14 ต.ค. 2021 เวลา 08:10 • ข่าว
#ม็อบ13ตุลา ตะโกนทะลุกรงขัง “พวกเขาคือนักสู้ ไม่ใช่นักโทษ”
วันนี้เมื่อปีที่แล้ว คือวันที่ ไผ่ ดาวดิน และสมาชิกคณะราษฎรอีสาน 19 คน ถูกตำรวจควบคุมตัวบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนถูกฝากขังโดยศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
การเรียกร้องและแสดงออกทางการเมืองดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง มีผู้เวียนเข้าออกเรือนจำนับครั้งไม่ถ้วน จากนักสู้สู่การเป็นนักโทษ เมื่อกระบวนการยุติธรรมที่ควรเป็นที่พึ่งพิง กลับกลายเป็นวิกฤติศรัทธาครั้งใหญ่ ทั้งมาตรฐานการให้ประกันตัวตามสิทธิของผู้ต้องหา การใช้ข้อหารุนแรงดำเนินคดีต่อผู้ออกมาใช้สิทธิการแสดงออกอย่างสงบ ไปจนถึงปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่อันขัดต่อหลักสากล
ในวันนี้ ผู้ชุมนุม นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนหนึ่งยังคงต้องใช้ชีวิตอยู่หลังซี่กรง รอวันแห่งอิสรภาพและความยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรม
ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพ วันที่ 13 ตุลาคม 2564 กลุ่มทะลุฟ้าได้จัดงานเสวนา ‘กระบวนการยุติธรรม กับอิสรภาพนักเคลื่อนไหวทางการเมือง’ ตั้งแต่เวลา 16.00-19.00 น. เพื่อทวงถามถึงความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม เมื่อนักสู้จำนวนมากถูกปฏิบัติเยี่ยงนักโทษ ถูกลิดรอนสิทธิการประกันตัว ซ้ำร้ายยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดในเรือนจำภายใต้กระบวนการยุติธรรมอันน่ากังขา
“โปรดส่งคืนท้องฟ้านั้นให้ฉันเถิด
เพราะว่าฉันนั้นไม่ได้เกิดในกรงขัง
ผิดที่เพียงไปส่งเสียงใกล้เวียงวัง
จึงถูกเหยียบ ถูกเกลียดชัง ดังฆาตรกร
ฉันเกิดมาท่ามกลางโลกแห่งเสรี
พวกฉันเคยมีฟ้ากว้างใหญ่ให้เร่ร่อน
วันนี้ต้องอำลาแล้วจากจร
เสรีภาพถูกลดทอนลงทุกวัน
ฉันยังจับจ้องมองโลกกว้างจากขวดแก้ว
ไม่มีฟ้าให้บินแล้วปีกของฉัน
มันผู้ใดใครกำหนดบทลงทัณฑ์
โปรดตอบแม้ในความเงียบงัน ฉันอยากฟัง
ใครโขมยฟ้ากว้างใหญ่ไปจากโลก
แล้วเข้ามายัดเยียดความเศร้าโศกทำโลกคลั่ง
ไร้ถอยคำ ไร้น้ำเสียงจากเวียงวัง
จากปราสาทผุพังหลังม่านมัว”
ผู้ปราศรัยรายหนึ่งอ่านกลอนบทนี้ ก่อนการเสวนาจะเริ่มขึ้น
● กระบวนการยุติธรรมกับอิสรภาพนักเคลื่อนไหวทางการเมือง
ธนพัฒน์ กาเป็ง หรือ ‘ปูน ทะลุฟ้า’ คือ 1 ใน 9 ผู้ต้องหาคดีสาดสีหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เมื่อ 2 สิงหาคม 2564 ปูนถูกตรวจพบเชื้อโควิดขณะกำลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งคาดว่าเขาได้รับเชื้อจากเรือนจำ เนื่องจากก่อนถูกคุมขัง ปูนเคยตรวจและไม่พบเชื้อแต่อย่างใด
“ประเทศของเราไม่เหมือนหลายๆ ประเทศ อยากจะเป็นประชาธิปไตยก็เป็นแบบสากลไม่ได้ แต่เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่มีกฎเกณฑ์ กฎหมายบางมาตราว่าเราแสดงออกได้ แต่ได้เพียงเท่านี้ เราพูดได้ แต่ต้องพูดโดยไม่กระทบคนคนนี้…
“การวิพากษ์วิจารณ์บุคคล เราสามารถวิจารณ์ได้โดยสุจริต บนข้อเท็จจริง หาก ‘ท่าน’ ไม่อยากให้คนมาวิจารณ์​ ทำไม ‘ท่าน’ ไม่แจ้งกฎหมายหมิ่นประมาทเหมือนคนอื่นๆ ทำไมต้องมีกฎหมายพิเศษ เช่น 112 มาคุ้มครองตัวเอง”
ธนพัฒน์กล่าวถึง เบญจา อะปัญ​ ผู้ต้องคดีมาตรา 112 จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 โดยศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2564
“พี่เบญจาที่ถูกจับไป ก็เพียงเพราะวิจารณ์วัคซีน สิ่งที่เขาวิจารณ์มันคือข้อเท็จจริง แต่ทำไมกฎหมายบิดเบี้ยวไปถึงขั้นการพังทลายของกระบวนการยุติธรรม จากการไม่ให้ประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน
“เราคิดว่ามันน่าหดหู่ใจ กับการที่มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและนักกิจกรรมต้องเดินเข้าเรือนจำเป็นว่าเล่น แต่เราเชื่อว่า เขาสามารถทำร้ายเราได้เพียงเท่านี้ กาลเวลาจะหลอกหลอนเขาในสิ่งที่เขาทำ แม้เขาจะบอกว่า ทำตามสั่งนาย แต่เราก็เชื่อว่า ระหว่างที่ทำตามคำสั่ง เขาก็ควรต้องมีความเป็นมนุษย์ด้วย
“วันใดที่ประชาชนทุกคนชนะ ทุกสิ่งที่เขาทำกับเรา จะต้องได้รับการสะสางอย่างแน่นอน”
● วิกฤติศรัทธากระบวนการยุติธรรม
‘ทนายแจม’ ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงหลักการของสิทธิประกันตัว และความลักลั่นของกระบวนการยุติธรรมต่อการเลือกปฏิบัติกับนักโทษทางการเมือง
“สิทธิในการประกันตัว เป็นสิทธิที่ทุกคนพึงมี ประเทศเราใช้กฎหมายอาญาเป็นระบบการกล่าวหา ฉะนั้นทุกคนในที่นี้สามารถตกเป็นผู้ต้องหาได้ทั้งนั้น เมื่อมีการตั้งข้อหากับผู้ถูกกล่าวหา จนถึงกระบวนการชั้นฝากขัง เจ้าหน้าที่ต้องขออนุญาตศาลในการฝากขัง ถ้าศาลเห็นว่าข้อหานั้นต้องมีการสอบสวนนานจริงๆ ศาลอาจอนุญาตให้ฝากขัง ด้วยเหตุผลที่ตำรวจมักจะอ้างก็คือ รอผลพิมพ์ลายนิ้วมือ หรือรอผลการสอบปากคำคนอื่นๆ โดยบอกศาลว่า ขอเวลารวบรวมพยานหลักฐาน
1
“หากศาลอนุญาตให้ฝากขังแล้ว ต่อมาคือขั้นตอนการปล่อยตัวชั่วคราว หรือประกันตัว ซึ่งมีหลักพิจารณาคือ หนึ่ง มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งไหม ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ไม่มีอิทธิพลที่จะไปยุ่งกับพยานหลักฐานได้ ซึ่งโดยปกติ เราลองนึกถึงหน้าเพื่อนเราข้างใน มีใครเป็นผู้มีอิทธิพลสักคนไหมคะ
“สิ่งที่ทนายเรามักคัดค้านการฝากขังคือ ไม่ว่าจะอ้างว่า รอผลพิมพ์ลายนิ้วมือ หรือรอผลการสอบปากคำเพิ่มเติม เหล่านี้ไม่ใช่เหตุผลของการฝากขัง เพราะไม่ว่าเขาจะอยู่ข้างในหรือนอกเรือนจำ ตำรวจก็สอบปากคำได้
“หลักเกณฑ์การให้ประกันตัวจริงๆ แล้วมันไม่สามารถนำมาใช้กับคดีการเมืองได้เลย เพราะเมื่อเป็นคดีการเมือง โดยเฉพาะคดีมาตรา 112 อำนาจของผู้พิพากษากลับไม่มีอยู่จริง”
ทนายแจมกล่าวถึง ทนายอานนท์ นำภา ที่ตอนนี้ยังคงต้องอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งหากรวมระยะเวลาถูกคุมขัง เขาต้องถูกกระทำเยี่ยงนักโทษมาแล้วกว่า 64 วัน
“พี่อานนท์คือพี่เลี้ยงทนายความของแจมตั้งแต่วันที่แจมเริ่มว่าความ สอนเราหลายๆ อย่าง กระทั่งเมื่อปีที่แล้ว แกตั้งใจลงมาต่อสู้อย่างเต็มที่ แกไม่อยากให้น้องๆ นักศึกษาต่อสู้อย่างเดียวดายโดยไม่มีใครมาซัพพอร์ต การถูกจำคุกในครั้งนี้ พี่อานนท์รู้อยู่แล้วว่า อาจจะอยู่ในนั้นนานกว่าครั้งก่อนๆ แต่เขาก็ยังยืนยันที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทุกคนรู้ว่ามันไม่มีความยุติธรรมอย่างที่ควรจะเป็น
“ขนาดคดีฆ่าคนตาย หรือคดีร้ายแรงมากๆ ยังได้ประกันตัวเลย หรือคดีผู้กำกับโจ้ คดีนั้นอุกฉกรรจ์และกระเทือนกระบวนการยุติธรรมมากๆ เพราะตำรวจถือเป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรม นั่นแสดงให้เห็นชัดว่า เราไม่อาจเชื่อถือหรือเชื่อมั่นอะไรกับธารน้ำนี้ได้อีก
“ต้นน้ำก็ว่าแย่แล้ว ปลายน้ำที่เรียกว่า การออกคำสั่งของตุลาการ เราเห็นได้เลยว่า ต้นน้ำก็เสีย ปลายน้ำก็เน่า ฉะนั้น กระบวนการยุติธรรมในยุคนี้ทำให้คนเรียนนิติศาสตร์อย่างเราเสียใจมากเลย เพราะสิ่งที่เราเรียนมากับความจริง มันสวนทางกัน”
ในคดีของ เบญจา อะปัญ​ ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ทนายแจมกล่าวว่า โดยปกติแล้ว ทุกครั้งเมื่อศาลปฏิเสธการประกันตัวของผู้ต้องหา ผู้พิพากษาจะต้องลงชื่อตนเองทุกครั้งตามกระบวนการ ทว่าในกรณีของ เบญจา อะปัญ​ ผู้พิพากษากลับไม่ลงชื่อแต่อย่างใด
“จากการสอบถามของทนายท่านหนึ่งว่า ทำไมครั้งนี้จึงไม่มีการลงชื่อ คำตอบคือ ท่านผู้พิพากษากลัวโดนโซเชียลมีเดียด่า กลัวโดนเอาชื่อไปล่า
“คำถามคือ แล้วถ้าไม่ได้ทำผิด จะกลัวอะไร ถ้าท่านยึดมั่นว่า คำสั่งของท่านเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ ไม่มีอะไรบิดเบี้ยว ท่านไม่จำเป็นต้องเขินอาย
“เมื่อวานเราได้ไปเยี่ยมน้องๆ ทะลุฟ้าในเรือนจำ น้องบอกว่าตอนนี้พวกเขามีความเสี่ยงสูง เพราะห้องหนึ่งนอนกัน 10 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นติดโควิด น้องๆ กลุ่มทะลุฟ้าอยู่ในห้องนั้น น้องบางคนร่างกายไม่ได้แข็งแรงด้วย ซึ่งมันไม่มีความจำเป็นใดเลยที่คุณจะกักขังเขาไว้เพื่อให้เขาติดโควิดในเรือนจำ
● พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับการลิดรอนสิทธิถ้วนหน้า
เลิศศักดิ์ คําคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน เล่าถึงความยากลำบากและผลกระทบต่อการทำงานภาคประชาสังคม ภายใต้รัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และภายใต้การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
“เราไม่สามารถชุมนุมได้ สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมทำได้ยาก โดยอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งการชุมนุมเป็นเครื่องมือสำคัญมากที่ถูกรับรองด้วยรัฐธรรมนูญ ในการต่อสู้เรียกร้องกับอำนาจรัฐที่กดขี่ข่มเหงประชาชนอยู่
“จริงๆ ต้องถามด้วยว่า การที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปลดทอนสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม มันเป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือเปล่า นี่คือเรื่องใหญ่ที่สุดที่ภาคประชาชนเจอ
นอกจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะลดทอนสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมทางการเมืองแล้ว ยังปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในชุมชนที่อาจส่งผลกระทบในอนาคต
“เมื่อมีโครงการขนาดใหญ่ ก็จะต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น การชุมนุม การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นก่อนการอนุมัติโครงการ ว่าชุมชนนี้มีความเห็นอย่างไร ต้องการให้โครงการพัฒนานี้ดำเนินต่อหรือไม่ มันส่งผลกันเป็นทอดๆ เมื่อรัฐบาลมีลักษณะเช่นนี้ นอกจากการจำกัดเสรีภาพการชุมนุมโดย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว ยังไปจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของพื้นที่อื่นๆ เกือบทั้งหมด
“ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ใช้เวลาที่ประชาชนไม่สามารถรวมตัวกันได้ ไปจัดเวทีแบบปิด แล้วเกณฑ์พี่น้องประชาชนบางส่วนไปนั่งให้เต็มห้องโดยที่ประชาชนไม่ได้แสดงความคิดเห็น แต่การนั่งและมีชื่ออยู่ ก็จะถูกนับว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในการอนุมัติให้โครงการผ่านไปได้
“บรรยาาศแบบบนี้ เราเห็นการผลักดันโครงการขนาดใหญ่มากมาย เพราะเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนไม่สามารถแสดงความคิดได้มากนัก เต็มที่ก็เขียนตามสื่อออนไลน์ แต่การเคลื่อนไหวอื่นๆ ไม่สามารถทำได้เลย เพราะรัฐอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
● กองทุนราษฎรประสงค์ โดยราษฎร เพื่อราษฎร
ชลิตา บัณฑุวงศ์ หนึ่งในผู้ดูแลกองทุนราษฎรประสงค์ เล่าถึงที่มาที่ไปของการก่อตั้งกองทุน ไล่เลียงตั้งแต่เหตุการณ์ล้อมปราบคนเสื้อแดงในปี 2553 กระทั่งถึงปัจจุบัน
“ก่อนที่เราจะรู้จักกองทุนนี้ในชื่อ ‘ราษฎรประสงค์’ กองทุนนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2553 ในช่วงการล้อมปราบคนเสื้อแดง ซึ่งนอกจากคนเจ็บ คนตายแล้ว ยังมีคนที่ถูกดำเนินคดีด้วย ทนายอานนท์ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของกองทุนเหล่านี้ เพราะว่าในช่วงเวลานั้นมีการระดมทุนเพื่อมาว่าความให้พี่น้องเสื้อแดง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นชาวบ้านที่ยากจนและไม่ได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย
“กองทุนค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาหลังรัฐประหารปี 2557 เพราะว่าช่วงนั้นมีคนถูกดำเนินคดีจาก คสช. เยอะมาก แล้วต้องขึ้นศาลทหาร หรือในปี 2561 พี่ๆ หลายๆ คนในที่นี้ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีคนอยากเลือกตั้ง โดนกันเยอะมาก จึงเกิดการระดมทุนกันอีกครั้งเพื่อช่วยเหลือในเรื่องของการประกันตัว ตอนนั้นโดนคดีกันหลายร้อยคน และหลายระลอกมาก
“จนถึงปี 2563 มีการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ พอปลายปีก็เริ่มมีคดีมาเรื่อยๆ กองทุนทั้งหมดที่ดิฉันว่ามา จึงถูกเอามารวมกันเมื่อต้นปี 2564 ใช้ชื่อว่า ‘ราษฎรประสงค์’ และขยายขอบข่ายการช่วยเหลือให้ครอบคลุมการชุมนุมทางการเมืองเป็นหลัก
“กองทุนนี้ไม่ใช่แค่เงินประกัน แต่มันมีความหมายของมันตั้งแต่ชื่อแล้ว เพราะชื่อนี้โยงไปถึงเหตุการณ์การล้อมปราบเสื้อแดงที่ราชประสงค์ และโยงกับเจตนารมณ์ของประชาชนในการปกป้องสิทธิเสรีภาพของเพื่อน
ทุกบาททุกสตางค์ของเงินในกองทุน ถูกใช้ในสองส่วนคือ หนึ่ง การวางเงินประกันตัว สอง เสียค่าปรับให้ผู้ชุมนุม
“หากย้อนกลับไปดู เราจะพบว่า รัฐไทยตั้งแต่อดีตจะใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในทุกขั้นตอนในการปิดกั้นและจำกัดการแสดงความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างไปจากรัฐหรือผู้ปกครอง เราพบว่า ที่ผ่านมาประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน ในส่วนของการประกันตัว จะช่วยให้เพื่อนเราได้รับการประกันหรือรับรองสิทธิที่เขาควรจะได้”
นัยสำคัญของกองทุนราษฎรประสงค์ที่มากกว่าการระดมทุน คือ หนึ่ง การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของประชาชนที่กำลังบ่งบอกถึงความไม่พอใจต่อความอยุติธรรม และสอง กองทุนนี้ยืนอยู่บนหลักการที่ว่า กฎหมายไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการคนเห็นต่างจากรัฐ และสิทธิในการประกันตัว คือเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนจะต้องได้รับ
“ท่ามกลางการกดทับ ประชาชนจำนวนไม่น้อยไม่สามารถออกมาแสดงออกได้ สิ่งหนึ่งที่เขาคิดว่าสามารถทำได้ก็คือ การบริจาคเงินเข้ากองทุนนี้เพื่อเอาไปช่วยเหลือคนที่ถูกรัฐรังแก คนที่เป็นแกนนำ คนที่ออกมาเคลื่อนไหวแสดงออก กองทุนราษฎรประสงค์คือการแสดงเจตจำนงและเจตนารมณ์ของประชาชนทั้งหมดค่ะ” ผู้ดูแลกองทุนราษฎรประสงค์ กล่าวทิ้งท้าย
เขียน: อรสา ศรีดาวเรือง
ภาพ: จรณ์ ยวนเจริญ
โฆษณา