15 ต.ค. 2021 เวลา 08:09 • สุขภาพ
โรคคอตีบ ต้องรีบรักษา
โรคคอตีบ หรือดิฟทีเรีย (diphtheria) เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นฉับพลันและร้ายแรง พบได้ประปรายตลอดปี บางครั้งอาจพบระบาด
ปัจจุบันพบผู้ป่วยคอตีบน้อยมาก เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันอย่างทั่งถึง ผู้ป่วยที่พบนั้นมักมีประวัติไม่ได้ ฉีดวัคซีนป้องกันหรือฉีดไม่ครบ ซึ่งมักเป็นกลุ่มเด็กที่ยากจน หรืออาศัยอยู่บริเวณชายแดน หรือกลุ่มคนอพยพจากประเทศเพื่อนบ้าน และส่วนมากจะพบในเด็กอายุ1- 10 ปี
สาเหตุ คอตีบ
เกิดจากเชื้อคอตีบ ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า โครินแบคทีเรียมดิฟทีเรีย (Corynbacterium diphtheriae) ซึ่งมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วยหรือผู้ที่เป็นพาหนะของโรค ส่วนมากติดต่อโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด
เชื้อคอตีบจะปล่อยสารพิษ (exotoxin) ออกมาทำลายเนื้อเยื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะเยื่อบุคอหอย กล้ามเนื้อหัวใจ และเส้นประสาท
ระยะฟักตัว ประมาณ 1 – 7 วัน (เฉลี่ย 3 วัน)
อาการ คอตีบ
ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ต่ำ ๆ ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว เจ็บคอ กลืนลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน และมีท่าทางอ่อนเพลียมาก
ถ้ามีการอักเสบของกล่องเสียง ผู้ป่วยจะมีอาการเสียงแหบ ไอเสียงก้อง (คล้ายเสียงเห่าหรือเสียงร้องของแมวน้ำ) มีเสียงฮื้ด (stridor) ตอนหายใจเข้า หายใจลำบาก ตัวเขียว
ในรายที่มีการอักเสบของโพรงจมูก (ซึ่งพบได้ส่วนน้อย) อาจทำให้มีเลือดปนน้ำเหลืองไหลออกจากจมูกซึ่งส่วนใหญ่จะออกจากรูจมูกเพียงข้างเดียว
การป้องกัน คอตีบ
ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหาก และทำการกำจัดน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วย
เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเส้นประสาทอักเสบแทรกซ้อน เมื่อกลับจากโรงพยาบาลแล้วควรระวังอย่าให้ร่างกายตรากตรำ จนกว่าจะปลอดภัยและควรเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ถ้าสงสัยมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์
เชื้อคอตีบอาจทำให้เกิดแผลเรื้อรังที่ผิวหนังได้ถ้าพบแผลเรื้อรังในคนที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยคอตีบก็อย่าลืมนึกถึงสาเหตุจากเชื้อคอตีบ
โรคนี้สามารถป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนรวมป้องกันคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (DTP) ตั้งแต่อายุได้ 2 เดือน
สำหรับผู้สัมผัสโรค หรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการป้องกัน โดย
ทำการเพาะเชื้อจากคอหอย ติดตามอาการเป็นเวลา 7 วัน และให้ยาอีริโทรไมซิน (ขนาดเดียวกับที่ใช้รักษา) กินป้องกันนาน 7 วัน
ฉีดวัคซีนป้องกันถ้าไม่เคยฉีดมาก่อน ถ้าเคยฉีดวัคซีนป้องกันมาก่อนและเข็มสุดท้ายได้รับมานานเกิน 5 ปี มาแล้ว ควรฉีดวัคซีนกระตุ้น
การรักษา คอตีบ
หากสงสัย ควรส่งโรงพยาบาลด่วน โดยอาจให้อีริโทรไมซินก่อน
มักวินิจฉัยโดยการนำหนองในลำคอไปตรวจย้อมดูเชื้อและเพาะเชื้อ อาจตรวจเลือด (พบเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ) ตรวจคลื่นหัวใจในรายที่สงสัยว่ามีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบร่วมด้วย
การรักษา ให้ยาต้านพิษคอตีบ (diphtheria antitoxin) และยาปฏิชีวนะ เช่น ฉีดเพนิซิลลินจี 1-1.5 แสนยูนิต/กก./วัน แบ่งฉีดทุก 4-6 ชั่วโมง ถ้าแพ้เพนิซิลลินให้กินอีริโทรไมซิน ขนาด 50 มก./กก./วัน ควรให้ยาปฏิชีวนะติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ ในรายที่หายใจลำบาก  อาจต้องเจาะคอช่วยหายใจ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา