Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Story Thailand
•
ติดตาม
1 ต.ค. 2021 เวลา 03:28 • สิ่งแวดล้อม
1 ทศวรรษ มหาอุทกภัยปี 2554
ก่อนเดือนกันยายนจะผ่านพ้นไป พายุ “เตี้ยนหมู่” พัดพาฝนถล่มจนเกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายจังหวัดทางภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ลามไปถึงหลายพื้นที่ในภาคอีสาน ทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับน้ำท่วมใหญ่ที่ครบวาระ 10 ปีพอดีหวนกลับมาอีกครั้ง พร้อมกับคำถามว่า “ปีนี้ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่”
ความวิตกของคนไทยมาจากประสบการณ์ที่เจอเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นครั้งที่ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ มีพื้นที่ประสบภัยในทุกภาคของประเทศ เฉพาะในช่วงเวลา 4 เดือน นับแต่ปลายเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ทางการได้ประกาศให้ประเทศไทยมีพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินทั้งสิ้น 65 จังหวัด
ตลอดปี 2554 มีพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมทั้งหมดประมาณ 69 ล้านไร่ เฉพาะในเดือนตุลาคมมีพื้นที่ถูกน้ำท่วมมากที่สุด 18.49 ล้านไร่ รองลงมาเดือนพฤศจิกายนและเดือนกันยายน 16.67 ล้านไร่ และ 15.38 ล้านไร่ ตามลำดับ โดยมีเพียงเดือนกุมภาพันธ์เดือนเดียวเท่านั้นที่ไม่มีพื้นที่ถูกน้ำท่วม
ภาคกลางเป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมมากสุด โดยจังหวัดนครสวรรค์มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบสูงสุด 1.98 ล้านไร่ สุพรรณบุรี 1.55 ล้านไร่ พระนครศรีอยุธยา 1.51 ล้านไร่ รองมาคือภาคเหนือตอนล่าง พิจิตร 1.45 ล้านไร่ พิษณุโลก 1.29 ล้านไร่ กำแพงเพชร 9.92 แสนไร่
ภาคตะวันออก ที่ฉะเชิงเทรา 1.11 ล้านไร่ นครนายก 6.52 แสนไร่ ปราจีนบุรี 6,14 แสนไร่
ภาคใต้ นครศรีธรรมราช 1.75 ล้านไร่ สุราษฎร์ธานี 6.72 แสนไร่ พัทลุง 4.55 แสนไร่
และภาคอีสาน ร้อยเอ็ด 9.19 แสนไร่ หนองคาย 7.12 แสนไร่ นครพนม 5.96 แสนไร่
สำหรับกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่น้ำท่วม 6.2 แสนไร่ ถือว่าเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพมหานครหนักที่สุดในรอบ 70 ปี นับจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2485
ส่วนพื้นที่ปริมณฑลที่ได้รับผลกระทบมากสุด คือ ปทุมธานี 8.79 แสนไร่ รองลงมานครปฐม 8.27 แสนไร่ และนนทบุรี 3.36 แสนไร่
อุทกภัยใหญ่เมื่อสิบปีก่อนก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักต่อพื้นที่เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมทั้งพื้นที่พาณิชยกรรมในเขตเมืองหลายจังหวัด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างมาก
โดยทำให้มีผู้ได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศราว 4 ล้านครัวเรือน คิดเป็นจำนวนกว่า 13 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 657 ราย สูญหาย 3 คน
บ้านเรือนเสียหายทั้งหลังกว่า 2,300 หลัง บ้านเรือนเสียหายบางส่วนกว่า 96,800 หลัง ประเมินว่ามีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายกว่า 11 ล้านไร่ ปศุสัตว์เสียหายราว 13 ล้านตัว บ่อปลา-บ่อกุ้งและหอยเสียหายคิดเป็นพื้นที่กว่า 2 แสนไร่ ระบบสาธารณูปโภค เช่น ถนน ท่อระบายน้ำ สะพาน เสียหายจำนวนมาก
ด้านโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบถูกน้ำท่วมมีทั้งหมด 28 จังหวัด ตั้งแต่โรงงานขนาดเล็กระดับเอสเอ็มอีจนถึงโรงงานขนาดใหญ่ ได้รับผลกระทบรวม 930 โรงงาน พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายสูงสุด อยู่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ ประเมินมูลค่าความเสียหายโดยตรงจากถูกน้ำท่วมและมูลค่าการสูญเสียโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นรวมกันหลายหมื่นล้านบาท
แต่หากประเมินค่าความเสียหายทุกด้านที่เกิดขึ้นทั่วประเทศคาดว่ามหาอุทกภัยปี 2554 สร้างความเสียหายเป็นมูลค่าสูงถึง 1,440,000 ล้านบาท
แม้ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2554 มีมากมาย แต่เป็นที่เข้าใจกันว่ามีสาเหตุสำคัญมาจากสองประการ คือ ฝนตกเร็วกว่าปกติและมีปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศสูงกว่าค่าเฉลี่ยมาก กับมีพายุเคลื่อนตัวมาจากทะเลจีนใต้เข้าพัดถล่มประเทศไทยมากถึง 5 ลูก ได้แก่ พายุโซนร้อนไหหม่า นกเตน ไห่ถาง เนสาด และนาลแก
ในช่วงครึ่งปีแรกเกิดสภาพลานีญาค่อนข้างรุนแรงทำให้ฝนมาเร็วกว่าปกติ ปีนั้นเริ่มมีฝนตั้งแต่เดือนมีนาคม และมีปริมาณฝนมากกว่าปรกติเกือบทุกเดือน เฉพาะในเดือนมีนาคมและเดือนเมษายนมีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 277 และ 45 ตามลำดับ ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มากที่สุดตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนขึ้นมา
โดยเฉพาะ 3 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เริ่มมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำสะสมเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนช่วงเดือนเมษายน เขื่อนสิริกิติ์ ปริมาณน้ำสะสมเริ่มเพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณน้ำสะสมเริ่มเพิ่มขึ้นช่วงเดือนมิถุนายน เมื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำสะสมกับในอดีตที่เคยเกิดน้ำท่วมหนัก พบว่าปี พ.ศ.2554 มีปริมาณมากกว่าถึงร้อยละ 35 จึงส่งผลต่อการเกิดน้ำท่วมหนักในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางอย่างมาก
พอถึงช่วงปลายเดือนมิถุนายน ปรากฎมีพายุโซนร้อน “ไหหม่า” พัดถล่มพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ต่อมาช่วงปลายเดือนกรกฎาคม พายุลูกที่สอง “นกเตน” เข้ามาถล่มซ้ำพื้นที่เดิมอีก ทำให้ปริมาณน้ำยิ่งเพิ่มสูงขึ้น
จากนั้นช่วงระหว่างวันที่ 27-29 กันยายน พายุ “ไห่ถาง” ได้พัดเข้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำโขง
1
และต่อเนื่องด้วยพายุ “เนสาด” อีกลูกในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและด้านตะวันออกของภาคเหนือเช่นเดิม
และส่งท้ายด้วยพายุ ”นาลแก” ที่มีอิทธิพลทำให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น มีปริมาณฝนตกมากในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ช่วงระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคม ซ้ำเติมให้ปริมาณน้ำท่วมหนักยิ่งขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
นอกจากนี้ ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ปี พ.ศ.2554 ยังมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณตอนบนและตอนกลางของประเทศ ทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่
อันที่จริงประเทศไทยมีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเกิดขึ้นมายาวนาน ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาเกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ทั่วประเทศถึง 13 ครั้ง เฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเกิดอุทกภัยรุนแรงถึง 8 ครั้ง ไล่มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2518, 2526, 2538, 2545, 2548, 2549, 2553 และน้ำท่วมหนักสุดคือปี พ.ศ.2554 ที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล
ปัญหาเกิดขึ้นเนื่องจากปัจจัยมากมายที่เป็นข้อจำกัดทั้งด้านกายภาพ เช่น มีพื้นที่ป่าไม้ลดลง การก่อสร้างถนนหรือที่พักอาศัยขวางทางน้ำตามธรรมชาติ สิ่งปลูกสร้างรุกล้ำน้ำ เป็นต้น
ปัจจัยด้านการบริการจัดการน้ำ เช่น พื้นที่หน่วงน้ำหรือรับน้ำหลากไม่เพียงพอ การระบายน้ำตามคลองสายต่าง ๆ ขาดประสิทธิภาพ การไม่มีช่องทางผันน้ำที่ล้นหลากจากแม่น้ำหรือ flood way และที่สำคัญ คือ การไม่มีแผนบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ
เหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี พ.ศ.2554 จึงทำให้รัฐบาลเวลานั้นเร่งจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำขึ้นมาเป็นการเร่งด่วนสำหรับการรับน้ำท่วมในปี 2555 ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจของ คสช.ในปี พ.ศ.2557 ได้ประกาศใช้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 12 ปี (พ.ศ.2558-2569) สำหรับเป็นแนวทางการบริหารจัดการน้ำ
ในปี พ.ศ.2560 มีการจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นมา ทำหน้าที่กำกับดูแล และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างเป็นระบบ และปี พ.ศ.2561 ตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ทำหน้าที่ผลักดันแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ ต่อมามีการประกาศใช้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ในปี พ.ศ.2562
กาลเวลาผ่านมาครบ 1 ทศวรรษในปีนี้ คนไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 อีกครั้ง โดยไม่มีความมั่นใจว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะบานปลายไปแค่ไหน
แม้วันที่ 28 กันยายน 2564 มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำระดับแนวหน้าของประเทศไทยจะเผยแพร่บทวิเคราะห์ผ่านทางเฟซบุ๊ก ว่า แม้จะมีกรณีน้ำท่วมเกิดขึ้นในหลายจังหวัด แต่จากข้อมูลปริมาณฝน ปริมาณน้ำกักเก็บ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ในขณะนี้มีน้อยหากเปรียบเทียบกับในห้วงเวลาเดียวกันเมื่อปี 2554 จึงมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพมหานครเหมือนเมื่อสิบปีก่อน
แต่ดูเหมือนคำถามว่าปีนี้ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเมื่อสิบปีก่อนหรือไม่ ยังคงคาใจทุกคน
เยี่ยมชม
thestorythailand.com
1 ทศวรรษ มหาอุทกภัยปี 2554 | The Story Thailand
ก่อนเดือนกันยายนจะผ่านพ้นไป พายุ “เตี้ยนหมู่” พัดพาฝนถล่มจนเกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายจังหวัดทางภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ลามไปถึงหลายพื้นที่ในภาคอีสาน
ติดตามสตอรี่ดี ๆ จาก The Story Thailand ได้ตามช่องทางเหล่านี้
Website:
www.thestorythailand.com
Facebook:
facebook.com/TheStoryThailand
Instagram:
Instagram.com/TheStory_Thailand
Twitter:
twitter.com/TheStoryThai
Youtube:
youtube.com/TheStoryThailand
Blockdit:
blockdit.com/TheStoryThailand
#TheStoryThailand #เดอะสตอรี่ไทยแลนด์ #สตอรี่ดีๆ
4 บันทึก
2
4
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ที่มาที่ไป
4
2
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย