13 ต.ค. 2021 เวลา 02:09 • ความคิดเห็น
ทำไมสื่อยักษ์ใหญ่ของอเมริกา ถึงชอบเล่นข่าวเชิงลบและสร้างดราม่า
เมื่อไม่นานมานี้ พึ่งมีการศึกษาที่น่าสนใจออกมาเกี่ยวกับเนื้อหาของสื่อมวลชนสัญชาติอเมริกัน โดยในการศึกษาได้เล่าว่าสื่อยักษ์ใหญ่ของอเมริกามักจะนำเสนอเนื้อหาในเชิงลบ เพื่อใช้ในการดึงดูดคนอ่านมากกว่าสื่อในระดับท้องถิ่น หรือสื่อมวลชนในระดับนานาชาติ
วันนี้ Bnomics จะพาทุกท่านไปดูกันว่า การนำเสนอข่าวเชิงลบในสื่อของอเมริกาเป็นอย่างไร และเหตุผลที่เป็นไปได้ที่อยู่เบื้องหลังการทำข่าวแบบนี้กันครับ
📌 พลังเชิงลบจากสื่ออเมริกา
ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมา หลายท่านอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่สื่อจำเป็นต้องนำเสนอข่าวในเชิงลบเหมือนๆ กันไปหมด แต่งานศึกษาของ Molly Cook และ Ranjan Segal กลับให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างจากการคาดการณ์ข้างต้น เมื่อพวกเขาค้นพบว่า สื่อยักษ์ใหญ่ของอเมริกานั้นมีการเล่นข่าวเชิงลบมากกว่าสื่อท้องถิ่น และสื่อในระดับนานาชาติ
จากการศึกษาผ่าน Machine-learning algorithms ที่ใช้วิเคราะห์บทความกว่า 43,000 เรื่อง พวกเขาค้นพบว่าสื่อยักษ์ใหญ่ของอเมริกามีการนำเสนอข่าวเชิงลบมากถึง 87% ของเนื้อหา ในขณะที่สื่อระดับภูมิภาคของอเมริกากลับนำเสนอข่าวเชิงลบแค่ 53% และยิ่งถ้าเป็นสื่อในระดับนานาชาติยิ่งน้อยเข้าไปอีก เมื่อตัวเลขดังกล่าวลงมาอยู่แค่ 51% ที่เป็นเนื้อหาเชิงลบเท่านั้น
อีกการศึกษาที่ทำการวิเคราะห์เพียงแค่เนื้อหาที่มาจาก New York Times ในช่วงปี 1945 ถึง 2005 และก็พบว่าเนื้อหาของสื่อยักษ์ใหญ่แห่งนี้เริ่มนำเสนอในโทนที่ให้ความรู้สึกเชิงลบมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากช่วงปี 1960 ที่เกิดสงครามเกาหลี
คำถามที่ตามก็คือว่า ทำไมสื่อถึงเล่นข่าวในเชิงลบมากขึ้นเรื่อยๆ มีสองคำอธิบายที่มีการใช้กัน คำอธิบายแรกเล่าว่าเป็นเพราะพื้นฐานของภาษาอังกฤษเองที่มีคำที่มีความหมายเชิงลบเยอะ (ซึ่งเราจะไม่อธิบายมากในบทความนี้) และคำอธิบายที่สองที่เกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่บอกว่า มนุษย์จะให้ความสนใจกับเรื่องเชิงลบมากกว่าเรื่องราวเชิงบวก
📌 อคติเชิงลบ (Negativity bias) ที่ฝังอยู่ในตัวผู้คน
แนวคิดเรื่องอคติเชิงลบเล่าไว้ว่า มนุษย์มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องราวที่มีภัยหรือเรื่องราวที่ดูมีอันตรายมากกว่า โดยอ้างอิงจากนักจิตวิทยา Rick Hanson บอกว่าอคติเชิงลบของมนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาในสมองของคนเรามากกว่าล้านปีแล้ว
เมื่อจินตนาการถึงชีวิตของบรรพบุรุษมนุษย์ ความสามารถในการหลีกเลี่ยงนักล่าหรือภัยธรรมชาตินั้น (อคติเชิงลบ) มีความสำคัญมากกว่าความสามารถในการหาอาหาร (ส่วนนี้เป็นความคิดเชิงบวก) ซึ่งแนวคิดแบบนี้ก็ถูกปลูกฝังมาพร้อมกับวิวัฒนาการของมนุษย์อย่างไม่รู้ตัวด้วย
1
สื่อมวลชนยักษ์ใหญ่ของอเมริกาก็ใช้ประโยชน์จากอคติเชิงลบของมนุษย์ เมื่อพวกเขาทราบว่าข่าวเชิงลบนั้นเป็นข่าวที่ขายได้ พวกเขาก็จะนำเสนอข่าวเชิงลบมากยิ่งขึ้น และพอนำเสนอข่าวเชิงลบมากขึ้นก็ทำให้ผู้คนในอเมริกาติดนิสัย ชอบเสพข่าวเชิงลบมากขึ้นไปอีก กลายเป็นวงจรแห่งการสร้างอคติเชิงลบไป
แต่อคติเชิงลบยังไม่จบอยู่แค่ในวงการสื่อกระแสหลักเท่านั้น แต่ข่าวเชิงลบยังไปปรากฏตัวอยู่ที่สื่อช่องทางอื่นด้วย และช่องทางหนึ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ สื่อโซเชียลมีเดีย (Social Media)
📌 Social Media ก็เป็นหนึ่งอีกผู้เล่นที่ถูกจับตามอง
มีคำกล่าวที่ติดปากของผู้เล่นไพ่โป๊กเกอร์ว่า หากคุณนั่งเล่นอยู่บนโต๊ะแล้วไม่สามารถบอกได้ว่าผู้เล่นคนไหนห่วยที่สุด แปลว่าคนที่ห่วยที่สุดก็คือคุณนั่นแหละ ในโลกของโซเชียลมีเดียมีอีกคำพูดที่ใกล้เคียงกัน หากคุณใช้เวลาบนโลกออนไลน์อย่างมากและไม่สามารถบอกได้ว่าสินค้าที่ขายคืออะไร แปลว่าคุณนั่นแหละคือ สินค้า
คำเกริ่นข้างต้นอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อหาของบทความโดยตรง แต่แสดงให้เห็นถึงมุมมืดและส่วนที่ไม่ดีของโลกออนไลน์ งานศึกษาหนึ่งของ Steve Rathje ตอกย้ำด้านมืดของโลกออนไลน์นี้ได้อย่างดี จากการศึกษาข้อความที่โพสต์เกี่ยวกับเรื่องการเมือง และได้ค้นพบผลลัพธ์ที่น่าสนใจว่า โพสต์ที่มีแนวโน้มจะได้รับความสนใจมากกว่า คือ โพสต์ที่กล่าวตำหนิฝ่ายการเมืองตรงข้าม
ในเรื่องนี้ ผลพบว่าคำแต่ละคำที่กล่าวถึงฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นมาในบทความจะช่วยเพิ่มโอกาสที่จะทำให้มีการ Retweet หรือ Shares เพิ่มขึ้น 67%
หนึ่งในโพสต์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจากการเก็บตัวอย่างกว่า 4 ปี คือ โพสต์ที่แสดงคลิปวิดีโอ ประธานาธิบดีไบเดนที่ดูไม่ดีเท่าไร โดยใช้ชื่อหัวโพสต์ “มาดูโจ ไบเดนสมองแช่แข็งกัน (Check out Joe Biden’s recent brain freeze)” นี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ทำให้เห็นอคติเชิงลบของผู้คนที่อยู่ในสื่อออนไลน์ด้วย ซึ่งปัจจุบันทางรัฐบาลสหรัฐฯ เองก็กำลังพยายามที่จะจัดการและควบคุมสื่อประเภทนี้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้วิธีการที่เหมาะสมและได้รับการยอมรับจากสภา
เราเห็นแล้วว่า พลังของอคติเชิงลบสามารถสร้างการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมจากประชาชนได้มหาศาล แต่แล้วทำไมบริษัทต่างๆ หรือนักการเมืองเองถึงไม่ใช้ประโยชน์จากอคตินี้เหมือนที่สื่อยักษ์ใหญ่ของอเมริกาทำล่ะ?
📌 ทำไมหลายบริษัทและนักการเมืองถึงไม่ค่อยใช้กลยุทธ์ Negative กับคนอื่น
คำตอบนั้นเรียบง่ายมาก ถึงแม้คนจะถูกดึงดูดจากข่าวเชิงลบมากกว่ามันก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาชื่นชอบคนที่นิสัยไม่ดีอย่างที่เรากล่าวไปข้างต้น อคติเชิงลบเกิดขึ้นจากความต้องการที่จะหลีกเลี่ยงอันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้นกับตัวเรา จริงอยู่ว่าเรื่องราวที่เป็นลบเหล่านี้ สามารถดึงดูดความสนใจของผู้คนได้มากกว่า แต่สุดท้ายแล้วไม่มีใครที่อยากจะเลือกนักการเมืองที่พูดแต่เรื่องลบๆ ชอบใส่ร้ายป้ายสีคนอื่น (แม้ว่าสิ่งที่พูดจะเป็นเรื่องจริง) หรือก็ไม่มีใครอยากจะเลือกซื้อสินค้าจากบริษัทที่เอาแต่โทษว่าสินค้าของบริษัทอื่นนั้นไม่ดีเช่นกัน
เรื่องอคติเชิงลบเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย และยิ่งมารวมเข้ากับการเสพข่าวในโลกของยุคปัจจุบันแล้วก็ยิ่งทำให้เห็นพลังของพฤติกรรมของคนมากขึ้น และทำให้เห็นถึงความสำคัญในการใช้แนวคิดดังกล่าวมาปรับพฤติกรรมของมวลชน ส่วนในสัปดาห์หน้าเราจะนำเสนอนอกกรอบอะไรกันอีก ก็อย่าลืมติดตามกันด้วยครับ
#ความคิดเชิงลบ #ความคิดเชิงบวก #สื่ออเมริกา #งานวิจัย
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา