25 ก.ย. 2021 เวลา 01:30 • การศึกษา
[ตอนที่ 42] แนะนำภาพรวมของภาษาอูรดู
An overview of Urdu language
สำหรับเนื้อหาตอนที่ 4 ของซีรีส์ "นานาภาษาในเอเชียใต้" จะเป็นเรื่องราวที่แนะนำภาพรวมของภาษาอูรดู หนึ่งในภาษาราชการของประเทศปากีสถานในปัจจุบัน เป็นภาษาที่ถือว่าเป็นภาษาฝาแฝดของภาษาฮินดี จนนักภาษาศาสตร์สามารถเรียกรวมภาษาฮินดี-อูรดูว่าเป็น "ภาษาฮินดูสถาน" ครับ
ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น...เชิญอ่านกันได้เลยครับ
ภาพประกอบ : อาคาร Mohatta Palace อดีตคฤหาสน์ที่นักธุรกิจชาวอินเดียสร้างไว้เมื่อปี ค.ศ.1927 ปัจจุบันใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ในนครการาจี ประเทศปากีสถาน [Credit ภาพ : A.Savin]
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ : เพลงร้องในภาษาอูรดู "Tera Woh Pyar / تیرا وہ پیار" (ความรักของคุณครั้งนั้น) ร้องโดย Asim Azhar และ Momina Mustehsan นักร้องชาวปากีสถานในรายการ Coke Studio เมื่อปี ค.ศ.2016
“ภาษาอูรดู” (ชื่อในภาษาอังกฤษ : Urdu / ชื่อในภาษาอูรดู : اُردُو “Urdū”) เป็นภาษาหนึ่งในสมาชิกกลุ่มภาษาอินโด-อารยัน (Indo-Aryan languages) ในภูมิภาคเอเชียใต้ มีสถานะเป็นหนึ่งในภาษาราชการของประเทศปากีสถานร่วมกับภาษาอังกฤษ และทำหน้าที่เป็นภาษากลางระหว่างกลุ่มชนที่พูดภาษาต่าง ๆ ในประเทศปากีสถาน (เช่น ภาษาปัญจาบ ภาษาปาทาน ภาษาสินธี หรือภาษาซะราอีกี เป็นต้น)
แผนที่แสดงการกระจายตัวของประชากรผู้ใช้ภาษาอูรดูในประเทศปากีสถานและอินเดีย [Credit ภาพ : College of Arts and Sciences, Indiana University]
สำหรับในประเทศอินเดียในฐานะประเทศเพื่อนบ้านนั้น ภาษาอูรดูได้รับการประกาศในรัฐธรรมนูญอินเดียให้ใช้เป็นภาษาราชการระดับท้องถิ่น 22 ภาษา ที่เรียกว่า “กลุ่มภาษาที่ถูกกำหนด” (Scheduled languages) โดยเขตการปกครองในอินเดียที่ประกาศให้ภาษาอูรดูเป็นภาษาราชการระดับท้องถิ่น ได้แก่...
 
- ดินแดนสหภาพชัมมูและกัศมีร์ ทางเหนือสุดของประเทศอินเดีย
- เขตการปกครอง 5 แห่ง บริเวณลุ่มแม่น้ำคงคา-ยมุนา ทางตอนเหนือของประเทศ (กรุงเดลี รัฐอุตตรประเทศ รัฐพิหาร รัฐฌารขัณฑ์ และรัฐเบงกอลตะวันตก)
- รัฐเตลังคานา ทางใต้ของประเทศอินเดีย
ส่วนประเทศเนปาลที่เป็นประเทศร่วมภูมิภาคเอเชียใต้กับปากีสถาน รับรองภาษาอูรดูในฐานะภาษาระดับท้องถิ่นเท่านั้น นอกจากนี้ ภาษาอูรดูยังใช้ในทวีปหรือภูมิภาคอื่น ๆ ตามคนปากีสถานหรือคนอินเดียบางส่วนที่ใช้ภาษาอูรดูเป็นภาษาแม่ที่อพยพหรือไปทำงานต่างประเทศ (รวมถึงลูกหลานของกลุ่มคนเหล่านี้) เช่น กลุ่มประเทศแถบอ่าวเปอร์เซีย (อย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) และตามชุมชนเมืองในกลุ่มประเทศตะวันตก (อย่างสหราชอาณาจักร สหรัฐฯ แคนาดา หรือออสเตรเลีย)
ในปัจจุบันนี้ ภาษาอูรดูมีจำนวนประชากรผู้ใช้เป็นภาษาแม่ประมาณ 69 ล้านคน แต่ถ้ารวมผู้ใช้ภาษาอูรดูเป็นภาษาที่สอง (อย่างชนกลุ่มอื่นในประเทศปากีสถานและอินเดีย) จะมีจำนวนผู้ใช้ภาษาอูรดูมากถึง 230 ล้านคน
ภาษาอูรดูมีรากฐานแรกเริ่มร่วมกับภาษาฮินดี (หากนับตั้งแต่ที่กลุ่มชนอินโด-อารยันอพยพมาถึงเอเชียใต้) คือ “ภาษาพระเวท” (Vedic Sanskrit : ภาษาสันสกฤตแบบที่ปรากฏในคัมภีร์ฤคเวทในศาสนาฮินดู) ในแถบลุ่มแม่น้ำสินธุ ซึ่งอยู่ในกลุ่มภาษาอินโด-อารยันสมัยเก่า (Old Indo-Aryan) ก่อนที่จะวิวัฒนาการเป็น “ภาษาปรากฤต” (Prakrit) ซึ่งเป็นกลุ่มภาษาอินโด-อารยันสมัยกลาง (Middle Indo-Aryan) ที่สามัญชนใช้ และวิวัฒนาการต่อไปกลายเป็นกลุ่มภาษาอินโด-อารยันสมัยใหม่ (Modern Indo-Aryan) ที่มี “ภาษาฮินดูสถาน” (Hindustani) เป็นสมาชิก ก่อนจะแยกเป็นภาษาอูรดูกับภาษาฮินดี
แผนผังแสดงวิวัฒนาการของภาษาในกลุ่มภาษาอินโด-อารยัน (Indo-Aryan Languages) ที่เริ่มตั้งแต่ภาษาพระเวท (Vedic Sanskrit) - ภาษาปรากฤต (Prakrit) - ภาษาปรากฤตแถบสุรเสนะ (Shauraseni Prakrit) จนถึงภาษาฮินดูสถาน (Hindustani) และภาษาอูรดู (Urdu)  [Credit ภาพ : User 'Mandrak' @ WIkimedia.org]
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ภาษาอูรดูมีวิวัฒนาการแยกจากภาษาฮินดีนั้น เกิดขึ้นเมื่อจักรวรรดิกาสนาวิยะห์ (Ghaznavids : ดินแดนเปอร์เซียภายใต้ราชวงศ์มุสลิมเชื้อสายเติร์ก) เริ่มรุกรานอินเดียจากฝั่งตะวันตก (พื้นที่ประเทศปากีสถานปัจจุบัน) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1001 ก่อนที่ราชวงศ์กูริด ราชวงศ์ชาวมุสลิมจะพิชิตจักรวรรดิกาสนาวิยะห์และรับช่วงต่อในการรุกรานอินเดีย จนกระทั่งยึดครองพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียสำเร็จในปี ค.ศ.1192 (ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12)
แผนที่แสดงพื้นที่ภายใต้อิทธิพลของจักรวรรดิกาสนาวิยะห์ ช่วงที่แผ่ขยายอำนาจได้ไกลที่สุดในช่วง ค.ศ.1030 ซึ่งเข้าถึงถึงทางตอนเหนือของอินเดีย
แผนที่แสดงพื้นที่ภายใต้อิทธิพลของรัฐสุลต่านกูริด (Ghurid Sultanate) ช่วงที่แผ่ขยายอำนาจได้ไกลที่สุดในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 ซึ่งแผ่ไปทางตะวันออกจนจรดปากแม่น้ำคงคา [Credit ภาพ : User '' @ Wikimedia.org]
เมื่ออินเดียได้ตกอยู่ภายใต้ผู้ปกครองชาวมุสลิมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 - กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่มีศูนย์กลางอำนาจอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย ภาษาเปอร์เซียเข้ามาเป็นภาษาที่ใช้ในราชสำนัก การบริหารราชการ และงานวรรณกรรมในช่วงรัฐสุลต่านเดลี (Delhi Sultanate)
ภาพวาดในตำรา Majlis al-Ushshaq แสดงภาพของ Amir Khusrau กวี นักดนตรี และนักปราชญ์ในรัฐสุลต่านเดลี (ผู้อาวุโสที่กำลังสอนชายหนุ่มในภาพ) ผู้มีชีวิตในช่วง ค.ศ.1253-1325 ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นทั้งกวีคนสำคัญในด้านงานวรรณกรรมภาษาฮินดี และ "บิดาแห่งงานวรรณกรรมภาษาอูรดู"
อิทธิพลทางภาษาจากภาษาอาหรับ เปอร์เซีย และตุรกีเข้ามาในภาษาฮินดูสถานในช่วงนี้ เกิดภาษาฮินดูสถานสองฝั่งในช่วงรัฐสุลต่านเดลีและจักรววรดิโมกุล (Mughal Empire) ที่เป็นสมัยถัดจากรัฐสุลต่านเดลี ได้แก่...
- ภาษาฮินดูสถานท้องถิ่นที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาเปอร์เซีย-ภาษาอาหรับน้อยกว่า มักใช้ในกลุ่มชนชาวอินเดียทางเหนือส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาฮินดู กลายเป็นภาษาฮินดี
- ภาษาฮินดูสถานฝั่งที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาเปอร์เซีย-ภาษาอาหรับมากกว่า (โดยเฉพาะคำเฉพาะทางในภาษาทางการกับวรรณกรรม) และเขียนด้วยอักษรเปอร์เซีย-อาหรับที่อ่านจากทางขวามาทางซ้าย กลายมาเป็นภาษาอูรดู ใช้ในหมู่ชนชั้นปกครองภายใต้ราชวงศ์ชาวมุสลิมแห่งจักรวรรดิโมกุล และชนชั้นปกครองใช้สื่อสารกับคนท้องถิ่น จึงกล่าวได้ว่าภาษาอูรดูก็พัฒนามาจากบริเวณพื้นที่กรุงเดลี เมืองหลวงของอินเดียเช่นเดียวกับภาษาฮินดี เพียงแต่มาจากกลุ่มชนคนละกลุ่มกัน
ชื่อ “อูรดู” ของภาษาอูรดูมาจากคำว่า اردو “Ordu” ในภาษาเปอร์เซียที่รับมาจากภาษาโปรโตเตอร์กิก (บรรพบุรุษของกลุ่มภาษาเตอร์กิกในปัจจุบัน ที่มีสมาชิกอย่างภาษาตุรกีและภาษาแถบเอเชียกลาง) ซึ่งแปลว่า “หมู่ ฝูง ค่าย กองทัพ” สื่อโดยนัยถึงกรุงเดลี เมืองหลวงของจักรวรรดิโมกุล พื้นที่แรกเริ่มมีภาษาอูรดูใช้ในหมู่ชนชั้นปกครองชาวมุสลิมในฐานะเสมือนเป็น “ค่ายหลวง” ของจักรวรรดิ
ด้วยอิทธิพลของภาษาเปอร์เซียในภาษาอูรดู ภาษานี้จึงถูกเรียกในอีกชื่อว่า “ภาษาฮินดูสถานที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาเปอร์เซีย” (Persianized Hindustani) ซึ่งคำ “ภาษาฮินดูสถาน” (Hindustani) เป็นคำที่ไว้เรียกรวมภาษาฮินดี (ภาษาหลักของฝั่งอินเดีย) และภาษาอูรดู (ภาษาหลักของฝั่งปากีสถาน) โดยในระดับภาษาพูดนั้น ภาษาฮินดีและภาษาอูรดูมีความคล้ายกันด้านการออกเสียง คำศัพท์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันโดยทั่วไป และไวยากรณ์
คนพูดภาษาฮินดีกับคนพูดภาษาอูรดูจึงมี “ความเข้าใจภาษาระหว่างกัน” (Mutual intelligibility) ในระดับใกล้เคียงกับการสื่อสารเข้าใจกันระหว่างคนพูดภาษาไทยกับภาษาลาว นักภาษาศาสตร์ส่วนหนึ่งจึงมองว่าภาษาทั้งสองเป็นภาษาเดียวกันในฐานะ “ภาษาฮินดูสถาน” จากมุมมองกรณีภาษาพูดโดยส่วนใหญ่และรากฐานทางประวัติศาสตร์ของภาษา
แต่ภาษาเขียนนั้น ภาษาฮินดี-ภาษาอูรดูจะมีความแตกต่างกัน โดยภาษาฮินดีใช้อักษรเทวนาครีเป็นระบบการเขียน (เช่นเดียวกับการเขียนภาษาสันสกฤตในอินเดีย) แต่ภาษาอูรดูจะใช้อักษรเปอร์เซีย-อาหรับในการเขียน
 
ดังนั้น การมองว่าเป็น “ภาษาฮินดูสถาน” หรือ “ภาษาฮินดี-ภาษาอูรดู” จะขึ้นกับบริบทมุมมองว่ามองในแง่มุมใด (รากฐานทางประวัติศาสตร์ของภาษา ภาษาพูดที่คำส่วนใหญ่ใช้ร่วมกัน ภาษาเขียนที่ใช้อักษรคนละแบบ หรือภาษาราชการระดับชาติของประเทศอินเดีย-ปากีสถานที่ทั้งสองฝั่งมีความขัดแย้งกัน)
ในช่วง “กัมปานีราช” (Company Raj : ค.ศ.1757-1858) ที่อังกฤษเข้ามาปกครองอินเดียผ่านบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (East India Company) ในช่วงต้นสมัยนี้ (คริสต์ศตวรรษที่ 18) ได้มีภาษาอูรดูมาตรฐานสองแบบ คือ แบบกรุงเดลี กับแบบเมืองลัคเนา (เมืองหลวงของรัฐอุตตรประเทศ ทางภาคเหนือของอินเดียในปัจจุบัน)
แผนที่ประเทศอินเดียและปากีสถานในปัจจุบัน พร้อมแสดงตำแหน่งเมืองที่มีภาษาอูรดูมาตรฐาน 3 แบบ ได้แก่ กรุงเดลี (Delhi) เมืองลัคเนา (Lucknow) และเมืองการาจี (Karachi) [Credit แผนที่ : Wikimedia Commons]
ในเวลาต่อมา ภาษาอูรดูที่เคยใช้เป็นภาษาของชนชั้นปกครองเมื่อครั้งจักรวรรดิโมกุลถูกใช้เป็นภาษากลางในการปกครองอินเดีย ในช่วง ค.ศ.1837-1858 (คริสต์ศตวรรษที่ 19) แทนที่ภาษาเปอร์เซีย ที่เคยใช้เป็นภาษาในราชสำนักตามจักรวรรดิที่มีศูนย์กลางอำนาจในทางเหนือของอินเดียและปากีสถาน (จักรวรรดิโมกุลและจักรวรรดิซิกข์)
แต่มุมมองที่ขัดกันด้วยปัจจัยในด้านศาสนา วัฒนธรรม สังคมและการเมือง ในอินเดียสมัยอาณานิคม (คริสต์ศตวรรษที่ 19) ได้กลายเป็นตัวเสริมให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างภาษาฮินดีกับภาษาอูรดู อย่างการแพร่หลายของภาษาอูรดูเพื่อใช้เป็นภาษากลางระหว่างกลุ่มชนชาวมุสลิมกลุ่มต่าง ๆ ทางตอนเหนือของอินเดีย และทางตะวันตกของอินเดียในขณะนั้น (อย่างพื้นที่ประเทศปากีสถานที่ยังรวมอยู่กับอินเดียในฐานะอาณานิคมอังกฤษ) จนเกิดข้อโต้แย้งภาษาฮินดี-อูรดู (Hindi-Urdu controversy) ว่าจะเลือกใช้ภาษาใดเป็นภาษากลางของอินเดีย ขณะที่ทางอังกฤษถือว่าภาษาทั้งคู่อยู่ร่วมกันเป็น “ภาษาฮินดูสถาน”
หน้าปกพจนานุกรมภาษาฮินดูสถาน-ภาษาอังกฤษ ฉบับตีพิมพ์ที่เมืองกัลกัตตา ค.ศ.1808 และตัวอย่างเนื้อหา (หน้า 80) ของพจนานุกรมฉบับนี้ที่แสดงภาษาฮินดูสถานแบบที่ใช้อักษรเปอร์เซีย-อาหรับ (แบบภาษาอูรดู) และอักษรเทวนาครี (แบบภาษาฮินดี) สามารถเข้าไปดูสแกนพจนานุกรมฉบับนี้ได้ที่ https://commons.wikimedia.org/wiki/File:A_Dictionary_of_Hindoostanee_and_English,_in_Two_Volumes,_Vol._I_(IA_dli.granth.17914).pdf
ข้อโต้แย้งภาษาฮินดี-อูรดูก็ยังคงอยู่ต่อไปตามมุมมองหลายด้านที่ขัดกัน และมุมมองถึงภาษาอูรดูในฐานะภาษาหลักของคนมุสลิมในดินแดนฝั่งตะวันตกของอินเดียภายใต้อังกฤษ จนเมื่ออินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษและดินแดนฝั่งตะวันตกแยกตัวออกมาเป็นประเทศปากีสถานในปี ค.ศ.1947 ภาษาอูรดูถึงมีสถานะเป็นภาษาแห่งชาติของปากีสถาน พร้อมกับเกิด “ภาษาอูรดูมาตรฐาน” แบบที่ 3 ที่นครการาจี เมืองหลวงของช่วงแรกของประเทศปากีสถาน
แต่ประเด็นทางด้านภาษา วัฒนธรรม และศาสนาระหว่างฝั่งปากีสถานและอินเดียยังคงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ทั้งสองประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้นี้มีเรื่องกระทบกระทั่งกันเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน อย่างเนื้อเพลงประกอบภาพยนตร์อินเดีย ก็มีคนส่วนหนึ่งในสังคมออนไลน์ฝั่งอินเดียที่มองว่าเป็นภาษาฮินดี ขณะที่ฝั่งปากีสถานมองว่าเป็นภาษาอูรดู
แผ่นป้ายชื่อสถานีรถไฟนิวเดลี ที่มีทั้งภาษาฮินดี ภาษาอังกฤษ และภาษาอูรดู [Credit ภาพ : User 'MikeLynch' @ WIkimedia.org]
สำหรับตัวอย่างของไวยากรณ์ในภาษาอูรดูที่เด่นชัด ได้แก่...
1) ประโยคบอกเล่าส่วนใหญ่มักมีโครงสร้างประโยคเป็นแบบ SOV (ประธาน-กริยา-กรรม) เช่นเดียวกับภาษาเปอร์เซีย ภาษาทิเบต ภาษาพม่า ภาษาเกาหลี และภาษาญี่ปุ่น
2) มักมีคำ نہیں (nahī̃) ในประโยคปฏิเสธ (ตรงกับคำ नहीं (nahī̃) ในภาษาฮินดี)
3) คำนามในภาษาอูรดูมีเพศทางไวยากรณ์ (Grammatical gender) คือ เพศชาย และเพศหญิง
4) คำนามในภาษาอูรดูจะมีพจน์ 2 พจน์ (เอกพจน์ พหูพจน์) และมี 3 การก ได้แก่
Nominative case (กรรตุการก) – คำนามที่ผันจะเป็นประธานของประโยค
Oblique case (กรรมการ) – คำนามที่ผันจะเป็นกรรมของประโยค
Vocative case (สัมโพธนาการก) – คำนามที่ผันจะเป็นคนหรือสิ่งที่ถูกเรียก (แต่การกแบบนี้ไม่ค่อยใช้ในภาษาฮินดีแล้ว)
5) คำคุณศัพท์ (Adjective) มีทั้งแบบที่ผันตามเพศของคำนาม และไม่ผันตามเพศของคำนาม
6) คำกริยาในภาษาอูรดูจะผันตามพจน์ สรรพนามบุรุษต่าง ๆ และเพศของคำนามที่เป็นประธานของประโยค กาล (Tense) “มาลา” ซึ่งเป็นอารมณ์หรือความคิดเห็นของผู้พูด (Mood)
ตัวอย่างที่ยกมาในแผนภาพ : Verb to be (คำกริยา “เป็น อยู่ คือ”) ในภาษาอูรดู ہونا (honā) เฉพาะกรณีมาลาบอกเล่า (Indicative mood : อารมณ์ของประโยคในสถานการณ์ที่ผู้พูดใช้บอกเล่าแจ้งข้อมูล) ซึ่งคำกริยาในภาษาฮินดียังมีการผันตามมาลาแบบอื่นอีก เช่น...
- Subjunctive mood (ประโยคที่กล่าวถึงเงื่อนไข แต่สถานการณ์ ข้อเท็จจริง หรือความปรารถนาไม่เป็นไปตามเงื่อนไข)
- Imperative mood (ประโยคที่เป็นคำสั่ง คำขอร้อง หรือคำแนะนำ)
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านคงจะพอเห็นภาพรวมของ "ภาษาอูรดู" ในฐานะหนึ่งในภาษาทางราชการของประเทศปากีสถาน และมีผู้ใช้จำนวนมากในประเทศปากีสถานและส่วนหนึ่งของประเทศอินเดีย เข้าใจและเห็นภาพถึงประวัติความเป็นมา ลักษณะเฉพาะของภาษาอูรดู คำเรียก "ภาษาฮินดูสถาน" ในฐานะภาษาที่มองภาษาฮินดี-ภาษาอูรดูรวมกัน มุมมองที่มองรวมกันเป็นภาษาฮินดูสถานหรือมองแยกเป็นภาษาฮินดี-อูรดู รวมถึงตัวอย่างไวยากรณ์ภาษาอูรดูครับ
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
[แหล่งที่มาของข้อมูล]
- India : Phrasebook & Dictionary. Lonely Planet; 2014.
- David Matthews & Mohamed Kasim Dalvi. Complete Urdu. London, UK: Hodder Education; 2010.
- Tej K. Bhatia & Ashok Koul. Colloquial Urdu. London, UK: Routledge; 2003.
- Tibor Kiss & Artemis Alexiadou. Syntax – Theory and Analysis. Volume 3. Germany: De Gruyter Mouton; 2015.
- Barbara D. Metcalf. Islamic Revival in British India: Deoband, 1860-1900. New Jersey, USA: Princeton University Press; 1982.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา