2 ต.ค. 2021 เวลา 14:00 • การศึกษา
[ตอนที่ 43] แนะนำภาพรวมของภาษาเบงกอล
An overview of Bengali language
สำหรับเนื้อหาตอนที่ 5 ของซีรีส์ "นานาภาษาในเอเชียใต้" จะเป็นเรื่องราวที่แนะนำภาพรวมของภาษาเบงกอล ภาษาเครือญาติห่าง ๆ ของภาษาฮินดีและหนึ่งในภาษาสมาชิกของกลุ่มภาษาอินโด-อารยัน ที่มีผู้ภาษามากกว่า 200 ล้านคน โดยเฉพาะในประเทศบังกลาเทศและทางตะวันออกของประเทศอินเดียครับ
ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น...เชิญอ่านกันได้เลยครับ
ภาพประกอบ : โบสถ์พราหมณ์ทักษิเณศวรกาลีมนเทียร (Dakshineswar Kali Temple) ชานนครโกลกาตา รัฐเบงกอลตะวันตก อินเดีย และอาคารในป้อมลัลบัค (Lalbagh Fort) กรุงธากา บังกลาเทศ [Credit ภาพ : User 'Knath' & 'Mohosin.a94' @ Wikimedia.org]
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ : เพลงร้องในภาษาเบงกอล "নোঙ্গর তোলো তোলো / Nongor Tolo Tolo" ในสปอตโฆษณาของบริษัท
Robi Axiata Limited หนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเจ้าใหญ่ของบังกลาเทศ เมื่อปี ค.ศ.2020
ภาษาเบงกอล (ชื่อในภาษาอังกฤษ : Bengali / ชื่อในภาษาเบงกอล : বাংলা “บังลา”) เป็นภาษาสมาชิกภาษาหนึ่งในกลุ่มภาษาอินโด-อารยัน (Indo-Aryan languages) และเป็นภาษากลางระหว่างกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในแถบปากแม่น้ำคงคา-เบงกอลในภูมิภาคเอเชียใต้
ภาษาเบงกอลยังมีฐานะเป็นภาษาราชการและภาษาแห่งชาติของประเทศบังกลาเทศ ซึ่งประชากรบังกลาเทศเกือบทั้งหมดใช้ภาษาเบงกอลเป็นภาษาแม่ ประชากรผู้ใช้ภาษาเบงกอลในบังกลาเทศถือเป็นสัดส่วน 61% ของจำนวนผู้ใช้ภาษาเบงกอลทั้งหมด ขณะที่ผู้ใช้ภาษาเบงกอลอีกส่วน (ในสัดส่วน 37%) อยู่ในประเทศอินเดีย ภาษาเบงกอลเป็นภาษาราชการของพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้...
- รัฐเบงกอลตะวันตก (ภาคตะวันออกของอินเดีย)
- รัฐตริปุระ และบางส่วนของรัฐอัสสัม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย)
1
ภาษาเบงกอลจึงได้รับการประกาศในรัฐธรรมนูญอินเดียให้ใช้เป็นภาษาราชการระดับท้องถิ่น 22 ภาษา ที่เรียกว่า “กลุ่มภาษาที่ถูกกำหนด” (Scheduled languages) โดยเป็นภาษาที่มีจำนวนผู้ใช้มากเป็นอันดับที่ 2 ในกลุ่มภาษาดังกล่าว (รองจากภาษาฮินดี) นอกจากนี้ ภาษาเบงกอลยังเป็นภาษาที่ผู้คนตามหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ของอินเดียใช้มากที่สุด (แม้ว่าภาษาราชการของพื้นที่นี้จะเป็นภาษาฮินดีและภาษาอังกฤษ)
2
แผนที่แสดงการกระจายตัวของผู้ใช้ภาษาเบงกอลเป็นภาษาแม่ (พื้นที่สีแดงในแผนที่) ซึ่งครอบคลุมทั้งดินแดนของอินเดีย (รัฐเบงกอลตะวันตกและรัฐตริปุระ) ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู และประเทศบังกลาเทศ (พื้นที่สีแดงเข้ม) ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิม [Credit แผนที่ : User 'Trinanjon' @ Wikipedia.org]
ภาษาเบงกอลยังใช้กันในหมู่ชาวเบงกอลที่อพยพหรือย้ายถิ่นฐาน (ไม่ว่าจะจากบังกลาเทศหรือจากรัฐอื่นในอินเดีย อย่างรัฐเบงกอลตะวันตก) ในประเทศอื่น ๆ เช่น ปากีสถาน สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ หรือภูมิภาคตะวันออกกลาง
ภาษาเบงกอลมีจำนวนประชากรผู้พูดทั้งหมดประมาณ 268 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ใช้เป็นภาษาแม่ 229 ล้านคน และผู้ใช้เป็นภาษาที่ 2 อีก 39 ล้านคน ทำให้ภาษาเบงกอลเป็นภาษาที่มีจำนวนผู้ใช้เป็นภาษาแม่และภาษาที่มีจำนวนผู้พูดทั้งหมดมากเป็นอันดับ 6 ของโลก
ภาษาเบงกอลถือเป็นภาษาเชื้อสายของ “ภาษาพระเวท” (Vedic Sanskrit : ภาษาสันสกฤตแบบที่ปรากฏในคัมภีร์ฤคเวทในศาสนาฮินดู) ก่อนที่จะวิวัฒนาการต่อ ดังนี้...
- “ภาษาปรากฤต” (Prakrit : กลุ่มภาษาอินโด-อารยันสมัยกลางที่สามัญชนใช้)
- “ภาษาปรากฤตแถบมคธ (Magadhi Prakrit : ภาษาปรากฤตแบบที่ใช้ในอาณาจักรมคธ ทางตะวันออกของอินเดียโบราณ)
- วิวัฒนาการแยกเป็นภาษาต่าง ๆ ในบังกลาเทศและทางตะวันออกของอินเดียรวมถึงภาษาเบงกอล
1
แผนผังแสดงวิวัฒนาการของภาษาในกลุ่มภาษาอินโด-อารยัน (Indo-Aryan Languages) ที่เริ่มตั้งแต่ภาษาพระเวท (Vedic Sanskrit) - ภาษาปรากฤต (Prakrit) - ภาษาปรากฤตแถบมคธ (Magadhi Prakrit) จนถึงกลุ่มภาษาเบงกอล-อัสสัม (Bengali–Assamese languages) ประกอบด้วยภาษาอัสสัม ภาษาเบงกอล และภาษาจิตตะกอง [Credit ภาพ : User 'Mandrak' @ WIkimedia.org]
แผนที่แสดง "มหาชนบท" (Mahājanapadas) ซึ่งเป็นกลุ่มของอาณาจักรต่าง ๆ ทางตอนเหนือของอินเดียและปากีสถาน ประมาณช่วงปีที่ 600 - 345 ก่อนคริสตกาล ซึ่งรวมถึงอาณาจักรมคธ (Magadha) ไว้ด้วย [Credit แผนที่ : User 'Avantiputra7' @ WIkimedia.org
ภาษาเบงกอลจึงเป็นภาษาเครือญาติห่าง ๆ กับภาษาฮินดีกับภาษาโอริยา (Odia - ภาษาที่ใช้ในรัฐโอริศาของอินเดีย) และเป็นภาษาเครือญาติใกล้ชิดกับภาษาอัสสัม (Assamese - ภาษาที่ใช้ในรัฐอัสสัมของอินเดีย) และภาษาจิตตะกอง (Chittagonian - ภาษาที่ใช้ในแถบเมืองจิตตะกอง เมืองใหญ่อันดับ 2 ของบังกลาเทศ) ซึ่งภาษาอัสสัม ภาษาเบงกอล และภาษาจิตตะกองอยู่ในกลุ่มภาษาย่อยภายในกลุ่มภาษาอินโด-อารยัน ที่เรียกว่า "กลุ่มภาษาเบงกอล-อัสสัม" (Bengali–Assamese languages)
1
ภาษาเบงกอลมีระบบการเขียนคือ “อักษรเบงกอล” ตัวอักษรที่วิวัฒนาการจากตระกูลอักษรพราหมี (Brahmi scripts) ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 11 ซึ่งเป็นตระกูลอักษรเดียวกันกับอักษรเทวนาครีที่ใช้ในภาษาฮินดี
1
ในช่วงแรก คำในภาษาเบงกอลได้รับอิทธิพลจากภาษาปรากฤตและภาษาสันสกฤต ก่อนที่จะได้รับอิทธิพลจากภาษาเปอร์เซีย ภาษาอาหรับ และภาษาตุรกีเข้ามา หลังจากการบุกพิชิตพื้นที่แถบปากแม่น้ำคงคา-เบงกอลของชาวมุสลิมในคริสต์ศตวรรษที่ 13
1
แผนที่แสดงพื้นที่ภายใต้อิทธิพลของรัฐสุลต่านกูริด (Ghurid Sultanate) ช่วงที่แผ่ขยายอำนาจได้ไกลที่สุดในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 ซึ่งแผ่ไปทางตะวันออกจนจรดปากแม่น้ำคงคา-เบงกอล [Credit ภาพ : User '' @ Wikimedia.org]
ขณะที่ประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักรกับบังกลาเทศ (ที่เคยรวมอยู่ในอินเดีย) มีความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยเฉพาะในช่วงที่อินเดียเป็นอาณานิคม ทำให้ระหว่างภาษาเบงกอลมีคำศัพท์ที่ยืมคำจากภาษาอังกฤษมาใช้
ภาษาเบงกอลมีวิวัฒนาการที่นานกว่า 1,000 ปี ทำให้งานวรรณกรรมภาษาเบงกอลมีความเป็นมาที่ยาวนานตามไปด้วย ซึ่งผ่านการพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงฟื้นฟูศิลปวิทยาในพื้นที่แถบปากแม่น้ำคงคา-เบงกอล (Bengali Renaissance) ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 – ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20
 
ขณะที่นักเขียนสมัยใหม่ที่ใช้ภาษาเบงกอลที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ “รพินทรนาถ ฐากุร” (Rabindranath Tagore) นักปราชญ์และกวีชาวเบงกอลที่อยู่ร่วมสมัยกับช่วงฟื้นฟูศิลปวิทยาครั้งนี้ ซึ่งเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี ค.ศ.1913 และเป็นผู้แต่งเพลงที่ประเทศอินเดียและบังกลาเทศรับมาใช้เป็นเพลงชาติของตน
1
ภาพถ่ายคู่ระหว่าง “รพินทรนาถ ฐากุร” (Rabindranath Tagore) นักปราชญ์และกวีชาวเบงกอล และ "อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์" (Albert Einstein) นักฟิสิกส์เชิงทฤษฎีคนสำคัญของโลก ในปี ค.ศ.1930
หลังจากบังกลาเทศแยกตัวออกมาจากอินเดียพร้อมกับปากีสถานในปี ค.ศ.1947 บังกลาเทศมีสถานะเป็น “ปากีสถานตะวันออก” (East Pakistan) ภายใต้ “สหพันธรัฐปากีสถาน” ที่มีศูนย์กลางอำนาจที่นครการาจีของปากีสถาน (“ปากีสถานตะวันตก” ในขณะนั้น) สหพันธรัฐปากีสถานประกาศใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ และในปี ค.ศ.1948 ได้ประกาศใช้ภาษาอูรดูของฝั่งปากีสถานตะวันตกเป็นภาษาแห่งชาติเพียงภาษาเดียว ซึ่งในขณะนั้นจำนวนประชากรปากีสถานทั้งสองฝั่งใกล้เคียงกัน
- ประชากรฝั่งปากีสถานตะวันตก : ราว 39 ล้านคน
- ประชากรฝั่งปากีสถานตะวันออก : เกือบ 42 ล้านคน
แผนที่โลกแสดงตำแหน่งของ “สหพันธรัฐปากีสถาน” (Dominion of Pakistan - พื้นที่สีเขียวเข้มในแผนที่) แบ่งเป็น "ปากีสถานตะวันตก" (ปากีสถานในปัจจุบัน) และ "ปากีสถานตะวันออก" (บังกลาเทศในปัจจุบัน) ส่วนพื้นที่สีเขียวอ่อนเป็นพื้นที่กรณีพิพาทระหว่างอินเดียกับปากีสถาน [Credit แผนที่ : User 'SelfQ' @ WIkimedia.org]
การรับรองภาษาอูรดูเป็นภาษาแห่งชาติเพียงภาษาเดียวของปากีสถาน จุดชนวนให้เกิดความเคลื่อนไหวทางภาษาเบงกอลในฝั่งปากีสถานตะวันออก เพื่อให้ภาษาเบงกอลของฝั่งนี้เป็นภาษาแห่งชาติร่วมกับภาษาอูรดู จนกระทั่งในปี ค.ศ.1956 รัฐบาลปากีสถานอนุมัติให้รับรองภาษาเบงกอล และความเคลื่อนไหวทางภาษาเบงกอลยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนแนวคิดชาตินิยมในพื้นที่ปากีสถานตะวันออก จนสามารถแยกประเทศออกมาเป็นประเทศบังกลาเทศในปี ค.ศ.1971
ภาพถ่ายการเดินขบวนประท้วงที่นครธากา ใน ค.ศ.1952 เรียกร้องให้รัฐบาลปากีสถานรับรองภาษาเบงกอลของ "ปากีสถานฝั่งตะวันออก" (บังกลาเทศในปัจจุบัน) เป็นภาษาแห่งชาติร่วมกับภาษาอูรดู
ในเวลาต่อมา เมื่อปี ค.ศ.1999 องค์การ UNESCO ได้ประกาศให้วันที่ 21 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น “วันภาษาแม่สากล” (International Mother Language Day) เพื่อเป็นเกียรติแก่ความเคลื่อนไหวทางภาษาของสังคมท้องถิ่นครั้งนั้น
ในปัจจุบัน ภาษาเบงกอลยังแบ่งเป็น 2 ฝั่งโดยสังเขป ได้แก่...
- ภาษาเบงกอลฝั่งตะวันตก (รัฐเบงกอลตะวันตกในอินเดีย) ซึ่งมีคนอินเดียในบังกลาเทศที่ใช้ภาษาเบงกอลฝั่งนี้ด้วย ประชากรส่วนใหญ่ที่ใช้มักเป็นชาวฮินดู และใช้เป็น “ภาษาเบงกอลมาตรฐาน”
- ภาษาเบงกอลฝั่งตะวันออก (ประเทศบังกลาเทศ) มีประชากรส่วนใหญ่ที่ใช้เป็นชาวมุสลิม
1
แม้ว่าภาษาเบงกอลระหว่างฝั่งตะวันออกกับตะวันตกจะมีความแตกต่างกันไม่มาก แต่ความแตกต่างดังกล่าวกลับครอบคลุมหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการออกเสียง คำศัพท์ หรือไวยากรณ์ (อย่างการลงท้ายคำ) และความแตกต่างของภาษาเบงกอลที่ปรากฏทั้งในภาษาพูดกับภาษาเขียน จะขึ้นกับผู้พูดและผู้เขียนว่าเป็นคนท้องถิ่นฝั่งใด
1
แผนที่แสดงพื้นที่ที่ใช้ภาษาเบงกอลสำเนียงต่าง ๆ และภาษาจิตตะกอง (พื้นที่สีเขียวเข้ม) โดยสำเนียงตัวอย่างของภาษาเบงกอลฝั่งตะวันตกคือ "สำเนียงราร์ฮี" แถบนครโกลกาตา (Rarhi dialect - พื้นที่สีแดง) ซึ่งใช้เป็น "ภาษามาตรฐาน" ของภาษาเบงกอล ส่วนสำเนียงตัวอย่างของภาษาเบงกอลฝั่งตะวันออกคือ "สำเนียงเบงกอล" แถบกรุงธากา (Bengali dialect - พื้นที่สีเหลือง) [Credit แผนที่ : User 'Stormmaashrooms' @ WIkimedia.org]
นอกจากการแบ่งภาษาเบงกอลเป็นฝั่งตะวันออก-ตะวันตกแล้ว ภาษาเบงกอลสมัยใหม่มีการแบ่งรูปแบบภาษา 2 รูปแบบตามประวัติศาสตร์ ที่แยกออกจากกันเด่นชัดในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 – ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 (ตรงกับช่วงฟื้นฟูศิลปวิทยาในพื้นที่แถบปากแม่น้ำคงคา-เบงกอล (Bengali Renaissance)) รูปแบบทั้งสองของภาษาเบงกอลสมัยใหม่ ได้แก่...
- สาธุภาษา (সাধু ভাষা / Shadhu-bhasha / คำแปลตรงตัว - ภาษาที่ดีงาม) : ภาษาเบงกอลแบบที่เคยใช้เป็นภาษาเขียนเท่านั้น ได้รับคำยืมจากภาษาสันสกฤตเข้ามาใช้มากกว่า และผันท้ายคำกริยาส่วนหนึ่งได้ยาวกว่า
“สาธุภาษา” มีรากฐานจากภาษาเบงกอลของดินแดนเบงกอลภายใต้อินเดียช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 (ตรงกับช่วงจักรวรรดิโมกุล) ซึ่งศูนย์กลางของดินแดนเบงกอลขณะนั้นอยู่ที่กรุงธากา (Dhaka) ส่งผลให้รูปแบบคำกริยาใน “สาธุภาษา” ใกล้เคียงกับภาษาเบงกอลฝั่งตะวันออกที่ใช้พูดกันในประเทศบังกลาเทศ
กวีและนักเขียนท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงจำนวนมากใช้ “สาธุภาษา” เขียนผลงานของตน ในช่วงฟื้นฟูศิลปวิทยาในพื้นที่แถบปากแม่น้ำคงคา-เบงกอล (เช่น บทร้องของเพลงชาติอินเดีย) แต่ “สาธุภาษา” อยู่ระหว่างการเสื่อมความนิยมในการใช้เป็นมาตรฐานของภาษาเขียนในระยะหลัง ขณะที่ทางบังกลาเทศยังคงใช้ภาษาเบงกอลแบบนี้ตามเอกสารราชการเพื่ออนุรักษ์รูปแบบภาษาไว้
1
- โจลิโตภาษา (চলিত ভাষা / Cholito-bhasha / คำแปลตรงตัว – ภาษาพูด/ภาษาที่ใช้ประจำ) : ภาษาในลักษณะที่สละสลวยน้อยกว่า ใกล้เคียงกับภาษาพูดมากกว่า ใช้ทั้งในภาษาพูดกับภาษาเขียน และผันท้ายคำกริยาส่วนหนึ่งได้สั้นกว่า (เสริมความนิยมที่จะใช้เป็นมาตรฐานของภาษาพูดตามไปด้วย)
“โจลิโตภาษา” มีรากฐานจากภาษาเบงกอลฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นผลจากการย้ายศูนย์กลางของดินแดนเบงกอลมาอยู่ในพื้นที่เบงกอลตะวันตกช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เนื่องจากการขยายอิทธิพลของอังกฤษในอินเดียและความสะดวกที่ใกล้แหล่งค้าขายของฝั่งอังกฤษมากกว่า
อีกทั้งการขยายตัวกลายเป็นชุมชนเมืองใหญ่ของเมืองโกลกาตา (กัลกัตตา - เมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดียในปัจจุบัน) ในตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนกลายเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมที่สำคัญของแถบเบงกอล ทำให้ “โจลิโตภาษา” มีภาพลักษณ์เป็นภาษาเบงกอลแบบท้องถิ่นของเมืองนี้ไปด้วย
ภาษาเบงกอลแบบนี้มักปรากฏในงานวรรณกรรมช่วงฟื้นฟูศิลปวิทยาในพื้นที่แถบปากแม่น้ำคงคา-เบงกอลตอนปลาย (ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20) และนำมาใช้เป็นมาตรฐานของภาษาเขียนมากขึ้นในระยะหลัง
สำหรับตัวอย่างของไวยากรณ์ในภาษาเบงกอลที่เด่นชัด ได้แก่...
1) ประโยคบอกเล่าส่วนใหญ่มักมีโครงสร้างประโยคเป็นแบบ SOV (ประธาน-กรรม-กริยา) เช่นเดียวกับภาษาเปอร์เซีย ภาษาอูรดู ภาษาฮินดี ภาษาทิเบต ภาษาพม่า ภาษาเกาหลี และภาษาญี่ปุ่น
2) ในประโยคปฏิเสธภาษาเบงกอล มักมีคำที่ผันจากท่อนบ่งชี้การปฏิเสธ ন- เช่นคำว่า না (na)
3) คำนามในภาษาเบงกอลไม่มีเพศทางไวยากรณ์ (Grammatical gender) แตกต่างจากภาษาสันสกฤต ภาษาฮินดี และภาษาอูรดูที่คำนามจะมีเพศ และคำนามในภาษาเบงกอลจะมีพจน์ 2 พจน์ (เอกพจน์ พหูพจน์) กับ 4 การก ได้แก่...
Nominative case (กรรตุการก) – คำนามที่ผันจะเป็นประธานของประโยค
Accusative case (กรรมการก) - คำนามที่ผันจะเป็นกรรมตรงของประโยค
Genitive case (สัมพันธการก) - คำนามที่ผันจะมีหน้าที่เป็นเจ้าของ
Locative case (อธิกรณการก) – คำที่ผันเป็นสถานที่หรือเวลาที่เกิดกริยา
นอกจากที่คำนามภาษาเบงกอลจะผันตามพจน์และการกแล้ว ยังมีการผันคำนามให้อยู่ในรูปชี้เฉพาะ (Definite form) และรูปไม่ชี้เฉพาะ (Indefinite form) ด้วยการเติมคำกำกับนามแบบชี้เฉพาะ (Definite article) และคำกำกับนามแบบไม่ชี้เฉพาะ (Indefinite article) ที่ท้ายคำนาม ซึ่งแตกต่างจากภาษาอังกฤษ ที่วางคำกำกับนาม (A, An, The) ที่หน้าคำนาม
4) คำคุณศัพท์ (Adjective) ในภาษาเบงกอลจะไม่ผันตามการกและพจน์ของคำนาม
5) คำกริยาในภาษาเบงกอลจะไม่ผันตามพจน์ของคำนามที่เป็นประธาน แต่จะผันตามหลายปัจจัย ดังนี้...
- ผันในกรณีที่พูดถึงกริยานั้นลอย ๆ หรือไม่ระบุประธานที่กระทำกริยา (Impersonal form) ให้เป็น Participle มีลักษณะเป็นกึ่งคำคุณศัพท์กึ่งคำกริยา เพื่อบอกลักษณะของกริยาว่าเป็นอย่างไร เช่น Perfect participle ที่บอกว่าเป็นกริยาที่เสร็จสิ้นแล้วก่อนเกิดอีกกริยาหนึ่งในประโยคเดียวกัน
- ผันตามสรรพนามบุรุษต่าง ๆ ที่เป็นประธานและกาล (Tense) ของเหตุการณ์ในประโยค ซึ่งภาษาเบงกอลจะมี Tense อยู่ 8 แบบ (ในตัวอย่างจะแสดงเพียง 3 แบบ คือ รูปกาลอดีต (Simple Past) รูปกาลปัจจุบัน (Simple Present) และรูปกาลอนาคต (Future) เท่านั้น)
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านคงจะพอเห็นภาพรวมของ "ภาษาเบงกอล" ในฐานะภาษาสำคัญที่มีจำนวนผู้ใช้มากกว่า 200 ล้านคน ในประเทศบังกลาเทศและฝั่งตะวันออกของประเทศอินเดีย เข้าใจและเห็นภาพถึงประวัติความเป็นมา ลักษณะเฉพาะของภาษาเบงกอล การแบ่งภาษาเบงกอลออกเป็น "ภาษาเบงกอลฝั่งตะวันตก-ฝั่งตะวันออก" และ "สาธุภาษา-โจลิโตภาษา" รวมถึงตัวอย่างไวยากรณ์ภาษาเบงกอลครับ
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
[แหล่งที่มาของข้อมูล]
- India : Phrasebook & Dictionary. Lonely Planet; 2014.
- William Radice. Complete Bengali. UK: John Murray Learning; 2016.
- Mithun B. Nasrin & W.A.M. van de Wurff. Colloquial Bengali. Oxfordshire, UK: Routledge; 2009.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา