Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
PT and Hydro
•
ติดตาม
7 ต.ค. 2021 เวลา 07:47 • สุขภาพ
โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ฝึกกายภาพบำบัดไปทำไม?
การทำกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาความสามารถและแก้ไขความบกพร่องด้านการเคลื่อนไหว การทรงตัว รวมถึงความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง เพื่อให้สภาพร่างกายกลับมาใช้งานได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด หรือช่วยให้ผู้ป่วยดำรงชีวิตได้แม้อาจมีความพิการหลงเหลืออยู่
สมองของคนเรามีความสามารถในการเปลี่ยนแปลง หรือมีความยืดหยุ่นในการปรับโครงสร้างของระบบประสาท หรือที่เรียกว่า Neuroplasticity ทำให้สามารถเรียนรู้และเสริมสร้างศักยภาพสำหรับการเคลื่อนไหวได้ นั่นจึงเป็นวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งของการรักษาทางกายภาพบำบัด ซึ่งมีรูปแบบการรักษาที่ฝึกให้สมองมีการเรียนรู้การเคลื่อนไหวที่ถูกต้องเหมาะสม
หลักการฝึกผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองคืออะไร?
การฝึกผู้ป่วยทางกายภาพบำบัดในปัจจุบันมีด้วยกันหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับปัจจัยในด้านต่างๆ ของผู้ป่วย เช่น ความรุนแรงของรอยโรค อายุ โรคประจำตัว ภาวะแทรกซ้อน และอื่นๆ และขึ้นอยู่กับการประเมินทางด้านร่างกายของแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ร่วมกับนักกายภาพบำบัด เพื่อกำหนดเป้าหมายของการฝึกร่วมกัน
ระยะเวลาที่ถือว่าเป็นช่วงทองของการฟื้นตัวของสมอง อยู่ช่วงประมาณ 3-6 เดือนแรกหลังจากเกิดโรค ซึ่งช่วงนี้ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาทางกายภาพบำบัดอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อผ่านช่วงเวลาดังกล่าวไป การฟื้นตัวจะค่อยๆ ลดลง แต่ผู้ป่วยควรฟื้นฟูและออกกำลังกายตามที่นักกายภาพบำบัดแนะนำอย่างต่อเนื่อง
หลักการโดยทั่วไปสำหรับการฟื้นฟูร่างกายสรุปได้ 3 ข้อ (อ้างอิงจากการฝึก task oriented and functional training) ได้แก่
1. เคลื่อนไหวและควบคุมร่างกายให้ถูกต้อง
พยายามฝึกให้ผู้ป่วยเกิดความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกายที่ถูกต้อง ลดการเกิดการเคลื่อนไหวชดเชยจากส่วนอื่นๆ ตัวอย่างที่มักพบเห็นได้บ่อย คือ การเดินล็อคเข่าหรือเดินเข่าแอ่น เนื่องจากเป็นการเดินที่ผู้ป่วยรู้สึกมั่นคงและทำได้ง่าย แต่ในระยะยาวจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการเดินได้ จึงควรได้รับการฝึกควบคุมการทำงานของเข่าและสะโพกตั้งแต่ช่วงแรกๆ เพื่อไม่ให้เกิดการเคลื่อนไหวชดเชยดังกล่าว
2. เริ่มฝึกจากง่ายไปยาก
เริ่มจากพิจารณาระดับความสามารถและการเคลื่อนไหวร่างกายที่สอดคล้องกับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การพลิกตะแคงตัว การลุกขึ้นนั่ง การลุกขึ้นยืน การยืนทรงตัว การเดิน ฯลฯ เป็นต้น โดยหาองค์ประกอบการเคลื่อนไหวของส่วนที่ผู้ป่วยขาดไปในแต่ละกิจกรรม และจึงฝึกพัฒนาความสามารถในการเคลื่อนไหวย่อยส่วนนั้น จากนั้นจึงกลับมาฝึกการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับกิจกรรมดังกล่าว
ตัวอย่างเช่น การที่เราจะลุกขึ้นยืนได้ เราควรจะต้องมีการวางเท้าอยู่หลังต่อข้อเข่าเล็กน้อย มีการโน้มตัวถ่ายน้ำหนักมาทางด้านหน้า เมื่อถึงจุดที่น้ำหนักของเราตกถึงเท้า สะโพก เข่าและลำตัวจะต้องเกิดการเหยียดขึ้น และเราต้องสามารถยืนทรงตัวในท่ายืนได้
แต่สำหรับผู้ป่วยบางท่าน อาจไม่สามารถโน้มตัวถ่ายน้ำหนักไปทางด้านหน้าได้ดี หรือใช้วิธีการเหนี่ยวแขนผู้ช่วยเหลือ ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะทำให้เสียพลังงานในการเคลื่อนไหวเกินความจำเป็น ดังนั้นจึงควรฝึกให้สมองเรียนรู้การถ่ายน้ำหนักไปทางด้านหน้า โดยอาจจะใช้วิธีการนำมือผู้ป่วยประสานกัน เหยียดแขนเอื้อมไปทางด้านหน้า พร้อมกับยกก้นลอยจากเก้าอี้เล็กน้อย เมื่อผู้ป่วยทำได้ดีแล้วจึงกลับมาเริ่มฝึกการลุกขึ้นยืนใหม่ เป็นต้น
3. เคลื่อนไหวซ้ำๆ
การจะทำให้สมองเกิดการเรียนรู้ จำเป็นต้องอาศัยการทำซ้ำๆ แต่ต้องอย่าลืมว่าควรจะจัดให้มีการพักเป็นช่วงๆ ระหว่างการฝึกร่วมด้วย เพื่อป้องกันการล้าที่อาจเกิดขึ้น เพราะถ้าเกิดอาการล้าจะเกิดการเคลื่อนไหวที่ใช้ส่วนอื่นมาช่วยชดเชยได้ง่าย และส่งผลให้เกิดการเรียนรู้การเคลื่อนไหวแบบผิดๆ ตามมา ดังนั้นไม่ควรหักโหมในการฝึกมากเกินไป
ในหลายๆ การฝึกอาจมีการใช้อุปกรณ์และเทคนิคเพื่อเพิ่มความสามารถหรือช่วยในการเคลื่อนไหวร่วมด้วย อาทิเช่น การฝึกในน้ำ การใช้กายอุปกรณ์ การใช้หลักการหรือเครื่องมือที่ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวของผู้ป่วย อย่าง biofeedback เป็นต้น
โรคหลอดเลือดสมองเป็นแล้วหายได้หรือไม่?
พูดกันตามตรงคงตอบได้ว่า “ไม่หาย” แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับรอยโรค ตำแหน่ง ปัจจัยทางด้านสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย บางท่านมีเพียงรอยโรคที่เกิดจากการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดสมอง แล้วได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาการแสดงที่เกิดขึ้นก็จะน้อย อาจมีการอ่อนแรงของร่างกายไม่มาก ทำให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ค่อนข้างใกล้เคียงกับคนปกติ แต่ยังคงต้องรักษาสุขภาพและหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
หรือบางท่านมีรอยโรคที่เกิดจากการแตกของหลอดเลือด ทำให้เกิดเนื้อสมองตายเป็นวงกว้าง อาการแสดงก็จะมากและส่งผลต่อการเคลื่อนไหวได้มากเช่นกัน อย่างไรก็ตามกายภาพบำบัดยังคงมีส่วนเข้ามาช่วยดูแลได้ในทุกสภาวะ แต่อาจจะมีวัตถุประสงค์และการจัดการที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้ครอบคลุมกับสภาวะของโรค ตลอดจนการช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ในช่วงแรกของการเกิดโรคอาจต้องใช้ระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนหลายสิ่งหลายอย่าง ดังนั้นการรู้ เข้าใจ และยอมรับถึงสภาวะของผู้ที่เกิดโรคหลอดเลือดสมอง ทั้งตัวผู้ป่วยเองและบุคคลรอบข้างจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งจะนำไปสู่การรับรู้ถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายอย่างมีสติ และพร้อมที่จะหาทางแก้ไขได้อย่างเหมาะสมครับ
บทความนี้เป็นการเล่าถึงกายภาพบำบัดกับผู้ที่มีภาวะโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อให้ทุกท่านได้ทราบถึงไอเดียของการรักษา และหวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะเกิดความเข้าใจครับ อย่าลืมติดตามบทความอื่นๆ ได้ที่ PT and Hydro
เรียนรู้เพิ่มเติม
blockdit.com
PT and Hydro
244 ผู้ติดตาม เผยแพร่ความรู้ และแบ่งปันประสบการณ์การรักษาด้วยศาสตร์ทางกายภาพบำบัดและธาราบำบัด
อ้างอิงเนื้อหา
กิ่งแก้ว ปาจรีย์, บรรณาธิการ. (2563). ปวดกระดูกและกล้ามเนื้อ การบำบัดรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู. กรุงเทพฯ: ภาควิชาเวชศาตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.
stroke
กายภาพบำบัด
อัมพฤกษ์อัมพาต
บันทึก
10
5
10
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย