21 ก.ย. 2021 เวลา 01:08 • นิยาย เรื่องสั้น
🌕🥮ตำนานวันไหว้พระจันทร์ 1/2🌕🥮
หากจะพูดถึงเทศกาลสำคัญๆ ของชาวจีน
ที่เคยมีการยึดถือ ปฏิบัติ สืบต่อกันมานมนาน
โดยที่มีตำนาน เรื่องเล่า หรือประวัติศาสตร์เล่าขาน
ที่น่าเชื่อถือ และมีเหตุที่มาที่ไปอย่างน่าสนใจ
หนึ่งในนั้น ก็ไม่น่าจะพ้น เทศกาลวันไหว้พระจันทร์
ซึ่งเป็นเทศกาลตามวัฒนธรรมของชาวแผ่นดินมังกร
ที่จะมีขึ้นในช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง
เป็นเทศกาลที่ฉลองให้กับ
การเก็บเกี่ยวอันอุดมสมบูรณ์ในแต่ละปี
โดยอาศัยค่ำคืนวันเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ (ปฏิทินจีน)
เป็นค่ำคืนของการจัดงานฉลอง
ซึ่งชาวจีนจะเรียกเทศกาลนี้ว่า จงชิวเจี๋ย (ภาษาจีนกลาง)
หรือตงชิวโจ๊ย (ภาษาจีนแต้จิ๋ว)
(中秋節) ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า
" เทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วง "
การฉลองใน "เทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วง" ที่ว่านี้
จะเป็นไปในรูปแบบการไหว้พระจันทร์ในช่วงเวลากลางคืน
บางแห่งบางที่ ก็จะมีการเชิดมังกร
ประดับประดาสถานที่ด้วยโคมไฟสีแดงเพื่อเป็นสีสัน
(ซึ่งในประเทศไทย ประเพณีวัฒนธรรมนี้
นับวันก็ยิ่งจะไม่ค่อยได้เห็นมากนัก
หรือจะเรียกว่า ไม่เห็นได้เลยในปัจจุบัน ก็คงไม่ผิด)
หากแต่ในบางประเทศ เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ เวียดนาม
ก็ยังอาจจะพอมีวัฒนธรรมการฉลองแบบนี้
หลงเหลือให้เห็นกันอยู่บ้าง
โดยรูปแบบพิธีการไหว้พระจันทร์
ของแต่ละที่ แต่ละแห่ง แต่ละภูมิประเทศ
หลักๆ ก็จะคล้ายคลึงกัน
อาจมีบ้างที่แตกต่างกันเล็กน้อย
ตามแต่ความเชื่อ การยืดถือปฏิบัติที่สืบต่อกันมา
และตามแต่ความสะดวก ฯลฯ
ซึ่งก็ใช้ อาหาร ผลไม้ น้ำชา กระดาษเงินกระดาษทอง
และที่ขาดไม่ได้ ก็คือ ขนมไหว้พระจันทร์
เป็นเครื่องแสดงการไหว้สักการะ
ตามที่เราได้เขียนเล่าท้าวความไว้ ในโพสต์ก่อนหน้านี้
ขนมไหว้พระจันทร์ (月餅)
ในภาษาจีนกลาง จะออกเสียงว่า “ เยวี่ยปิ่ง ”
ภาษแต้จิ๋ว จะเรียกว่า "งวั๊ยะ เปี้ย "
(月) เยวี่ย หรือ งวั๊ยะ แปลว่า พระจันทร์
ส่วนคำว่า (餅) ปิ่ง หรือ เปี้ย แปลว่า ขนมเปี๊ยะ
ชาวจีนจะใช้ขนมเปี๊ยะ
เป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นศิริมงคล
ความปรารถนาดีที่มีต่อกัน
และรวมไปถึง ความสมัครสมานสามัคคี
เป็นน้ำหนึ่งใจเดียว
เพราะในช่วงเทศกาลนี้
สมาชิกทุกคนในครอบครัว ที่อาจจะออกไปทำมาหากิน
ต่างถิ่นต่างเมือง ก็จะกลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน
ทั้งเด็กเล็ก ผู้ใหญ่ อาวุโส ร่วมทานอาหารด้วยกัน
ทานขนมไปพลาง ชมพระจันทร์ไปพลาง
เล่าเรื่องสัพเพเหระ สารทุกข์สุขดิบ
ในช่วงที่แต่ละคนอยู่ต่างถิ่นต่างเมืองไปพลาง
ง่ายๆ ก็เหมือนเป็นการอัปเดตชีวิตของแต่ละคน
ให้กับสมาชิกคนในบ้านได้รับรู้ร่วมกัน นั่นเอง
ขอขอบคุณเครดิตภาพจากเว็ผ wannianrili.bmcx.com
เดิมที ขนมเปี๊ยะที่ใช้สำหรับไหว้พระจันทร์
จะมีชื่อเรียกว่า " หูปิ่ง " (胡餅)
ซึ่งแปลว่า ขนมเปี๊ยะวอลนัท
(เพราะเป็นขนมแป้งอบที่ทำมาจากงาและวอลนัท)
หากแต่ต่อมา เปลี่ยนชื่อเรียก
มาเรียกเป็น " เยวี่ยปิ่ง " แทน
เพราะมีตำนานเรื่องเล่า กล่าวขานกันมาว่า
ในคืนวันไหว้พระจันทร์ปีหนึ่ง
พระเจ้าถังเสวียนจงฮ่องเต้ (唐玄宗)
ทรงปรารภออกมาว่า ชื่อ " หูปิ่ง "
ฟังดูไม่ไพเราะรื่นหู
ณ ขณะนั้น หยางกุ้ยเฟย (楊貴妃)
หนึ่งในสี่อัครมเหสีของพระองค์
ซึ่งนั่งชมจันทร์อยู่ด้านข้าง ก็เปรยขึ้นมาว่า
" ถ้าเช่นนั้น ก็เปลี่ยนมาเรียกเป็น
" เยวี่ยปิ่ง " ดีไหม เพคะ "
พระเจ้าถังเสวียนจงฮ่องเต้
ทรงโปรดปรานชื่อใหม่ของ " หูปิ่ง " เป็นยิ่งนัก
และนับจากนั้นเป็นต้นมา
ชาวจีนก็เปลี่ยนมาเรียกชื่อขนมเปี๊ยะไหว้พระจันทร์
ว่า " เยวี่ยปิ่ง " แทน " หูปิ่ง " สืบต่อกันมา
ขอขอบคุณเครดิตภาพจากเว็ป open-hl.toutiao.com สำหรับภาพขนมเปี๊ยะ หูปิ่ง
ในส่วนของประวัติความเป็นมา
ของเทศกาลไหว้พระจันทร์
มีตำนานที่เล่าขานสืบทอดต่อๆ กันมา อยู่มากมาย
หนึ่งในตำนานที่เล่าขานก็มาเนิ่นนาน นั้น
ก็คือเรื่องราวของเทพธิดา ฉางเอ๋อ (嫦娥)
...
...
กล่าวกันไว้ว่า
เมื่อครั้งโบราณกาลนานมาก สมัยหนึ่ง
อยู่ๆ ก็ปรากฏมีพระอาทิตย์บนท้องฟ้ามากถึง 10 ดวง
แผดเผาพื้นแผ่นดินจนแตกระแหง
น้ำทะเลมหาสมุทรเหือดแห้ง
ทั่วทุกหัวระแหง ร้อนลุกเป็นควันไฟบรรลัยกัลป์
ชาวบ้านต่างสิ้นหวังที่จะมีชีวิตอยู่รอด
กระทั่งเมื่อเรื่องราวความทุกข์ร้อนของชาวบ้านนี้
ได้ยินถึงหูของผู้กล้า กระทาชายนายหนึ่ง นาม โฮ่วอี้ (后羿)
หลังจากที่ โฮ่วอี้ ได้ยินข่าวเรื่องนี้แล้ว
ก็อดทน อยู่นิ่งเฉยไม่ได้
จึงได้ขึ้นไปบนยอดเขาคุนหลุน (崑崙)
ใช้พละกำลังที่มีอยู่อย่างสุดฤทธิ์
ง้างเกาทัณฑ์ ยิงพระอาทิตย์ดับไป 9 ดวง
วีรกรรมความกล้าหาญในครั้งนี้
ทำให้ชาวบ้านต่างรอดพ้นจากความตาย
ต่างเคารพ รักใคร่ โฮ่วอี้ จากใจที่สำนึกขอบคุณ
แลมีผู้กล้ามากมายในแผ่นดิน
ต่างเดินทางเข้ามา เพื่อขอกราบเป็นลูกศิษย์
ฝึกปรือวรยุทธด้วย
ซึ่งหนึ่งในเหล่าผู้กล้าที่เดินทางมาขอเป็นศิษย์นั้น
ก็มี เผิงเหมิง (蓬蒙)
ชายผู้แอบแฝง ปะปนมาด้วยแผนชั่วร้ายในใจ
ขอขอบคุณเครดิตภาพจากเว็ป lh3.googleusercontent.com
โฮ่วอี้ นั้น ได้แต่งงานกับสาวงาม
ที่มีจิตใจอ่อนโยน มีเมตตา นางหนึ่ง ชื่อ ฉางเอ๋อ (嫦娥)
ชีวิตคู่ของทั้งสองคน เป็นเสมือนคู่กิ่งทองใบหยก
ที่ชาวบ้านต่างยินดีชมชอบ
วันหนึ่ง ขณะที่ โฮ่วอี้ ขึ้นไปบนยอดเขาคุนหลุน
เพื่อเยี่ยมมิตรสหายและศึกษาธรรม
ระหว่างทาง บังเอิญได้พบกับฮองเฮาแห่งสวรรค์
โฮ่วอี้ ได้กราบขอยาอายุวัฒนะ ซึ่งกล่าวกันว่า
ผู้ใดที่ทานยาอายุวัฒนะนี้เข้าไป
จะสามารถเหาะเหินขึ้นสวรรค์ กลายเป็นเซียนได้ในทันที
เมื่อ โฮ่วอี้ ได้ยามาแล้ว
แม้อยากจะทาน แต่ก็ยัง
อาลัยอาวรณ์ ฉางเอ๋อ
ไม่อยากจากไป
ไม่อยากทอดทิ้งนาง ให้อยู่เพียงลำพังคนเดียว
จึงได้ตัดสินใจ มอบยาวิเศษนี้
ให้ ฉางเอ๋อ เป็นผู้เก็บรักษา
ซึ่ง ฉางเอ๋อ เก็บรักษายาอายุวัฒนะนี้
ไว้ในลิ้นชักโต๊ะเครื่องแป้ง
เก็บอย่างดี มิดชิด
แต่ก็ไม่วาย ไม่คลาดสายตาของ เผิงเหมิง
ผู้ซึ่งรู้เรื่องราวทั้งหมดนี้มาโดยตลอด
ไม่กี่วันต่อมา โฮ่วอี้ ได้พาเหล่าลูกศิษย์ออกไปล่าสัตว์
แต่ เผิงเหมิง กลับแกล้งป่วย แสร้งขอนอนรักษาตัว
ไม่ออกไปล่าสัตว์ด้วย
ครั้นเมื่อสบโอกาสเหมาะ
เผิงเหมิง ก็ได้ควงกระบี่ ขู่บังคับ
ให้ ฉางเอ๋อ มอบยาอายุวัฒนะให้แก่ตน
ฉางเอ๋อ ตระหนักรู้
ว่า ตนไม่ใช่คู่ต่อสู้ของ เผิงเหมิง
หลังหยิบยาออกมาได้
ก็ฉวยโอกาสในเสี้ยววินาที
เอายาเข้าปาก กลืนลงท้องทันที
ฉับพลันทันใด
ร่างของ ฉางเอ๋อ ก็ลอยขึ้นจากพื้นดิน
เหาะออกจากหน้าต่าง เหินฟ้าสู่สวรรค์ไป
แต่ด้วยความเป็นห่วงสามี
ฉางเอ๋อ ตัดสินใจเหาะไปเป็นเซียนในโลกพระจันทร์
เนื่องจากพระจันทร์อยู่ใกล้โลกมนุษย์มากที่สุด
ค่ำคืนนั้น เมื่อ โฮ่วอี้ กลับจากการล่าสัตว์
สาวใช้ต่างร้องห่มร้องไห้
เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อตอนกลางวันให้ โฮ่วอี้ ฟัง
โฮ่วอี้ ทั้งเจ็บแค้น ทั้งโศกเศร้า หากแต่ทำอะไรไม่ได้
เพราะ เผิงเหมิง ก็หนีไปไกลมากแล้ว
จึงได้แต่นั่งร้องไห้คร่ำครวญ
แหงนหน้าขึ้นฟ้า ตะโกนเรียกชื่อ ภรรยาตัวเอง
" ฉางเอ๋อ … ฉางเอ๋อ "
...
...
ทันใดนั้น เขาก็สังเกตเห็นพระจันทร์ในคืนนั้น
เปล่งประกายฉายแสงสดใสสกาวฟ้า
สว่างกว่าทุกค่ำคืนที่ผ่านมา
อีกทั้งยังสังเกตเห็นเงาเคลื่อนไหวในพระจันทร์
ซึ่งดูเหมือนสรีระร่างของ ฉางเอ๋อ อีกด้วย
ขอขอบคุณเครดิตภาพจากเว็ป hk.epochtimes.com
เมื่อชาวบ้านได้ยินเรื่องที่ ฉางเอ๋อ
กลายเป็นเซียนบนพระจันทร์
ต่างก็จัดหาขนมเซ่นไหว้
พร้อมจุดธูป กราบขอพรจาก ฉางเอ๋อ
ผู้ซึ่งมีจิตใจอ่อนโยน เมตตา ตั้งแต่ครั้นยังอยู่บนโลกมนุษย์
ให้โปรดคุ้มครองตนเองและครอบครัว
ให้ชีวิตมีแต่ความสงบสุขร่มเย็น
ซึ่งก็ยิดถือปฏิบัติ สืบทอดต่อๆ กันมา
...
...
หากจะว่าไป ตำนานหรือเรื่องเล่าในอดีต
ตราบใดที่ไม่มีผู้พิสูจน์ยืนยันความจริงได้
ก็ยังคงเป็นตำนานเรื่องเล่า
ที่อาจเล่าต่อและผิดเพี้ยนได้อยู่ดี
เพราะโดยเรื่องราวของ โฮ่วอี้ และ ฉางเอ๋อ นี้
ก็ยังมีการเล่าขานที่แตกต่างกันไปอีกหลากหลายเช่นกัน
เช่น ในบางตำนาน ก็เล่าถึง
เทพธิดาแห่งดวงจันทร์นางหนึ่ง ที่ชื่อ " ฉางเอ๋อ "
ซึ่งเป็นหญิงคนรักของ โฮ่วอี้ นักยิงธนูแห่งสวรรค์
และวันหนึ่ง โฮ่วอี้ ก็ได้ใช้ธนู
ยิงดวงอาทิตย์ตกจากกลางเวหาหาว
ร่วงถึง 9 ดวง จากบรรดาดวงอาทิตย์ทั้งหมด 10 ดวง
การกระทำที่อุกอาจเช่นนี้
ถือเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนบัญชาสวรรค์อย่างยิ่ง
โฮ่วอี้ จึงถูกลงทัณฑ์ให้มาใช้ชีวิตธรรมดา
เยี่ยงปุถุชนคนทั่วไปบนโลกมนุษย์ พร้อมกับนาง ฉางเอ๋อ
ต่อมา โฮ่วอี้ ถูกคนสนิท ทรยศและฆ่าตาย
ส่วน ฉางเอ๋อ ได้ดื่มน้ำอมฤต มีชีวิตอมตะ
และเหาะกลับไปยังดวงจันทร์อีกครั้ง
ตามลำพังด้วยความเศร้าสร้อย อาลัยอาวรณ์
...
...
ในขณะที่บางตำนาน ก็เล่าสืบทอดเรื่องราว
ของ โฮ่วอี้ และ ฉางเอ๋อ ว่า
เทพธิดา " ฉางเอ๋อ " เดิมเป็นเทพธิดาผู้เลอโฉม
เกิดไม่พอพระทัยในประพฤติกรรมของ โฮ่วอี้ ผู้เป็นสวามี
ซึ่งโหดร้ายไร้ความปราณีต่อประชาชน
วันหนึ่ง ในคืนวันเพ็ญ เดือนแปด
จึงได้ขโมยยาอายุวัฒนะ
ที่ โฮ่วอี้ ได้เป็นของพระราชทาน
จากเจ้าแม่ ซีอวั๋งหมู่ (西王母)
( เจ้าแม่ซีอวั๋งหมู่ เป็นพระเทวีตามความเชื่อ
ที่ปรากฏมีมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลของจีน )
เมื่อเทพธิดา ฉางเอ๋อ ทานยาอายุวัฒนะเข้าไป
พลันร่างก็เบา และล่องลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า
ไปสถิตอยู่บนดวงจันทร์
โฮ่วอี้ เสียใจ และผิดหวังเป็นอย่างมาก
ทุกคืนวันเพ็ญเดือน 8 ของทุกปี
โฮ่วอี้ ก็จะคอยเฝ้ามองดวงจันทร์
ปรารถนาที่จะเห็นเทพธิดา ฉางเอ๋อ
พร้อมๆ กับอธิษฐานอ้อนวอน
ขอให้ได้อยู่พร้อมหน้าทั้งสามีภรรยากันอีกครั้ง
และเมื่อเรื่องนี้เลื่องลือไปถึงหูประชาชนชาวบ้าน
จึงต่างพากันถือว่า วันเพ็ญ เดือน 8
เป็นวันที่ครอบครัว (โดยเฉพาะสามีภรรยา)
ต้องกลับมาอยู่ร่วมกันพร้อมหน้า
เป็นวันที่จะอธิษฐานขอพรจากเบื้องบน
ให้ครอบครัวมีความสุข สงบ สามัคคี
และอยู่ร่วมกันตราบชั่วฟ้าดินสลาย
ขอขอบคุณเครดิตภาพจากเว็ป ppfocus.com

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา