13 ต.ค. 2021 เวลา 14:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
“หมึกยักษ์” มันสมองแห่งท้องทะเล
ภาพโดย edmondlafoto จาก Pixabay
“สติปัญญา” เป็นสิ่งที่มนุษย์ภาคภูมิใจเป็นที่สุด บรรพบุรษของเราได้วิวัฒนาการกระบวนการคิดและการแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยสมองของเราเอง นอกจากมนุษย์แล้วเรายังมีเพื่อนร่วมโลกที่สามารถมีความรู้สึกนึกคิดและสามารถใช้สติปัญญาของพวกเขาในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้เบื้องต้น เช่น สุนัข แมว โลมา วาฬ และพระเอกของเราในวันนี้ด้วย เจ้า “หมึกยักษ์”
หมึกยักษ์ (Octopus) เป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลังในกลุ่ม “มอลลัสกา” (Mollusca) ชั้น Cephalopoda เป็นสัตว์ตัวนิ่มไม่มีกระดูกสันหลัง ส่วนใหญ่มีเปลือกแข็งปกคลุมร่างกายเป็นสัตว์ประเภทเดียวกับพวกหอย เชื่อว่าเหล่าบรรพบุรุษหรือญาติของหมึกยักษ์คือ หอยแอมโมไนต์ (Ammonite) โดยวิวัฒนาการให้ลดทอนเปลือกลง จนกลายเป็นไม่มีในที่สุด การไม่มีเปลือกปกป้องร่างกายเป็นการช่วยเปิดโอกาสให้หมึกได้พัฒนาด้านการใช้สติปัญญาในการอยู่รอด รวมไปถึงความสามารถในการเปลี่ยนแปลงสีและรูปร่างได้หลากหลาย
อย่างไรก็ตามหลักฐานฟอสซิลบรรพบุรษของหมึกยักษ์สามารถพบได้ยากมาก เนื่องจากร่างกายอันนุ่มนิ่มของสัตว์ตระกูลนี้ยากต่อการถูกเก็บรักษาไว้ได้นาน
หมึกยักษ์มีนิสัยรักสันโดษออกล่าตัวคนเดียวในเวลากลางคืน พวกมันมีอายุขัยที่ค่อนข้างสั้นอยู่ที่ 3-5 ปี โดยปกติหมึกจะมีอายุขัยเพียง 1 ปี โดยเพศเมียหลังวางไข่แล้วมันจะอุทิศตนดูแลไข่ของมันโดยไม่กินไม่ล่าเลย อีกทั้งหลังจากการฟักไข่มันจะเข้าสู่ภาวะชราภาพและตายหลังจากไข่ฟักตัวหมดแล้วพอดี
บรรพบุรุษของหมึก ภาพโดย ananaszwerg จาก Pixabay
ทฤษฎีที่ว่าขนาดของสมองเป็นตัวชี้วัดความชาญฉลาดของสัตว์ต่าง ๆ อาจจะไม่สามารถใช้ได้กับหมึกยักษ์ สมองของหมึกยักษ์หรือ “นิวรอน” เซลล์ประสาทของหมึกยักษ์ได้กระจายอยู่ตามร่างกายโดยแบ่งเป็นสมองส่วนกลาง 10% สมองเกี่ยวกับการมองเห็นทั้งสองข้าง 30% และอีก 60% และกระจายอยู่ตามหนวดทั้ง 8 หนวดของมัน ทำให้หนวดทั้ง 8 ของมันสามารถคิดและตัดสินใจเองได้
(ลองคิดดูสิถ้าคุณกำลังหิวอยู่แขนของคุณอาจจะเอื้อมไปหยิบน่องไก่ทอดที่วางอยู่บนโต๊ะมาเข้าปากเองก็ได้นะ)
ดังนั้นสมองและเซลล์ประสาทของหมึกยักษ์ไม่ได้เป็นศูนย์รวมแบบเดียวกับมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ การวิวัฒนการให้เซลล์สมองและเซลล์ประสาทกระจายอยู่ในที่ต่าง ๆ ตามร่างกาย ทำให้กระบวนการคิดและสติปัญญาของมันมีความแตกต่างจากเราโดยสิ้นเชิง จนทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์สงสัยว่าหมึกยักษ์อาจเป็นสิ่งมีชีวิตจากต่างดาว
หากพูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือเราที่มีสมองแบบศูนย์รวมการที่ร่างกายเราขยับได้เนื่องจากการสั่งการของสมองบอกให้เราขยับในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย กลับกันหมึกยักษ์หนวดของมันตัดสินใจหลังจากการสัมผัสก่อน จากนั้นสมองส่วนกลางของมันก็จะค่อย ๆ ลำดับขั้นตอนต่อ ๆ ไปว่ามันควรทำอะไรก่อน เช่น หากหนวดหมึกเผลอแตะไปโดนปูเข้า มันจะใช้หนวดจับปูตัวนั้นไว้ก่อนแล้วค่อยสั่งให้สมองดึงปูกลับเข้าไปในปากและสังหารด้วยเขี้ยวของมันในที่สุด
หมึกกำลังซ่อนตัวโดใช้เปลือกหอย ภาพโดย Arhnue Tan จาก Pixabay
ความฉลาดของหมึกยักษ์นั้นเทียบเท่ากับสุนัขได้เลย มันสามารถเรียนรู้และจดจำลักษณะเฉพาะหรือใบหน้าของเราได้ จากในสารคดีเรื่อง “My Octopus Teacher” ใน Netflix คุณ เคร็ก ฟอสเตอร์ (Craig Foster) ผู้กำกับชื่อดังได้ตัดสินใจดำน้ำในทุก ๆ วันเป็นเวลาหลายเดือน และได้ทำความรู้จักกับเจ้าหมึกยักษ์ตัวหนึ่ง เจ้าหมึกยักษ์ตอนแรกมีท่าทางที่หวาดกลัว แต่เวลาผ่านไป คุณ เคร็ก ได้ทำให้มันเชื่อใจว่าเขาไม่เป็นอันตราย เจ้าหมึกยักษ์เริ่มให้เขาเข้าใกล้และมันเองก็เริ่มสำรวจร่างกายของ คุณ เคร็ก อีกด้วย อีกทั้งระหว่างถ่ายทำมันสามารถเรียนรู้วิธีการจับกุ้งมังกรในทะเลหลายต่อหลายรอบโดยการลองผิดลองถูกและเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดมันก็จับได้โดยเปลี่ยนแปลงวิธีการเข้าหาเหยื่อจากด้านหลัง
นอกจากนี้ในปี 2010 ทาง Seattle aquarium ได้ทำการทดลองกับหมึกยักษ์สายพันธุ์แปซิฟิกโดยให้ผู้ดูแล 2 ท่านแสดงบทบาท 2 แบบ โดยท่านนึงเป็นคนดูแลที่แสนใจดีคอยให้อาหารทุกครั้งที่เห็นหน้ากัน อีกท่านสวมบทคนชอบแกล้ง โดยทุกครั้งที่เข้าไปหาเจ้าหมึกยักษ์ตัวนี้เขาจะแกล้งมันตลอด ผลจากการสังเกตุปรากฎว่าหมึกยักษ์ตัวนี้มีพฤติกรรมกับผู้ดูแลที่รับบทคนชอบแกล้งอย่างไม่เป็นมิตรโดยการพ่นน้ำใส่เขาหรือแม้กระทั้งไม่รับอาหารจากเขาเลยทีเดียว (แค้นฝังใจเหมือนกันนะเนี่ยเจ้าหมึกยักษ์)
จากหลาย ๆ การบอกเล่าจากผู้ใกล้ชิดกับเจ้าหมึกยักษ์ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามันเป็นสัตว์จอมป่วนประจำตู้เลยล่ะ
การได้เข้าใจถึงความสามารถของหมึกยักษ์ทำให้เห็นความแตกต่างการวิวัฒนาการของคำว่า “สติปัญญา” ในคนละแนวทางกัน ผลลัพธ์ที่ออกมาก็สามารถใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป หมึกวิวัฒนาการสติปัญญาที่เหมาะสมกับการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและทันทีจากเซลล์ประสาทที่แยกกันคิดทั่วทั้งร่างกาย เพื่อประโยชน์ในการล่าและเอาตัวรอดในทะเลที่มากมายไปด้วยนักล่าและปราศจากการป้องกัน หากจะหวังให้หมึกยักษ์อ่านหนังสือออกหรือบวกเลขในตอนนี้คงจะยังทำไม่ได้ แต่ในอนาคตก็อาจะเป็นไปได้หากหมึกยักษ์มีจังหวะและสิ่งแวดล้อมในการวิวัฒนาการได้ดีและเหมาะสมกว่านี้
ลองนึกเล่น ๆ ดูสิหากว่าไม่มีมนุษย์อยู่เจ้าหมึกยักษ์อาจจะเป็นสายพันธุ์ที่ได้คลองโลกในฐานะสปีซี่ที่ทรงปัญญาแทนก็ได้นะ
...แต่ติดตรงที่มันดันอร่อยไปหน่อยนี่สิ แฮ่ ๆ...
อ้างอิงข้อมูล
คุณไม่มีทางเจ๋งได้ถึงครึ่งของ ‘หมึกยักษ์’ สุดยอดมันสมองแห่งท้องทะเล (thematter.co)
Octopuses (Enteroctopus dofleini) Recognize Individual Humans (wellbeingintlstudiesrepository.org)
นักวิจัยพิสูจน์ปริศนา "ความฉลาดหมึกยักษ์" จนพบว่า หนวดแต่ละเส้นมีสมองของตัวเอง (flagfrog.com)
หากชื่นชอบในผลงานอย่าลืมกดถูกใจและกดติดตามหรือคอมเมนต์พูดคุยได้นะครับ
Written by Tan WN.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา