั้น”) : คำศัพท์ที่ภาษาฮินดีรับมาจากภาษาสันสกฤต (โดยผ่านกลุ่มภาษาอินโด-อารยันสมัยกลางอย่างภาษาปรากฤต) มีความเปลี่ยนแปลงการออกเสียงเกิดขึ้นตลอดระหว่างทาง
4) เทศชะ (देशज / Deshaja แปลว่า “แบบท้องถิ่นดั้งเดิม”) : คำศัพท์ที่กลุ่มภาษาฮินดีไม่ได้ยืมจากภาษาอื่นในกลุ่มภาษาอินโด-อารยัน อาจเป็นคำสัทพจน์ (คำเลียนเสียงที่เกิดตามธรรมชาติ) หรือคำที่ภาษาฮินดียืมมาจากภาษาในตระกูลภาษาอื่นในเอเชียใต้ (อย่างตระกูลภาษาดราวิเดียน)
5) วิเทศี (विदेशी / Videśī แปลว่า “แบบต่างประเทศ”) : กลุ่มคำศัพท์ที่ยืมมาจากภาษาต่างประเทศนอกบริเวณเอเชียใต้ ตัวอย่างเช่น คำที่ภาษาฮินดียืมจากภาษาเปอร์เซีย ภาษาอาหรับ ภาษาโปรตุเกสและภาษาอังกฤษ
สำหรับตัวอย่างของไวยากรณ์ในภาษาฮินดีที่เด่นชัด ได้แก่...
1) ประโยคบอกเล่าส่วนใหญ่มักมีโครงสร้างประโยคเป็นแบบ SOV (ประธาน-กริยา-กรรม) เช่นเดียวกับภาษาเปอร์เซีย ภาษาทิเบต ภาษาพม่า ภาษาเกาหลี และภาษาญี่ปุ่น
2) มักมีคำ नहीं (nahī̃) ในประโยคปฏิเสธภาษาฮินดี
3) คำนามในภาษาฮินดีมีเพศทางไวยากรณ์ (Grammatical gender) คือ เพศชาย และเพศหญิง
4) คำนามในภาษาฮินดีจะมีพจน์ 2 พจน์ (เอกพจน์ พหูพจน์) และมี 3 การก ได้แก่
Nominative case (กรรตุการก) – คำนามที่ผันจะเป็นประธานของประโยค
Oblique case (กรรมการ) – คำนามที่ผันจะเป็นกรรมของประโยค
Vocative case (สัมโพธนาการก) – คำนามที่ผันจะเป็นคนหรือสิ่งที่ถูกเรียก (แต่การกแบบนี้ไม่ค่อยใช้ในภาษาฮินดีแล้ว)
5) คำคุณศัพท์ (Adjective) มีทั้งแบบที่ผันตามเพศของคำนาม และไม่ผันตามเพศของคำนาม
6) คำกริยาในภาษาฮินดีจะผันตามพจน์ สรรพนามบุรุษต่าง ๆ และเพศของคำนามที่เป็นประธานของประโยค กาล (Tense) “มาลา” ซึ่งเป็นอารมณ์หรือความคิดเห็นของผู้พูด (Mood)
ตัวอย่างที่ยกมาในแผนภาพ : Verb to be (คำกริยา “เป็น อยู่ คือ”) ในภาษาฮินดี होना (honā) เฉพาะกรณีมาลาบอกเล่า (Indicative mood : อารมณ์ของประโยคในสถานการณ์ที่ผู้พูดใช้บอกเล่า) ซึ่งคำกริยาในภาษาฮินดียังมีการผันตามมาลาแบบอื่นอีก เช่น...
- Subjunctive mood : ประโยคที่กล่าวถึงเงื่อนไข แต่สถานการณ์ ข้อเท็จจริง หรือความปรารถนากลับไม่เป็นไปตามเงื่อนไข
- Imperative mood : ประโยคที่เป็นคำสั่ง คำขอร้อง หรือคำแนะนำ
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านคงจะพอเห็นภาพรวมของ "ภาษาฮินดี" ในฐานะหนึ่งในภาษาทางราชการของประเทศอินเดีย และมีผู้ใช้เป็นภาษาแม่จำนวนมากในหลักร้อยล้านคน (โดยเฉพาะทางเหนือของประเทศ) เข้าใจและเห็นภาพถึงประวัติความเป็นมา ลักษณะเฉพาะของภาษาฮินดี "ภาษาฮินดูสถาน" ในฐานะภาษาที่มองภาษาฮินดี-ภาษาอูรดูรวมกัน คำศัพท์กลุ่มต่าง ๆ ในภาษาฮินดี รวมถึงตัวอย่างไวยากรณ์ภาษาฮินดีครับ
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
[แหล่งที่มาของข้อมูล]
- India : Phrasebook & Dictionary. Lonely Planet; 2014.
- Rupert Snell. Complete Hindi. London, UK: Hodder Education; 2010.
- Tej K. Bhatia. Colloquial Hindi. London, UK: Routledge; 2003.
- Danesh Jain, George Cardona. The Indo-Aryan Languages. Oxfordshire, UK: Routledge; 2007.
- Collin P. Masica. The Indo-Aryan Languages. Cambridge, UK: Cambridge University Press; 1991.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา