1 ต.ค. 2021 เวลา 12:19 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Noah : ภัยน้ำท่วม...ประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าที่มนุษย์ไม่อาจเลี่ยงได้?
“เรากำลังจะให้น้ำท่วมโลก เพื่อทำลายสิ่งมีชีวิตทั้งมวลภายใต้ฟ้าสวรรค์ คือ ทุกสิ่งที่มีลมหายใจแห่งชีวิต ทุกสิ่งบนแผ่นดินโลกจะพินาศสิ้น” – ปฐมกาล 6:17
1
Noah (2014)
เรือของโนอาห์ เป็นตำนานที่ถูกเล่าอยู่ในหลายศาสนา แต่ที่เราคุ้นเคยกัน น่าจะเป็นเรื่องที่อยู่ในพระธรรมปฐมกาลบทที่ 6 ของศาสนาคริสต์ ว่ากันว่า น้ำท่วมโลกครั้งใหญ่ในอดีตกาล เกิดจากความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าที่ต้องการลงโทษมนุษย์ผู้บาปหนา เพื่อเริ่มต้นโลกใหม่ และอารยธรรมใหม่ๆ ผู้ที่จะรอดชีวิต คือ ผู้ที่พระเจ้าได้เลือกไว้แล้ว ซึ่งในหนังเรื่องดังกล่าวได้เล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น ผ่านมุมมองของคนที่เชื่อในพระประสงค์แบบไม่สงสัยอย่าง โนอาห์ และมนุษย์อย่างทูบัล-คาอิน ที่ตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ที่พร้อมจะเลือกวิถีของตัวเอง
1
โนอาห์ นำแสดงโดย Russell Crowe
ส่วนน้ำท่วมในยุคปัจจุบัน คงไม่มีใครคิดว่าเป็นประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าอีกแล้ว เพราะสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ก่อให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ ล้วนมาจากฝีมือของมนุษย์ทั้งนั้น หนำซ้ำยังก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจอีกด้วย
วันนี้ Bnomics จึงอยากจะเล่าย้อนอดีตถึงผลกระทบของน้ำท่วมที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
📌 อุทกภัย...ภัยพิบัติส่วนใหญ่ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
ภัยพิบัติเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เรามักจะพบเจอภัยพิบัติบ่อยขึ้นและมันก็เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ที่ต้องเผชิญกับผลกระทบทางด้านความสามารถทางเศรษฐกิจอีกด้วย
ตั้งแต่ขึ้นต้นศตวรรษใหม่มานี้ กว่าครึ่งของภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อประชากรล้วนมาจากน้ำท่วม ซึ่งปัญหาน้ำท่วมนี้เป็นปัญหาที่น่ากังวลใจในแถบเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นจาก 2 ภูมิภาคนี้ คิดเป็นถึง 28% ของน้ำท่วมที่ถูกบันทึกข้อมูลไว้ใน EM-DAT Database เลยทีเดียว
เหตุการณ์น้ำท่วมในจีน มณฑลเหอหนาน
เมื่อภัยพิบัติเกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ความสูญเสียในชีวิต สิ่งของ เงินทอง และทำให้การผลิต การบริโภค รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง ซึ่งผลกระทบของภัยธรรมชาติเหล่านี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 ทาง คือ ทางตรง และทางอ้อม
ในกรณีน้ำท่วมนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นทางตรง เป็นความเสียหาย (Damage) ที่จะเกิดขึ้นทันทีทันใดหลังจากน้ำท่วมเลยนั่นคือ ทรัพย์สินเสียหาย สิ่งอำนวยความสะดวกในด้านการติดต่อสื่อสารและการขนส่งจะถูกตัดขาด ขณะที่ผลกระทบทางอ้อม คือ ความสูญเสีย (Loss) ที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมผ่านพ้นไปนั่นคือ ภาคส่วนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ก็จะเผชิญกับการที่การผลิตไม่ว่าจะเป็นฝั่งต้นน้ำหรือปลายน้ำที่อาจจะหยุดชะงัก เนื่องจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการได้
📌 ความสูญเสีย และความเสียหายทางเศรษฐกิจจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อ 10 ปีก่อน
สำหรับประเทศไทย เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ล่าสุด ในช่วงปลายปี 2011 มีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 5.3 ล้านคน เกิดความสูญเสียโดยตรงมูลค่ากว่า 1.4 ล้านล้านบาท (ประมาณ 4 หมื่นกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) จากการที่น้ำได้ท่วมเข้าไปในนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานสำคัญๆ หลายแห่ง ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงักลง และท่วมขังระดับสูงเป็นระยะเวลานาน
เครดิตภาพ : มติชน
ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมนี้เองที่ไปส่งผลต่อทั้งเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง GDP ที่เป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจมหภาคที่นิยมนำมาประเมินผลกระทบของภัยพิบัติมากที่สุด ข้อมูลจากสภาพัฒน์ชี้ให้เห็นว่า GDP ในไตรมาสที่ 4 ปี 2011 ที่เกิดน้ำท่วมหนักนั้นลดลงไปถึง 9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
เครดิตภาพ : Christophe Archambault/AFP/Getty Images
ยิ่งไปกว่านั้น ภาคเอกชนโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ซึ่งคิดเป็น 38.5% ของ GDP และเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนภาคส่งออกได้รับความเสียหายอย่างมาก โดยความเสียหายและสูญเสียของภาคอุตสาหกรรม คิดเป็นกว่า 70% ของความเสียหายและความสูญเสียทั้งหมด เนื่องจากน้ำไปท่วมในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมหลักๆ อย่าง อยุธยา ปทุมธานี นครสวรรค์ สมุทรสาคร และยังท่วมในบางส่วนของกรุงเทพฯ อีกด้วย
มูลค่าความเสียหายและความสูญเสียที่เกิดจากน้ำท่วมใหญ่ปี 2011
ส่วนภาคการท่องเที่ยวเองก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน จากการที่สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งถูกทำลาย ส่งผลให้รายได้จากที่พักอาศัย การเดินทาง การซื้อสินค้า อาหารและเครื่องดื่ม ความบันเทิง การเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ สูญเสียไป
📌 น้ำท่วมพัดพาทรัพย์สินสูญสิ้น...และนำมาซึ่งความยากจนอย่างฉับพลัน
บ้านเรือนกว่า 1.9 ล้านหลัง ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม บ้าน 19,000 หลังถูกทำลาย รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ภายในบ้าน และแน่นอนว่าครอบครัวที่ยากจนมักจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักกว่าเสมอ เนื่องจากที่อยู่อาศัยก็ไม่ได้มีโครงสร้างที่แข็งแรงมากนัก เมื่อเจอน้ำท่วมอย่างหนักจึงกลายเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดทั้งในแง่ของที่อยู่อาศัย และหน้าที่การงาน ประมาณการว่าประชากร โดยรวมต้องสูญเสียรายได้จากค่าจ้างไปกว่า 1.1 แสนล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบางที่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากสวัสดิการของรัฐ อีกทั้งยังทำงานที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้น ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก
📌 น้ำท่วมกับการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว
แน่นอนว่าน้ำท่วมแต่ละครั้ง ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว ทั้งความเสียหายด้านชีวิตและทรัพย์สิน การลงทุนในประเทศที่ลดลง และเกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานออกไป ทำให้ประสิทธิภาพกำลังการผลิตในระยะยาวลดลง
เหตุการณ์น้ำท่วมในบังคลาเทศปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี งานวิจัยของคุณ Hanny John Mediodia และคณะ ได้ทำการเก็บข้อมูล 8 ประเทศ ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประสบกับน้ำท่วมใหญ่ ประกอบด้วย กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม แล้วนำข้อมูลไปวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองเศรษฐมิติ พบว่าน้ำท่วมสามารถก่อให้เกิดผลเชิงบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจได้ เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศได้โละเทคโนโลยีเก่าๆ ทิ้งไปและแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า อีกทั้งผลกระทบเชิงบวกนี้ก็อาจจะมาจากการที่รัฐบาลต้องออกแผนบรรเทาภัยพิบัติฉุกเฉิน ก่อสร้างและฟื้นฟูสิ่งที่ได้รับผลกระทบ การใช้จ่ายของรัฐบาลนี้เองที่จะเกิดตัวทวีคูณ และทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ จึงอาจจะเรียกได้ว่าภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วม เป็นการทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ หรือ Creative Destruction (จากงานวิจัยของคุณ Cuaresma และคณะ (2008))
เหตุการณ์น้ำท่วมในเวียดนาม
ถึงแม้งานวิจัยจะบอกว่าน้ำท่วมอาจเป็นการเปิดโอกาสให้กับเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ต้องอย่าลืมว่าสำหรับหลายคน น้ำท่วมนำมาซึ่งความสูญเสีย ทั้งทรัพย์สิน และชีวิต อย่างที่ไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้ ในสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ก็ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะซ้ำรอยกับเมื่อ 10 ปีก่อน รวมถึงกังวลว่าเรื่องที่กรุงเทพฯ กำลังจะจมน้ำอาจจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิด
ดังนั้นนี่อาจเป็นโอกาสดีที่รัฐจะนำเทคโนโลยีและการจัดเก็บข้อมูลที่มี มาพัฒนาร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถวางแผนรับมือกับภัยน้ำท่วมให้ดีขึ้นกว่าในอดีต เตรียมความพร้อมทางด้านนโยบาย เพื่อรับมือกับน้ำท่วมหรือภัยพิบัติอื่นๆ ในอนาคต ที่ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และเร่งให้กรุงเทพฯ ที่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มสูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 1.5 เมตร ให้จมหายไปเร็วขึ้น
จริงอยู่ว่าเรื่องของฝนฟ้าอากาศเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก และเราคงไม่สามารถเปลี่ยนภูมิประเทศของเรา หรือภาวนาให้ปัญหานี้หายไปได้ สิ่งที่ยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ เราเริ่มเห็นกันแล้วว่า ธารน้ำแข็งต่างๆ รวมถึงน้ำแข็งในขั้วโลกของเรากำลังละลายลงอย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งปัญหาระดับน้ำทะเลที่จะสูงขึ้นต่อเนื่อง หากรัฐบาลยังคงนิ่งนอนใจ และรอให้ถึงวันที่กรุงเทพฯ ต้องจมน้ำหายไปแล้วค่อยมาคิดแก้ไข เมื่อถึงวันนั้นเศรษฐกิจของไทยทั้งประเทศที่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นหลัก ก็อาจจะพังไปตามๆ กัน และจะเป็นปัญหาอันยิ่งใหญ่ของประเทศต่อไป
#Noah #น้ําท่วม2564 #น้ำท่วม2554
#Bnomics #Economic_Edutainment #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา