13 ก.พ. 2022 เวลา 14:47 • การศึกษา
[ตอนที่ 57] แนะนำภาพรวมของภาษาคุชราต
An overview of Gujarati language
สำหรับเนื้อหาตอนที่ 9 ของซีรีส์ "นานาภาษาในเอเชียใต้" จะเป็นเรื่องราวที่แนะนำภาพรวมของ "ภาษาคุชราต" หนึ่งในภาษาสมาชิกกลุ่มภาษาอินโด-อารยัน และเครือญาติห่าง ๆ ของภาษาฮินดี ซึ่งภาษานี้มีจำนวนผู้ใช้งานมากกว่า 55 ล้านคน โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกของอินเดียครับ
ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น...เชิญอ่านกันได้เลยครับ
ภาพประกอบ : โสมนาถมนเทียร (Somnath temple) หนึ่งในโบสถ์พราหมณ์แหล่งจาริกแสวงบุญยอดนิยมของศาสนิกชนชาวฮินดูในอินเดีย ตั้งอยู่ในรัฐคุชราต [Creditภาพ: User 'B. SurajPatro1997' @ Wikipedia.org
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ : เพลง "Subhaarambh" เพลงประกอบภาพยนตร์อินเดียเรื่อง "Kai Po Che!" โดย Shruti Pathak, Divya Kumar นักร้องชาวอินเดีย ในปี ค.ศ.2013 ซึ่งเนื้อร้องส่วนใหญ่ของเพลงนี้เป็นภาษาคุชราต
ภาษาคุชราต (ภาษาอังกฤษ: Gujarati / ภาษาคุชราต: ગુજરાતી “กุจราตี”) เป็นภาษาสมาชิกในกลุ่มภาษาอินโด-อารยัน (Indo-Aryan language) ที่ใช้เป็นภาษาแม่ของกลุ่มชนชาวคุชราตที่อาศัยอยู่ในแถบรัฐคุชราต (Gujarat) บริเวณชายฝั่งตะวันตกของอินเดียใกล้พรมแดนปากีสถาน
ในปัจจุบันนั้น ภาษาคุชราตมีสถานะเป็นภาษาทางราชการของรัฐคุชราต และอดีตดินแดนอาณานิคมโปรตุเกสแถบรัฐคุชราต โดยมีจำนวนผู้ใช้เป็นภาษาแม่ประมาณ 56.4 ล้านคน (จำนวนใกล้เคียงกับประชากรที่ใช้ภาษาเปอร์เซียฝั่งอิหร่าน) ทำให้ภาษานี้มีจำนวนผู้ใช้เป็นภาษาแม่เป็นอันดับที่ 24 ของโลก และอันดับที่ 6 ในประเทศอินเดีย
แผนที่แสดงพื้นที่แถบรัฐคุชราต ทางตะวันตกของอินเดีย ส่วนสีแดงเข้มเป็นส่วนที่ประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาคุชราต ส่วนสีแดงอ่อนเป็นส่วนที่มีประชากรพูดภาษาคุชราตเป็นส่วนน้อย (อย่างน้อย 10%) [Credit แผนที่: Uwe Dedering]
แผนที่ประเทศอินเดีย ที่วงกลมสีแดงแสดงตำแหน่งดินแดน "ดาดราและนครหเวลี และดามันและดีอู" (Dadra and Nagar Haveli and Daman and Diu) อดีตอาณานิคมโปรตุเกสแถบรัฐคุชราต ซึ่งใช้ภาษาคุชราตเป็น 1 ใน 4 ภาษาราชการ (ร่วมกับภาษาฮินดี ภาษามราฐี และภาษาอังกฤษ) [Credit แผนที่ : User "Unpocoloco" @ Wikimedia.org]
สำหรับพื้นที่ที่มีการใช้ภาษาคุชราตนอกบริเวณรัฐคุชราต ตามคนคุชราตที่อพยพออกหรือคนเชื้อสายชาวคุชราต ได้แก่
- นครมุมไบ (เมืองที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย หากวัดจากจำนวนประชากร)
- ประเทศปากีสถาน (โดยเฉพาะนครการาจี)
- ชาติตะวันตก อย่างสหราชอาณาจักร สหรัฐฯ และแคนาดา
- ฝั่งตะวันออกและฝั่งใต้ของทวีปแอฟริกา อย่างประเทศเคนยา และแอฟริกาใต้
ภาษาคุชราตมีรากฐานจากภาษาพระเวท (Vedic Sanskrit - ภาษาสันสกฤตที่ปรากฏในคัมภีร์ฤคเวท) ในฐานะกลุ่มภาษาอินโด-อารยันสมัยเก่า (Old Indo-Aryan) ที่วิวัฒนาการเป็นภาษาปรากฤต (Prakrit) ซึ่งเป็นกลุ่มภาษาอินโด-อารยันสมัยกลาง (Middle Indo-Aryan) ที่สามัญชนใช้
1
ต่อมา ภาษาปรากฤตได้วิวัฒนาการต่อแตกแขนงเป็นภาษาต่าง ๆ หลายภาษาในเอเชียใต้ รวมถึงภาษาคุชราตเก่า (Old Gujarati) ที่ใช้ในช่วง ค.ศ. 1200 – 1500 แล้วกลายมาเป็นภาษาคุชราต และภาษาราชสถาน (Rajasthani) ภาษาท้องถิ่นในรัฐราชสถาน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียในปัจจุบัน ภาษาราชสถานจึงถือว่าเป็นภาษาที่ใกล้ชิดกับภาษาคุชราต
แผนผังแสดงวิวัฒนาการของกลุ่มภาษาอินโด-อารยัน (Indo-Aryan languages) ที่เริ่มตั้งแต่ภาษาพระเวท (Vedic Sanskrit) - ภาษาปรากฤต (Prakrit) - ภาษาปรากฤตแถบสุรเสนะ (Shauraseni Prakrit) จนถึงภาษาคุชราตและภาษาราชสถาน [Credit แผนภาพ: User 'Mandrak' @ Wikimedia.org]
สำหรับภาษาคุชราตสมัยใหม่ (Modern Gujarati) เริ่มต้นจากคริสต์ศตวรรษที่ 19 และเริ่มมีความพยายามปรับมาตรฐานของภาษาคุชราตในคริสต์ทศวรรษ 1920 ขณะที่งานเขียนในภาษาคุชราตก็มีอยู่เป็นจำนวนหนึ่ง อย่างผลงานของโมหันทาส กรัมจันท์ คานธี (Mohandas Karamchand Gandhi / મોહનદાસ કરમચંદ ગાંધી) หรือที่รู้จักกันในนาม “มหาตมะ คานธี” นักการเมืองและผู้นำการเรียกร้องเอกราชของอินเดียจากอังกฤษ ซึ่งคานธีเป็นคนคุชราตที่สร้างงานเขียนในภาษาคุชราตไว้มาก พยายามผลักดันการฟื้นฟูภาษาคุชราตผ่านงานวรรณกรรม และเป็นผู้เสนอหลักการสะกดคำในภาษาคุชราตเมื่อปี ค.ศ.1936
อนุสาวรีย์ของ "มหาตมะ คานธี" หนึ่งในบุคคลสำคัญของประเทศอินเดียที่เป็นชาวคุชราต อนุสาวรีย์แห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองคานธีนคร (Gandhinagar) เมืองหลวงของรัฐคุชราต [Credit ภาพ: User 'Adityamadhav83' @ Wikimedia.org]
หน้าหนังสือพิมพ์ "นวชีวัน" (Navajivan แปลว่า "ชีวิตใหม่") ในช่วงต้นเดือนธันวาคม ค.ศ.1931 ซึ่งคานธีเคยเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ภาษาคุชราตเจ้านี้
หลังจากอินเดียได้เอกราชจากสหราชอาณาจักรและการแยกตัวของปากีสถานออกจากอินเดียในปี ค.ศ.1947 แล้ว ภาษาฮินดี ภาษาคุชราต ภาษาอังกฤษ และภาษาในท้องถิ่นอื่นอีก 20 ภาษา รวมเป็น 23 ภาษา ได้รับการประกาศในรัฐธรรมนูญอินเดียให้ใช้เป็นภาษาราชการในประเทศ เรียกเป็น “กลุ่มภาษาที่ถูกกำหนด” (Scheduled languages)
ระบบการเขียนหลักของภาษาคุชราตคือ “อักษรคุชราต” (Gujarati script / ગુજરાતી લિપિ “Gujǎrātī Lipi”) เป็นอักษรที่ดัดแปลงจากอักษรเทวนาครี จนทำให้จำนวนตัวอักษรแตกต่างกันและมีการตัดเส้นศิโรเรขา (Shirorekha) เส้นแนวนอนที่ลากเชื่อมทางด้านบนของพยัญชนะกับสระในอักษรเทวนาครี ขณะที่อักษรที่มีรากร่วมกับอักษรเทวนาครี อย่างอักษรเบงกอลในภาษาเบงกอล และอักษรคุรมุขีในภาษาปัญจาบยังคงมีเส้นศิโรเรขาอยู่
ในช่วงที่ภาษาคุชราตยังเป็นภาษาคุชราตเก่าจนถึงประมาณช่วงสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 นั้น คนคุชราตยังใช้อักษรเทวนาครีกับภาษาของตนอยู่ เมื่อเวลาผ่านไป ภาษามีวิวัฒนาการเป็นภาษาคุชราตสมัยกลาง (Middle Gujarati) ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งเริ่มมีการดัดแปลงอักษรเทวนาครีเป็นอักษรคุชราตตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษนั้น
"อุปเทศมาลา" (Updeshmala) ตำราทางศาสนาเชนในภาษาปรากฤตที่ทำขึ้นในปี ค.ศ.1666 ซึ่งแสดงภาษาปรากฤตจากช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6 และมีเนื้อความคอมเมนต์ในภาษาคุชราตเก่าที่ใช้อักษรเทวนาครีในปี ค.ศ.1487
พอเข้าคริสต์ศตวรรษที่ 17 อักษรคุชราตถูกปรับให้ใช้เขียนได้ง่ายและเร็วขึ้น ตัดเส้นศิโรเรขาออกจากอักษรคุชราต ในช่วงเวลานี้ คนคุชราตมักใช้อักษรคุชราตเพื่อการเขียนในชีวิตประจำวัน (เช่น การเขียนจดหมาย รายงาน หรือรายการบัญชี) และใช้อักษรเทวนาครีในงานเขียนเชิงวรรณกรรมและวิชาการ จนล่วงเข้าคริสต์ศตวรรษที่ 19 อักษรคุชราตถึงวิวัฒนาการลงตัวกลายเป็นอักษรคุชราตแบบที่ใช้ในปัจจุบันตามเอกสารทุกแบบ
นอกจากอักษรคุชราตแล้ว มีเฉพาะบริเวณเขตกุฉ (Kutch district) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐคุชราตติดชายแดนปากีสถาน ที่คนท้องถิ่นบริเวณนี้ส่วนหนึ่งใช้อักษรเปอร์เซีย-อาหรับในการเขียนภาษาคุชราต
สำหรับตัวอย่างของไวยากรณ์ในภาษาคุชราตที่เด่นชัด ได้แก่...
1) ประโยคบอกเล่าส่วนใหญ่มักมีโครงสร้างประโยคเป็นแบบ SOV (ประธาน-กริยา-กรรม) เช่นเดียวกับภาษาเปอร์เซีย อูรดู ฮินดี ปัญจาบ ทิเบต พม่า เกาหลี และญี่ปุ่น
2) มักมีคำ ના (nā) หรือคำที่ผันจากคำนี้ในประโยคปฏิเสธ
3) คำนามในภาษาคุชราตมีเพศทางไวยากรณ์ (Grammatical gender) 3 เพศ คือ เพศชาย เพศกลาง และเพศหญิง
4) คำนามในภาษาคุชราตจะมีพจน์ 2 พจน์ (เอกพจน์ พหูพจน์) และมี 4 การก ได้แก่
- Nominative case (กรรตุการก) – คำนามที่ผันจะเป็นประธานของประโยค
- Oblique case (กรรมการก) – คำนามที่ผันจะเป็นกรรมของประโยค
- Vocative case (สัมโพธนาการก) – คำนามที่ผันจะเป็นคนหรือสิ่งที่ถูกเรียก
**ในภาษาคุชราต จะถือว่า Oblique case และ Vocative case เป็นการกเดียวกัน
- Instrumental case (กรณการก) – คำนามที่ผันจะเป็นเครื่องมือที่ใช้กระทำกริยา
- Locative case (อธิกรณการก) – คำที่ผันเป็นสถานที่หรือเวลาที่เกิดกริยา
5) คำคุณศัพท์ (Adjective) จะผันตามเพศ พจน์ และการกของคำนาม
6) คำกริยาในภาษาคุชราตจะผันตามลักษณะการเกิดกริยาหรือเหตุการณ์ (Aspect) กาล (Tense) “มาลา” ซึ่งเป็นอารมณ์หรือความคิดเห็นของผู้พูด (Mood) สรรพนามบุรุษต่าง ๆ และพจน์ของคำนามที่เป็นประธานของประโยค
ตัวอย่างกาล มาลา และลักษณะการเกิดกริยาหรือเหตุการณ์ที่มีผลต่อการผันคำกริยาในภาษาคุชราต เช่น...
 
- Present tense (ปัจจุบันกาล)
- Past tense (อดีตกาล)
- Presumptive mood (ประโยคที่แสดงสถานการณ์หรือสิ่งที่อาจเป็นไปได้ และการสันนิษฐาน)
- Subjunctive mood (ประโยคที่แสดงเงื่อนไขหรือสถานการณ์สมมติ รวมถึงแสดงความต้องการ หรือคำสั่ง)
- Contrafactual หรือ Past conditional mood (ประโยคแสดงสิ่งที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง หรือแสดงเงื่อนไขในอดีต)
- Imperative mood (ประโยคที่เป็นคำสั่ง คำห้าม คำขอร้อง คำเชิญชวน หรือคำแนะนำ)
- Agentive (เน้นว่ากริยานั้นเป็นตัวการที่กระทำให้เกิดผลหรือเหตุการณ์ที่ตามมา)
- Progressive (กริยาหรือเหตุการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่)
- Conjunctive (กริยาหรือเหตุการณ์ที่เป็นตัวเชื่อมสิ่งที่เกิดก่อนและตามหลัง)
- Consecutive (กริยาหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตามมา)
- Desiderative (กริยาหรือเหตุการณ์ที่ต้องการกระทำ)
- Potential (กริยาหรือเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น)
- Passive (กริยาหรือเหตุการณ์ที่ประธานเป็นฝ่ายถูกกระทำ)
- Verbal noun (กริยาหรือเหตุการณ์ที่สื่อในรูปของคำนาม)
ตัวอย่างที่ยกมาในแผนภาพ : આવવું (āvavũ) คำกริยาในภาษาคุชราตที่แปลว่า “มา ถึง งอก” แต่เนื่องจากพื้นที่ในแผนภาพที่มีจำกัด จะแสดงเฉพาะการผันคำกริยาส่วนหนึ่งเท่านั้น
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านคงจะพอเห็นภาพรวมของ "ภาษาคุชราต" ภาษาสมาชิกในกลุ่มภาษาอินโด-อารยัน และเครือญาติห่าง ๆ ของภาษาฮินดี ซึ่งมีผู้ใช้ภาษาคุชราตมากกว่า 55 ล้านคน โดยเฉพาะในดินแดนคุชราต (Gujarat) พื้นที่แถบชายฝั่งทางตะวันตกของอินเดีย ใกล้พรมแดนปากีสถาน เข้าใจและเห็นภาพถึงประวัติความเป็นมา อักษรคุชราต (และลักษณะเฉพาะของภาษาคุชราตที่ปรากฏในตัวอักษร) รวมถึงตัวอย่างไวยากรณ์ภาษาคุชราตครับ
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา