27 ก.ย. 2021 เวลา 01:57 • สุขภาพ
🍼 ยาน้ำเด็ก..มีกี่ประเภท ❔
ยาที่ใช้ในการบำบัดรักษาโรคในปัจจุบันมีการแบ่งตามการบริหารยาได้หลายรูปแบบ ได้แก่ ยารับประทาน ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ยาทา ยาแผ่นแปะ และยาพ่น เป็นต้น
โดยรูปแบบหนึ่งที่มีการใช้ยาอย่างแพร่หลายก็คือ ยารับประทาน ซึ่งแบ่งตามลักษณะทางกายภาพได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
◾ รูปแบบของแข็ง เช่น ยาเม็ด ยาแคปซูล
◾ รูปแบบของเหลว เช่น ยาน้ำใส(น้ำเชื่อม) ยาแขวนตะกอน
.
ส่วนใหญ่ในท้องตลาดจะผลิตยาออกมาในรูปแบบของแข็ง ซึ่งมีความสะดวกในการบริหารยา และมีอายุในการเก็บรักษาได้นาน แต่ยารูปแบบของเหลว “ยาน้ำ” ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก 👧🏻 ที่ไม่สามารถรับประทานยาในรูปแบบเม็ดได้
.
🍼 ยาน้ำชนิดรับประทานแบ่งได้เป็น 3 ประเภท
1️⃣ ยาน้ำใส หรือ ยาน้ำเชื่อม (𝗦𝘆𝗿𝘂𝗽𝘀)
มีลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีตะกอน ไม่ต้องเขย่าขวดก่อนรินยา
2️⃣ ยาแขวนตะกอน (𝗦𝘂𝘀𝗽𝗲𝗻𝘀𝗶𝗼𝗻𝘀)
ยาน้ำที่มีตัวยาที่ไม่ละลายน้ำกระจายตัวอยู่ มีลักษณะขุ่นและตกตะกอนเมื่อวางทิ้งไว้ จึงต้องมีการเขย่าขวดก่อนใช้ทุกครั้ง
3️⃣ ยาน้ำเชื่อมชนิดผงแห้ง (𝗗𝗿𝘆 𝘀𝘆𝗿𝘂𝗽)
ยารูปแบบนี้มีการเสื่อมสลายได้ง่าย หากอยู่ในรูปยาน้ำจึงต้องเตรียมให้อยู่ในรูปยาผง ก่อนใช้จึงต้องผสมน้ำสะอาดในปริมาณที่กำหนด และเขย่าขวดทุกครั้งก่อนรับประทานเช่นเดียวกับยาแขวนตะกอน
.
ยาน้ำไม่ได้มีการแบ่งขนาดยาที่ชัดเจนเหมือนยาเม็ด จึงต้องมีอุปกรณ์ในการบริหารยา ได้แก่
🥄 ช้อนชา ถ้วยตวง กระบอกฉีดยา หลอดหยดยา
.
อุปกรณ์ที่ไม่ควรนำมาใช้ในการตวงยา 🚫
ช้อนกินข้าว หรือ ช้อนกาแฟ เนื่องจากปริมาตรไม่แน่นอน และอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับยาในประมาณที่ไม่เหมาะสมได้
.
อายุของยาน้ำหลังเปิดใช้
ความแตกต่างจากยาเม็ดอีกประการ คือ อายุของยาและการเก็บรักษา โดยส่วนใหญ่ยาน้ำมักจะมีอายุหลังเปิดใช้ยาไม่นาน
🍼 ยาน้ำใส (𝗦𝘆𝗿𝘂𝗽𝘀) และ ยาแขวนตะกอน (𝗦𝘂𝘀𝗽𝗲𝗻𝘀𝗶𝗼𝗻𝘀) มักจะมีอายุหลังเปิดใช้ประมาณ 1 เดือน
🍼 ยาน้ำเชื่อมชนิดผงแห้ง (𝗗𝗿𝘆 𝘀𝘆𝗿𝘂𝗽) จะมีอายุสั้นกว่าคือประมาณ 7 วันที่อุณหภูมิห้อง และ 14 วันในตู้เย็น หลังผสมน้ำเท่านั้น
ดังนั้นก่อนใช้ยาทุกครั้งจึงต้องมีการสังเกตลักษณะของยาก่อนเสมอ โดยสังเกตที่สี หากสีของยาน้ำเปลี่ยนไปจากวันที่เปิดใช้ยาครั้งแรก ควรทิ้งยาขวดนั้นไป เนื่องจากสงสัยว่ายาอาจเสื่อมคุณภาพได้
.
จะเห็นได้ว่า ยาน้ำสำหรับเด็ก 👨🏻‍🦱 เป็นยาที่มีวิธีการบริหารและการเก็บรักษาแตกต่างจากยาเม็ด ดังนั้นผู้บริหารยา หรือ ผู้ปกครองจึงควรมีความเข้าใจในการใช้ยาในรูปแบบดังกล่าว เพื่อให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยและได้รับประสิทธิภาพจากการใช้ยาอย่างเต็มที่
.
.
สุขภาพดีไม่มีในขวด
ข้อมูลจาก : ภญ.ณัฎฐณิชา ศุภลักษณ์บันลือ. งานเภสัชกรรมคลินิก ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. https://bit.ly/3wGOz3z
โฆษณา