6 ต.ค. 2021 เวลา 00:07 • ความคิดเห็น
น้ำท่วม ไฟไหม้ป่า มลพิษ... ทำอย่างไรเพื่อจัดการปัญหาโลกร้อน
ในช่วงหลายขวบปีที่ผ่านมานั้น ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นมาจากภาวะโลกร้อนเริ่มทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนในโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งไฟไหม้ป่า ความแห้งแล้ง หรือเหตุการณ์น้ำท่วม ที่ประเทศไทยเองก็กำลังประสบกับปัญหานี้อยู่เช่นกัน
น้ำท่วม ไฟไหม้ป่า มลพิษ... ทำอย่างไรเพื่อจัดการปัญหาโลกร้อน
ถึงแม้จะมีการเรียกร้องให้เกิดการจัดการกับปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง ผ่านนักเคลื่อนไหวและการประท้วงเพื่อสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก เช่น สาวมหัศจรรย์วัย 18 จากสวีเดนอย่าง เกรต้า ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) แต่ก็ดูเหมือนว่าปัญหาโลกร้อนก็ยังไม่ได้รับการเหลียวแลและถูกจัดการอย่างถูกต้องอย่างที่มันควรจะเป็น
ด้วยเหตุนี้ ในบทความนอกกรอบ เราจะพาทุกท่านไปสำรวจแนวคิดในการสร้างนโยบายและแรงจูงใจในการจัดการปัญหาโลกร้อน ว่าปัจจุบันในทางเศรษฐศาสตร์ออกแบบไว้อย่างไรบ้าง และปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันคืออะไร
📌 ทำไมการแก้ปัญหาโลกร้อนถึงทำได้ยากเย็น
อย่างที่กล่าวไป แม้ปัญหาโลกร้อนจะใกล้ตัวมากขึ้นและมีคนออกมาเรียกร้องมากมาย แต่ทำไมการแก้ปัญหาโลกร้อนถึงยากเย็นขนาดนี้ คำตอบก็คือ จากกระบวนการคิดในการหาผลประโยชน์สูงสุดของมนุษย์ที่ไม่เอื้อให้มองเห็นปัญหานั่นเอง
กระบวนการคิดที่มีปัญหาคือ มนุษย์เรามักจะมองเห็นแต่ผลประโยชน์ในระยะสั้นมากกว่าผลประโยชน์ที่จะเกิดในระยะยาว เป็นปัญหาของอคติในเวลาปัจจุบัน (Present Bias)
ยกตัวอย่างเช่น การตัดสินใจว่าจะอ่านหนังสือสอบหรือพักของนักศึกษา ซึ่งถ้าอ่านหนังสือสอบจะได้ประโยชน์ในอนาคตคือ ทำข้อสอบได้ แต่หลายต่อหลายคนจะเลือกที่จะพัก เพราะว่าได้ประโยชน์อย่างทันทีทันใด เป็นผลอันเกิดจากอคติในเวลาปัจจุบันนั่นเอง
การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและโลกร้อนก็เจอปัญหาจากอคตินี้เช่นกัน เมื่อคนมองเห็นผลประโยชน์ในปัจจุบันมากกว่าที่จะใส่ใจกับปัญหาโลกร้อนที่ดูจะเป็นเรื่องของอนาคต
อีกหนึ่งแนวคิดที่อธิบายว่าทำไมคนถึงไม่สนใจแก้ไขปัญหาโลกร้อน ยิ่งมองคนแย่กว่าข้อแรกอีกคือ การที่เชื่อว่าหลายต่อหลายครั้งคนเราตัดสินใจโดยไม่ได้คำนึงของต้นทุนทางลบต่อส่วนรวม (negative externalities) หรือก็คือ การกระทำที่เราได้ประโยชน์แต่คนอื่นเสียประโยชน์
ตัวอย่างที่มักยกมานอกจากเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนปล่อยมลพิษสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นแต่ก็ยังไม่ได้สนใจแล้ว ก็ยังมีเรื่องของการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะที่สร้างควันให้กับคนที่ไม่ต้องการ หรือการจับปลาจากทะเลมากจนเกินไป ที่ถ้าเรือแต่ละลำจับปลาอย่างเต็มที่ สุดท้ายก็จะไม่เหลือปลาให้จับเลย
ปัญหาในกระบวนการคิดทั้งสองข้อที่ทำให้เกิดโลกร้อน ก็มีแนวคิดที่น่าสนใจทางเศรษฐศาสตร์ที่นำมาใช้เพื่อแก้ปัญหา คือการสร้างตลาดเพื่อให้มีการซื้อขายก๊าซเรือนกระจกได้ ทำให้ผู้คนมองเห็นต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม แต่ในปัจจุบันมันเพียงพอไหม?
📌 การแก้ปัญหาผ่านการสร้างตลาด
ในช่วงที่ผ่านมา ดูเหมือนจะยังไม่เพียงพอ เพราะถึงแม้การแก้ปัญหาผ่านการสร้างตลาดซื้อขายก๊าซเรือนกระจกจะดูดีในหน้ากระดาษ ด้วยวิธีการที่มีการกำหนดอัตราสูงสุดที่แต่ละบริษัทจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ และอนุญาตให้ซื้อขายสิทธิการปล่อยกันได้ (cap and trade) ซึ่งน่าจะสร้างต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมให้กับแต่ละบริษัทได้อย่างทันที แต่พอนำมาใช้ปฏิบัติจริง บริษัทจำนวนมากกลับปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม และถ้าปล่อยเกินอัตราสูงสุดไปโดยไม่สามารถหาซื้อสิทธิการปล่อยจากบริษัทที่ปล่อยน้อยกว่ามาตรฐานได้ ก็ยินยอมที่จะจ่ายค่าปรับ
ปัญหาของตลาดที่เกิดขึ้นคือ “ราคาของสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำไป” โดยสองยอดนักเศรษฐศาสตร์อย่าง โจเซฟ สติกลิตช์ (Joseph Stiglitz) และ นิโคลัส สเติร์น (Nicholas Stern) เคยประเมินไว้ว่าการที่จะบรรลุข้อตกลงในการควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงกว่า 2 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนอุตสาหกรรม ราคาของการปล่อยคาร์บอนต้องอยู่ที่ 50-100 ดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 ซึ่งในหลายประเทศราคายังต่ำกว่านั้นมากและอีกหลายๆ ประเทศยังไม่มีการตั้งราคาเลยด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าจะตั้งราคาในระดับที่เหมาะสมได้จริง บริษัทข้ามชาติจำนวนมากก็ยังสามารถย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ไม่มีกฎการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแทนได้ หรือที่เรียกกันว่า carbon leakage เพราะฉะนั้นการตั้งราคาที่เหมาะสมของก๊าซเรือนกระจกในประเทศใดประเทศหนึ่งยังไม่พอแต่ต้องเกิดสร้างตลาดก๊าซเรือนกระจกรวมของทั่วโลก ซึ่งก็ยังเป็นเส้นทางที่ยาวไกล
แต่ก็มีหนึ่งในทางเลือกที่ถูกหยิบมาใช้โดยกลุ่มประเทศ EU ที่สร้างภาษีการนำเข้าสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เพื่อสร้างต้นทุนให้กับบริษัทที่ย้ายฐานการผลิตไปที่ที่ไม่มีกฎหมายคุ้มเข้ม ซึ่งก็เป็นนโยบายที่น่าสนใจและอาจจะถูกนำมาใช้กับประเทศอื่นได้อย่างดีเช่นกัน
📌 ป้อนข้อมูลต้นทุนสิ่งแวดล้อมของสินค้าให้กับประชาชน
อีกหนึ่งนโยบายที่ควรจะมีการส่งเสริมและนำมาใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลกมากขึ้นคือ การเปิดเผยข้อมูลต้นทุนสิ่งแวดล้อมของสินค้าที่พวกเขากำลังเลือกซื้ออยู่
ข้อดีของทางเลือกนี้คือ มันเป็นทางเลือกที่สามารถทำได้ง่ายกว่าการสร้างตลาดหรือการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม และก็อาจจะมีประสิทธิภาพพอสมควรในการจัดการปัญหาโลกร้อน โดยเคยมีกรณีศึกษาที่เทียบเคียงกันได้อย่างกรณีการเปิดเผยข้อมูลที่เรียกว่าทำเนียบการปล่อยสารพิษ (Toxic Release Inventory) ที่เกิดขึ้นในอเมริกา
ในเรื่องนี้ ตัวกฎหมายจะบังคับให้บริษัทและบุคคลที่ครอบครองสารอันตรายต้องเปิดเผยข้อมูลให้รัฐรับรู้ว่ามีสารเหล่านี้เท่าไร ที่แม้ว่าจะไม่ได้บังคับให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่แค่การแจ้งว่าให้เปิดเผยข้อมูลเท่านั้นก็สามารถลดการใช้สารอันตรายเหล่านี้ได้อย่างมหาศาลแล้ว
ปัจจุบัน ได้เริ่มมีนโยบายลักษณะแบบนี้ออกมากับสินค้า ในรูปแบบที่ต้องเปิดเผย carbon footprint หรือร่องรอยเท้าปริมาณคาร์บอนฯ ที่ถูกสร้างเพื่อให้ได้สินค้าชนิดนี้ขึ้นมา แต่กฎเกณฑ์นี้ยังมักจะถูกใช้แค่กับประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น ซึ่งควรต้องมีการผลักดันให้เป็นฉลากมาตรฐานที่ต้องมีในทุกประเทศให้ได้
เนื้อหาที่เล่ามาในบทความส่วนใหญ่เน้นไปที่บทบาทและหน้าที่ของรัฐและองค์กรขนาดใหญ่เป็นหลัก แต่แท้จริงแล้วการพิทักษ์โลกเป็นสิ่งที่พึงกระทำของประชากรทุกคนในโลก เริ่มที่ตัวเอง ชักชวนคนรอบข้าง และปลูกฝังเมล็ดพันธุ์ต่อไปให้สู่คนรุ่นต่อไป เพราะว่าเรามีโลกอยู่ใบเดียว ถึงแม้จะส่งคนไปสร้างอาณานิคมใหม่ที่ดาวอื่นได้ ก็จะไม่มีทางที่มนุษย์จะมีโลกที่เหมือนกับโลกในปัจจุบันได้อีกต่อไป
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:
หนังสือ Nudge by Richard H. Thaler and Cass R. Sunstein

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา