8 ต.ค. 2021 เวลา 10:15 • อาหาร
จาก “เทศกาลถือศีล” สู่ “ตลาดอาหารเจ”
เทศกาลกินเจปีนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 6 ไปถึง 14 ตุลาคม 2564 ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 และการเผชิญปัญหาเศรษฐกิจที่ทำให้บรรยากาศไม่คึกคักเหมือนเช่นปีที่ผ่าน ๆ มา แต่กระนั้นก็ยังช่วยทำให้ผู้คนมีชีวิตชีวาขึ้นบ้าง โดยเฉพาะคนที่มีความตั้งใจถือศีลและชำระจิตใจตนเองปีละครั้ง
คำว่า “เจ” หรือ “แจ” (齋) เป็นคำภาษาจีนออกเสียงแบบแต้จิ๋ว มีความหมายว่าการรักษาความบริสุทธิ์เพื่อการสักการะ ซึ่งในทางอักษรศาสตร์อธิบายว่าเกิดจากการพัฒนาเอาตัวอักษรสองตัวรวมเข้าด้วยกัน คือคำว่า “ฉี“ (齊) ที่แปลว่าบริบูรณ์ กับตัวอักษร “ซื” ( 示 ) ซึ่งแปลว่าการสักการะ
แต่เดิมเป็นประเพณีในลัทธิเต๋า หมายถึง การบำเพ็ญกายใจให้บริสุทธิ์เพื่อเป็นการสักการบูชาแด่เทพยดา ภายหลังเมื่อชาวจีนรับเอาพุทธศาสนานิกายมหายานเข้ามา การอธิบายก็แปรเปลี่ยนไปเป็นการรักษาศีล 8 ร่วมกับการไม่บริโภคเนื้อสัตว์เพื่อเลี่ยงการเบียดเบียนสิ่งมีชีวิต เมื่อเวลาผ่านไปจึงเรียกการไม่กินอาหารที่มีเนื้อสัตว์ว่าการกินเจ
การกินเจแบบในเมืองไทยเป็นประเพณีที่ชาวจีนทางตอนใต้ของประเทศจีนถือปฏิบัติ เมื่อชาวจีนฮกเกี้ยน และชาวจีนแต้จิ๋วอพยพมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยพวกเขายังคงปฏิบัติสืบต่อกันเรื่อยมาทุกปี เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน รวมเป็นเวลา 9 วัน ซึ่งตรงกับเดือน 11 ตามปฏิทินจันทรคติ หรือเดือนตุลาคมตามปฏิทินสากล
ในวิถีปฏิบัติแบบเดิมนั้น ผู้ที่กินเจไม่เพียงแต่งดบริโภคอาหารที่มีเนื้อสัตว์ หรือเครื่องปรุงที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ และผักมีกลิ่นฉุนบางชนิดเท่านั้น แต่ยังถือปฏิบัติรักษาศีลตลอดเทศกาลอีกด้วย
ผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติรักษาศีลจะนุ่งห่มเสื้อผ้าสีขาวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความสะอาดบริสุทธิ์ และใช้เวลาส่วนใหญ่สวดมนต์อยู่ในสถานที่ที่เรียกว่าโรงเจ ซึ่งตั้งอยู่ตามชุมชนชาวจีนทั่วประเทศ โดยเจ้าของสถานที่จะทำอาหารเจไว้บริการแก่ผู้มาร่วมพิธีกรรมได้รับประทานทุกมื้อทุกวันตลอดเทศกาล
นอกจากนี้ โรงเจบางแห่งจะจัดเตรียมสถานที่พักค้างแรมให้สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างถิ่น หรือผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางไปกลับในแต่ละวัน เพราะพิธีสวดจะกระทำวันยันค่ำต่อเนื่องทุกวัน จนกระทั่งในช่วงเย็นของวันสุดท้ายจะมีพิธีส่งเจ้าเสด็จกลับสู่สวรรค์เป็นอันสิ้นสุดเทศกาลกินเจ
1
กล่าวได้ว่าหัวใจของประเพณีนี้อยู่ที่การถือศีล ปฏิบัติธรรม เพื่อชำระล้างจิตใจให้บริสุทธิ์ ส่วนการงดทานอาหารที่มีเนื้อสัตว์หรือส่วนประกอบที่ทำจากเนื้อสัตว์ก็เพื่อละเว้นการเบียดเบียนผู้อื่น และชำระร่างกายให้บริสุทธิ์ สวมใส่เสื้อผ้าใหม่สะอาด จึงเรียกประเพณีนี้ว่า “การถือศีลกินเจ” หรือบางท้องที่ของภาคใต้ของไทยเช่น ภูเก็ต นิยมเรียกว่าประเพณี “ถือศีลกินผัก”
ดังนั้น การกินเจจึงไม่ได้หมายถึงเฉพาะการงดกินอาหารที่มีเนื้อสัตว์อย่างที่เข้าใจกันทั่วไปในทุกวันนี้
ภายหลังเมื่อสภาพสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมสมัยใหม่มากขึ้น เมืองขยายตัวใหญ่ขึ้น วิถีชีวิตแบบชุมชนจีนดั้งเดิมค่อย ๆ จางลง ประเพณีการกินเจที่ยึดโยงกับการถือศีลปฏิบัติธรรมในแบบเดิมทำได้ยากเพราะไม่สอดคล้องกับวิถีความเป็นอยู่แบบสมัยใหม่ ทำให้ประเพณีถือศีลกินเจมุ่งเน้นที่วิถีการกินเป็นสำคัญ ส่วนเรื่องการถือศีลปฏิบัติธรรมหลงเหลือผู้ที่ยังสืบทอดน้อยลงไป
ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา การกินเจขยายขอบเขตการรับรู้ออกไปกว้างขวางมากขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในกลุ่มคนไทยเชื้อสายอีกต่อไป แต่กลายเป็นค่านิยมใหม่ที่คนจำนวนมากสนใจที่จะบริโภคอาหารเจในช่วงเวลา 9 วันเพื่อทำให้ชีวิตของตนเองดีขึ้น ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ
เราจึงพบว่าปัจจุบันการกินเจมีวัตถุประสงค์หลากหลายแตกต่างกันไป คนจำนวนมากกินเพื่อสุขภาพ โดยเชื่อว่าอาหารเจทำให้ร่างกายเกิดการปรับตัวให้อยู่ในสภาวะสมดุล สามารถขับพิษของเสียต่างๆ ออกจากร่างกายได้ ทำให้ระบบไหลเวียนโลหิต และระบบทางเดินอาหารมีเสถียรภาพ
บางคนกินเจด้วยความสำนึกในเมตตาธรรมเพื่อละเว้นจากการเบียดเบียนสรรพสัตว์ เพราะเชื่อว่าการเอาเลือดเนื้อผู้อื่นมาเป็นของเราเป็นการสร้างกรรม แม้ตนเองจะไม่ได้เป็นผู้ลงมือฆ่าก็ตาม การละเว้นช่วงระยะเวลาหนึ่ง ปีละครั้งก็ยังดี ถือเป็นการบำเพ็ญกุศลที่เป็นมงคลแก่ชีวิต
สำหรับบางคนอาจไม่ได้ยึดติดกับความเชื่อใด ๆ เลย แต่บริโภคไปตามกระแสนิยมของสังคม หรือเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่เพราะอาหารเจปัจจุบันมีการพัฒนาเมนูให้หลากหลาย วัตถุดิบที่นำมาปรุงอาหารก็ทำให้คุณภาพของอาหารดีขึ้นมาก
นอกจากนี้ แนวคิดการไม่บริโภคอาหารที่มีเนื้อสัตว์ยังเป็นแนวโน้มที่มีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ทำการสำรวจทุก 4 ปี นับแต่ปี พ.ศ. 2552, ปี 2556 และปี 2560 รวมเวลา 12 ปี พบว่ากลุ่มคนไทยที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ (รวมผู้ที่บริโภคอาหารในช่วงเทศกาลเจ) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเพิ่มจากร้อยละ 1.7 (จำนวน 1.0 ล้านคน) ในปี 2552 เป็นร้อยละ 4.2 (จำนวน 2.6 ล้านคน) ในปี 2556 และขึ้นไปเป็นร้อยละ 11.8 (จำนวน 7.4 ล้านคน) ในปี 2560 ซึ่งมาถึงปัจจุบันปี 2564 ตัวเลขย่อมมากกว่านี้อย่างแน่นอน
เทศกาลกินเจจึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจของผู้ประกอบการร้านอาหาร และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร และจูงใจให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ สนใจเข้าสู่ตลาดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมีส่วนต่อการสนับสนุนให้เกิดความนิยมในการบริโภคอาหารเจมากขึ้นด้วยการพัฒนาสูตรอาหารและเครื่องดื่มเจ ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่ รวมทั้งการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลกินเจตลอดช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา
การสร้างรูปแบบสัญลักษณ์ธงเหลืองมีตัวอักษรสีแดงคำว่า “เจ” ทั้งภาษาจีนและภาษาไทยเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้เทศกาลกินเจกลายเป็นวาระที่คนทั้งประเทศรู้จัก ส่งผลโดยตรงต่อความนิยมในการกินอาหารเจของคนรุ่นใหม่ในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 อาจทำให้เทศกาลกินเจมีความซบเซาลงบ้าง แต่เนื่องจากเทศกาลกินเจเป็นอีเวนต์ตามฤดูกาลที่มีระยะเวลาไม่เกิน 10 วัน จึงเป็นตลาดที่ไม่ได้รับผลกระทบระยะยาว เมื่อภาวะปกติกลับคืนมา ความต้องการในการบริโภคตามค่านิยมและวิถีวัฒนธรรมก็จะกลับคืนดังเดิม
แต่ที่น่าสนใจ คือ การระบาดของโรคโควิด-19 และการระบาดของโรคติดต่อในสัตว์ ทำให้เกิดความกังวลในการบริโภคอาหารที่มีเนื้อสัตว์ว่าจะปลอดภัยหรือไม่ การเลือกบริโภคอาหารโปรตีนจากพืชจึงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ทางเลือก (plant-based meat) มีความต้องการมากขึ้นอย่างชัดเจนหลังโควิต-19 ระบาด และจะเป็นทางเลือกในอนาคตของผู้บริโภคที่ไม่กินเนื้อสัตว์ รวมทั้งผู้บริโภคอาหารเจด้วย
ติดตามสตอรี่ดี ๆ จาก The Story Thailand ได้ตามช่องทางเหล่านี้
Instagram:
#TheStoryThailand #เดอะสตอรี่ไทยแลนด์ #สตอรี่ดีๆ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา