Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
WAY
•
ติดตาม
15 ต.ค. 2021 เวลา 12:05 • ข่าวรอบโลก
“ผมได้โนเบลเพราะเพื่อนๆ ตายกันไปหมดแล้ว” ดิมิทรี มูราตอฟ กับเสรีภาพสื่อในระบอบปูติน
1
รางวัลโนเบลคือหนึ่งในรางวัลที่คนทั่วโลกจับตามองและให้การยอมรับอยู่เสมอในสังคมอารยะ อย่างไรก็ตาม การประกาศรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2021 นี้กลับยิ่งแสดงให้เห็นถึงความหดหู่ของเสรีภาพทางการสื่อสารในประเทศรัสเซีย เมื่อหนึ่งในผู้ได้รับรางวัลออกมากล่าวถึงการได้รับรางวัลของตนเองด้วยการพูดถึงเหล่านักข่าวอีก 6 คนที่เสียชีวิตไปก่อนหน้านั้น
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2021 สำนักข่าว The Economist ได้รายงานว่า บรรณาธิการบริหารของสำนักข่าว Novaya Gazeta ดิมิทรี มูราตอฟ (Dmitry Muratov) ได้ออกมายืนสงบนิ่งที่หน้าอพาร์ตเมนต์ของ อันนา โปลิตคอฟสกายา (Anna Politkovskaya) อดีตเพื่อนร่วมงานที่ถูกสังหารเมื่อ 15 ปีก่อน ในวันที่ 7 ตุลาคม 2006 ซึ่งตรงกับวันเกิดของ ประธานาธิบดีวลาดิมี ปูติน และยังกล่าวถึงการคุกคามสื่ออื่นๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
Anna Politkovskaya | photo: Vladimir Varfolomeev
“ผมได้รางวัลเพราะรางวัลนี้มอบให้คนที่ตายไปแล้วไม่ได้”
มูราตอฟพูดถึงการคุกคามและลอบสังหารนักข่าวตั้งแต่ช่วงปี 2000 เป็นต้นมา ซึ่งสำนักข่าว Novaya Gazeta นอกจากจะสูญเสียโปลิตคอฟสกายาแล้ว ยังมีนักข่าวอีกทั้งสิ้น 5 คนที่ถูกลอบสังหารเช่นเดียวกัน นับตั้งแต่ประธานาธิบดีปูตินเรืองอำนาจ ตั้งแต่ ยูริ เชคโกชิกิน (Yuri Shchekochikhin) ถูกวางยาพิษ, อิกอร์ โดมนิคอฟ (Igor Domnikov) ถูกทุบตีด้วยของแข็งจนถึงแก่ชีวิต, อนาสตาเซีย บาบูโรวา (Anastasia Baburova) ถูกยิงที่ศีรษะ, เพื่อนร่วมงานกับสำนักข่าวอย่างนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน นาตาเลีย เอสเตมิโรวา (Natalia Estemirova) และนักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน สตานิสลาฟ มาร์คีลอฟ (Stanislav Markelov) ถูกลักพาตัวก่อนจะถูกยิงจนเสียชีวิต รายชื่อเหล่านี้ยิ่งย้ำถึงสิ่งที่มูราตอฟกล่าวให้หนักแน่นยิ่งขึ้นไปอีก
แต่จุดเริ่มของนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ผู้คว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพผู้นี้คือใคร สิ่งที่เขาและเพื่อนร่วมงานทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และถูกสังหารไปได้กระทำอันใดไว้บ้าง การกลับมาทบทวนประวัติของสื่อมวลชนผู้นี้อาจจะทำให้เราเข้าใจถึงสถานการณ์การคุกคามเสรีภาพสื่อมวลชนและเสรีภาพทางการสื่อสารในประเทศรัสเซียได้อย่างชัดเจนขึ้น
อันนา โปลิตคอฟสกายา (Anna Politkovskaya)
ยูริ เชคโกชิกิน (Yuri Shchekochikhin)
อิกอร์ โดมนิคอฟ (Igor Domnikov)
อนาสตาเซีย บาบูโรวา (Anastasia Baburova)
นาตาเลีย เอสเตมิโรวา (Natalia Estemirova)
สตานิสลาฟ มาร์คีลอฟ (Stanislav Markelov)
● สื่อรัสเซียใต้ยุคทมิฬมาร
มูราตอฟเกิดในสมัยของสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 1961 และเริ่มเป็นที่โด่งดังระดับประเทศ (หรืออาจจะถึงระดับโลก) ในปี 1993 เมื่อเขาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสำนักข่าว Novaya Gazeta เนื่องจากสำนักข่าวของเขาเชี่ยวชาญในประเด็นการสืบสวนสอบสวนเรื่องราวของความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไป ซึ่งในสมัยนั้นยังคงเป็นเรื่องแปลกในแผ่นดินรัสเซีย ซึ่งต่อมาคณะกรรมการปกป้องนักข่าว (Committee to Protect Journalists) ได้ยกย่องว่า Novaya Gazeta คือหนึ่งในสำนักข่าวที่ตรงไปตรงมาและทรงอิทธิพลที่สุดแห่งหนึ่งในรัสเซีย
สำนักข่าวนี้ได้ถ่ายทอดความเชื่อและอุดมการณ์ของมูราตอฟออกมาผ่านการกระทำอย่างแน่วแน่ ข่าวที่เขามักนำเสนอส่วนใหญ่คือ เรื่องการทุจริตของผู้มีอำนาจ การละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่ และสิทธิเสรีภาพที่ถูกกดขี่ ซึ่งกลายเป็นประเด็นปัญหาที่หนักข้อมากขึ้น แต่น้อยคนจะกล้าพูดถึงอย่างตรงไปตรงมานับตั้งแต่ประธานาธิบดีปูตินขึ้นครองอำนาจในปี 2000
สำนักข่าวที่มีพนักงานเพียงประมาณ 50 คน แต่ทำเรื่องยิ่งใหญ่เช่นนี้จึงต้องเผชิญกับราคาของการพูดความจริงอย่างตรงไปตรงมาในสังคมรัสเซียนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในปี 2001 Novaya Gazeta กล่าวหาว่าอดีตนายกรัฐมนตรี เซอร์กีย์ คิริเยนโก (Sergey Kiriyenko) ยักยอกเงินที่ได้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จำนวน 4.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อปี 1998 ไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ ซึ่งส่งผลให้คิริเยนโกฟ้องร้องสำนักข่าวกลับและชนะคดีในที่สุด ซึ่งนอกจากการตกเป็นเป้าทางกฎหมายแล้ว การคุกคามทางด้านอื่นๆ อย่างจดหมายข่มขู่ก็ตามมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการขุดค้นคดีเกี่ยวกับการฆาตกรรมเกย์ในเชเชน คดีนายทุนใหญ่ที่มีเส้นสายใหญ่โต และการใช้อำนาจโดยมิชอบของผู้มีอำนาจ
เซอร์กีย์ คิริเยนโก (Sergey Kiriyenko)
ระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวของการทำงาน มูราตอฟได้สูญเสียเพื่อนร่วมงานไปถึง 6 คนที่กล่าวได้ว่า ‘เสียชีวิตในหน้าที่’ ซึ่งตลอดการปกครองของประธานาธิบดีปูติน ได้ทำให้สังคมการเมืองของรัสเซียมีลักษณะที่แข็งตัวและไม่เป็นมิตรต่อเสรีภาพทางการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นประชาชน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ผู้นำฝ่ายค้าน ไปจนถึงสื่อมวลชนที่รัฐมองว่าเป็นศัตรู อย่างตัวมูราตอฟและสำนักข่าว Novaya Gazeta เอง การทำหน้าที่ของพวกเขาจึงทำให้สังคมโลกภายนอกรัสเซียชื่นชมในความกล้าหาญ เนื่องจากชีวิตของพวกเขากำลังอยู่ในความเสี่ยงตลอดเวลา
ในปี 2017 มูราตอฟได้ถอยลงมาจากตำแหน่งบรรณาธิการบริหารของสำนักพิมพ์ เนื่องจากความเหนื่อยล้าจากการทำงาน อย่างไรก็ตาม ในปี 2019 เขาก็ได้กลับมารับตำแหน่งอีกครั้งภายหลังจากพนักงานลงมติเรียกร้องให้เขากลับมาดำรงตำแหน่ง
● โนเบลสาขาสันติภาพ รางวัลที่คนตายไม่ได้รับ
“รางวัลนี้ไม่ใช่ของผม”
มูราตอฟกล่าวขณะให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Meduza เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2021 เมื่อถูกถามถึงการได้รับรางวัลโนเบลดังกล่าว โดยเขาได้ขยายความต่อไปว่า รางวัลโนเบลไม่ได้มีไว้เพื่อมอบให้กับผู้ที่จากไป แต่มีไว้สำหรับการมอบให้แก่คนเป็น ซึ่งเขาคิดว่าทางคณะกรรมการมอบรางวัลคงอยากที่จะมอบให้ใครสักคนที่มีความเกี่ยวข้องและยังต่อสู้เช่นเดียวกับ ยูริ เชคโกชิกิน, อิกอร์ โดมนิคอฟ, อนาสตาเซีย บาบูโรวา, นาตาเลีย เอสเตมิโรวา, อันนา โปลิตคอฟสกายา และ สตานิสลาฟ มาร์คีลอฟ ซึ่งสำหรับเขาแล้ว เขายังนับรวมอดีตผู้ร่วมก่อตั้ง Novaya Gazeta อย่าง นูราซ มิเคลาดเซ (Nuraz Mikeladze) กับ โซยา อีโรโชค (Zoya Eroshok) ซึ่งเป็นผู้เสียชีวิตที่ควรเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
“รางวัลนี้เป็นของเพื่อนร่วมงานทุกคนที่เสียชีวิตของผม พวกเขามอบชีวิตให้แก่ประชาชน ต่อสู้กับเผด็จการ และยืนหยัดเพื่อเสรีภาพในการแสดงออก”
อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลและผู้มีอำนาจในเครมลินก็แสดงท่าทียินดีต่อการได้รับรางวัลดังกล่าวของมูราตอฟ โดยสำนักข่าว Reuters ได้รายงานเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2021 ว่า โฆษกประจำเครมลิน ดิมิทรี เปสคอฟ (Dmitry Peskov) ได้กล่าวถึงการรับรางวัลของสำนักข่าวที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับเครมลินมาอย่างยาวนานนี้ว่า “เราสามารถร่วมแสดงความยินดีกับมูราตอฟได้ เพราะเขาได้ทำงานด้วยอุดมการณ์มาอย่างต่อเนื่อง ทุ่มเท และมีความสามารถ” รวมถึงยังกล่าวปิดท้ายกับนักข่าวอีกด้วยว่า “มูราตอฟเป็นคนที่กล้าหาญ”
มูราตอฟมีความตั้งใจที่จะนำเงินรางวัลที่ได้จากรางวัลดังกล่าวนี้ไปให้แก่สถานดูแลเยาวชนที่เจ็บป่วย และเมื่อสำนักข่าว Meduza ถามถึงสิ่งที่มูราตอฟเคยกล่าวว่าจะนำรางวัลนี้ไปช่วยเหลือด้านเสรีภาพสื่อในรัสเซียต่อไปว่าจะทำอย่างไรนั้น มูราตอฟกล่าวว่า จะเริ่มประชุมให้แล้วเสร็จถึงแผนการภายในอาทิตย์หน้ากับคณะทำงานทุกคนของ Novaya Gazeta
ที่มา
● A Russian editor says he won the Nobel because his slain colleagues could not
● Global
Security.org
● ‘This prize belongs to my lost colleagues’ Novaya Gazeta editor-in-chief Dmitry Muratov on winning this year’s Nobel Peace Prize
● Kremlin welcomes fact that editor who criticises it won Nobel peace prize
เขียน: ภูภุช กนิษฐชาต
รางวัลโนเบล
สื่อมวลชน
บันทึก
5
1
5
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย