27 ธ.ค. 2021 เวลา 09:30 • การศึกษา
[ตอนที่ 51] แนะนำภาพรวมของภาษาปัญจาบ
An overview of Punjabi language
สำหรับเนื้อหาตอนที่ 8 ของซีรีส์ "นานาภาษาในเอเชียใต้" จะเป็นเรื่องราวที่แนะนำภาพรวมของ "ภาษาปัญจาบ" หนึ่งในภาษาสมาชิกกลุ่มภาษาอินโด-อารยัน และเครือญาติห่าง ๆ ของภาษาฮินดี ซึ่งภาษานี้มีจำนวนผู้ใช้งานมากกว่า 100 ล้านคน โดยเฉพาะทางตอนเหนือของอินเดียและปากีสถานครับ
ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น...เชิญอ่านกันได้เลยครับ
ภาพประกอบ : มัสยิดบาดชาฮี (Badshahi Mosque) ในเมืองลาฮอร์ แคว้นปัญจาบ ปากีสถาน และหริมันทิรสาหิบ (Golden Temple) ในเมืองอมฤตสระ รัฐปัญจาบ อินเดีย [Credit ภาพ: User 'Muhannad Ashar' และ 'Manshi Bhanushali' @ Wikipedia.org]
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ : เพลงร้องในภาษาปัญจาบ "Lahore" เพลงแนว Bhaṅgṛā (ดนตรีป็อปแนวของคนเชื้อสายปัญจาบในสหราชอาณาจักร) และดนตรีป็อปอินเดีย โดย Guru Randhawa นักร้องชาวอินเดีย ในปี ค.ศ.2017
ภาษาปัญจาบ (ภาษาอังกฤษ: Punjabi, ภาษาปัญจาบ: “เปินจาบี” – ਪੰਜਾਬੀ (อักษรคุรมุขี) / پن٘جابی (อักษรชาห์มุขี)) เป็นภาษาสมาชิกในกลุ่มภาษาอินโด-อารยัน (Indo-Aryan language) ที่ใช้เป็นภาษาแม่ของกลุ่มชนชาวปัญจาบที่อาศัยอยู่ในดินแดนปัญจาบที่อยู่บริเวณประเทศปากีสถานและอินเดีย
ภาษาปัญจาบมีจำนวนผู้ใช้เป็นภาษาแม่มากถึง 125 ล้านคน (จำนวนใกล้เคียงกับประชากรประเทศญี่ปุ่น) ทำให้ภาษานี้มีผู้ใช้เป็นภาษาแม่มากเป็นอันดับ 9 ของโลก (รองจากภาษาญี่ปุ่น) และเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชียใต้ (รองจากภาษาฮินดีและภาษาเบงกอล)
สำหรับพื้นที่ที่มีผู้ใช้ภาษาปัญจาบ ได้แก่...
- ประเทศปากีสถาน : ผู้ใช้ภาษาปัญจาบจะอยู่ในดินแดนปัญจาบฝั่งตะวันตก (แคว้นปัญจาบ) มีจำนวนถึง 92 ล้านคน ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 40% ของประชากรปากีสถาน (225 ล้านคน) ภาษาปัญจาบจึงกลายเป็นภาษาท้องถิ่นที่ใช้แพร่หลายมากที่สุดภาษาหนึ่งในปากีสถาน แต่ไม่ได้มีสถานะเป็นภาษาราชการของประเทศ ขณะที่ภาษาอูรดูใช้เป็นภาษาราชการในฐานะภาษากลางระหว่างกลุ่มชนต่าง ๆ ในประเทศ
กลุ่มชนชาวปัญจาบฝั่งปากีสถานส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และใช้อักษรชาห์มุขี (Shahmukhi) ที่รับและดัดแปลงอักษรเปอร์เซีย-อาหรับในการเขียน
แผนที่แสดงการกระจายตัวของประชากรผู้ใช้ภาษาปัญจาบเป็นภาษาแม่ (พื้นที่สีแดง) ซึ่งครอบคลุมรัฐปัญจาบในอินเดีย และแคว้นปัญจาบในปากีสถาน [Credit แผนที่ : User 'Zakuragi' @ Wikipedia.org]
- ประเทศอินเดีย : ผู้ใช้ภาษาปัญจาบจะอยู่ในดินแดนปัญจาบตะวันออก (รัฐปัญจาบ) มีจำนวนราว 33 ล้านคน ถือเป็นภาษาท้องถิ่นที่มีผู้ใช้มากเป็นอันดับที่ 11 ของประเทศ ภาษาปัญจาบได้รับสถานะเป็น “ภาษาราชการ” ของรัฐปัญจาบ
กลุ่มชนชาวปัญจาบฝั่งอินเดียส่วนใหญ่นับถือศาสนาซิกข์และศาสนาฮินดู ใช้อักษรคุรมุขี (Gurmukhi) ที่เป็นอักษรเชื้อสายจากอักษรพราหมี (ร่วมกับอักษรเทวนาครีในภาษาฮินดี)
- ประเทศอื่น ๆ ที่มีชาวปัญจาบจากปากีสถานและอินเดียอพยพหรือไปทำงาน รวมถึงเชื้อสายของชนชาวปัญจาบโพ้นทะเล : สหราชอาณาจักร แคนาดา สหรัฐฯ ออสเตรเลีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนกลุ่มชาวซิกข์ในไทยก็เป็นเชื้อสายของกลุ่มชนชาวปัญจาบฝั่งอินเดียด้วย
สำหรับ “ภาษามาตรฐาน” ของภาษาปัญจาบ คือ ภาษาปัญจาบสำเนียงมาชฮี (Majhi dialect) ซึ่งเป็นสำเนียงท้องถิ่นของภูมิภาคมาชฮา (Majha) ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมทั้งเมืองลาฮอร์ (Lahore : เมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดของแคว้นปัญจาบในปากีสถาน) และเมืองอมฤตสระ (Amritsar : เมืองใหญ่อันดับ 2 ของแคว้นปัญจาบในอินเดีย)
แผนที่แสดงการกระจายตัวของประชากรที่พูดสำเนียงต่าง ๆ ของภาษาปัญจาบในดินแดนปัญจาบ โดยแสดงพื้นที่ผู้ใช้ภาษาปัญจาบสำเนียงมาชฮี (Majhi dialect) บริเวณตอนกลางของดินแดนปัญจาบ [Credit แผนที่ : User 'Khalid Mahmood' @ Wikipedia.org]
เอกลักษณ์เฉพาะตัวของภาษาปัญจาบคือ ระดับเสียงวรรณยุกต์ ซึ่งภาษาสมาชิกอื่น ๆ ร่วมกลุ่มภาษาอินโด-อารยันจะไม่มีเสียงวรรณยุกต์ โดยภาษาปัญจาบมีระดับเสียงวรรณยุกต์จำนวน 3 เสียง โดยไม่มีเครื่องหมายวรรณยุกต์ชัดเจน แต่จะแฝงมากับพยัญชนะ (คล้ายกับอักษรสูง-กลาง-ต่ำ ในอักษรไทย)
สำหรับชื่อ “ปัญจาบ” ของภาษาปัญจาบ มาจากชื่อดินแดนปัญจาบในภาษาเปอร์เซียว่า پنجاب (panjâb “แพนจอบ”) ซึ่งแปลว่า “ดินแดนแม่น้ำห้าสาย” สื่อแม่น้ำสาขาขนาดใหญ่ 5 สายของแม่น้ำสินธุที่ไหลผ่านดินแดนปัญจาบ
คำดังกล่าวประกอบจากคำ 2 คำ ได้แก่...
- پنج (Panj “แพนจ์”) แปลว่า “ห้า” มีรากศัพท์เดียวกับ “ปัญจะ” ที่ภาษาไทยรับมาจากคำภาษาสันสกฤต (पञ्चन् (pañcan))
- آب (ab “ออบ”) แปลว่า “แม่น้ำ”
แผนที่แสดงดินแดนปัญจาบแบบไม่มีเส้นแบ่งเขตแดนอินเดีย-ปากีสถาน เน้นลักษณะภูมิประเทศที่แม่น้ำสาขาขนาดใหญ่ 5 สายของแม่น้ำสินธุ (Indus) ที่ไหลผ่านดินแดนปัญจาบ และเป็นที่มาของชื่อภาษากับชื่อดินแดนแห่งนี้ [Credit แผนที่ : User 'Apuldram' @ Wikipedia.org]
ภาษาปัญจาบมีวิวัฒนาการในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7-10 มาจากภาษาปรากฤต (Prakrit) ซึ่งเป็นกลุ่มภาษาอินโด-อารยันสมัยกลาง (Middle Indo-Aryan) ที่สามัญชนใช้ และมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงย้อนถึงภาษาสันสกฤตในฐานะกลุ่มภาษาอินโด-อารยันสมัยเก่า (Old Indo-Aryan) ต่อมา หลังจากเริ่มมีวิวัฒนาการเป็นภาษาปัญจาบ ถึงเริ่มมีงานเขียนแรกที่ใช้ภาษาปัญจาบ โดยเป็นผลงานของโยคีนาถในศาสนาฮินดูแบบไศวนิกาย ตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9
แผนผังแสดงวิวัฒนาการของกลุ่มภาษาอินโด-อารยัน (Indo-Aryan Languages) ที่เริ่มตั้งแต่ภาษาพระเวท (Vedic Sanskrit) - ภาษาปรากฤต (Prakrit) - ภาษาปรากฤตแถบสุรเสนะ (Shauraseni Prakrit) จนถึงภาษาปัญจาบ (Punjabi) [Credit ภาพ : User 'Mandrak' @ Wikimedia.org]
ภาพวาดแสดงโยคินีนาถในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17
หลังจากนั้นก็เข้าสู่ช่วงที่ราชวงศ์ชาวมุสลิมเข้ารุกรานอินเดียในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11-12 จนอินเดียตกอยู่ภายใต้ผู้ปกครองชาวมุสลิมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 - กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในช่วงเวลาดังกล่าว ภาษาปัญจาบได้รับอิทธิพลจากภาษาอาหรับและภาษาเปอร์เซีย ทั้งคำศัพท์และตัวอักษร
แผนที่แสดงพื้นที่ภายใต้อิทธิพลของรัฐสุลต่านกูริด (Ghurid Sultanate) ช่วงที่แผ่ขยายอำนาจได้ไกลที่สุดในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 ซึ่งแผ่ไปทางตะวันออกจนจรดปากแม่น้ำคงคา-แถบเบงกอล [Credit แผนที่ : User 'Gabagool' @ Wikipedia.org]
อักษรชาห์มุขีเป็นอักษรที่ดัดแปลงจากอักษรเปอร์เซีย-อาหรับ จึงอ่านจากทางขวามาทางซ้ายเช่นเดียวกับอักษรในภาษาอูรดูและปาทาน เริ่มใช้เขียนภาษาปัญจาบช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในงานวรรณกรรมทางศาสนาอิสลามลัทธิศูฟี (Sufi) ก่อนที่จะเริ่มมีอักษรคุรมุขี
อักษรคุรมุขี (ที่พัฒนาจากอักษรพราหมี) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 มาจากการปรับมาตรฐานและนำอักษรคุรมุขีมาใช้งานโดย “คุรุอังคัต” (Guru Angad Dev) คุรุซิกข์หรือศาสดาในศาสนาซิกข์องค์ที่ 2 ส่งผลให้ชื่อ “คุรมุขี” ของตัวอักษรแปลว่า “แนวทางจากปากของคุรุ” และภาพลักษณ์ของภาษาปัญจาบในอินเดียมักเชื่อมโยงกับศาสนิกชนชาวซิกข์ เนื่องจากคุรุซิกข์เกือบทั้งหมดเป็นชาวปัญจาบ และภาษาปัญจาบใช้เป็นภาษาในคัมภีร์ อย่างคัมภีร์คุรุครันถสาหิพ (Guru Granth Sahib) คัมภีร์หลักที่สำคัญที่สุดในศาสนาซิกข์
ภาพถ่ายหน้าปกของคัมภีร์คุรุครันถสาหิพ (Guru Granth Sahib) คัมภีร์หลักที่สำคัญที่สุดในศาสนาซิกข์ คัมภีร์ฉบับนี้ทำขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 - ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18
หลังจากช่วงที่ใช้ภาษาปัญจาบในคัมภีร์ทางศาสนาซิกข์ งานวรรณกรรมในศาสนาอิสลามลัทธิศูฟีได้เข้ามามีบทบาทในวิวัฒนาการของภาษาปัญจาบ จนพัฒนาไปเป็นงานวรรณกรรมระดับพื้นบ้านในดินแดนปัญจาบ โดยเฉพาะบทกวีหรือเพลงช้าที่มีเนื้อเรื่องบรรยายถึงความรัก เช่น Heer Ranjha งานวรรณกรรมแนวความรักแบบโศกนาฏกรรม ที่แต่งในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และเป็นหนึ่งในงานวรรณกรรมภาษาปัญจาบที่แพร่หลายที่สุด
รูปเล่มที่ทำขึ้นประมาณปี ค.ศ.1850 ของ "Heer Ranjha" งานวรรณกรรมภาษาปัญจาบแนวความรักแบบโศกนาฏกรรม
ในเวลาต่อมา จักรวรรดิซิกข์ (Sikh Empire) รัฐที่มีศูนย์กลางอำนาจในดินแดนปัญจาบช่วง ค.ศ.1799-1849 มาถึงจุดจบหลังการแพ้สงครามกับอังกฤษ ภาษาอูรดูที่ใช้เป็นภาษากลางในการปกครองอินเดียภายใต้อังกฤษ (ช่วง ค.ศ.1837-1858) ก็ได้ถูกประกาศใช้เป็นภาษาทางการของดินแดนปัญจาบที่ผนวกเข้ามาอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ ส่งผลให้อิทธิพลของภาษาอูรดูเข้าสู่ภาษาปัญจาบในช่วงนี้
นอกจากนี้ ในช่วงที่อังกฤษปกครองอินเดียและปากีสถาน การเข้ามาของระบบการพิมพ์สมัยใหม่ทำให้ภาษาปัญจาบแบบที่ใช้อักษรคุรมุขีแพร่หลายในดินแดนปัญจาบมากขึ้น ผ่านการพิมพ์สื่ออย่างใบประกาศ หนังสือพิมพ์ งานวรรณกรรม เสริมด้วยการประดิษฐ์เครื่องพิมพ์เพื่อใช้กับภาษาปัญจาบโดยเฉพาะในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 - ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 แต่ในช่วงเวลานี้ ภาษาปัญจาบก็ยังคงไม่ได้รับการยกสถานะเป็นภาษาทางการของดินแดนปัญจาบ
"Akhbaar Sri Darbar Sahib Sri Amritsar Ji" หนังสือพิมพ์ภาษาปัญจาบที่ตีพิมพ์โดยใช้อักษรคุรมุขีฉบับแรก เริ่มตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.1867 [ที่มาของภาพ : Tribune News Service]
เมื่อเกิดการแยกประเทศปากีสถานออกจากอินเดียในปี ค.ศ.1947 ดินแดนปัญจาบตะวันตกจึงถูกแบ่งแยกไปอยู่ในปากีสถานตามไปด้วย แม้ว่าภาษาปัญจาบเป็นภาษาท้องถิ่นที่ใช้แพร่หลายมากที่สุดภาษาหนึ่งในปากีสถาน แต่กลับไม่ได้มีสถานะเป็นภาษาราชการของประเทศ ในขณะที่อินเดียยกสถานะให้ภาษาปัญจาบเป็น “ภาษาราชการ” ในระดับรัฐของรัฐปัญจาบ (ดินแดนปัญจาบตะวันออก) จนถึงปัจจุบัน
สำหรับตัวอย่างของไวยากรณ์ในภาษาปัญจาบที่เด่นชัด ได้แก่...
**ในตัวอย่างไวยากรณ์ภาษาปัญจาบ จะไม่ใส่ประโยคที่ใช้อักษรชาห์มุขีในภาพประกอบตัวอย่าง เนื่องจากหาตัวอย่างประโยคที่ใช้อักษรแบบนี้ได้ยาก**
1) ประโยคบอกเล่าส่วนใหญ่มักมีโครงสร้างประโยคเป็นแบบ SOV (ประธาน-กริยา-กรรม) เช่นเดียวกับภาษาเปอร์เซีย อูรดู ทิเบต พม่า เกาหลี และญี่ปุ่น
2) มักมีคำ ਨਹੀਂ / نہیں (nahī̃) ในประโยคปฏิเสธ (ตรงกับคำ नहीं (nahī̃) ในภาษาฮินดี)
3) คำนามในภาษาปัญจาบมีเพศทางไวยากรณ์ (Grammatical gender) คือ เพศชาย และเพศหญิง
4) คำนามในภาษาปัญจาบจะมีพจน์ 2 พจน์ (เอกพจน์ พหูพจน์) และมี 5 การก ได้แก่...
- Direct case – สำหรับภาษาปัญจาบนั้น จะออกไปทาง Nominative case (กรรตุการก) ซึ่งเป็นกรณีคำนามที่ผันจะเป็นประธานของประโยค
- Oblique case (กรรมการก) – คำนามที่ผันจะเป็นกรรมของประโยค
- Vocative case (สัมโพธนาการก) – คำนามที่ผันจะเป็นคนหรือสิ่งที่ถูกเรียก
- Ablative case (อปาทานการก) – คำนามที่ผันจะใช้ในกรณีอื่น ๆ เช่น เป็นแหล่งที่มา หรือเป็นตัวเปรียบเทียบ
- Locative case (อธิกรณการก) – คำที่ผันเป็นสถานที่หรือเวลาที่เกิดกริยา ซึ่งในภาษาปัญจาบจะถือว่าเป็นการกเดียวกันกับ Instrumental case (กรณการก) – คำที่ผันจะเป็นเครื่องมือหรือตัวการที่ใช้ทำกริยา
**ในพจนานุกรมภาษาปัญจาบออนไลน์เท่าที่เจอมักแสดงเพียง 3 การกเท่านั้น ในภาพตัวอย่างประกอบจึงแสดงการผันคำนามตาม 3 การกตามไปด้วย**
5) คำคุณศัพท์ (Adjective) จะผันตามเพศ พจน์ และการกของคำนาม
**ในพจนานุกรมภาษาปัญจาบออนไลน์เท่าที่เจอ มักแสดงเพียง 2 การกเท่านั้น ในภาพตัวอย่างประกอบจึงแสดงการผันคำคุณศัพท์ตาม 2 การกตามไปด้วย**
6) คำกริยาในภาษาปัญจาบจะผันตามลักษณะการเกิดกริยาหรือเหตุการณ์ (Aspect) กาล (Tense) “มาลา” ซึ่งเป็นอารมณ์หรือความคิดเห็นของผู้พูด (Mood) สรรพนามบุรุษต่าง ๆ พจน์และเพศของคำนามที่เป็นประธานของประโยค
การผันกริยาตามมาลาในภาษาปัญจาบ จะแบ่งตามมาลาดังนี้...
- Indicative mood (ประโยคบอกเล่า)
- Presumptive mood (ประโยคที่แสดงสถานการณ์หรือสิ่งที่อาจเป็นไปได้ และการสันนิษฐาน)
- Subjunctive mood (ประโยคที่แสดงเงื่อนไขหรือสถานการณ์สมมติ รวมถึงแสดงความต้องการ หรือคำสั่ง)
- Contrafactual หรือ Past conditional mood (ประโยคแสดงสิ่งที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง หรือแสดงเงื่อนไขในอดีต)
- Imperative mood (ประโยคที่เป็นคำสั่ง คำห้าม คำขอร้อง คำเชิญชวน หรือคำแนะนำ)
ส่วนการผันคำกริยาตามลักษณะการเกิดกริยาหรือเหตุการณ์ (Aspect) ได้แก่
- กรณีที่ไม่ได้ระบุลักษณะการเกิดกริยาหรือเหตุการณ์ (Non-aspectual)
- กริยาหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือกระทำเป็นประจำ (Habitual)
- กริยาหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนเสร็จสิ้น (Perfective)
- กริยาหรือเหตุการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ (Progressive)
ตัวอย่างที่ยกมาในแผนภาพ : Verb to be (คำกริยา “เป็น อยู่ คือ”) ในภาษาปัญจาบ ہوݨا / ਹੋਣਾ (hoṇā) แต่เนื่องจากพื้นที่ในแผนภาพที่มีจำกัด จะแสดงเฉพาะการผันคำกริยาในลักษณะ Non-aspectual และตามลักษณะประโยคแบบ Indicative mood เท่านั้น
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านคงจะพอเห็นภาพรวมของ "ภาษาปัญจาบ" ภาษาสมาชิกในกลุ่มภาษาอินโด-อารยัน และเครือญาติห่าง ๆ ของภาษาฮินดี ซึ่งมีผู้ใช้ภาษาปัญจาบมากกว่า 100 ล้านคน โดยเฉพาะในดินแดนปัญจาบที่แบ่งเป็นสองฝั่งจากพรมแดนทางตอนเหนือของอินเดีย-ปากีสถาน เข้าใจและเห็นภาพถึงประวัติความเป็นมา ลักษณะเฉพาะของภาษาปัญจาบ อักษรชาห์มุขี-คุรมุขี ภาพลักษณ์ของภาษาปัญจาบในฝั่งอินเดียที่มักเชื่อมโยงกับศาสนิกชนชาวซิกข์ รวมถึงตัวอย่างไวยากรณ์ภาษาปัญจาบครับ
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
[แหล่งที่มาของข้อมูล]
- India : Phrasebook & Dictionary. Lonely Planet; 2014.
- Sue Tyson-Ward, Surjit Singh Kalra, Navteg Kaur Purewal. Teach Yourself Panjabi. USA: NTC/Contemporary Publishing Company; 1999.
- H.S.Singha. The Encyclopedia of Sikhism (over 1000 Entries). New Delhi, India: Hemkunt Publishers; 2005.
- Dale Hoiberg. Students' Britannica India. Hong Kong: Encyclopædia Britannica (India); 2000.
- Gurnam Singh Sidhu Brard. East of Indus: My Memories of Old Punjab. New Delhi, India: Hemkunt Publishers; 2007.
- Farina Mir. The Social Space of Language: Vernacular Culture in British Colonial Punjab. California, USA: University of California Press; 2010.
- Harold Schiffman. Language Policy and Language Conflict in Afghanistan and Its Neighbors: The Changing Politics of Language Choice. Leiden, The Netherlands: Koninklijke Brill NV; 2012.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา