Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Story Thailand
•
ติดตาม
16 ต.ค. 2021 เวลา 06:15 • หนังสือ
เมื่อ “ปีศาจ” กลายเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ
กล่าวกันว่าบทประพันธ์เรื่องนี้มาก่อนกาล เพราะพูดถึงพลังของคนหนุ่มสาวที่มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมก่อนจะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นเวลา 20 ปี ครั้นนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อ 40 ปีก่อน แม้ไม่ประสบความสำเร็จในด้านผู้ชมเหมือนตอนเป็นหนังสือ แต่มีคุณค่าจนได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติในปีนี้
นวนิยายเรื่อง “ปีศาจ” เป็นผลงานประพันธ์ชิ้นเอกของ เสนีย์ เสาวพงศ์ นักเขียนชื่อดังในอดีตซึ่งได้รับการเชิดชูเกียรติรางวัลศรีบูรพาคนแรก ในปี พ.ศ.2531 และได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ.2533 โดยประพันธ์งานนี้ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2496 และจัดพิมพ์เป็นเล่มในปี พ.ศ.2500 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เมืองไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเมืองแบบเผด็จการทหารเต็มตัว ทำให้ผลงานต้องเงียบหายไปนานนับสิบปี
ต่อมามีการจัดพิมพ์ใหม่ในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เล็กน้อย และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่หนุ่มสาวยุคนั้น โดยเฉพาะในช่วงประชาธิปไตยเบ่งบานระหว่างปี พ.ศ.2517 – พ.ศ.2519 นวนิยายเรื่องนี้ได้รับความนิยมขึ้นมาอย่างมาก มีการจัดพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง
สำหรับนักอ่านที่ชื่นชอบวรรณกรรมแนวสะท้อนปัญหาสังคมจะรู้จักงานเขียนเรื่องนี้ดี เพราะมันมีอิทธิพลต่อนักอ่านจำนวนมากตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีเนื้อหาที่ปลุกมโนสำนึกในเรื่องการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม การปกป้องช่วยเหลือผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคม และการแสวงหาเสรีภาพของคนหนุ่มสาว
1
แต่ประเด็นที่ถูกหยิบยกมากล่าวถึงกันมากที่สุดคือ เนื้อหาที่สะท้อนสภาพสังคมไทยที่กำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างค่านิยมเก่ากับแนวคิดสมัยใหม่ที่ให้คุณค่ากับความเท่าเทียมของมนุษย์ โดยผ่านเรื่องราวความรักที่ถูกกีดกันของ “สาย สีมา” ทนายหนุ่มที่มีพื้นเพจากลูกชาวนา กับ “รัชนี” ลูกสาวของท่านเจ้าคุณจากครอบครัวสูงศักดิ์
ฉากสำคัญของเรื่องเกิดขึ้นบนโต๊ะอาหารในงานเลี้ยงที่พ่อของรัชนีจัดขึ้นเพื่อประกาศยกลูกสาวให้หมั้นหมายกับหนุ่มนักเรียนนอกลูกชายของเพื่อนสนิททั้งที่ลูกสาวไม่เห็นด้วย โดยเชิญทนายหนุ่มมาร่วมงานเพื่อกล่าวประจานว่าเขาเป็นพวกไม่รู้จักเจียมกะลาหัว ไม่รู้จักฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ ทำตัวเป็นดั่งปีศาจที่มาหลอกลวงลูกสาวของตนเพื่อหวังยกสถานะทางสังคม
ทำให้ทนายลูกชาวนาผู้รักในศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมของมนุษย์ ลุกขึ้นกล่าวประโยคที่เสียดแทงใจคนเหล่านั้น และกลายเป็นวรรคทองของงานประพันธ์ชิ้นนี้ว่า
“ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่สร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที
“ท่านคิดจะทำลายปีศาจตัวนี้ในคืนนี้วันนี้ ต่อหน้าสมาคมชั้นสูงเช่นนี้ แต่ไม่มีทางจะเป็นไปได้ เพราะเขาอยู่ยงคงกระพันยิ่งกว่าอาคิลลิส หรือซิกฟริด เพราะเขาอยู่ในเกราะกำบังแห่งกาลเวลา ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป โลกของเราเป็นคนละโลก โลกของผมเป็นโลกของธรรมดาสามัญชน”
ปีศาจในที่นี้ก็คือ “ปีศาจแห่งกาลเวลา” ที่มาหลอกหลอนผู้ที่ยึดติดกับความติดเก่า ค่านิยมเก่า และปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยนั่นเอง
งานประพันธ์ชิ้นนี้แม้จะมีอายุถึง 68 ปีแล้ว แต่แนวคิดหลักของเรื่องยังคงเข้ากันได้กับทุกยุคทุกสมัย ทำให้ได้รับความสนใจจากนักอ่านตลอดช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา จนกลายเป็นวรรณกรรมที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน
สำหรับ “ปีศาจ” ที่สร้างสรรค์เป็นภาพยนตร์เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2522 ช่วงที่เป็นยุคทองของหนังไทย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลขึ้นอัตราภาษีนำเข้าหนังต่างประเทศสูงมากจนตัวแทนจำหน่ายหนังฮอลลีวูดประท้วงงดส่งหนังเข้ามาฉายในเมืองไทย ทำให้เกิดผู้สร้างหนังเฉพาะกิจจำนวนมาก ประกอบกับในปี พ.ศ.2521 ภาพยนตร์เรื่องครูบ้านนอกซึ่งมีเนื้อหาเชิงอุดมคติเพื่อคนยากไร้ ออกฉายและประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม เป็นที่มาให้นักหนังสือพิมพ์กลุ่มหนึ่งคิดสร้างหนังจากงานวรรณกรรมอมตะเรื่องนี้ขึ้น
โครงการนี้มี ขรรค์ชัย บุนปาน เจ้าของโรงพิมพ์พิฆเณศ และผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์มติชน เป็นผู้ลงทุนในนามพิฆเณศภาพยนตร์ ด้วยเงินจำนวน 10 ล้านบาท เมื่อเข้าฉายที่โรงภาพยนตร์โคลีเซี่ยมในปี พ.ศ.2524 กลับไม่ประสบความสำเร็จ มีผู้เข้าชมน้อยมากจนต้องออกจากโรงหนังไปในเวลารวดเร็ว และขาดทุนย่อยยับ กลายเป็นหนังไทยที่ไม่มีใครจดจำได้
จนปี พ.ศ.2541 หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้รับฟิล์มหนังเรื่อง “สาย สีมา นักสู้สามัญชน” จากการบริจาคของหน่วยบริการหนัง “พนงค์ภาพยนตร์” มาสำเนาหนึ่งในสภาพที่มีเนื้อหาครบถ้วน แต่สีสันเริ่มจางหาย จึงได้แปลงสัญญาณออกมาเป็นไฟล์ดิจิตอล นำออกฉายแก่สาธารณชนครั้งแรกในรายการดูหนังกับ โดม สุขวงศ์ (ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ขณะนั้น) เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2556
ในภาพยนตร์ระบุว่าผู้กำกับภาพยนตร์คือ หนุ่ม’22 ส่วนนักแสดงนำทั้งชายและหญิงเป็นนามแฝง ชื่อว่า โปรยชัย ชโลมเวียง กับ ศรอนงค์ นวศิลป์ ตามลำดับ ด้วยเหตุผลว่าการถ่ายทำเกิดหลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 ไม่นานนัก สถานการณ์ทางการเมืองของไทยขณะนั้นยังไม่น่าวางใจ เพื่อความปลอดภัยทีมงานจึงไม่ใช้ชื่อจริง
นักแสดงนำทั้งสองล้วนเป็นหน้าใหม่ของวงการ ผู้รับบทดารานำฝ่ายชาย คือ ประจวบ มงคลศิริ นักศึกษาแพทย์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่วนบทดารานำฝ่ายหญิงชื่อจริงว่า สมรศรี มานิกพันธุ์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เขียนบทภาพยนตร์โดย สมาน คำพิมาน และ เวทย์ บูรณะ (นายกสมาคมนักข่าวฯ ในขณะนั้น) โดยมี ทศพร นาคธน อดีตผู้ช่วยเขียนบทภาพยนตร์และหนึ่งในทีมงานผู้สร้างหนังเรื่อง “ครูบ้านนอก” เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ สำหรับผู้กำกับที่ใช้นามแฝงว่า “หนุ่ม’22” ไม่ชัดเจนว่าเป็นใคร แม้เมื่อเริ่มการถ่ายทำจะมี สุพรรณ บูรณะพิมพ์ เป็นผู้กำกับ แต่ข้อมูลจากหนังสืออนุสรณ์งานศพของสุพรรณ เสนีย์ เสาวพงศ์ เขียนไว้ว่าเธอขอถอนตัวก่อนที่ภาพยนตร์จะสร้างเสร็จ
เดิมภาพยนตร์ใช้ชื่อเดียวกับหนังสือ แต่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “สาย สีมา นักสู้สามัญชน” ทั้งที่โปสเตอร์หนังออกมาแล้วใช้ชื่อเรื่องว่า “ปีศาจ” เนื่องจากมีสายหนังแสดงความเห็นว่าเป็น “หนังผี” ที่ดูไม่สนุก แบบเดียวกับครั้งที่เป็นวรรณกรรมซึ่งเกือบจะไม่ได้จัดพิมพ์เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับผี
แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่คุณค่าของภาพยนตร์ที่ส่งต่อมาจากงานวรรณกรรมอมตะที่เปี่ยมด้วยเนื้อหาที่มีอุดมคติที่คนรุ่นหลังยังให้ความนิยมและยอมรับอย่างสูง ทำให้หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ประกาศขึ้นทะเบียน “สาย สีมา นักสู้สามัญชน” เป็นหนึ่งในมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 11 ประจำปี พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย
นอกจากนี้ ในคืนวันที่ 14 ตุลาคม ปี พ.ศ.2564 หอภาพยนตร์ได้นำไฟล์ภาพยนตร์ “สาย สีมา นักสู้สามัญชน” ขึ้นฉายทางช่องยูทูปเมื่อเวลา 20.00 น.ในวาระครบครอบ 48 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่เชื่อกันว่าคนหนุ่มสาวในยุคนั้นได้แรงบันดาลส่วนหนึ่งมาจากงานประพันธ์ “ปีศาจ” เรื่องนี้
เครดิต: ข้อมูลและภาพจากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
ผู้เขียน: สมชัย อักษรารักษ์ … อดีตบรรณาธิการ ผู้มีประสบการณ์ 20 ปี ในวงการงานข่าวการตลาด-ไอที แต่มีความสนใจในประวัติศาสตร์เป็นพิเศษ จนได้ใช้ทำงานสารคดีนาน 10 ปี
thestorythailand.com
เมื่อ “ปีศาจ” กลายเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ | The Story Thailand
กล่าวกันว่าบทประพันธ์เรื่องนี้มาก่อนกาล เพราะพูดถึงพลังของคนหนุ่มสาวที่มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมก่อนจะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นเวลา 20 ปี
ติดตามสตอรี่ดี ๆ จาก The Story Thailand ได้ตามช่องทางเหล่านี้
Website:
www.thestorythailand.com
Facebook:
facebook.com/TheStoryThailand
Instagram:
Instagram.com/TheStory_Thailand
Twitter:
twitter.com/TheStoryThai
Youtube:
youtube.com/TheStoryThailand
Blockdit:
blockdit.com/TheStoryThailand
#TheStoryThailand #เดอะสตอรี่ไทยแลนด์ #สตอรี่ดีๆ
2 บันทึก
6
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ที่มาที่ไป
2
6
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย