8 ต.ค. 2021 เวลา 13:20 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
Squid Game : เผยด้านมืดของโลกทุนนิยม...เราเป็นเพียงตัวละครในเกมของนายทุนหรือเปล่า?
4
Squid Game : เผยด้านมืดของโลกทุนนิยม...เราเป็นเพียงตัวละครในเกมของนายทุนหรือเปล่า?
[เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์]
กระแสซีรีส์ Squid Game ที่ยังแรงไม่หยุดฉุดไม่อยู่มาหลายต่อหลายสัปดาห์ ด้วยพลอตเรื่องแบบหนังเอาชีวิตรอดของผู้เล่นที่เป็นกลุ่มคนสิ้นหวังในชีวิตจากทุกชนชั้น ทุกเชื้อชาติ แต่ปัญหาในชีวิตของเขาจะหายไปได้ หากเขาได้รับเงินรางวัลมหาศาลกว่า 45,600 ล้านวอน เมื่อชนะการแข่งขันในเกมทั้งหมด ถึงแม้ว่าเกมที่ถูกเลือกมาในการแข่งขันจะเป็นเกมที่เด็กชาวเกาหลีล้วนคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่การแข่งขันนี้เดิมพันกันด้วยชีวิต...
2
ซองกีฮุน แสดงโดย อีจองแจ
ตัวละครอื่น ๆ จากในเรื่อง Squid Game (2021)
การแข่งขันที่อยู่บนเกาะลึกลับแห่งนี้ เหมือนเป็นการจำลองสังคมขนาดย่อมๆ ที่มีคนหลายชนชั้น และมีกลไกทางสังคมคอยควบคุมอยู่ ผู้เข้าแข่งขันในเกมเปรียบเสมือนฟันเฟืองให้เกมเคลื่อนไปได้ ทุกคนสู้เพื่อหวังที่จะชนะและมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม เป็นภาพสะท้อนของผู้คนที่ต่างดิ้นรนต่อสู้อยู่ในโลกทุนนิยมราวกับหนูถีบจักร ที่หวังถึงความร่ำรวย แต่ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหนก็ต้องพ่ายแพ้ให้แก่ระบบทุนนิยมอยู่ดี
6
วันนี้ Bnomics อยากจะพาทุกท่านไปดูหนังเรื่องนี้ผ่านมุมมองของทุนนิยม และกลไกทางสังคม ที่ขับเคลื่อนให้ระบบนี้ยังคงดำเนินต่อไปได้
📌 ระบบทุนนิยมที่แค่ทำตามกติกาก็ชนะแล้ว...จริงหรือ?
1
ทุนนิยม เป็นระบบเศรษฐกิจอย่างหนึ่งที่เอกชนมีกรรมสิทธิในทรัพย์สินต่างๆ และสามารถลงไปเล่นอยู่ในตลาดเสรี โดยมีกำไรเป็นแรงจูงใจในการแข่งขัน โดยที่กลไกราคาจะเป็นตัวกำหนดให้การจัดสรรทรัพยากรนั้นเกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด
1
ทั้งนี้ผู้เล่นหลักๆ ในระบอบทุนนิยมมีอยู่ 2 กลุ่มด้วยกัน คือ
(1) ชนชั้นนายทุน ที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและกระจายสินค้า
(2) ชนชั้นแรงงาน ที่ขายแรงงานของตนเองให้แก่นายทุนเพื่อแลกกับค่าจ้าง แต่จากทฤษฎีการแบ่งงานกันทำ (Division of Labor) ที่ว่าคนจะเกิดความชำนาญผ่านทางการเรียนรู้ หรือการฝึกอบรบ ชนชั้นแรงงานจึงถูกแบ่งย่อยลงไปอีกเป็นชนชั้นกลาง และชนชั้นล่าง
3
ส่วนรัฐบาลในสายตาของทุนนิยม มีหน้าที่แค่อำนวยความสะดวกให้เกิดการแข่งขันได้อย่างเสรี และเข้ามาแทรกแซงตลาดให้น้อยที่สุด
1
เศรษฐกิจจึงดำเนินไปได้ด้วยการที่บริษัท (หรือปัจเจกบุคคล) ที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของตน เช่น จะผลิตเท่าไหร่ และจะจ้างแรงงานกี่คน เพื่อให้ได้กำไรสูงที่สุด ดังนั้นการมีอยู่ของบริษัท ไม่ได้มีเพื่อแค่ผลิตสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์เท่านั้น เพราะถึงจะมีคนต้องการสินค้าและบริการนั้นๆ แต่บริษัทจะผลิตออกมาก็ต่อเมื่อมีคนเต็มใจที่จะจ่ายเงินเพื่อให้ได้มา
3
การที่จะมีกำไรสูงสุดได้นั้นอีกนัยหนึ่งหมายถึงว่า บริษัทจะต้องใช้ปัจจัยการผลิตอย่างคุ้มค่าที่สุดด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นั่นจึงทำให้เกิดประเด็นที่ทางเศรษฐศาสตร์มักจะเรียกว่า การขูดรีดแรงงาน (Exploitation of Labor) ซึ่งเศรษฐศาสตร์สำนัก Marxist ต่อยอดไปสู่ทฤษฎีมูลค่าแรงงาน (The labor theory of value) และมูลค่าส่วนเกิน (Surplus Value)
1
อธิบายอย่างง่ายๆ เช่น หากราคาแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียม คือ แรงงานทำงาน 2 ชั่วโมง ได้ขนมปังออกมา 1 แถว มูลค่า 80 บาท แต่การที่นายจ้างต้องการกำไรสูงสุด จึงได้ว่าจ้างแรงงานให้ทำงาน 8 ชั่วโมง ด้วยเงิน 240 บาท เท่ากับว่าแรงงานผลิตขนมปังออกมาได้ 4 แถว มูลค่า 320 บาท แต่กลับได้รับค่าจ้างเพียง 240 บาท ที่ซื้อขนมปังได้ 3 แถวเท่านั้น และส่วนต่าง 80 บาท ได้กลายเป็นกำไรที่นายจ้างได้รับไปเต็มๆ
1
มูลค่าส่วนเกิน (Surplus Value)
การเอากำไรเป็นที่ตั้งนี้เองที่ส่งผลให้เกิดการสะสมความมั่งคั่งไปเรื่อยๆ บริษัทต่างๆ จึงต้องหาทางแข่งกับบริษัทคู่แข่ง เพื่อให้ตนเองนั้นได้ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด และโดยส่วนใหญ่แล้วก็มักจะก่อให้เกิดเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้เอาชนะคู่แข่งได้ อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการแข่งขันนี้คือทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากการที่สามารถซื้อสินค้าได้ในราคาที่ถูกลง และบริษัทก็จะพยายามพัฒนาตัวเองให้ดึงดูดลูกค่าได้มากกว่าคู่แข่งเสมอ
4
เพราะผู้ที่ชนะในระบบทุนนิยมได้ คือ คนที่สะสมความมั่งคั่งไว้ได้มากที่สุด ที่จะมีอำนาจควบคุมทุกอย่าง ส่วนแรงงานก็เป็นเพียงฟันเฟืองหนึ่งให้วงล้อนี้หมุนไปได้เท่านั้นเอง และเป็นปัจจัยที่รอคนมากดขี่ ตามที่ Marxist บอกไว้
3
📌 มองทุนนิยมใน Squid Game... เกมที่ขับเคลื่อนด้วยคนจน แต่ถูกควบคุมโดยคนรวย
อันที่จริง คุณฮวังดงฮยอก ผู้กำกับซีรีส์เรื่องนี้ได้เสนอไอเดียนี้ตั้งแต่ปี 2008 แล้ว แต่ตอนนั้นหลายคนคิดว่าไม่น่าจะเป็นที่นิยมได้จึงไม่มีใครลงทุน เขาจึงเก็บไอเดียนี้ไว้จนได้โอกาสจาก Netflix ทำให้ซีรีส์เกาหลีออริจินัลนี้เกิดขึ้นมาได้ นั่นก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า ในโลกทุนนิยม แม้ว่าไอเดียจะดีแค่ไหน แต่ถ้าดูไม่น่าจะขายได้ ก็ไม่มีใครยอมมาลงทุนสร้างสินค้านั้นขึ้นมาอยู่ดี
2
เครดิตภาพ : Netflix
เรื่องราวในซีรีส์ดำเนินไปอย่างรวดเร็วผ่านการแข่งเกมเอาชีวิตรอดเพื่อเงินรางวัล แต่แฝงไปด้วยการสอดแทรกและเสียดสีทุนนิยมที่ผู้กำกับจงใจฝากไว้อยู่หลายจุด
1
จะเห็นได้ว่าในเกมได้จำลองลักษณะของทุนนิยมไว้อย่างชัดเจน ผู้เล่นทุกคนสวมชุดวอร์มสีเขียวเหมือนกัน มีเพียงหมายเลขระบุตัวตน ทุกชนชั้นไม่ว่าจะเป็นแรงงาน พนักงานออฟฟิศ แม่ลูกอ่อน แรงงานข้ามชาติ คนเกาหลีเหนือที่ลักลอบมาเกาหลีใต้ ต่างก็เข้ามาแข่งขันโดยมีเป้าหมายเดียว คือเงินรางวัลมหาศาล และบางคนถึงขนาดพยายามฆ่าคนอื่นเพื่อลดคู่แข่ง
ส่วนเจ้าหน้าที่ในชุดจัมพ์สูทสีชมพูก็ถูกกำหนดตำแหน่งหน้าที่ให้แตกต่างกันผ่านสัญลักษณ์วงกลม ที่แสดงถึง คนงานทั่วไป สามเหลี่ยม แสดงถึง ทหาร (กลุ่มนี้จะสามารถถืออาวุธได้) และสี่เหลี่ยม แสดงถึง หัวหน้า
เครดิตภาพ : Netflix
ในตอนท้ายของเรื่องได้ฉายให้เห็นความจริงที่ว่า ทั้งผู้เล่นและเจ้าหน้าที่ ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของเกมนี้เท่านั้น โดยมี Front Man ที่รับคำสั่งจาก Host ให้เป็นผู้ดูแลเกมอีกที เพื่อให้กลุ่ม VIP ที่เบื่อหน่ายจากชีวิตที่ร่ำรวยจนไม่รู้จะเอาเงินไปซื้อความสุขอะไรแล้ว มาเสพความสนุกสนานจากการชมการแข่งขันบนความตายของมนุษย์นี้ราวกับดูการแข่งพนันม้า
3
เครดิตภาพ : Netflix
📌 คนจนผู้ชนะ...ที่ยังพ่ายแพ้ให้แก่ระบอบทุนนิยม
1
“ทุกคนเท่าเทียมกันในเกมนี้ ผู้เล่นทุกคนแข่งขันกันอย่างยุติธรรมภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน พวกเขาทรมานจากความไม่เท่าเทียมและการแบ่งแยกในโลกภายนอก เราให้โอกาสสุดท้ายที่จะต่อสู้อย่างเท่าเทียมและเอาชนะได้แก่พวกเขา”
ในโลกที่ทุกคนมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ย่อมหมายความว่าเมื่อเราพยายามอย่างสุดความสามารถเราจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน แต่โลกความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ผู้คนที่เข้ามาเล่นเกม ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่พยายามสุดความสามารถ แต่ไม่สามารถต่อสู้กับระบบที่กดทับเขาอยู่ได้ หลายคนที่เข้ามาแข่งขันเป็นหนี้จากการลงทุน หลายคนตกงานและมีหนี้บ้าน มีหนี้การศึกษา รอให้ต้องจ่ายอยู่ หลายคนมีครอบครัวที่ต้องดูแล แรงบีบบังคับทางเศรษฐกิจเหล่านี้บังคับให้เขาต้องเข้ามาเล่นเกม แม้ว่าผู้ควบคุมเกมจะย้ำเสมอว่าไม่มีใครบังคับให้เข้ามาเล่นเกมนี้ก็ตาม แต่สำหรับคนเหล่านี้ การไปเสี่ยงตายในเกมที่อาจพลิกชีวิตให้ดีขึ้นได้ ก็คงดีกว่าถูกฆ่าให้ตายอย่างช้าๆ เพราะความจน
2
ท้ายที่สุดเราคงเห็นแล้วว่าความเท่าเทียมในเกมที่ผู้ควบคุมเกมพยายามบอกนั้นไม่มีจริง ผู้เข้าแข่งขันบางคนหาทางใช้ประโยชน์จากคอนเนคชั่นกับเจ้าหน้าที่ เพื่อประโยชน์ของตนเองอยู่ดี รวมถึงกติกาในเกมก็ถูกออกแบบมาให้ผู้แข่งขันในเกมมองผู้เล่นคนอื่นเป็นศัตรูที่ต้องกำจัดเพื่อให้ได้เงินรางวัล ทุกคนจึงไม่เชื่อใจกัน ทั้งที่อาจจะร่วมมือกันสู้กับระบบแล้วได้รับเงินรางวัลกลับไปโดยไม่มีใครต้องตายเลยก็ได้
3
ภาพตอนจบในซีรีส์ จึงสะท้อนความเป็นจริงบนโลกที่ผู้คนเหล่านี้ต้องเผชิญ คนจำนวนมากต่างต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น แต่กลับมีคนจำนวนเพียงหยิบมือที่ชนะ แล้วสุดท้ายผู้ที่ชนะก็ทำได้แค่ชนะบนความล้มตายของคนยากจนด้วยกันเอง แต่ระบบนั้นยังคงอยู่ เพื่อหยิบยื่นการแข่งขันที่โหดร้ายนี้ให้แก่ผู้คนที่สิ้นหวังคนแล้วคนเล่าต่อไป
2
📌 โลกทุนนิยมที่ยังดำเนินต่อแม้ว่าซีรีส์จะจบลง
1
ด้วยกระแสตอบรับที่ดีมากจากทั่วทุกมุมโลก ส่งผลให้หุ้นของบริษัท Netflix ขึ้นหลังจากที่ซีรีส์ออกฉายได้ไม่กี่วัน ทางด้านหุ้นที่เกี่ยวข้องกับบริษัทบันเทิงของเกาหลีอย่าง Bucket Studio ที่เป็นต้นสังกัดของคุณ อีจองแจ ตัวเอกของเรื่อง ก็พุ่งขึ้นกว่า 70% ภายในไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่ซีรีส์ออกฉาย
2
ราคาหุ้นของ Bucket Studio เพิ่มขึ้นหลัง Squid Game ออกฉาย
นอกจากนี้ ยังมีการนำเรื่องราวในซีรีส์มาเป็นจุดขาย ต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งสถานีอิแทวอนให้มีบรรยากาศเหมือนในเกม การสร้างคาเฟ่ Squid Game ที่ปารีส เพื่อให้แฟนๆ ซีรีส์ได้เข้าไปลองเล่นเกมได้
1
เครดิตภาพ : Metro, Daily Mail, Insider
หรือแม้แต่ชุดวอร์มในเกม ลูกแก้ว และขนมดัลโกนาที่โดยปกติเป็นขนมที่ไม่ได้รับความสนใจมากนัก กลับขายดีเป็นอย่างมาก มีการนำขนมดัลโกนาบรรจุในแพคเกจเหมือนในเกม ซึ่งสามารถเพิ่มราคาขายได้หลายเท่าตัว ส่วนรองเท้า Vans Slip-On ที่ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนใส่ ก็มียอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 7,800% หลังซีรีส์ฉาย
1
ที่มา : The Squid Game Store
นั่นทำให้เห็นว่า ไม่ว่าทุนนิยมจะดูมีด้านมืดสักแค่ไหน หากโลกใบนี้ยังคงขับเคลื่อนไปได้ด้วยเงิน ระบบทุนนิยมก็ยังคงเป็นระบบ เป็นหัวใจหลักที่จะอยู่คู่กับเราต่อไปอยู่ดี...
3
#SquidGame #ซีรี่ส์เกาหลี #ทุนนิยม
#Bnomics #Economic_Edutainment #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา