24 ก.ย. 2021 เวลา 08:20 • ประวัติศาสตร์
กว่าจะเป็นอนุสาวรีย์ชัยฯในวัย 80 ปี
ในช่วง 8 ทศวรรษที่ผ่านมา “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” แลนด์มาร์คสำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในพื้นที่โดยรอบอนุสรณ์สถานแห่งนี้ ทำให้ผู้คนอาจมีความทรงจำที่ต่างกันไปตามยุคสมัย แต่จะมีสักแค่ไหนที่รู้ว่าสถานที่นี้มีที่มาอย่างไร
เวลาเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน ปี พ.ศ.2484 ซึ่งตรงกับวันชาติ พลตรีพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นประธานประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ที่มีจารึกคำปรารภว่า “ขอให้อนุสารีย์ชัยสมรภูมิเป็นถาวรวัตถุที่ระลึกถึงเกียรติของผู้เสียสละแล้วซึ่งชีวิตเพื่อประเทศชาติสืบไป”
ผู้เสียสละชีวิตในที่นี้ หมายถึง วีรชนไทยในกรณีพิพาทอินโดจีน ไทยกับฝรั่งเศส ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ.2483 ถึงเดือนมกราคม ปี พ.ศ.2484 จำนวนรวม 59 นาย ประกอบด้วย 5 เหล่า คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ซึ่งรัฐบาลมีมติให้สร้างอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกความเสียสละของพวกเขา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2484
ในครั้งนั้นได้พิจารณาเลือกพื้นที่บริเวณถนนประชาธิปัตย์ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นถนนพหลโยธิน) ตอนต้นของถนนพญาไทและถนนราชวิถี โดยมีการเวนคืนที่ดินเพิ่มเติมจากเจ้าของที่ดินทั้งสิ้นจำนวน 18 ราย รวมพื้นที่ 6,781 ตารางวา ซึ่งมีที่ดินบางส่วนของรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 รวมอยู่ด้วย
การก่อสร้างใช้เวลาดำเนินการราว 1 ปีก็แล้วเสร็จ ในวันชาติ 24 มิถุนายนของปี พ.ศ.2485 มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการโดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี มีการสวนสนามของกำลังพลเหล่าทัพต่าง ๆ ทั้งทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ รวมทั้ง ยุวชนทหาร อาสากาชาด ยุวนารีและนักเรียน
หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล สถาปนิกกรมโยธาเทศบาล เป็นผู้ออกแบบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิให้มีรูปทรงเป็นดาบปลายปืนจำนวน 5 เล่ม ประกอบรวมกันเป็นกลีบมะเฟืองแนวตั้ง ปลายดาบชี้ขึ้นข้างบน หันส่วนคมออก มีความสูง 30 เมตร ด้วยแนวคิดว่าดาบปลายปืนเป็นอาวุธประจำกายของทหาร เปรียบเสมือนการต่อสู้อันแหลมคมทั้งอาวุธและสติปัญญา การต่อสู้ด้วยดาบปลายปืนจึงถือเป็นความกล้าหาญ
งานก่อสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นผิวประดับด้วยหินอ่อนสีเทา รวมความสูงจากฐานถึงยอดสุดประมาณ 50 เมตร ด้านนอกรอบโคนดาบปลายปืน มีรูปหล่อทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ครบ 5 เหล่า ความสูงขนาด 2 เท่าของคนจริง เป็นผลงานของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และช่างปั้นกรมศิลปากร จำนวน 4 คน
บริเวณฐานอนุสาวรีย์มีแผ่นจารึกทำด้วยหินอ่อน ตัวอักษรหล่อด้วยทองแดง แสดงรายชื่อวีรชนที่เสียชีวิตจากกรณีพิพาทไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศสจำนวน 59 นายไว้ ด้านในของฐานเป็นห้องโถงใช้เก็บกระสุนปืนใหญ่และบรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิตในกรณีพิพาทครั้งนั้น
ต่อมากระทรวงกลาโหมได้ประกอบพิธีบรรจุอัฐิวีรชนผู้เสียสละจากสมรภูมิอื่น ๆ และจารึกชื่อเพิ่มไว้ที่แท่นฐานอนุสาวรีย์ทั้งด้านนอกและด้านในรวมจำนวนกว่า 8,100 ราย
ทั้งนี้รูปทรงสูงเด่นของอนุสาวรีย์ฯ ที่เราคุ้นเคย บุตรชายของสถาปนิกผู้ออกแบบ คือ อาจารย์ธนู มาลากุล เชื่อว่านอกจากแนวคิดการออกแบบเป็นสัญลักษณ์ตามอย่างขนบแบบตะวันตกแล้ว ยังน่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามด้วย
แรกเมื่อมีอนุสาวรีย์เกิดขึ้น บริเวณโดยรอบยังเป็นพื้นที่โล่งกว้าง ริมถนนบางช่วงเช่นด้านถนนพญาไทมีต้นจามจุรีสูงใหญ่ขนาบสองข้างถนนดูรมรื่น คลองสายเล็กที่อยู่รายรอบมีบ้านเรือนประปราย ภูมิทัศน์คล้ายเมืองกึ่งชนบท แตกต่างจากภาพที่คนยุคนี้คุ้นเคยยิ่งนัก
ปัจจุบันอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิตั้งอยู่ที่เขตราชเทวี เป็นวงเวียนอยู่กึ่งกลางจุดตัดระหว่างถนนพญาไท ถนนราชวิถี และถนนพหลโยธิน โดยถือเอาอนุสาวรีย์นี้เป็นจุดเริ่มต้นของถนนพหลโยธิน
ย่านอนุสาวรีย์ฯ จึงเป็นจุดเชื่อมต่อถนนสำคัญหลายสาย และยังเป็นศูนย์กลางของบริการรถโดยสารสาธารณะที่ครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร พื้นที่รอบอนุสาวรีย์ฯ มีรถเมล์วิ่งไปมาผ่านย่านสำคัญต่าง ๆ ทั่วทุกทิศทาง ไม่ว่าย่านฝั่งธนบุรี นนทบุรี รังสิต รามคำแหง มีนบุรี บางนา เชื่อมต่อสถานีขนส่งสายใต้ สายเหนือ แม้กระทั่งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ทำให้ในแต่ละวันมียวดยานวิ่งผ่านมากมายจนมีการจราจรคับคั่งอยู่ตลอดเวลา
ทั้งยังเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางขนาดใหญ่เพราะมีบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า รถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้ายกระดับแห่งแรกของประเทศไทย เชื่อมโยงระหว่างพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดปทุมธานี อีกทั้งเป็นแหล่งรวมบริการรถตู้สาธารณะที่รับส่งผู้โดยสารไปมายังต่างจังหวัด รวมถึงเป็นจุดแวะรับส่งระหว่างทางที่สำคัญด้วย
การมีฐานะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญทำให้มีปริมาณผู้คนสัญจรแต่ละวันจำนานมาก จนพื้นที่รอบอนุสาวรีย์กลายเป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ มายาวนานหลายสิบปี และมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องตามความเจริญทางด้านการคมนาคม
ย่านอนุสาวรีย์ชัยฯ มีหลายเรื่องราวที่ทำให้ผู้คนต้องจดจำ เรื่องที่เป็นตำนานกล่าวขานไม่รู้จบ ก็คือ เป็นแหล่งก๋วยเตี๋ยวเรือชื่อดังตั้งแต่ครั้งอดีต 40-50 ปี เหตุเพราะพื้นที่โดยรอบมีคลองสายเล็กหลายสาย วันเวลาเปลี่ยนไปผู้ค้าหลายรายยกร้านจากเรือพายในคลองมาอยู่อาคารทันสมัย หลายรายเริ่มต้นจากที่นี่แล้วขยายสาขาไปยังย่านการค้าอื่น ๆ แม้กระทั่งในศูนย์การค้าแบบโมเดิร์นเทรดในชื่อแบรนด์ว่า “ก๋วยเตี๋ยวเรืออนุสาวรีย์”
ยุคสมัยสื่อบันเทิงที่เรียกว่าเทปคาสเซ็ทเฟื่องฟูเมื่อราว 40 ปีก่อน นักฟังเพลงไม่ว่าจากไหนมักจะต้องแวะเวียนมาหาซื้อเพลงจากนักร้องที่ชื่นชอบย่านอนุสาวรีย์ เพราะมีแผงขายเทปขนาดใหญ่มากด้วยเพลงดังทั้งของไทยและต่างประเทศให้เลือกซื้อหาได้แต่เช้ายันค่ำคืน ชวนให้การค้าแบบแผงลอยอื่น ๆ พลอยเฟื่องฟูตามมา ไม่ว่าหนังสือมือสอง หรือกระทั่งสินค้าของเล่นเด็กที่เปิดขายในรูปแบบประมูลกันสนุกสนาน
ครั้งหนึ่งพื้นที่ย่านอนุสาวรีย์ฯ เคยเป็นแหล่งรวมแผงลอยเสื้อผ้าแฟชั่นชายหญิงที่คึกคักที่สุดของกรุงเทพมหานคร พ่อค้าแม่ขายยึดพื้นที่ริมทางตั้งวางแผงลอยเรียงรายนับจำนวนไม่ถ้วน มีทั้งสินค้าใหม่และที่ใช้แล้วแบบ “เสื้อผ้ามือสอง” ค้าขายกันยันดึกดื่นนานหลายปี จนต่อมามีพัฒนาการเติบโตเป็นศูนย์การค้าขายสินค้าแฟชั่นที่เรียกว่า ห้างเซ็นเตอร์วัน ในปี พ.ศ.2538 กลายเป็นห้างแห่งที่สองของย่านอนุสาวรีย์ฯ โดยมีซอย 100 ร้าน แหล่งสินค้าแฟชั่นราคาถูกเป็นแม่เหล็กคู่กัน
อ่านเต็มบทความ “ที่มา-ที่ไป” ได้ที่ https://www.thestorythailand.com/24/09/2021/42242/
ติดตามสตอรี่ดี ๆ จาก The Story Thailand ได้ตามช่องทางเหล่านี้
#TheStoryThailand #เดอะสตอรี่ไทยแลนด์ #สตอรี่ดีๆ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา