23 ต.ค. 2021 เวลา 10:33 • การศึกษา
[ตอนที่ 45] แนะนำภาพรวมของภาษาปาทาน
An overview of Pashto language
สำหรับเนื้อหาตอนที่ 7 ของซีรีส์ "นานาภาษาในเอเชียใต้" จะเป็นเรื่องราวที่แนะนำภาพรวมของ "ภาษาปาทาน" หนึ่งในภาษาสมาชิกของกลุ่มภาษาอิหร่าน ซึ่งภาษานี้มีผู้ใช้งานหลายสิบล้านคนในอัฟกานิสถานและปากีสถาน นอกจากนี้ ภาษาปาทานยังเป็นหนึ่งในภาษาราชการของประเทศอัฟกานิสถานครับ
ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น...เชิญอ่านกันได้เลยครับ
มหาวิทยาลัย Islamia College, Pashawar ในเมืองเปศวาร์ เมืองหลวงของแคว้นไคเบอร์ปัคตูงควและเมืองใหญ่อันดับ 6 ของประเทศปากีสถาน [Credit ภาพ : User 'Zafarmaini' @ Wikipedia.org]
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ : เพลงร้องในภาษาปาทาน "Larsha Pekhawar" เพลงแนวเจือกลิ่นอายวัฒนธรรมกลุ่มชนชาวปาทานในปากีสถาน โดย Ali Zafar ศิลปินชาวปากีสถาน เมื่อปี ค.ศ.2021
“ภาษาปาทาน” (ชื่อในภาษาอังกฤษ : Pashto (ฝั่งปากีสถานมักเขียนเป็น Pakhto) / ชื่อในภาษาปาทาน (ใช้อักษรเปอร์เซีย-อาหรับ) : پښتو “ปัสโต”) เป็นภาษาสมาชิกในกลุ่มภาษาอิหร่าน (Iranian languages) ร่วมกับภาษาเคิร์ด (Kurdish) ภาษาเปอร์เซีย (Persian) ภาษาดารี (Dari) และภาษาทาจิก (Tajik)
แผนผังแสดงวิวัฒนาการของภาษาในกลุ่มภาษาอิหร่าน (Iranian Languages) ที่มีปลายทางเป็นภาษาปาทาน (Pashto) [Credit ภาพ : User 'Mandrak' @ WIkimedia.org]
ภาษาปาทานเป็นภาษาแม่และถือเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของกลุ่มชาติพันธุ์ปาทาน (Pashtuns / پښتانه “ป็อคตานา”) ที่ส่วนใหญ่อาศัยในพื้นที่ประเทศปากีสถานและอัฟกานิสถาน ซึ่งชื่อ “ปาทาน” มาจากคำเรียกกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้ในภาษาฮินดีว่า पठान (Paṭhān) และคนไทยสมัยก่อนเรียกคนในกลุ่มชาติพันธุ์นี้ที่อพยพจากปากีสถานมาที่ไทยในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 – กลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ว่า “แขกปาทาน”
ในปัจจุบันนี้ มีจำนวนประชากรที่ใช้ภาษาปาทานโดยประมาณ 50 ล้านคน โดยกระจายตัวในประเทศต่าง ๆ ดังนี้...
- ประเทศอัฟกานิสถาน : ประชากรในสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของกลุ่มชาติพันธ์นี้อาศัยอยู่ในอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะตามบริเวณชายแดนปากีสถาน-อัฟกานิสถาน ภาษาปาทานเป็นหนึ่งในสองภาษาราชการของประเทศ ร่วมกับภาษาดารี (ภาษาเปอร์เซียสำเนียงที่ใช้ในอัฟกานิสถาน)
เมื่อครั้งอัฟกานิสถานมีสถานะเป็น “ราชอาณาจักรอัฟกานิสถาน” ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทางภาครัฐส่งเสริมภาษาปาทานเพื่อสนับสนุนอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์และนโยบายชาตินิยมของประเทศ ซึ่งมีการประกาศให้ภาษาปาทานเป็นภาษาราชการของอัฟกานิสถานในปี ค.ศ.1936 ขณะที่กลุ่มชนชั้นสูงจะนิยมภาษาดารีในฐานะ “ภาษาในราชสำนักและภาษาทางวัฒนธรรมชั้นสูง”
แผนที่ในปี ค.ศ.1980 แสดงพื้นที่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ 4 กลุ่มใหญ่บริเวณประเทศปากีสถาน รวมถึงกลุ่มชนชาวปาทาน (Pushtun - พื้นที่สีเขียวในแผนที่) ในปากีสถานและอัฟกานิสถาน [Credit แผนที่ : U.S. Central Intelligence Agency]
- ประเทศปากีสถาน : ประชากรในสัดส่วนราว 3 ใน 4 ของกลุ่มชาติพันธ์นี้อาศัยอยู่ในปากีสถาน ภาษาปาทานเป็นภาษาหลักในภูมิภาคที่มีจำนวนผู้ใช้มากเป็นอันดับที่ 2 (รองจากภาษาปัญจาบ) โดยเฉพาะตามบริเวณชายแดนปากีสถาน-อัฟกานิสถาน (เช่น แคว้นไคเบอร์ปัคตูงควา (Khyber Pakhtunkhwa)) ซึ่งภาครัฐของปากีสถานนั้นให้ความสำคัญกับอูรดูมากกว่าภาษาปาทาน บทบาทของภาษาอูรดูจึงมากกว่าภาษาปาทานในการเรียนการสอนตามโรงเรียนรัฐบาลในท้องถิ่นที่ใช้ภาษาปาทานเป็นหลัก
- ประเทศที่มีกลุ่มคนเชื้อสายปาทานอพยพ เช่น ดินแดนเพื่อนบ้านอย่างอินเดีย อิหร่าน หรือประเทศที่อยู่ไกลออกไปอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร เป็นต้น
แม้นักวิชาการจะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าภาษาปาทานมีจุดกำเนิดเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ แต่งานวรรณกรรมภาษาปาทานเริ่มเป็นที่แพร่หลายในกลุ่มชนชาวปาทานตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา (รวมถึงการคิดค้นระบบตัวอักษรเพื่อใช้เขียนภาษาปาทาน โดยปรับมาจากอักษรเปอร์เซีย-อาหรับในคริสต์ศตวรรษที่ 16)
รูปซ้าย - Khushal Khattak (ค.ศ.1613-1689) นักรบหัวหน้ากลุ่มชนและกวีชาวปาทาน ผู้ส่งเสริมแนวคิดชาตินิยมปาทานผ่านบทกวี จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นกวีคนสำคัญด้านภาษาปาทาน [ที่มาของภาพ : ribune.com.pk] / รูปขวา - Ahmad Shah Durrani (ค.ศ.1722-1773) กษัตริย์ผู้ก่อตั้งจักรวรรดิดูรานี (Durrani Empire) และมีฐานะเป็น “บิดาแห่งรัฐอัฟกานิสถานสมัยใหม่” ซึ่งทรงประพันธ์บทกวีเชิงชาตินิยมในภาษาปาทาน
ด้วยตำแหน่งทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ของดินแดนอัฟกานิสถาน-ปากีสถานซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของผู้ใช้ภาษาปาทานเป็นภาษาแม่ อยู่ระหว่างเอเชียกลาง เปอร์เซีย และอินเดีย รวมถึงภาษาอาหรับที่เข้ามาพร้อมกับศาสนา ส่งผลให้ภาษาปาทานได้รับอิทธิพลด้านคำยืมจากภาษาต่าง ๆ เช่น...
- ภาษาจากดินแดนเพื่อนบ้าน : ภาษาเปอร์เซียและภาษาฮินดูสถาน (ภาษาฮินดีและภาษาอูรดู)
- ภาษาจากดินแดนที่ห่างไกลแต่ส่งต่อผ่านภูมิภาคเอเชียกลาง : ภาษามองโกเลียจากจักรวรรดิมองโกลในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ที่แผ่ขยายอำนาจเข้ามายังเอเชียกลางก่อนถึงอัฟกานิสถาน หรือภาษารัสเซียที่ภูมิภาคเอเชียกลางได้รับอิทธิพลด้านคำยืมมาอีกต่อ
- ภาษาอาหรับ
สำหรับตัวอย่างของไวยากรณ์ในภาษาปาทานที่เด่นชัด ได้แก่...
1) ประโยคบอกเล่าส่วนใหญ่มักมีโครงสร้างประโยคเป็นแบบ SOV (ประธาน-กรรม-กริยา) เช่นเดียวกับภาษาเปอร์เซีย ภาษาอูรดู ภาษาฮินดี ภาษาทิเบต และภาษาพม่า
2) คำนามในภาษาปาทานมีเพศทางไวยากรณ์ (Grammatical gender) คือ เพศชาย และเพศหญิง
3) คำนามในภาษาปาทานจะมีพจน์ 2 พจน์ (เอกพจน์ พหูพจน์) และมี 4 การก ได้แก่
- Direct case – สำหรับภาษาปาทานนั้น จะออกไปทาง Nominative case (กรรตุการก) ซึ่งเป็นกรณีคำนามที่ผันจะเป็นประธานของประโยค
- Oblique case (กรรมการก) – คำนามที่ผันจะเป็นกรรมของประโยค สำหรับกรณีของภาษาปาทาน การกนี้จะครอบคลุมหน้าที่บ่งชี้ว่าคำนามเป็นกรรมของคำบุพบทในประโยค ซึ่งเป็นของ Preposition case ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะคำบุพบทส่วนหนึ่งในภาษาปาทานด้วย
- Ablative case (อปาทานการก) - คำนามที่ผันจะใช้ในกรณีอื่น ๆ เช่น เป็นแหล่งที่มา หรือเป็นตัวเปรียบเทียบ ซึ่งมีพจนานุกรมภาษาปาทานส่วนหนึ่งถือว่ารวมไปอยู่ใน Oblique case ไปเลย หรือเรียกว่า “Oblique II”
- Vocative case (สัมโพธนาการก) – คำนามที่ผันจะเป็นคนหรือสิ่งที่ถูกเรียก
4) คำคุณศัพท์ (Adjective) จะผันตามเพศ พจน์ และการกของคำนามที่คำคุณศัพท์ใช้กำกับเพื่อบ่งชี้คุณลักษณะ และคำคุณศัพท์ในภาษาปาทานจะวางไว้หน้าคำนามนั้น
5) คำกริยาในภาษาปาทานจะผันตามพจน์ บุรุษสรรพนามต่าง ๆ และเพศของคำนามที่เป็นประธานของประโยค รวมถึงกาล (Tense) ของประโยค อย่างการบ่งชี้ว่ากริยานั้นที่เกิดในอดีตหรือปัจจุบันเสร็จสิ้นแล้ว (Perfective) หรือยังไม่เสร็จสิ้น (Imperfective)
**เนื่องจากพื้นที่แผนภาพไม่เพียงพอต่อการใส่คำภาษาปาทานทั้งแบบอักษรเปอร์เซีย-อาหรับ กับอักษรโรมัน (ใช้บ่งชี้เสียงอ่านสำหรับคนต่างชาติ) เจ้าของบล็อกจึงเลือกเฉพาะอักษรโรมัน เพื่อให้สะดวกต่อการอ่านออกเสียง**
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านคงจะพอเห็นภาพรวมของ "ภาษาปาทาน" ในฐานะภาษาที่มีผู้ใช้ในจำนวนหลายสิบล้านคน ซึ่งภาษาในกลุ่มภาษาอิหร่านภาษานี้มีผู้ใช้เป็นภาษาแม่ในพื้นที่ประเทศอัฟกานิสถานกับปากีสถาน และใช้เป็นหนึ่งในภาษาราชการของอัฟกานิสถาน รวมไปถึงลักษณะและตัวอย่างไวยากรณ์ภาษาปาทานครับ
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
[แหล่งที่มาของข้อมูล]
- Central Asia : Phrasebook & Dictionary. Lonely Planet; 2019.
- Muhammad Kamal Khan. Pashto Phonology: An Evaluation of the Relationship between Syllable Structure and Word Order. Newcastle, UK: Cambridge Scholars Publishing; 2020.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา