Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วินทร์ เลียววาริณ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
1 พ.ย. 2021 เวลา 00:00 • นิยาย เรื่องสั้น
ตอน 8 : มองโกลครองแผ่นดิน (ประวัติศาสตร์ฉากหลัง มังกรหยก)
1
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
ปี 1206 หลังจากขจัดเสี้ยนหนามในเผ่าหมดสิ้น เตมูจินก็ผงาดในอาณาจักรมองโกล เขารวมกำลังมองโกลทุกเผ่าไว้ เช่น คามัค มองโกล, เกอราอิต, เมอร์คิต, ตาตาร์, ไหน่หมัน ฯลฯ สภาเกอรูไตเลือกเตมูจินเป็นจอมข่าน ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุด ได้รับนาม เจ็งกิส ข่าน แปลว่า ‘ผู้ครองสากล’
จอมข่าน (可汗 Khagan) ก็คือตำแหน่งสูงสุดของข่าน เป็นข่านแห่งข่าน
เกอรูไต (忽里勒台 Kurultai) คือสภากรรมการการเมืองและการทหารของมองโกล มาจากคำว่า ‘เกอ’ แปลว่ารวมกัน เกอรูไตจึงหมายถึงการรวมกัน ประชุมกัน
จอมข่านทั้งหลาย เช่น เจ็งกิส ข่าน โอโกได ข่าน ล้วนผ่านการเลือกจากสภาเกอรูไต
1
จากบันทึกประวัติศาสตร์ มีบันทึกพิธีการเลือกจอมข่านว่า เมื่อเลือกผู้นำคนใหม่ พวกเขาจะให้ผู้นำคนใหม่นั่งบนผ้าขาว ยกเขาขึ้นสามครั้ง จากนั้นแบกผู้นำคนใหม่เดินรอบกระโจม แล้ววางเขาบนบัลลังก์ ยื่นดาบทองใส่ในมือของเขา และผู้นำคนใหม่จะกล่าวคำสาบาน
1
พิธีเลือกผู้นำคนใหม่รวมการกินเลี้ยงและการละเล่นด้วย เช่น มวยปล้ำ ยิงธนู
ในการเลือกจอมข่าน หัวหน้าหรือระดับสูงของเผ่าต่างๆ จะต้องมาร่วมพิธี จะเห็นว่าในกาลต่อมาเมื่อ เจ็งกิส ข่าน ตาย หัวหน้าที่กำลังรบอยู่ในดินแดนต่างๆ ก็รีบถอยกลับไปร่วมพิธี บางคนกำลังรบอยู่ที่ยุโรป หรือเปอร์เซีย ก็ต้องกลับทันที
1
นอกจากนี้มองโกลยังตำแหน่งอื่นๆ เช่น เกอข่าน (菊兒汗 Gur Khan) เป็นตำแหน่งข่านชั้นสูง ใช้ในพวกมองโกลและชี่ตันในอาณาจักรเหลียวตะวันตก ฯลฯ
2
เจ็งกิส ข่าน ปรับระบบมองโกลให้เป็นกองทัพ โดยใช้หน่วยพัน เรียกว่า มิงกัน (mingghan) ใช้หน่วยพันในทุกระบบ ไม่เฉพาะการทหาร
1
หลักการจัดทัพของ เจ็งกิส ข่าน คือทหารสิบคนเป็นหนึ่งหมู่ สิบหมู่เป็นหนึ่งกองร้อย สิบกองร้อยเป็นหนึ่งกรม
1
กองทัพมองโกลประกอบด้วยทัพหน้าซึ่งสวมเกราะ หมวกหนังสัตว์ แผ่นกันหน้าอก ส่วนทัพหลังเป็นกองกำลังเสริม ประกอบด้วยพลธนู ไม่สวมเกราะ เพื่อความคล่องแคล่วและเคลื่อนที่เร็ว เวลาทำศึกพวกมองโกลจะนำม้าเผื่อไปด้วยเสมอ ม้าตัวที่สองบรรทุกอาวุธและเสบียง ในกรณีฉุกเฉินม้าตัวที่สองจะถูกฆ่าเป็นอาหารประทังชีวิต
2
รอบคอบอย่างนี้จึงครองโลกได้
ทหารมองโกลตัวไม่ใหญ่ แต่ขี่ม้าเก่ง ยิงธนูแม่น ยิงธนูได้ไกลถึง 320 เมตร มีวินัยสูง แม้ทหารตัวเล็ก ม้าก็ตัวเล็ก แต่มีความคล่องตัวสูงยิ่ง เป็นกองทัพที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในยุคนั้น
นอกจากนี้มีหน่วยสอดแนมข้าศึก เพื่อรู้ก่อนว่าข้าศึกมีกำลังเท่าใด มีจุดอ่อนจุดแข็งอะไร
เจ็งกิส ข่าน มีชีวิตบนคมหอกคมดาบ และในเวลานั้นการลอบสังหารผู้นำเผ่าเกิดขึ้นเสมอเพราะชาวมองโกลอาศัยในกระโจม หอกดาบแทงทะลุกระโจมได้
2
เป็นที่มาของการก่อตั้งหน่วยเคชิค (Kheshig)
1
เคชิคคือองครักษ์ มีหน้าที่ป้องกันอันตรายให้ เจ็งกิส ข่าน ต่อมาก็ขยายไปสู่เหล่าผู้นำ เคชิคเป็นพวกลูกหลานของนายทหาร แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มองครักษ์กลางวันกับกลุ่มองครักษ์กลางคืน เคชิคไม่เข้ารบในสงคราม เป็นเพียงองครักษ์
มีการวิเคราะห์ว่า การตั้งเคชิคโดยใช้ลูกหลานของนายทหารเป็นความชาญฉลาดของ เจ็งกิส ข่าน ที่จะรับประกันความจงรักภักดีของเหล่าทหารเหล่านั้น คล้ายใช้ลูกหลานของพวกเขาเป็นตัวประกัน!
เจ็งกิส ข่าน มีเคชิคหมื่นคน ส่วนหลานของเขา กุบไล ข่าน ในกาลต่อมามีเคชิคถึง 12,000 คน
1
เจอเปมีบทบาทช่วยขยายอาณาจักรมองโกล เป็นยอดนักรบที่มีวิธีรบที่พลิกแพลง
1
เจอเปได้รับความไว้วางใจให้บัญชาทัพใหญ่ มีบทบาทในการโจมตีอาณาจักรจิน โดยบัญชาทัพปีกซ้ายพร้อมกับซูบูไต หน่วยทหารของเจอเปยึดป้อมค่ายข้าศึกหลายป้อม แล้วไปรวมตัวกับทัพ เจ็งกิส ข่าน จากนั้นก็ไปรบ
1
ปี 1211เจอเปเอาชนะพวกจินในยุทธการผาจิ้งจอกป่า (The Battle of Yehuling) ศึกนี้ชี้ผลแพ้ชนะของมองโกลกับจิน
ฤดูหนาวปีนั้น เจอเปบุกไปยึดเมืองเหลียวหยาง เขาลวงทหารที่รักษาเมืองเหลียวหยางโดยทำทีถอยทัพไกล ทิ้งข้าวของทรัพย์สินที่ปล้นชิงมาเรี่ยราด กองทหารที่ไล่ตามก็หยุดเก็บสมบัติเจอเปก็ยกทัพตลบกลับ โดยอาศัยความยาวของกลางคืนในฤดูหนาว ภายในหนึ่งวันหนึ่งคืน บุกเข้ายึดเมืองเหลียวหยางสำเร็จ มองโกลชนะจิน ยึดภาคเหนือของจินได้หมด
2
ต่อมาต้าจินยอมจำนน พร้อมกับถวายเครื่องบรรณาการให้มองโกล
เจอเปไปปฏิบัติภารกิจสงครามในสมรภูมิต่างๆ เป็นที่ไว้ใจในฝีมือ ความสามารถในเชิงยุทธ์ของเจอเปชนะกูคูลุก ทำให้ เจ็งกิส ข่าน เริ่มกังวล ระแวงว่าเจอเปจะคิดการใหญ่หรือไม่ เพราะมีความสามารถจะก่อกบฏได้ เมื่อเจอเปทราบความในใจของ เจ็งกิส ข่าน ก็เข้าไปคุยกันตรงๆ
ยุทธการผาจิ้งจอกป่า ภาพโดย Rashid-al-Din Hamadani
ตำนานเล่าว่าเจอเปมอบม้าหนึ่งร้อยตัวให้ เจ็งกิส ข่าน เป็นม้าพันธุ์เดียวกับที่ เจ็งกิส ข่าน ขี่เมื่อถูกเจอเปยิงด้วยธนูในกาลโน้น เป็นสัญลักษณ์ว่าเขายังจงรักภักดีต่อท่านข่าน
3
ประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึกว่าเจอเปตายอย่างไร และเมื่อไร คาดว่าอาจตายหลังจากไปทำสงครามในยุโรปตะวันออกเมื่อปี 1224
นอกจากเจอเปแล้ว ก๊วยเจ๋งยังมีความผูกพันกับโตลุย (เซลุย) ลูกคนเล็กของ เจ็งกิส ข่าน แต่ภาพของโตลุยในนิยายต่างจากประวัติศาสตร์พอสมควร
อย่างน้อยจุดหนึ่งคือโตลุยดื่มเหล้าจัด จนนักประวัติศาสตร์เชื่อว่าเขาอาจตายเมื่ออายุเพียง 41 เพราะโรคเกี่ยวกับพิษสุรา
ในประวัติศาสตร์จริง เจ็งกิส ข่าน มักพาลูกชายไปร่วมรบเสมอ มีลูกสี่คนที่เกิดจากภรรยาหลวง บอตี อูจิน ซึ่งหนึ่งในนั้นจะก้าวขึ้นแทนบิดา
เจ็งกิส ข่าน
บุตรชายคนแรกคือ โจชิ (朮赤 Jochi ภาษาจีนออกเสียง ชู่ชี่) เกิดจากภรรยาหลวง บอตี อูจิน แต่ไม่รู้ว่าเป็นลูกใคร เพราะนางถูกพวกเมอร์คิตลักพาตัวไป กว่าเตมูจินช่วยออกมา ก็ผ่านไปหลายเดือน และคลอดโจชิไม่นานหลังจากนั้น แม้โจชิไม่ใช่ลูกที่แท้จริง เจ็งกิสข่านก็ถือโจชิเสมือนลูก เป็นนักรบที่สามารถ ร่วมรบกับพ่อเสมอ แต่ในหมู่พี่น้อง โจชิยังเป็นเหมือนคนนอก และรับรู้โดยปริยายว่าจะไม่ได้เป็นผู้นำคนต่อไป
บุตรชายคนที่สองคือ ชากาไต (察合台 Chagatai ภาษาจีนออกเสียง ฉาเหอไถ) เป็นคนใจร้อน มีบทบาทร่วมรบบุกอาณาจักรจินในปี 1211 พร้อมโจชิและโอโกได ต่อมาก็ไปร่วมรบกับพ่อและพี่น้อง บุกอาณาจักรต่างๆ
บุตรชายคนที่สามคือ โอโกได (窩闊台 Ogedai ภาษาจีนออกเสียง วอกั้วไถ) เมื่อยังเล็กก็เข้าร่วมรบสู้กับจามูกา โอโกไดได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่รอดมาได้
โอโกไดรบกับพวกจินช่วงปี 1211-1213 และยังรบในสงครามกับซีเสี้ย จิน ซ่ง
ช่วงที่มองโกลบุกเปอร์เซีย โอโกไดกับชากาไต ฆ่าหมู่ชาวเมืองโอตรา
เนื่องจากชากาไตเข้ากับโจชิไม่ค่อยได้ ไม่ลงรอยกันหลายเรื่อง เช่น ยุทธวิธีทำศึก เจ็งกิส ข่าน จึงเลือกโอโกไดเป็นทายาท เพราะมีบุคลิกประนีประนอมกว่า
แม้โอโกไดถูกวางตัวเป็นทายาททางการเมือง แต่พวกมองโกลบางกลุ่มไม่พอใจสิ่งที่โอโกไดกระทำในปี 1237 นั่นคือสั่งข่มขืนหมู่หญิงสาวชาวหว่าล่า*สี่พันคนที่มีอายุเกินเจ็ดขวบขึ้นไป หญิงเหล่านี้จะถูกส่งไปตามฮาเร็มหรือซ่องของมองโกล
1
(* หว่าล่า (Oirats) เป็นพื้นที่ทางตะวันตกของจีน)
1
โจชิตายก่อนพ่อราวหกเดือน โตลุยดูแลกิจการต่างๆ ชั่วคราว จนเมื่อโอโกไดได้รับเลือกเป็นผู้นำคนใหม่ในปี 1229 ซึ่งตรงกับความปรารถนาของ เจ็งกิสข่านเช่นกัน
ส่วน โตลุย (拖雷 Tolui ภาษาจีนออกเสียง ทัวเหลย) เป็นลูกชายคนที่สี่ของ เจ็งกิส ข่าน เก่งการศึก รบพุ่งมาหลายที่
ตอนที่ เจ็งกิส ข่าน เริ่มทำสงครามขยายอำนาจ โตลุยยังเด็กเกินไปที่ร่วมรบ โตลุยรบครั้งแรกกับพวกจินในปี 1213 ต่อมามีบทบาทรบกับพวกซีเสี้ย เปอร์เซีย และอีกหลายสมรภูมิ
จนกระทั่งถึงจุดที่ เจ็งกิส ข่าน ตัดสินใจไป ‘ทัวร์รอบโลก’
ในตอนหนึ่งของ มังกรหยก อ้วนง้วนอั้งเลียกแห่งราชวงศ์จินพยายามจับมือกับพวกควาเรซเมียน หวังสร้างพันธมิตรต่อกรกับมองโกล แต่ถูกพวกมองโกลจับฆ่า
ไม่เพียงฆ่าอ้วนง้วนอั้งเลียก ยังทำลายอาณาจักรควาเรซเมียนด้วย
ควาเรซเมียนคือที่ไหน?
อาณาจักรควาเรซเมียน (Khwarazmian) ก็คืออาณาจักรเปอร์เซีย มีความสัมพันธ์กับพวกชี่ตัน ครอบครองพื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือเอเชียกลาง อัฟกานิสถาน อิหร่าน นาน 154 ปี
และจบสิ้นเพราะ เจ็งกิส ข่าน
มันเริ่มมาจากในราวปี ค.ศ. 1219-1220 พ่อค้าชาวมองโกลกลุ่มหนึ่งถูกพวกเปอร์เซียสังหาร ชาห์ มูฮัมเหม็ดที่ 2 ผิดสัญญาที่ทำไว้กับมองโกล สั่งประหารกองพ่อค้าทั้งหมด เจ็งกิส ข่าน ส่งทูตสามคนไปเจรจา ชาห์ มูฮัมเหม็ดที่ 2 ฆ่าทิ้งทูตหนึ่งคน ล้อเลียนทูตอีกสองคนกลางที่สาธารณะ มันจุดไฟพิโรธในตัว เจ็งกิส ข่าน พุ่งพรวด
จอมข่านทิ้งศึกที่เมืองจีนหันมาบุกควาเรซเมียน
ทัพมองโกลสองหมื่นคนนำโดยโจชิและเจอเป ข้ามเทือกเขาเทียนซานลงใต้ มุ่งสู่อาณาจักรเปอร์เซีย กองทัพมองโกลฝ่าหิมะหนากลางฤดูหนาว ข้ามหุบเขาเฟอร์กานา ไปหยุดที่หน้าเมือง
ชาห์ตะลึงพรึงเพริด ไม่คาดฝันว่าทัพมองโกลจะเดินทางมาถึงรวดเร็วและปรากฏตัว ณ จุดนี้ได้ การเดินทางของมองโกลครั้งนี้เปรียบได้กับการข้ามภูเขาเอลป์สของจอมทัพฮันนิบาลเมื่อ 218 ปีก่อนคริสต์กาล
1
ชาห์ มูฮัมเหม็ดที่ 2 คิดผิดใหญ่หลวงที่ไปแหย่รังแตน เพราะแตนมองโกลไม่เคยลืมความแค้น และสู้จนตายไปข้างหนึ่ง
ไม่ช้ากองทัพแตนอื่นๆ ของมองโกลก็ตามมา และความพินาศก็มาเยือนอาณาจักรของชาห์
ปีถัดมา เจ็งกิส ข่าน ส่งโตลุยไปสมทบที่เปอร์เซีย เหตุหนึ่งเพราะชาวนิชาปุระฆ่าพี่เขยของโตลุย
กองทัพโตลุยถล่มเมืองนิชาปุระและเมิร์ฟจนราบคาบ สังหารหมู่คนทั้งสองเมือง
อาณาจักรควาเรซเมียนถูกทำลายสิ้น เลือดนองแผ่นดินที่มากับความพิโรธของจอมข่าน
การแหย่รังแตนครั้งนั้นเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์โลก
หลังการยึดครองเปอร์เซีย ก็เป็นจุดเริ่มของการบุกเอเชียกลางและโลกอิสลามอื่นๆ
มองโกลบุกไปเรื่อย ผู้นำเมืองไหนต่อต้าน ก็ฆ่าประชาชนหมดทั้งเมือง ชาวเมืองใดสู้ ก็ฆ่าหมดทั้งเมืองเช่นกัน
1
เจ็งกิส ข่าน เชี่ยวชาญสงครามจิตวิทยา ใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือสำคัญ จอมข่านไม่จับเป็นเชลยศึก ฆ่าศัตรูแบบถอนรากถอนโคน ทำให้หลายเมืองไม่คิดสู้ หรือหนีไปก่อนที่ทัพมองโกลจะมาถึงประตูเมือง
1
เจ็งกิส ข่าน คิดหนักว่าจะเลือกใครเป็นผู้นำมองโกลคนต่อไปหลังจากตนตาย เขามีลูกชายสี่คนกับ บอตี อูจิน แต่เขามองที่สองคนคือโอโกไดกับโตลุย ทั้งคู่มีจุดเด่นจุดด้อย ในที่สุด เจ็งกิส ข่าน ตัดสินใจยกให้โอโกได และที่ประชุมก็เลือกโอโกไดเช่นกัน
เมื่อ เจ็งกิส ข่าน ตาย โตลุยเป็นผู้ดูแลอาณาจักรอยู่สองปี ก่อนส่งมอบอำนาจให้โอโกได
เมื่อ เจ็งกิส ข่าน ตายนั้น อาณาจักรมองโกลกินดินแดนกว้างไกลถึงแปดพันกิโลเมตร จากแผ่นดินจีนข้ามไปถึงอ่าวเปอร์เซีย แต่โอโกไดขยายดินแดนมองโกลต่อไป จนอาณาจักรมองโกลไปสุดตะวันตกและใต้ เขาทำศึกในเมืองจีน เปอร์เซีย เอเชียกลาง
1
แม้ทั้งโจชิ ชากาไต และโตลุยไม่ได้เป็นผู้นำคนต่อไป แต่ลูกหลานของพวกเขามีบทบาทในการแผ่ขยายอำนาจของมองโกล
3
หลังจาก เจ็งกิส ข่าน ตาย อาณาจักรมองโกลก็ค่อยๆ แยกตัวออกเป็นสี่ก๊กย่อย เชื่อมกันด้วยผู้นำสูงสุด แต่ละก๊กปกครองด้วยข่าน จึงเรียกว่าก๊กข่านหรือหันกัวะ (汗國 khanates หรือ khaganate)
1
หัน = ข่าน กัวะ = ก๊ก
ทั้งสี่ก๊กข่านได้แก่
1
ก๊กข่านกระโจมทอง (กลุ่มโจชิ) ทางตะวันตกเฉียงเหนือ
1
ก๊กข่านชากาไต (กลุ่มชากาไต) ในเอเชียตะวันตก ฐานที่มั่นคือเมืองบูคารา (Bukhara) ซึ่งมีอิทธิพลของอิสลาม
ก๊กอิลข่าน (Il-Khanate กลุ่มของโตลุย) ในตะวันตกเฉียงใต้ ก่อตั้งโดย ฮูลากู ข่าน บุตรชายของโตลุย (ผู้นำก๊กอิลข่านเรียกว่า อิลข่าน)
1
ราชวงศ์หยวน (ก๊ก กุบไล ข่าน) ทางตะวันออก
1
กองทัพโตลุยถล่มเมืองนิชาปุระ
ในก๊กข่านของโจชิที่ภายหลังเรียกว่าก๊กกระโจมทอง (Golden Horde) ลูกชายคนที่เด่นที่สุดคือ บาตู ข่าน แม้ว่าเขาเป็นลูกชายคนรอง แต่กลับได้รับตำแหน่งต่อจากพ่อ โดยความยินยอมของลูกชายคนโต ออร์ดา อีเชน
บาตู ข่าน ดูแลก๊กกระโจมน้ำเงิน (หรือบางตำราเรียกกระโจมขาว) ส่วน ออร์ดา ข่าน ดูแลก๊กกระโจมขาว (White Horde)
ก๊กกระโจมทองเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรมองโกลด้านตะวันตกเฉียงเหนือ คำว่า ‘กระโจมทอง’ นักประวัติศาสตร์ใช้ในภายหลัง เริ่มใช้ในศตวรรษที่ 16 นามก๊กกระโจมทองมาจากสีของกระโจมของพวกมองโกลที่ใช้ช่วงสงคราม หรืออาจมาจากสีของกระโจมของ บาตู ข่าน
หลังจาก บาตู ข่าน ตาย เบอไก ข่าน (Berke Khan / Birkai Khan จีนเรียก เปี๋ยเอ๋อเกอ อิสลามเรียก บะรอกะฮฺ ข่าน) สืบทอดอำนาจต่อจาก บาตู ข่าน ผู้เป็นพี่ชาย
หลังจากนั้นก๊กกระโจมทองก็ยิ่งใหญ่ขึ้นไปกว่าเดิม รุ่งเรืองที่สุดในยุค อูซเบค ข่าน ช่วงนี้รับศาสนาอิสลามมา อาณาเขตของกระโจมทองยิ่งใหญ่กว้างจากไซบีเรียและเอเชียกลางไปถึงยุโรปตะวันออก จากทะเลดำถึงทะเลแคสเปียนทางใต้ ถึงแม่น้ำดานูบ ทางใต้กินพื้นที่ถึงทะเลแคสเปียน
2
ส่วนก๊กข่านของโตลุยก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน ลูกๆ ของเขาสืบสานอำนาจต่อไปในการแผ่ขยายดินแดนมองโกล
1
มองเกอ ข่าน เป็นบุตรชายคนโตของโตลุย ได้ขึ้นสู่อำนาจ เป็นจอมข่านคนที่สี่
1
กุบไล ข่าน เป็นบุตรชายคนที่สองของโตลุย หลังจากมองเกอตาย กุบไล ข่าน แย่งชิงอำนาจกับอาหลี่ปู้เกอ (Ariq Boke) น้องชาย กุบไล ข่าน เป็นฝ่ายมีชัย ขึ้นครองอำนาจมองโกลต่อ
กุบไล ข่าน โค่นราชวงศ์ซ่งลงสำเร็จ ครองดินแดนจีนได้ทั้งหมด สถาปนาราชวงศ์หยวน
ฮูลากู ข่าน บุตรชายคนที่สามของโตลุย ยกทัพพิชิตดินแดนตะวันออกกลาง ก่อตั้งก๊กอิลข่าน (Il-Khanate)
อาหลี่ปู้เกอ บุตรชายคนที่สี่ของโตลุย ต่อมาแย่งชิงอำนาจกับกุบไลข่าน
ในบรรดานี้ ลูกสองคนของโตลุยคือ มองเกอ ข่าน กับ กุบไล ข่าน ก็ได้พบกับก๊วยเจ๋งและเอี้ยก้วย ใน มังกรหยก ภาค 2
เหตุที่มองโกลไปครองดินแดนอื่นๆ นานๆ ก็หนีไม่พ้นที่สูญเสียอัตลักษณ์ของมองโกลไปทีละน้อย หรือเรียกว่าถูกกลืนชาติ มองโกลในเมืองจีนและเปอร์เซียค่อยๆ สูญเสียอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์มองโกล แต่สำหรับกลุ่มที่สืบสายมาจากชากาไตกับโอโกได ยังคงความเป็นมองโกลเหนียวแน่น
3
มองโกลหลายกลุ่มไม่ชอบใจการเปลี่ยนเป็นจีนของ กุบไล ข่าน ไม่ต้องการให้มองโกลสูญเสียตัวตนไป ต้องการใช้ชีวิตแบบมองโกลในอดีต ท่องไปในทุ่งกว้าง
1
แต่ใครจะสามารถหยุดความเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับอำนาจ?
ในก๊กอิลข่าน อิลข่านหลายคนเปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลาม และต่อมาเมื่ออาณาจักรมองโกลเริ่มเสื่อมโดยเฉพาะเมื่อ กุบไล ข่าน ตาย ก๊กอิลข่านก็เป็นอิสระมากขึ้น กลายเป็นรัฐอิสลาม หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ถอยห่างจากรัฐมองโกลไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก๊กอิลข่านก็ไม่มีความเชื่อมต่อกับพวกมองโกลต้นฉบับอีก
ก๊กอิลข่านล่มสลายไปราวปี 1335–1353
ก๊กข่านกระโจมทองก็เช่นกัน มันเปลี่ยนแปลงจากกลุ่มอำนาจของมองโกลกลายเป็นก๊กอิสลาม หลังจากนั้นแตกเป็นก๊กเติร์กย่อยๆ และมีชื่อเรียกรวมๆ กันว่า กระโจมยิ่งใหญ่ (大帳汗 Great Horde)
ต่อมาก็ร่วงโรยลงไปตามสัจธรรม แตกเป็นหลายกลุ่มย่อย ขนาดเล็กลง และอ่อนกำลังลง เช่นเดียวกับก๊กข่านอื่นๆ ของมองโกล
1
ก๊กข่านกระโจมทองล่มไปราวปลายศตวรรษที่ 15 โดยพวกรัสเซีย
1
ก๊กข่านชากาไตล่มไปราว 1687
ไม่มีอำนาจใดยั่งยืนค้ำฟ้า
25 บันทึก
85
5
30
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Blockdit Originals ยุทธจักรวาลกิมย้ง
25
85
5
30
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย