Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
WAY
•
ติดตาม
12 ต.ค. 2021 เวลา 05:27 • หนังสือ
ประวัติศาสตร์แห่งความรุนแรง (L’Histoire de la Violence) เป็นหนังสือวรรณกรรมแนวอัตชีวประวัติของ เอดูอารด์ หลุยส์ (Édouard Louis) นักเขียนฝรั่งเศสรุ่นใหม่ผู้นิยามตัวเองว่าเป็น ‘ฝ่ายซ้าย’ ที่น่าจับตามองมากในขณะนี้
เรื่องราวในเล่มคือการบอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัวที่เอดูอารด์ถูกข่มขืนและพยายามฆ่าโดย ‘เรดา’ หนุ่มอาหรับแปลกหน้าที่พบกันที่จัตุรัสสาธารณรัฐ (Place de la République) กรุงปารีส และถูกตาต้องใจกัน ในคืนวันคริสต์มาส ปี 2012
พวกเขาได้สานสัมพันธ์อันโรแมนติกในค่ำคืนนั้น และทั้งคู่ยังแสดงออกซึ่งความเข้าอกเข้าใจผ่านบทสนทนาถึงเรื่องราวความเป็นอยู่ในชีวิตของกันและกันในฐานะผู้ประสบภัยจากความรุนแรงเชิงโครงสร้างทางสังคม ความสัมพันธ์ดูเหมือนว่าจะไปได้สวย เขาทั้งคู่พูดคุยกันถึงนัดหมายครั้งถัดไป แต่ทว่า โทรศัพท์และแท็บเล็ตของเอดูอารด์หายไปหลังจากที่เขาออกมาจากห้องน้ำ เขาเหลือบไปเห็นมันโผล่ออกมาจากกระเป๋าของเรดา
จากนั้นจึงเป็นเรื่องราวของความรุนแรง ในข้อหาข่มขืนและพยายามฆ่า
แต่จากเรื่องที่เป็นเหมือนเรื่องส่วนตัวนี้ กลับถูกนำมาใช้เพื่อเชื่อมโยงไปถึงประวัติศาสตร์ของความรุนแรงทางเพศได้อย่างเฉียบคม
นอกจากนั้นยังซ้อนทับกับอคติต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นอคติต่อเหล่าเพศทางเลือก อคติต่อชาติพันธุ์ และการถูกกระทำซ้ำๆ เสมือนการทารุณเหยื่อในขณะดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม
ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้คือการฉวยใช้ประสบการณ์มือหนึ่งอันหนักหน่วง เพื่อไล่เลียงความคิดอย่างเป็นระบบ โดยสุดท้ายคือการคลี่คลายให้ผู้อ่านมองเห็นความซับซ้อนของปัญหาความรุนแรงที่ลึกซึ้งกว่ามิติของปัจเจกบุคคล รวมถึงชวนพิจารณาถึงเหตุปัจจัยในเชิงโครงสร้างสังคมที่มีผลต่อการกำหนดทิศทางความคิดและเงื่อนไขแห่งการมีชีวิตของเราทุกคน ทั้งหมดนั้นกระทำผ่าน ‘ภาษา’ ซึ่งตัวผู้เขียนเองนั้นรู้ซึ้งดีถึงสุญญากาศระหว่าง ‘ความจริง’ และ ‘ถ้อยคำ’ วรรณกรรมอัตชีวประวัติเล่มนี้จึงสะท้อนสุญญากาศนั้นออกมาในกลวิธีทางการเขียนที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
หากพิจารณาชื่อเรื่อง… ประวัติศาสตร์แห่งความรุนแรง (L’Histoire de la Violence) เราอาจเผลอเข้าใจว่าหนังสือเล่มนี้คงไม่ต่างจากหนังสือประวัติศาสตร์เล่มหนาที่เต็มไปด้วยชุดความรู้และข้อมูลเชิงวิชาการ แต่แท้ที่จริงแล้วหนังสือเล่มนี้คือผลงานวรรณกรรมแนวอัตชีวประวัติเล่มที่สองของนักเขียนฝรั่งเศสรุ่นใหม่ผู้นิยามตัวเองว่าเป็น ‘ฝ่ายซ้าย’ และเป็นที่จับตามองมากในขณะนี้… ‘เอดูอารด์ หลุยส์’ (Édouard Louis)
ในหนังสือเรื่อง ประวัติศาสตร์แห่งความรุนแรง … เอดูอารด์บอกเล่าความรุนแรงที่ตนประสบ เขาเคยถูกข่มขืนและพยายามฆ่าโดยชายหนุ่มแปลกหน้าตาที่พบกันในคืนวันคริสต์มาส ปี 2012 แต่แล้วทำไมเหตุรุนแรงครั้งนี้จึงมีจุดเชื่อมโยงไปถึงประวัติศาสตร์ในมุมมองของเอดูอารด์
เรื่องย่อ
ขณะที่เอดูอารด์เดินทางกลับจากงานเลี้ยงฉลองคืนวันคริสต์มาส เขาพบ ‘เรดา’ ที่จัตุรัสสาธารณรัฐ (Place de la République) กรุงปารีส เรดาพยายามตามจีบเอดูอารด์และขอไปนอนด้วย เอดูอารด์ลังเลอยู่นานแต่ก็ไม่อาจต้านทานรูปลักษณ์ คารม และจังหวะจะโคนในบทสนทนาที่ดึงดูดของเรดาได้
มิใช่ความโรแมนติกหรือฉากร้อนรักแต่เพียงเท่านั้นที่เกิดขึ้นในค่ำคืนนั้น แต่เขาทั้งคู่ยังแสดงออกซึ่งความเข้าอกเข้าใจผ่านบทสนทนาถึงเรื่องราวความเป็นอยู่ในชีวิตของกันและกันในฐานะผู้ประสบภัยจากความรุนแรงเชิงโครงสร้างทางสังคม ความสัมพันธ์ดูเหมือนว่าจะไปได้สวย เขาทั้งคู่พูดคุยกันถึงนัดหมายครั้งถัดไป แต่ทว่า…
โทรศัพท์และแท็บเล็ตของเอดูอารด์หายไปหลังจากที่เขาออกมาจากห้องน้ำ เขาเหลือบไปเห็นมันโผล่ออกมาจากกระเป๋าของเรดา เขาจึงพอจะเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
เอดูอารด์พยายามคิดหาทางออกให้ละมุนละม่อมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้และคำนึงถึงความรุนแรงที่อาจปะทุขึ้นจากความรู้สึกอับอายของเรดาที่ถูกจับได้ว่าเป็นขโมย
ในช่วงแรก เอดูอารด์แสร้งทำเป็นไม่รู้ว่าเรดาขโมยทรัพย์สินของเขาไปและแกล้งขอให้เรดาช่วยหา โดยเอดูอารด์สร้างกติกาที่ว่าหากใครพบของก่อน คนนั้นจะได้รับเงินไป เอดูอารด์ตั้งใจเปิดช่องให้เรดาแสร้งทำเป็นหาของเจอเพื่อจะคืนของให้แก่เขาและรับเงินไปแทนที่จะต้องเอาของไปขาย… แต่ก็ไม่สำเร็จ
จนในที่สุดเอดูอารด์ตัดสินใจเดินไปหยิบแท็บเล็ตจากกระเป๋าคืนต่อหน้าต่อตาเรดาโดยคาดหวังว่าเรดาจะแสร้งทำเป็นหัวเราะและอ้างว่าเป็นการหยอกล้อเล่น แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เรดาโมโหจนเสียสติ เขาข่มขืนเอดูอารด์และใช้ผ้าพันคอรัดจนแทบจะหายใจไม่ออกก่อนที่จะหลบหนีไป
ต่อมา… เอดูอารด์ตัดสินใจดำเนินคดีและเข้ารับการรักษาตัวหลังจากที่ลังเลใจอยู่นานเพราะรู้ว่าตัวเองต้องเผชิญกับความรุนแรงผ่านกระบวนการยุติธรรมและการปฏิบัติจากหน่วยงานรัฐ แบบไม่จบไม่สิ้น
เอดูอารด์ได้เขียนเรื่องราวทั้งหมดที่เขาเผชิญลงในหนังสือเล่มนี้… พลังของการเขียนทำให้เขามองเห็นมิติของความรุนแรงที่ทั้งลึกซึ้งและซับซ้อนกว่าเหตุแห่งปัจเจกบุคคล แต่หากเป็นเหตุผลเชิงสังคมที่ดำรงอยู่ผ่านประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวความรุนแรงที่เกิดขึ้น…
● เรดาไม่ได้ฆ่า… แล้วใครฆ่า: คำถามจากเหยื่อถึงความเป็นเหยื่อ
เอดูอารด์เคยให้สัมภาษณ์ว่าตัวเขาเองก็ข้องใจอยู่เหมือนกันว่าเหตุใดสถานการณ์ถึงพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือได้อย่างรวดเร็ว
เขายืนยันว่าเขาไม่รู้สึกถึงเมล็ดพันธุ์แห่งอาชญากรรมในพฤติกรรมหรือคำพูดของเรดาเลยแม้แต่น้อย ตลอดช่วงข้ามคืนที่เขาทั้งคู่ทำความรู้จักและร่วมรักกัน
ในเหตุรุนแรงครั้งนี้… นอกเหนือจากการข่มขืนและพยายามฆ่า ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ‘คำพูด’ ของเรดาหลังจากที่เขาถูกจับได้ว่าเป็นขโมย
“นายหาว่าฉันเป็นขโมย ฉันไม่ได้ขโมย นายพูดแบบนี้เท่ากับว่านายตำหนิแม่ของฉัน นายไม่เคารพแม่ของฉัน”
อีกทั้งเรดายังย้ำประโยคที่ว่า “นายตำหนิแม่ของฉัน” หลายต่อหลายครั้ง
การที่เรดาเชื่อมโยงสถานภาพความเป็นหัวขโมยกับ ‘บรรพสตรี’ ภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาทีถือเป็นพฤติกรรมที่มีนัยสำคัญ อันที่จริงเราอาจจะสรุปแบบตื้นเขินว่าเรดาพยายามเบี่ยงประเด็นเพื่อกลบเกลื่อนความผิดของตัวเอง แต่ปมของปัญหาไม่ได้เรียบง่ายเช่นนั้นเพราะความเชื่อมโยงระหว่างสถานภาพความเป็นหัวขโมยกับบรรพสตรีนั้นกลับมีที่มาที่ไปซึ่งสอดคล้องกับอคติทางสังคมที่ชาวอาหรับ (ชาติพันธุ์ของเรดา) ต้องเผชิญในสังคมฝรั่งเศส
เจ้าหน้าที่ตำรวจ: “เหตุขโมยข้าวของมักจะเกิดจากพวกคนต่างชาติ ส่วนมากก็เป็นพวกอาหรับ”
และ
ชาวบ้าน (…) คงจะพูดคุยกันว่า “มัน (เอดูอารด์)โดนฆ่าตายแล้ว และไอ้คนฆ่าก็เป็นคนอาหรับที่บีบคอมัน ไอ้เวรอาหรับนั่นบีบคอมันตาย” แนวโน้มของเหตุการณ์ประมาณนี้มักจะถูกกล่าวโทษว่าเป็นคนอาหรับไว้ก่อนเสมอ (…)
ผู้อ่านจึงไม่ควรจะสรุปเหตุแห่งอาชญากรรมและความบ้าคลั่งของเรดาที่เกิดขึ้นนั้นว่าเป็นเพียงความเลวทรามและความไร้เหตุผลของปัจเจกบุคคล เพราะมากหรือน้อยก็ตาม เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเหตุแห่งความรุนแรงครั้งนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยทางสังคม และคำพูดของเรดาที่ว่า “นายตำหนิแม่ของฉัน” ได้ทำการเปิดโปงอคติทางสังคมนั้นซึ่งถูกบ่มเพาะผ่าน ‘ประวัติศาสตร์’ ที่ทั้งตัวเขา แม่ของเขา และคนชาติพันธุ์อาหรับต้องเผชิญเสมอมา
อย่างไรก็ตาม การตีความเช่นนี้ก็ดูมีแนวโน้มที่อาจจะด้อยค่าศรัทธาต่อความเป็นมนุษย์และปัจเจกบุคคลที่ยืนยันว่าทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกว่าจะกระทำหรือไม่กระทำการใดๆ เกินไปสักหน่อย
หรือเป็นไปได้ไหมที่จะอธิบายว่าเรดาฉกฉวยอคติทางชาติพันธุ์มาใช้กลบเกลื่อนความอับอายและสร้างความชอบธรรมให้ตัวเขาสามารถกระทำรุนแรงต่อเอดูอารด์
แต่ถึงกระนั้น หากไม่มีเหตุปัจจัยเรื่องของอคติทางสังคม เรดาจะยังสามารถมีข้ออ้างที่นำไปสู่การก่อเหตุรุนแรงครั้งนี้หรือไม่ หรือคิดไปให้ไกลกว่านั้น หากเรดามีเงื่อนไขแห่งการมีชีวิตที่ไม่ได้ลำบากยากแค้น ไม่ถูกกีดกันการเข้าถึงทรัพยากรทางสังคม มีโอกาสในชีวิตอย่างเสมอหน้ากับพลเมืองอื่นๆ เขายังจะสามารถก่อเหตุรุนแรงเช่นนี้อยู่หรือไม่
และเช่นเดียวกัน… เราไม่ควรสรุปเหตุการณ์ครั้งนี้แบบผิวเผินว่าเรดาคืออาชญากรและเอดูอารด์คือเหยื่อ เพราะเมื่อได้ถกให้ถึงที่สุดแล้ว เรดาเองก็อยู่ในสถานะของเหยื่อแห่งความรุนแรงด้วยเช่นกัน ต่างเพียงตำแหน่งแห่งที่ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางอาชญากรรมที่จัดสรรให้เรดาเป็นผู้กระทำและเอดูอารด์เป็นผู้ถูกกระทำ
เอดูอารด์ หลุยส์ (Édouard Louis)
ด้วยเหตุนี้เอง เอดูอารด์จึงทบทวนข้อหาที่เขาฟ้องเรดาอีกครั้ง
คดีจบลงในปี 2017 เอดูอารด์ตัดสินใจถอนฟ้องข้อหาพยายามฆ่า ส่วนเรดายังคงต้องรับโทษในข้อหาข่มขืนกระทำชำเราเนื่องจากมีบันทึกผลการตรวจร่างกายเอดูอารด์ไว้หลังจากวันเกิดเหตุ
บทวิเคราะห์ถึงเหตุแห่งความรุนแรงนี้น่าจะไขปริศนาถึงที่มาของชื่อหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์แห่งความรุนแรง’ ที่ต้องการให้ผู้อ่านมองเห็นความซับซ้อนของปัญหาความรุนแรงที่อาจลึกซึ้งกว่ามิติของปัจเจกบุคคล รวมถึงชวนพิจารณาถึงเหตุปัจจัยในเชิงโครงสร้างสังคมที่มีผลต่อการกำหนดทิศทางความคิดและเงื่อนไขแห่งการมีชีวิตของเราทุกคน
เราจะเห็นว่าบทบาทของ ‘ภาษา’ มีความสำคัญมากในเนื้อเรื่อง ซึ่งนอกจากภาษาจะอธิบายมิติในเชิงประวัติศาสตร์ของเหตุแห่งความรุนแรงได้แล้ว เอดูอารด์ยังถกกับภาษาในอีกหลายประเด็น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการดำรงอยู่ (existence)
● ทฤษฎีแห่งภาษาว่าด้วยการดำรงอยู่ ความจริง ความลวง และความตาย
ฉากการฆาตกรรมเป็นฉากหนึ่งที่ชวนให้ขบคิดไม่น้อย ผ้าพันคอที่รัดคอจนหายใจไม่ออกทำให้เอดูอารด์เข้าถึงสภาวะที่ ‘การรับรู้’ หรือ ‘การตระหนักรู้’ ของเขาหลุดลอยจากกลไกการทำงานของระบบภาษา
“ไม่มีสิ่งใดแวบขึ้นมาในหัวของฉันเลยแม้แต่น้อย ฉันมองไม่เห็นอะไรเลย ไม่มีแม้ภาพสะท้อนหรือความทรงจำใดๆ ฉันรู้สึกเพียงแค่ว่ามือทั้งสองข้างของฉันกุมผ้าพันคอนั้นไว้แน่น มันคือการฝ่าฝืนความตายผ่านทางกายภาพอย่างบริสุทธิ์ เรามักพูดกันว่ามนุษย์ไม่อาจมีชีวิตนอกระบบภาษา เพราะภาษาคือคุณลักษณะเฉพาะของมนุษย์ มันกำหนดกฎเกณฑ์ทุกสรรพสิ่ง จึงไม่มีสิ่งใดที่มีอยู่นอกเหนือระบบภาษาได้ เราไม่อาจคิดก่อนแล้วจึงจัดระบบความคิดของเราด้วยภาษา แต่ภาษาต่างหากที่จัดระเบียบความคิดของเรา มันเป็นทั้งเงื่อนไขและสิ่งจำเป็นของเหตุผลและชีวิต
แต่เราจะยังพูดว่าภาษาคือคุณลักษณะเฉพาะของมนุษย์ได้อยู่หรือไม่ในห้วงเวลาเกือบนาทีที่เขาลงมือฆ่าฉัน ความรู้สึก ณ ปัจจุบันของฉันเทียบอะไรไม่ได้เลยกับช่วงเวลานั้น ความหวาดกลัวที่เคยเกิดขึ้นเลือนรางไปและหลงเหลือไว้เพียงภาษา ฉันสามารถพูดว่า “ฉันกลัว” ออกมาได้ แต่คำคำนี้ไม่เคยสื่อความหมายเป็นอื่น นอกจากความล้มเหลวหรือความพยายามอันสิ้นหวังที่จะรู้สึกถึงความจริงแท้แห่งความหวาดกลัวที่เคยเกิดขึ้นได้อีกครั้ง”
เอดูอารด์บรรยายสัมพันธภาพระหว่างภาษาและการดำรงอยู่ที่เป็นส่วนหนึ่งของกันและกันอย่างแน่นแฟ้น ซึ่งก็คงเป็นคำอธิบายอำนาจของภาษาเช่นเดียวกับกลุ่มนักคิดหลังโครงสร้างนิยม (post structuralism) สภาวะที่เขาใกล้ชิดกับความตายนั้นได้พิสูจน์แล้วว่าภาษามี ‘อำนาจ’ กำหนดการรับรู้และการให้ความหมายต่อโลก และหากไร้ซึ่งภาษา การคงดำรงอยู่ของเราก็คงว่างเปล่า… ไม่ต่างอะไรจากความตาย
ยิ่งไปกว่านั้น เอดูอารด์ยังชี้ให้เห็นว่าภาษากับ ‘ความจริง’ แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งความคิดนี้ตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานทางภาษาศาสตร์ที่สามารถอธิบายแบบง่ายที่สุดได้ว่า ภาษาคือสิ่งสมมุติที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ความหมายหรือให้คุณค่าแก่สรรพสิ่ง ฉะนั้นโดยแก่นแท้แล้วภาษาและสรรพสิ่งไม่ได้มีแก่นสารสาระใดๆ ที่เกี่ยวข้องกัน ดังนั้นสำหรับความคิดของเอดูอารด์ ภาษาจึงเป็นเพียง ‘ความล้มเหลว’ หรือ ‘ความพยายามอันสิ้นหวัง’ ที่จะเข้าถึง ‘ความจริง’ ของมนุษย์
ยิ่งไปกว่านั้น เอดูอารด์ยังขับเน้นสุญญากาศแห่งสัมพันธภาพระหว่างภาษากับความจริงในระดับของเทคนิคการเล่าเรื่องของเขาอีกด้วย เขาใช้ ‘คลารา’ พี่สาวของเขา เป็นผู้เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างเอดูอารด์กับเรดาให้แฟนของเธอฟัง โดยเอดูอารด์เป็นเพียงหนึ่งในตัวละครร่วมฉากที่หลบอยู่หลังประตูของอีกห้อง แต่เขา (เอดูอาร์ดในฐานะผู้เขียน) จะคอยพูดแทรกในบางครั้งคราวเมื่อบางเรื่องที่คลาราเล่าไม่ใช่ ‘ความจริง’ เดียวกันกับที่เขาประสบหรือรู้สึก
“(…) ฉัน (พี่สาว) มั่นใจว่าเขา (เรดา) วางแผนไว้ในหัวอยู่แล้วจึงค่อยลงมือ รวมถึงเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นวันนั้น (…)
(ฉัน (เอดูอารด์) ไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้น อาจมีเพียงเรื่องขโมยของเท่านั้น เพราะตรงกันข้าม ฉันไม่เชื่อว่าเรดาจะคิดวางแผนท่าทางการแสดงออกที่เขากระทำได้อยู่นานหลายชั่วโมง และในช่วงค่ำคืนนั้น ไม่มีสิ่งใดที่เป็นเมล็ดพันธ์ุแห่งความรุนแรงหรือภัยอันตรายจนถึงแก่ชีวิตเลยสักนิด เหตุการณ์ในวันนั้นเป็นไปอย่างทุลักทุเล บังเอิญ ลังเล ไร้วี่แววของความตั้งใจใดๆ ที่เขาอาจจะคิดมาก่อน เขากระทำราวกับคนคนหนึ่งที่พลิกแพลงไปตามสถานการณ์ที่เกิดอย่างฉับพลัน โดยอิงจากเหตุเบื้องหน้าที่เพิ่งจะเกิดขึ้น (…))”
เทคนิคการเล่าเรื่องของเอดูอารด์ตั้งใจสื่อสารกับผู้อ่านว่า วัตถุภววิสัย (objectivity) ในระดับของการสื่อสารนั้นไม่มีอยู่จริง ไม่ใช่เพียงในฝั่งของผู้รับสารที่จะตีความสารตามประสบการณ์ของตัวเองต่อเรื่องต่างๆ แต่ยังรวมถึงผู้พูดด้วยเช่นกันที่ไม่อาจถ่ายทอดความจริงที่เกิดขึ้น ณ ห้วงเวลาหนึ่งผ่านภาษาให้แก่อีกคนได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
แต่ถึงกระนั้น หากจะกล่าวว่าสัมพันธภาพระหว่างภาษากับความจริงนั้นตั้งอยู่ห่างไกลกันอย่างลิบลับในตัวบทของเอดูอารด์ก็คงไม่ถูกต้องสักทีเดียว เพราะในบางครั้ง เอดูอารด์ก็ยอมรับว่าภาษาสามารถนำพาเราเข้าใกล้กับความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ
“กระบวนการสืบสวนจะบีบบังคับให้ฉันต้องพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่า และทุกอย่างจะเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจะถูกสลักฝั่งอยู่ในตัวตนของฉัน ในร่างกายของฉัน และในความทรงจำของฉัน (…)
บางครั้งการกระทำที่เราเรียกมันว่า “พูด” นั้นใกล้เคียงกับการทนทรมาน การปิดปากเงียบ หรือการสำรอกมากเสียกว่าเป็นการสื่อความเสียอีก”
ตัวบทที่ยกมานี้ยังคงตอกย้ำถึงข้อถกเถียงของเอดูอารด์ที่ว่าภาษากับความจริงแยกออกจากกัน แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าภาษาสามารถสร้าง ความ ‘จริง’ ได้ และจะ ‘เป็นจริง’ ขึ้นเรื่อยๆ ผ่านกระบวนการทางภาษาที่ถูกผลิตซ้ำ
ด้วยเหตุนี้เอง เอดูอารด์จึงไม่ประสงค์จะแจ้งความดำเนินคดีในช่วงแรก เพราะเขากลัวว่ากระบวนการสร้างความเสมือนจริงผ่านภาษานั้นจะพาความรู้สึกของเขาดิ่งลงเหมือนวันที่เกิดเรื่อง
ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ… เมื่อเอดูอารด์เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายและการรักษาตัว เขาต้องทนกับการพูดเรื่องเดิมๆ หลายต่อหลายครั้ง อีกทั้ง เขายังต้องเผชิญกับความรุนแรงในรูปแบบของปฏิบัติการจากภาครัฐ เช่น การถูกตำรวจ ในฐานะตัวแทนศีลธรรมอันดีของรัฐ ตำหนิเรื่องที่ปล่อยให้คนแปลกหน้าขึ้นห้องยามดึก ความยืดเยื้อของกระบวนการสืบสวน ความทรมานในการรอคอยหมอที่ปฏิบัติกับเขาอย่างเย็นชา การถูกตรวจร่างกายเพื่อเป็นหลักฐานว่าเขาถูกข่มขืนจริง การตกอยู่ในสภาพผู้ที่ต้องได้รับการบำบัดทางจิต ฯลฯ ประหนึ่งว่าขั้นตอนทั้งหมดเป็นการผลิตซ้ำการข่มขืนแบบครบถ้วนสมบูรณ์ นับครั้งไม่ถ้วน
เอดูอารด์จึงตั้งคำถามว่าเหตุใดเหยื่อผู้ถูกกระทำยังคงต้องเป็นผู้ออกมาเรียกร้องหาความชอบธรรมด้วยตัวเขาเอง มิหนำซ้ำ การเรียกร้องโดยเหยื่อมักจะถูกอคติทางสังคมกระทำรุนแรงซ้ำซ้อน (เอดูอารด์เรียกสิ่งนี้ว่า Double-violence) เช่นในกรณีของเอดูอารด์ เขามักจะรับรู้ได้ถึงความรู้สึกตำหนิติเตียนหรือสมน้ำหน้าที่เขา ‘ใจง่าย’ ยอมให้คนแปลกหน้าขึ้นห้องยามวิกาล ซึ่งความคิดดังกล่าวนั้นสอดรับกับภาพแทนดาษดื่นของคนรักเพศเดียวกันที่มักถูกตีตราว่า ‘ง่าย’ กับเรื่องพรรค์นี้ ซึ่งไม่เคยมีใครใส่ใจจะไถ่ถามความรู้สึกของเขาต่อเรื่องที่เกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย
ประเด็นดังกล่าวนี้เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่กระตุ้นให้เอดูอารด์ตัดสินใจเขียนเรื่องนี้ขึ้น แม้ต้องเผชิญกับการตัดสินบนฐานอคติของคนจำนวนไม่น้อย แต่เขายังคงมุ่งมั่นต่อเจตนารมณ์ที่อยากจะ ‘ให้เสียง’ แก่ผู้ถูกกระทำที่ถูกปิดปากเงียบในสังคม
เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าการเขียนสำหรับเขาไม่ใช่เพียงการบอกเล่าถึงความทุกข์ทน แต่เป็นการ ‘ตะโกน’ ให้คนที่ไร้เดียงสาหรือคนที่อาจจะเมินเฉยรับรู้ว่ายังมีคนอื่นๆ ในสังคมอีกจำนวนไม่น้อยที่กำลังทุกข์ร้อน อีกทั้ง ความรุนแรงเชิงโครงสร้างไม่ควรจะเป็นเรื่องของเหยื่อที่ออกมาเรียกร้อง แต่เป็นเรื่องของคนทุกคนในฐานะกลไกหนึ่งของสังคมที่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจต่อความรุนแรงนั้นโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
จากงานเขียนเชิงอัตชีวประวัติสู่ความเข้าใจ ‘ความไม่จริง’ ของ ‘ความจริง’ ผ่านระบบภาษา รวมถึงการตั้งคำถามต่อการผลิตซ้ำความรุนแรงต่อเหยื่อในนามของรัฐ หนังสือเล่มนี้น่าจะช่วยให้เราระแวดระวังที่จะตัดสินคนอื่นโดยยึดหลักดีชั่วโดยกมลสันดานที่ไม่เคยนำไปสู่เหตุที่มาของปัญหาที่แท้จริง หรืออย่างน้อยๆ ก็ยังมีความละอายแก่ใจอยู่บ้าง ที่ยังยิ้มและหัวเราะอยู่ได้ในวันที่ยังมีอีกหลายชีวิตต้องทุกข์ร้อนแสนสาหัสจนอาจถึงแก่ชีวิต…
หมายเหตุ
ประวัติศาสตร์แห่งความรุนแรง ถูกปรับแต่งเป็นบทละครเรื่อง ณ ศูนย์กลางแห่งความรุนแรง (Au Coeur de la Violence) ในปี 2019 ร่วมกับ Thomas Osterneier และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล International Dublin Literary Award ในปี 2020
สำนวนแปลตัวบทโดย ผู้เขียนบทความ
อ้างอิง
https://www.leparisien.fr/faits-divers/agression-d-edouard-louis-le-parquet-veut-un-proces-12-10-2018-7917792.php
https://www.franceculture.fr/emissions/une-vie-dartiste/numero-26-une-histoire-de-la-violence-avec-edouard-louis
https://youtu.be/ItuiRfW1490
https://youtu.be/XLqZGVfA0mc
https://youtu.be/HV22_j03TWs
เขียน: ณัฐ วิไลลักษณ์
เจ้าของร้านขนมสมัครเล่น ที่เชื่อมั่นในคุณค่าความเป็นมนุษย์ มีสตรีนิยมเป็นศาสนา และลมหายใจเข้าออกเป็นประชาธิปไตย
ความรุนแรงทางเพศ
1 บันทึก
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย