4 ต.ค. 2021 เวลา 07:10 • ปรัชญา
"พระอรหันต์ 4 ประเภท"
"... แม้ที่สุดตอนสุดท้ายที่ว่าเป็นความบริสุทธิ์
ความบริสุทธิ์นั้นเหมือนกันหมด
นับแต่พระพุทธเจ้าลงมาถึงสาวกองค์สุดท้าย
เป็นความบริสุทธิ์อย่างเดียวกัน
แต่นิสัยวาสนา ลึก ตื้น ยาว ละเอียด
กว้างขวางนี้ ต่างกันนะ
อย่างนิสัยพระพุทธเจ้าทรงรู้รอบไปหมดเลย
ทั้ง ๆ ที่ความบริสุทธิ์ก็เสมอกัน
แต่กิ่งก้านสาขาดอกใบนี้ เป็นพุ่มสวยงาม
ชุ่มเย็นไปหมด
ต้นไม้ต้นนั้น เป็นชื่อต้นไม้ต้นเดียวกันก็ตาม
แต่กิ่งก้านจะไม่เหมือนกัน
อันนี้ก็เป็นชื่อของความบริสุทธิ์เหมือนกันก็ตาม
แต่กิ่งก้าน หรือนิสัยวาสนา
ของผู้ทรงความบริสุทธิ์นั้นไม่เหมือนกัน
ด้วยเหตุนี้เอง ผู้ที่รู้ธรรมทั้งหลายแล้ว
จึงมีความกว้างขวาง ลึกซึ้งต่างกัน
การแนะนำสั่งสอน การเทศนาว่าการนี้
ไม่เหมือนกัน
แต่ความบริสุทธิ์นั้นเหมือนกัน
กิ่งก้านสาขานี้ไม่ได้เหมือน
แตกกระจัดกระจายออกไป
ท่านจึงยกไว้ใน 4 ประเภท
พระอรหันต์ 4 ประเภท
1. สุขกวิปัสสโก
พระอรหันต์ประเภทที่ 1
เป็นผู้รู้อย่างค่อยละเอียดละออ ๆ
กิเลสสิ้นไปอย่างสงบเงียบ ไปเลย
2. เตวิชโช
เป็นผู้ได้วิชชา 3
- ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
- จุตูปปาตญาณ
- อาสวักขยญาณ
3. ฉฬภิญโญ
ผู้ได้อภิญญา 6
เหาะเหินฟ้า ดำดิน บินบนได้
คน ๆ เดียวเนรมิตรให้เป็นพัน ๆ คนก็ได้
ไม่ให้มีคนเลยเหลืออยู่ก็ได้
นี่ตามกิริยาของจิตที่ออกจากความบริสุทธิ์
ไม่เหมือนกัน
ทีนี้ประเภทที่
4. จตุปฏิสัมภิทัปปัตโต
เป็นผู้มีความแตกฉานเต็มเหนี่ยวเลย พระอรหันต์
- อัตถปฏิสัมภิทา แตกฉานในอรรถ
สิ่งที่รวมอยู่ แยกกระจายออกไป
แจกกระจายออกไปให้เข้าใจทั่วถึงกันหมด
- ธัมมปฏิสัมภิทา
ขึ้นไปอีก กว้างขวางไปอีก
- นิรุตติปฏิสัมภิทา
แตกฉานในการพูด การเทศนา
การโต้ตอบ ทุกสิ่งทุกอย่าง
ทั้งภายนอก ภายใน
กว้างขวาง ลึกซึ้งทุกอย่าง
นี่เรียกว่า นิรุตติปฏิสัมภิทา
การพูดการจา เทศนาว่าการ
แล้วความรู้ความเห็น
ที่ประกอบกับสิ่งที่นำมาพูดนี้รอบตัว ๆ
คว้าที่ไหนได้ทันท่วงที ๆ
นี่เรียกว่า นิรุตติปฏิสัมภิทา
- ปฏิภาณปฏิสัมภิทา
คลอบหมดเลย กว้าง รอบไปหมด
นี่พระอรหันต์มี 4 ประเภท
ไม่ใช่ประเภทเดียว
สิ่งเหล่านี้เป็น อาการ
ความบริสุทธิ์นั้นเหมือนกันก็จริง
แต่อาการนี้จะไม่เหมือนกัน
อย่างมีลักษณะสุขวิปัสสโก
เตวิชโช
ฉฬภิญโญ
จตุปฏิสัมภิทัปปัตโต
นี่เป็นอาการของความบริสุทธิ์
ตามวาสนาของผู้ปรารถนามา
คือผู้ที่ปรารถนาอะไรก็ตาม
อย่างเช่น เรามีพื้นที่อยู่นี้
พื้นที่นี้เราจะปลูกอะไรบ้าง
เราปลูกอะไร มันก็เป็นผลอันนั้นขึ้นมา
ถ้าปลูกอย่างเดียว มันก็มีแต่อย่างเดียวขึ้นมา
ปลูกหลายชนิด ก็มีหลายชนิดขึ้นมา
จากพื้นแผ่นดินเป็นสวน
เป็นไร่ เป็นนา ของเรานะ
มันก็ออกหลายสิ่งหลายอย่าง
เป็นผลประโยชน์ขึ้นมา
จากพื้นที่อันเดียวกันนั้นแหละ
นี้คือผู้ต้องการ
พระอรหันต์แล้ว ไม่ต้องการอะไรแล้ว
ก็มีแต่พื้นที่ของท่าน
จะปลูกอะไรก็ปลูกอย่างเดียว แล้วไปเลย
ผู้ต้องการหลายชนิด ก็ปลูกหลายชนิด
มันก็ออกหลายชนิด
อรหันต์ ก็คือ พื้นที่เสมอกัน เหมือนกัน
แต่เวลานิสัยวาสนา
ออกจากความปรารถนาของตัวเองแล้ว
สำเร็จเป็นอรหันต์ขึ้นมา
นิสัยวาสนาจะตามกันไปเลย ๆ
พากันเข้าใจนะ พากันปฏิบัติ ... "
.
หลวงตาพระมหาบัว
เทศน์พระอรหันต์มี 4 ประเภท
นาทีที่ 0.49 - 4.49
"พระอรหันต์ทุกประเภทบรรลุทั้งเจโตวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติ"
" ... อนาสวัง เจโตวิมุตติง ปัญญาวิมุตติง ทิฏเฐวะ
ธัมเมะสยัง อภิญญา สัจฉิกตวา อุปปสัมปัชชะ วิหรติ
พระบาลีนี้แสดงว่า
พระอรหันต์ทั้งหลายไม่ว่าประเภทใด
ย่อมบรรลุทั้งเจโตวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติ
ที่ปราศจากอาสวะในปัจจุบัน
หาได้แบ่งแยกไว้ว่าประเภทนั้น
บรรลุแต่เจโตวิมุตติหรือปัญญาวิมุตติไม่
ที่เกจิอาจารย์แต่งอธิบายไว้ว่า
เจโตวิมุตติเป็นของพระอรหันต์ผู้ได้สมาธิมาก่อน
ส่วนปัญญาวิมุตติเป็นของพระอรหันต์สุกขวิปัสสก
ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน ๆ นั้น
ย่อมขัดแย้งต่อมรรค
มรรคประกอบด้วยองค์ ๘
มีทั้งสัมมาทิฏฐิ ทั้งสัมมาสมาธิ
ผู้จะบรรลุวิมุตติธรรม
จำต้องบำเพ็ญมรรค ๘ บริบูรณ์
มิฉะนั้นก็บรรลุวิมุตติธรรมไม่ได้
ไตรสิกขามีทั้งสมาธิทั้งปัญญา
อันผู้จะได้อาสวักขยญาณ
จำต้องบำเพ็ญไตรสิกขา
ให้บริบูรณ์ทั้ง ๓ ส่วน
ฉะนั้นจึงว่า
พระอรหันต์ทุกประเภทต้องบรรลุทั้งเจโตวิมุตติ
ทั้งปัญญาวิมุตติ ด้วยประการฉะนี้แล ..."
.
มุตโตทัย
บันทึกโดยพระวิริยังค์ สิรินฺธโร
ณ วัดป่าบ้านนามน อ.โคกศรีสุพรรณ
จ.สกลนคร พ.ศ. ๒๔๘๖
ภิกษุท.! ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะหลุดพ้นแล้วจากรูป
เพราะความเบื่อหน่ายความคลายกำหนัดความดับและความไม่ยึดมั่น
จึงได้นามว่า "สัมมาสัมพุทธะ".
ภิกษุท.! แม้ภิกษุผู้ปัญญาวิมุตต์ก็หลุดพ้นแล้วจากรูป
เพราะความเบื่อหน่ายความคลายกำหนัดความดับและความไม่ยึดมั่น
จึงได้นามว่า "ปัญญาวิมุตต์".
(ในกรณีแห่งเวทนาสัญญาสังขารและวิญญาณก็ได้ตรัสไว้มีข้อความ
แสดงหลักเกณฑ์อย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูปที่กล่าวแล้ว).
ภิกษุท.! เมื่อเป็นผู้หลุดพ้นจากรูปเป็นต้นด้วยกันทั้งสองพวกแล้ว
อะไรเป็นความผิดแผกแตกต่างกัน
อะไรเป็นความมุ่งหมายที่แตกต่างกัน
อะไรเป็นเครื่องกระทำให้แตกต่างกัน
ระหว่างตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ
กับภิกษุผู้ปัญญาวิมุตต์ ?
ภิกษุท.! ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ
ได้ทำมรรคที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น
ได้ทำมรรคที่ยังไม่มีใครรู้ ให้มีคนรู้
ได้ทำมรรคที่ยังไม่มีใครกล่าว ให้เป็นมรรคที่กล่าวกันแล้ว
ตถาคตเป็นมัคคัญญู (รู้มรรค)
เป็นมัคควิทู (รู้แจ้งมรรค)
เป็นมัคคโกวิโท (ฉลาดในมมรค).
ภิกษุท.! ส่วนสาวกทั้งหลายในกาลนี้เป็นมัคคานุคา (ผู้เดินตามมรรค)
เป็นผู้ตามมาในภายหลัง.
ภิกษุท.! นี้แลเป็นความผิดแผกแตกต่างกัน
เป็นความมุ่งหมายที่แตกต่างกัน
เป็นเครื่องกระทำให้แตกต่างกัน
ระหว่างตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ
กับภิกษุผู้ปัญญาวิมุตต์.
.
(ไทย)ขนฺธ. สํ. ๑๗/๖๓/๑๒๕.
(บาลี)ขนฺธ. สํ. ๑๗/๘๐/๑๒๕.
อ้างอิง :
พระอรหันต์แตกต่างจากพระพุทธเจ้าอย่างไร
แม้ว่าจะไปเสมอกันที่วิมุตติก็ตาม
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา