6 ต.ค. 2021 เวลา 02:08 • ปรัชญา
"พิจารณาตัวเอง ปรับอินทรีย์ให้สมดุลอยู่เสมอ"
" ... ชีวิตเราต้องทำในปัจจุบันให้ดี มีเหตุมีผล
เป็นการทำกรรมใหม่ที่ดี
กรรมใหม่ที่ดีในปัจจุบัน มันมีผล 2 อย่าง
มันลดละวิบากของความไม่ดีในอดีตให้ผลได้น้อยลง
หรือให้ผลได้ไม่เต็มที่
แล้วมันก็ก่อวิบากใหม่ไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น
เพราะฉะนั้นการทำความดีอยู่ในปัจจุบันสำคัญมาก
อย่าละเลย ความดีมีโอกาสทำต้องรีบทำ อย่าผัด
เมื่อนั้นจะทำเมื่อนี้จะทำ บางทีผัดมากไป
ไม่ได้ทำเลย ตายเสียก่อน
ไม่มีใครรู้ว่าเราจะตายเมื่อไหร่
ฉะนั้นความดีมีโอกาสต้องรีบทำ ไม่ผัดผ่อน
เพราะเราไม่สามารถผัดผ่อนความตายได้
การปฏิบัติผัดไม่ได้
อย่างบางคนเคยภาวนามาแต่ชาติก่อน ๆ
ชาตินี้ภาวนาเริ่มต้นดูดีเชียว เสร็จแล้วประมาท
บอกรอไว้อายุเยอะ ๆ แล้วจะมาภาวนาต่อ
ตอนนี้ขอสนุกอยู่กับโลกไปก่อน
เดี๋ยวอายุ 50 ขึ้นไปแล้วจะมาภาวนา
ช่วงนี้ผ่านชีวิตที่ประมาทไป 50 ปี
ธรรมชาติของจิตไหลลงต่ำอย่างรวดเร็ว
50 ปีที่ผ่านมา ไม่รู้มันไหลไปถึงไหนแล้ว
มันต่ำลงไปขนาดไหนแล้ว
อายุเยอะ ๆ จะมาภาวนา ร่างกายก็ไม่เอื้ออำนวย
ความเข้มแข็งอะไรต่ออะไรทั้งกายทั้งใจไม่ค่อยจะมีแล้ว
ผัด ๆ หลวงพ่อเห็นเยอะ มีตัวตนเป็นตัวอย่างให้ดู
พวกผัดรอว่าอายุเยอะ ๆ แล้วจะภาวนา ไม่ได้ภาวนา
ถึงภาวนาก็ไม่ได้เรื่อง เพราะจิตมันเหลวไหลไปนานแล้ว
มันคุ้นเคยที่จะเหลวไหล
ฉะนั้นการปฏิบัติผัดไม่ได้
ถ้าเราผัดการปฏิบัติเมื่อไหร่
เรียกว่าเราประมาทอย่างสิ้นเชิงเลย
การปฏิบัติต้องเริ่มเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่บางคนก็ยังประมาทอยู่
เช่น มาฟังธรรมจากหลวงพ่อบอก
เดี๋ยวฟังธรรมแล้วกลับบ้านจะไปเริ่มภาวนา
นี่ไม่เข้าใจสิ่งที่หลวงพ่อสอน
ไม่ใช่ฟังธรรมมาที่วัดมาฟังธรรมอะไรอย่างนี้
เดี๋ยวกลับบ้านจะไปภาวนา บางคนไปไม่ถึงบ้าน
ไปตายอยู่กลางทางไม่ได้ภาวนา
การภาวนาต้องทำเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้เลย
มีสติรู้สึกลงในร่างกาย
มีสติรู้สึกลงในจิตใจ
แล้วถ้าจิตเราเวลาสติไปรู้กายหรือจิตถลำลงในกาย
แสดงว่าสมาธิเราไม่พอ
เวลาเราดูความรู้สึกนึกคิดภายในใจของเรา
แล้วจิตมันถลำไป เช่น
มันดูความโกรธ จิตถลำไปดูความโกรธ
หรือมันดูความฟุ้งซ่าน จิตถลำไปดูความฟุ้งซ่าน
อันนี้ก็คือสมาธิไม่พอ
ถ้าสมาธิไม่พอ จิตมันจะถลำลงไป
มันไม่สักว่ารู้ว่าดู มันไม่ดูอยู่ห่าง ๆ ไม่เป็นแค่คนดู
เพราะฉะนั้นเวลาเราภาวนา
เราจะต้องค่อย ๆ สังเกตว่าเราขาดอะไร
อะไรมากไปอะไรน้อยไป
อย่างสมาธิมากไป ไม่ดี
สมาธิมากเกินไป จิตจะเซื่องซึมหรือติดความสุข
เจริญปัญญามากไปไม่ดี จิตจะฟุ้งซ่าน
มีความเพียรมากไปก็ไม่ดี จิตเคร่งเครียด
มีศรัทธามากไปก็ไม่ดี มันโง่งมงาย
สิ่งที่ดีมีอันเดียว คือ สติ
ยิ่งมีบ่อยเท่าไหร่ยิ่งดี ไม่มีสติมากไป
สติที่ถูกต้องหมายถึงการระลึกรู้สภาวะ
สติเป็นตัวระลึกรู้สภาวะ
ในขณะที่ความดีตัวอื่น ๆ
ศรัทธา วิริยะ สมาธิ ปัญญา
มากไปใช้ไม่ได้ น้อยไปก็ใช้ไม่ได้
สติน้อยไปใช้ไม่ได้ สติยิ่งเกิดบ่อย ยิ่งดี
นี้เป็นลักษณะพิเศษของสติ เป็นธรรมะที่วิเศษมาก
พระพุทธเจ้าถึงยกย่องสติสัมปชัญญะ
เป็นธรรมะที่มีอุปการคุณมาก
สัมปชัญญะคือตัวปัญญา
ปัญญาที่ตีกรอบการปฏิบัติของเรา รู้ว่าเราจะทำอะไร
จะทำเพื่ออะไร จะทำอย่างไร ทำแล้วจะมีผลอย่างไร
ตีกรอบการปฏิบัติของเราไว้อย่างนี้ มีประโยชน์มาก
ส่วนปัญญาความรู้แตกฉานอะไรนี่
คิดพิจารณามาก ฟุ้งซ่าน ใช้ไม่ได้
ฉะนั้นต้องพยายามฝึกอินทรีย์ของเรา
ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาของเรา
ให้มันสมดุล ให้มันสม่ำเสมอกัน
อย่างสติที่หลวงพ่อบอก สติเกิดบ่อยยิ่งดี
แต่สติเกิดแบบรุนแรง เพ่งจ้องอย่างรุนแรง ไม่ดี
แต่ถ้าสติธรรมชาติ สติตัวจริงเกิดยิ่งบ่อย ยิ่งดี
ถ้าเรามีศรัทธาแก่กล้าอยากปฏิบัติมากเลย
พากเพียรมาก แล้วก็จ้องเอาๆๆ เพ่ง จ้องเอา
เครียดไปหมดเลย อย่างนี้ใช้ไม่ได้
หรือนั่งสมาธิอยู่ ถ้าสติมันแรงเกินไป มันก็จะเครียด
บางทีลืมตาอยู่ มองไปโลกข้างนอก
เราเห็นวัตถุต่าง ๆ เป็นอณู เห็นอากาศเป็นเม็ดๆๆ เลย
นี่สติมันถูกเร้ารุนแรงเกินไป
อันนี้คนละแบบกับที่หลวงพ่อบอก สติยิ่งเกิดบ่อยยิ่งดี
อันนี้สติแบบโหดร้ายทารุณ ไม่ใช่สัมมาสติ
สติที่เจือด้วยความโลภอย่างรุนแรงเลย
แล้วก็บอกว่ามีสติ ๆ ไม่ใช่สติจริงหรอก
สติที่ถูกต้อง
ถ้าสติจริง จิตมันจำสภาวธรรมได้แม่น
พอสภาวธรรมเกิด สติก็เกิดของสติเอง
เราไม่ได้สั่งให้เกิด ถ้าเราจงใจให้สติเกิด
ไม่ใช่สติตัวจริงหรอก
มันกลายเป็นการเพ่งการจ้อง
สิ่งที่ได้มาคือความเคร่งเครียด มันใช้ไม่ได้
หรือเรานั่งสมาธิอยู่ สติอ่อนเกินไป
มันก็เคลิบเคลิ้มลืมเนื้อลืมตัว นั่งแล้วก็โงกเงก ๆ
หรือบางทีสติมันอ่อนมาก แล้วสมาธิมันมีกำลังอยู่
จิตมันเคลื่อน เคลื่อนออกไป
อย่างนั่งสมาธิแล้วมันสว่างขึ้นมา
ไม่มีสติรู้ทันว่าจิตเรายินดีพอใจในแสงสว่าง
จิตก็เคลื่อนเข้าไปในความสว่าง
คราวนี้อยากรู้อยากเห็นอะไร
มันรู้มันเห็นของมันได้ จะเห็นผีเห็นสาง
เห็นเทวดา เห็นเปรต เห็นสัตว์นรกอะไรนี่
มันตามแสง แสงสว่างของสมาธิ
มันตามไปรู้ไปเห็น มันออกนอกไปหมดแล้ว
มันไม่ใช่การเจริญสติที่ถูกต้องแล้ว
การเจริญสติที่ถูกต้อง
เป็นสติระลึกรู้กายในกาย
เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม
ไม่ใช่กายข้างนอก กายผี กายเปรตอะไร กายอยู่ข้างนอก
4
เราดูกายภายในนี้ ดูกายในกาย
อย่างกายหายใจออกส่วนหนึ่ง กายหายใจเข้าส่วนหนึ่ง
ก็ดูของตัวเอง ไม่ต้องไปดูคนอื่น
ดูคนอื่นแล้ว กิเลสที่ยังไม่เกิด มันจะเกิด
แล้วก็ดูของตัวเอง กิเลสที่เคยเกิดมันจะดับ
กุศลที่ไม่เคยเกิดมันจะเกิด
อย่างบางคนได้ยินบอก ให้ดูกาย
ก็ไปดูผู้หญิงสวยอะไรอย่างนี้ ดูลงไป
โอ้ ผมก็สวย ขนก็สวย เล็บก็สวย ฟันก็สวย หนังก็สวย
สวยไปหมดเลย รูปร่างก็สวย กิริยามารยาทก็สวยอะไรอย่างนี้
ดูอย่างนี้ มันทำกรรมฐานอะไรไม่ได้หรอก
เพราะราคะมันจะเกิด
หรือไปดูคนนี้ โหย นี่น่าเกลียด น่าขยะแขยง
ไม่มีอะไรดูดีสักอย่างเลย น่าเกลียดอย่างกับผีมาเกิด
หรือเป็นผีตั้งแต่ยังไม่ทันจะตาย
เละเทะไปหมดแล้ว
โทสะมันเกิด ฉะนั้นอย่าไปดูคนอื่น
ดูตัวเอง ดูเข้ามาที่ตัวเอง … "
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
26 กันยายน 2564
ติดตามการถอดไฟล์บรรยายฉบับเต็มจาก :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา