10 ต.ค. 2021 เวลา 13:33 • การศึกษา
[ตอนที่ 44] แนะนำภาพรวมของภาษาเนปาล
An overview of Nepali language
สำหรับเนื้อหาตอนที่ 6 ของซีรีส์ "นานาภาษาในเอเชียใต้" จะเป็นเรื่องราวที่แนะนำภาพรวมของภาษาเนปาล ภาษาเครือญาติห่าง ๆ ของภาษาฮินดีและหนึ่งในภาษาสมาชิกของกลุ่มภาษาอินโด-อารยัน ที่มีผู้ภาษามากกว่า 30 ล้านคน โดยเฉพาะในประเทศเนปาลครับ
ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น...เชิญอ่านกันได้เลยครับ
ภาพประกอบ : สถูปพุทธนาถ (Boudhanath) ในกรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล [Credit ภาพ : Bijay Chaurasia]
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ : เพลงร้องในภาษาเนปาล "Man Magan" เพลงแนวเจือกลิ่นอายวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ในเนปาลโดย Deepak Bajracharya ศิลปินชาวเนปาล เมื่อปี ค.ศ.2018
“ภาษาเนปาล” (ชื่อในภาษาอังกฤษ : Nepali / ชื่อในภาษาเนปาล (ใช้อักษรเทวนาครี) : नेपाली “เนปาลี”) เป็นภาษาสมาชิกภาษาหนึ่งในกลุ่มภาษาอินโด-อารยัน (Indo-Aryan languages) มีฐานะเป็นภาษาราชการของประเทศเนปาล และเป็นหนึ่งในภาษาที่ได้รับการประกาศในรัฐธรรมนูญอินเดียให้ใช้เป็นภาษาราชการระดับท้องถิ่น 22 ภาษา ที่เรียกว่า “กลุ่มภาษาที่ถูกกำหนด” (Scheduled languages) ในประเทศอินเดีย
ประชากรผู้ใช้ภาษาเนปาลเป็นภาษาแม่มีจำนวนประมาณ 17 ล้านคน แต่ถ้ารวมผู้ใช้เป็นภาษาที่ 2 จะมีมากกว่า 30 ล้านคน กระจายตัวตามประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้ ดังนี้...
- ประเทศเนปาล ซึ่งมีประชากรทั้งประเทศราว 30 ล้านคนในปี ค.ศ.2021 ชาวเนปาลประมาณครึ่งหนึ่งใช้ภาษาเนปาลเป็นภาษาแม่ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะใช้เป็นภาษาที่สอง
แผนที่แสดงการกระจายตัวของประชากรที่ใช้ภาษาต่าง ๆ เป็นภาษาแม่ในเนปาล โดยแสดงพื้นที่ที่มีผู้ใช้ภาษาเนปาลเป็นภาษาแม่ด้วยพื้นที่สีแดง แผนที่นี้จัดทำโดย Parshuram Tamang et al. Nepal Statistics and Indigenous Peoples. Kathmandu: Nepal Tamang Ghedung 2006 [ที่มาของแผนที่ : https://www.nepalresearch.com/culture/language.html ]
- ประเทศภูฏาน : ประชากรราว 1 ใน 4 ของประเทศนี้เป็นชาวภูฏานเชื้อสายเนปาลที่ใช้ภาษาเนปาล โดยเฉพาะทางใต้ของภูฏาน ซึ่งคนกลุ่มนี้เผชิญกับ “การล้างชาติพันธุ์คนเชื้อสายเนปาล” ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980-1990 จนเกิดการอพยพไปยังเนปาลและอินเดีย
แผนที่แสดงการกระจายตัวของประชากรที่ใช้ภาษาต่าง ๆ เป็นภาษาแม่ในภูฏาน โดยแสดงพื้นที่ที่มีผู้ใช้ภาษาเนปาลเป็นภาษาแม่ด้วยพื้นที่สีฟ้า [ที่มาของแผนที่ : https://www.bhutanoralliteratureproject.com/projects ]
- ประเทศอินเดีย (ภาษาเนปาลเป็น 1 ใน 4 ภาษาราชการของรัฐสิกขิม และภาษาที่ใช้ในพื้นที่ปลายด้านเหนือสุดของรัฐเบงกอลตะวันตก)
ภาษาเนปาลถือเป็นภาษาเชื้อสายของ “ภาษาพระเวท” (Vedic Sanskrit : ภาษาสันสกฤตแบบที่ปรากฏในคัมภีร์ฤคเวทในศาสนาฮินดู) ก่อนที่จะวิวัฒนาการต่อ ดังนี้...
- “ภาษาปรากฤต” (Prakrit) : กลุ่มภาษาอินโด-อารยันสมัยกลางที่สามัญชนใช้
- “ภาษาปรากฤตแถบสุรเสนะ” (Shauraseni Prakrit) : ภาษาที่นักภาษาศาสตร์สันนิษฐานว่าอาจเคยเป็นภาษาพูดที่สามัญชนใช้ในช่วงศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล ในพื้นที่อดีตอาณาจักรสุรเสนะ (Surasena) ที่สลายตัวไปก่อนหน้านี้ (อาณาจักรนี้อยู่ในช่วงปีที่ 700-300 ก่อนคริสตกาล)
แผนที่แสดง "มหาชนบท" (Mahājanapadas) ซึ่งเป็นกลุ่มของอาณาจักรต่าง ๆ ทางตอนเหนือของอินเดียและปากีสถาน ประมาณช่วงปีที่ 600 - 345 ก่อนคริสตกาล ซึ่งรวมถึงอาณาจักรสุรเสนะ (Śūrasena) ไว้ด้วย [Credit แผนที่ : User 'Avantiputra7' @ WIkimedia.org ]
- วิวัฒนาการแยกออกมาจากสาย “ภาษาฮินดูสถาน” (ภาษาฮินดีและภาษาอูรดู) เป็น “กลุ่มภาษาปหารี/กลุ่มภาษาอินโด-อารยันตอนเหนือ” (Pahāṛi languages/Northern Indo-Aryan languages) ซึ่งภาษาเนปาลเป็นสมาชิกในกลุ่มภาษากลุ่มนี้
แผนผังแสดงวิวัฒนาการของภาษาในกลุ่มภาษาอินโด-อารยัน (Indo-Aryan Languages) ที่เริ่มตั้งแต่ภาษาพระเวท (Vedic Sanskrit) - ภาษาปรากฤต (Prakrit) - ภาษาปรากฤตแถบสุรเสนะ (Shauraseni Prakrit) จนถึงกลุ่มภาษาปหารี (Pahari) และภาษาเนปาล (Nepali) [Credit ภาพ : User 'Mandrak' @ WIkimedia.org]
- ภาษาเนปาลสมัยใหม่ที่ใช้อักษรเทวนาครีกำเนิดจากกลุ่มชาติพันธุ์ขัส (Khas people / खस) ที่ก่อตั้งอาณาจักรขสะ-มัลละ (Khasa-Malla kingdom) ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11-14 ในพื้นที่ทางตะวันตกของเนปาลในปัจจุบัน ซึ่งมีอิทธิพลครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของอินเดียที่ติดชายแดนฝั่งตะวันตกของเนปาล และพื้นที่บางส่วนในฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของทิเบต
ส่วนแหล่งกำเนิดของภาษาเนปาลมาจากแถบหุบเขาสิญจา (Sinja valley) ในจังหวัดการ์ณาลี (Karnali Province) ทางตะวันตกของเนปาล ซึ่งอยู่ในพื้นที่อาณาจักรขสะ-มัลละเช่นกัน
แผนที่แสดงพื้นที่ของอาณาจักรขสะ-มัลละในอดีต ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณตะวันตกของเนปาลในปัจจุบัน [ที่มาของภาพ : http://www.roomonethousand.com/kingship-buddhism ]
ในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกจัลละ (Ashoka Challa) กษัตริย์ผู้ปกครองอาณาจักรขสะ-มัลละ ในช่วง ค.ศ.1223-1287 ได้มีจารึกที่กล่าวถึงพระองค์ว่า “ขสะราชาธิราช” (Khasha-Rajadhiraja “ราชาผู้เป็นใหญ่แห่งชาวขัส”) ในจารึกทองแดงที่พุทธคยา (สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ปัจจุบันอยู่ในอินเดีย) และยังมีการจารึกภาษาเนปาลเก่าลงแผ่นทองแดงในช่วงหลังจากนั้น
จารึกภาษาเนปาลเก่าที่ใช้อักษรเทวนาครีบนแผ่นทองแดง ทำขึ้นในปี ค.ศ.1690 [Credit ภาพ : User ' कत्यूरी राजाका वंशज' @ Wikimedia.org ]
การขยายอิทธิพลของอาณาจักรขสะ-มัลละไปยังกลุ่มนครรัฐขนาดเล็กในเนปาลฝั่งตะวันออก ทำให้ภาษาเนปาลเริ่มแพร่ไปสู่เนปาลฝั่งนี้ และในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12-13 กองกำลังชาวมุสลิมได้ยกมาบุกพิชิตอินเดียได้ ทำให้ชาวอินเดียบางกลุ่มอพยพไปทางเหนือถึงบริเวณตีนเขาของเทือกเขาหิมาลัยในเนปาล อีกทั้งมีการแยกชิงอำนาจภายใน สองปัจจัยนี้ส่งผลให้อาณาจักรขสะ-มัลละแตกออกเป็นนครรัฐน้อยใหญ่ต่าง ๆ แถบเทือกเขาหิมาลัยหลังจากนี้ ชาวขัสบางส่วนได้อพยพไปยังเนปาลฝั่งตะวันออก เกิดปัจจัยเสริมให้ภาษาเนปาลเผยแพร่สู่พื้นที่เนปาลฝั่งนี้ตามไปด้วย
ขณะที่พื้นที่เนปาลมีกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมาก และจำนวนภาษากลุ่มชาติพันธุ์ในเนปาลมีมากกว่า 100 ภาษา เมื่อมีการรวมชาติเนปาลในคริสต์ทศวรรษ 1760 จึงมีการใช้ภาษาเนปาลเป็นภาษากลางระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศ และส่งผลให้ประชากรเนปาลราวครึ่งหนึ่งใช้ภาษาเนปาลเป็นภาษาที่สอง (ถัดจากภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ๆ เป็นภาษาแม่) ในปัจจุบัน ส่วนการอพยพของคนเนปาลฝั่งตะวันออกสู่อินเดียและภูฏานในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 เพื่อทำงานด้านการเกษตร (อย่าการปลูกชา) ทำให้ภาษาเนปาลแพร่เข้าสู่เพื่อนบ้านสองประเทศนี้
แผนที่ของ CIA แสดงการกระจายตัวของกลุ่มชาติพันธ์หลักกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศเนปาล
ภาษาเนปาลได้รับอิทธิพลจากภาษาสันสกฤตเป็นอย่างมากในช่วงต้น เช่นเดียวกับภาษาเพื่อนบ้านในกลุ่มภาษาอินโด-อารยันภาษาอื่น (อย่างภาษาฮินดีหรือภาษาเบงกอล) แต่ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของเนปาลที่อยู่แถบเทือกเขาหิมาลัย ภาษาเนปาลจึงได้รับอิทธิพลจากภาษาเพื่อนบ้านภาษาอื่น ๆ อย่างภาษาทิเบตในกลุ่มภาษาทิเบต-พม่า (Tibeto-Burman languages) และภาษาฮินดีกับภาษาเบงกอลในกลุ่มภาษาอินโด-อารยัน
ในประวัติศาสตร์สมัยก่อน ภาษาเนปาลยังมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อที่เคยใช้เรียก ดังนี้...
- ภาษาขัสกุรา (खस कुरा / Khas kura) เนื่องจากภาษาเนปาลเป็นภาษาที่ใช้พูดกันในกลุ่มชาติพันธุ์ขัส (Khas people / खस) ในจังหวัดการ์ณาลี
- ภาษากุรข่า (गोरखाली / Gorkhali) ตามชื่อของอาณาจักรกุรข่า (Gorkha Kingdom / गोरखा) รัฐขนาดเล็กทางตอนกลางของเนปาลในช่วง ค.ศ.1559-1768 ก่อนรวมเป็นราชอาณาจักรเนปาล
- ภาษาปารพติยา (पार्बतिया / Parbatiya)
สำหรับตัวอย่างของไวยากรณ์ในภาษาเนปาลที่เด่นชัด ได้แก่...
1) ประโยคบอกเล่ามักมีโครงสร้างประโยคเป็นแบบ SOV (ประธาน-กรรม-กริยา) เช่นเดียวกับภาษาอูรดู ภาษาฮินดี ภาษาทิเบต ภาษาเบงกอล ภาษาพม่า ภาษาเกาหลี และภาษาญี่ปุ่น
2) ในประโยคปฏิเสธภาษาเนปาล จะไม่มีคำที่ใช้แทนคำว่า “No/Not” ในภาษาอังกฤษหรือคำว่า “ไม่” ในภาษาไทย แต่จะผันคำกริยาให้อยู่ในรูปปฏิเสธแทน (มีท่อนบ่งชี้การปฏิเสธ न)
3) คำนามในภาษาเนปาลมีเพศทางไวยากรณ์ (Grammatical gender) แบ่งเป็นคำนามเพศชายและคำนามเพศหญิง ซึ่งคำนามส่วนใหญ่จะเป็นคำนามเพศชาย และคำนามในภาษาเนปาลจะมีพจน์ 2 พจน์ (เอกพจน์ พหูพจน์)
4) คำคุณศัพท์ (Adjective) ในภาษาเนปาลจะผันตามเพศและพจน์ของคำนาม
5) คำกริยาในภาษาเนปาลในรูปที่ยังไม่ผันมักจะมีท่อน -nu ลงท้าย และจะผันท้ายคำกริยาตามตัวแปร 3 แบบ คือ กาล (Tense) ของเหตุการณ์ในประโยค, ประเภทของคำกริยา (ผันแบบปกติหรือผันแบบไม่ปกติ) และประธานของประโยค (สรรพนามบุรุษต่าง ๆ พจน์ เพศ และระดับความสุภาพตามฐานะทางสังคม)
คำกริยาตัวอย่างในภาษาเนปาล : คำกริยาผันแบบปกติ गर्नु (garnu) แปลว่า “ทำ”
**เนื่องจากพื้นที่แผนภาพไม่เพียงพอต่อการใส่คำภาษาเนปาลทั้งแบบอักษรเทวนาครี (ตามภาษาเขียน) กับอักษรโรมัน (ใช้บ่งชี้เสียงอ่านสำหรับคนต่างชาติ) เจ้าของบล็อกจึงเลือกเฉพาะอักษรโรมัน เพื่อให้สะดวกต่อการอ่านออกเสียง**
6) คำสรรพนามบุรุษในภาษาเนปาลจะซับซ้อน เพราะมีความแตกต่างตามฐานะทางสังคมที่แบ่งเป็น 3 แบบ คือฐานะทางสังคมที่ต่ำกว่า-ใกล้เคียงกัน-สูงกว่า (ทำนองเดียวกับคำสรรพนามบุรุษที่ 2 “ท่าน-คุณ-นาย-เธอ-มึง-เอ็ง-พี่-น้อง” ในภาษาไทย) แต่จะยากกว่าภาษาไทยตรงที่คำสรรพนามบุรุษในภาษาเนปาลจะมีเรื่องการก (Case) ที่บ่งชี้หน้าที่ของคำในประโยคเพิ่ม ซึ่งมี 5 การก ได้แก่...
- Nominative case (กรรตุการก) – คำที่ผันจะเป็นประธานของประโยค
- Instrumental case (กรณการก) – คำที่ผันจะเป็นเครื่องมือหรือตัวการที่ใช้ทำกริยา
- Accusative case (กรรมการก) – คำที่ผันจะเป็นกรรมตรงของประโยค
- Genitive case (สัมพันธการก) – คำที่ผันจะมีหน้าที่เป็นเจ้าของ
- Locative case (อธิกรณการก) – คำที่ผันเป็นสถานที่หรือเวลาที่เกิดกริยา
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านคงจะพอเห็นภาพรวมของ "ภาษาเนปาล" ในฐานะภาษาที่มีผู้ใช้ในจำนวนไม่กี่สิบล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นภาษาที่มีผู้ใช้ค่อนข้างมากบริเวณแถบเทือกเขาหิมาลัย โดยเฉพาะในประเทศเนปาล เข้าใจและเห็นภาพถึงประวัติความเป็นมา ลักษณะเฉพาะของภาษาเนปาล รวมถึงตัวอย่างไวยากรณ์ภาษาเนปาลครับ
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
[แหล่งที่มาของข้อมูล]
- Nepali : Phrasebook & Dictionary. Lonely Planet; 2014.
- Michael Hutt, Krishna Pradhan & Abhi Subedi. Complete Nepali. London, UK: Hodder Education; 2010.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา