21 ต.ค. 2021 เวลา 00:07 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ปุ๋ยแพง เชื้อเพลิงขึ้นราคา กระทบภาคการเกษตรไทย
3
จากวิกฤติราคาก๊าซธรรมชาติที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรม หนึ่งในนั้น คืออุตสาหกรรมผลิตปุ๋ย เนื่องจากก๊าซธรรมชาติใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตปุ๋ยไนโตรเจน เช่น แอมโมเนีย, ยูเรีย และ ไนเตรท ไม่เพียงแต่สำหรับอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อเกษตรกรและอุปทานอาหารทั่วโลก
นอกจากราคาก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว ยังมีปัจจัยด้านค่าระวางเรือขนส่งมีการปรับสูงขึ้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังมาตรการล๊อคดาวน์ รวมถึงผลจากภัยธรรมชาติที่ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมเสียหาย ทำให้มีความต้องการวัตถุดิบสำหรับการเพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น
1
โดยรัฐบาลของประเทศจีนผู้ผลิตปุ๋ยอันดับหนึ่งของโลก เริ่มประกาศจำกัดปริมาณการส่งออกสินค้าปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสเฟตจนกว่าจะถึงต้นปี 2022 ทำให้ราคาส่งออกยูเรีย สูงขึ้น 47 ดอลลาร์ต่อตัน ไปอยู่ที่ระดับ 700 – 720 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 13 ปี
5
โดยทั่วไปแล้วปุ๋ยไนโตรเจนคิดเป็นประมาณหนึ่งในสามของต้นทุนการผลิตธัญพืชและอาจเพิ่มขึ้นเป็น 50% หากราคาปัจจุบันยังคงเพิ่มสูงขึ้น
ประเทศไทยมีการใช้ปุ๋ยในการทำการเกษตรเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการปลูกข้าวที่มีค่าปุ๋ยเคมีคิดเป็นสัดส่วน 43.7% ของค่าใช้จ่ายในการผลิต (ไม่รวมค่าแรงงาน)
1
ราคาปุ๋ยในประเทศไทยปรับตัวขึ้นราว 25 – 30% เนื่องจากวัตถุดิบหลักในการผลิตปุ๋ยต้องนำเข้าจากต่างประเทศในสัดส่วนสูงถึง 96% ส่งผลให้ต้นทุนของเกษตรกรเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
3
นอกจากราคาปุ๋ย ราคาน้ำมันก็ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 85 ดอลลาร์ต่อบาเรล ทำให้ต้นทุนของเกษตรกรเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ราคาสินค้าเกษตรไทยกลับไม่เพิ่มขึ้นตาม โดยราคาข้าวหอมมะลิลดลง 20% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนราคาข้าวเหนียวก็ลดลงต่ำสุดในรอบ 20 ปี สาเหตุที่สำคัญที่ทำให้ราคาข้าวตกต่ำนั้นมาจาก COVID-19 ที่ทำให้การใช้แรงงานเพื่อการขนส่งข้าวเป็นไปอย่างระมัดระวังและเกิดความล่าช้า ปริมาณผลผลิตที่ออกมามากในขณะที่การบริโภคยังคงเดิม
โดยเฉพาะในช่วงเดือน ส.ค. ถึง พ.ย. ที่เป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว จะมีข้าวออกสู่ตลาดจำนวนมากยิ่งเป็นแรงกดดันให้ราคาอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงมากขึ้น จากเดิมราคารับซื้อข้าวหอมมะลิอยู่ที่กิโลกรัมละ 17 บาท ลดลงมาเหลือกิโลกรัมละ 8 – 10 บาท ข้าวสารเหนียวอยู่ที่กิโลกรัมละ 40 บาท แต่ขณะนี้เหลือเพียงกิโลกรัมละ 12-14 บาทเท่านั้น
1
📌 ปัญหาราคาปัจจัยการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบกับเกษตรกรทั่วโลกไม่ต่างจากบ้านเรา แต่ละประเทศมีการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรต่างกันไป
เริ่มจากประเทศจีน ผู้ผลิตภาคการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในโลก รัฐบาลจีนมอบเงินช่วยเหลือครั้งเดียวจำนวน 20 พันล้านหยวน (3.1 พันล้านดอลลาร์) จากงบประมาณการเงินส่วนกลางให้กับเกษตรกร เพื่อรับมือกับต้นทุนวัสดุการผลิตที่สูงขึ้นอัน เนื่องมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และจะออกเงินอุดหนุนให้กับเกษตรกร เนื่องจากราคาต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้น เช่น ปุ๋ยและน้ำมันดีเซล
1
เงินอุดหนุนจะออกให้ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกธัญพืชได้ และป้องกันการขาดแคลนสินค้าเกษตร
รัฐบาลยังมีการทำกรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมธัญพืช ข้าวสาลี และข้าวโพด ให้กับเกษตรกรผู้ผลิตธัญพืชรายใหญ่ใน 500 มณฑล 13 จังหวัด
ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ปลูกฝ้ายรายใหญ่ที่สุดของโลกและเป็นผู้ผลิตน้ำตาล ข้าวสาลีและข้าวรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ประชาชนประมาณ 60% ต้องพึ่งพาการเกษตรเพื่อการดำรงชีวิต ได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบพุ่งสูงขึ้น รัฐบาลอินเดียจึงเพิ่มเงินอุดหนุนสำหรับปุ๋ยได-แอมโมเนียมฟอสเฟตเพื่อปกป้องเกษตรกรในประเทศ โดยเพิ่มจาก 500 รูปีต่อถุง เป็น 1,200 รูปีต่อถุง (16.4 ดอลลาร์) ทำให้เกษตรกรอินเดียสามารถซื้อปุ๋ยได้ในราคาเดียวกับปีที่แล้ว
มาตรการดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลอินเดียใช้จ่ายเพิ่มเติม 147.8 พันล้านรูปีในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากประมาณ 800 พันล้านรูปี ที่รัฐบาลจัดสรรในแต่ละปีเพื่อรักษาราคาปุ๋ยในประเทศที่ไม่แพง
ในส่วนของประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์โดยอธิบดีกรมการค้าภายใน ขอความร่วมมือผู้นำเข้าปุ๋ย 19 บริษัท ให้ทุกบริษัทจัดปุ๋ยราคาพิเศษ มาขายให้กับเกษตรกรราคาพิเศษผ่านสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร เกษตรแปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชน ยื่นขอซื้อปุ๋ยราคาพิเศษถูกกว่าท้องตลาดกระสอบละ 20 ถึง 50 บาทโดยประมาณ โดยให้ประสานงานผ่าน เกษตรจังหวัดหรือสหกรณ์จังหวัด
3
ด้านราคาของสินค้าเกษตร ที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีการประกันรายได้พืชเกษตรสำคัญ 5 ชนิด คือ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมันและข้าวโพด อยู่แล้ว โดยทำให้เกษตรกรมีรายได้จาก 2 ทาง คือ
1.รายได้จากการเอาไปขายในตลาด และ
2.รัฐบาลจะโอนเงินส่วนต่างเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง
สุดท้ายจะมีรายได้รวมเป็นรายได้ที่ประกัน แต่นโยบายนี้ยังไม่ช่วยแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำในปัจจุบันได้ดีเท่าที่ควร
1
📌 ปัญหาเรื่องปุ๋ยเป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกรไทย
ปัจจัยการผลิตภาคการเกษตรของไทยนั้นมีการพึ่งพาต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แม้ว่าประเทศไทยจะมีโรงงานผลิตปุ๋ยในประเทศ แต่ไม่มีโรงงานผลิตสารตั้งต้นในการผลิตปุ๋ย เช่น สารเคมีและแม่ปุ๋ย วัตถุดิบเหล่านี้ไทยนำเข้าจากต่างประเทศเกือบ 100% นอกจากปุ๋ยแล้ว ยาฆ่าแมลง และเครื่องจักรก็ยังนำเข้ามาจากต่างประเทศเช่นกัน การควบคุมต้นทุนการผลิตจึงเป็นไปได้ยากเพราะขึ้นกับภาวะราคาตลาดโลก ในขณะเดียวกันราคาของผลผลิตทางการเกษตรกลับไม่ปรับตัวสูงขึ้น มีการตรึงราคาเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค
ในระยะสั้น ภาครัฐควรมีนโยบายให้เงินอุดหนุนราคาปุ๋ยเพื่อให้เกษตรกรไม่เพิ่มต้นทุนการผลิต เหมือนหลายประเทศที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้
ในระยะยาว ภาครัฐควรพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่การผลิตปุ๋ย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมต้นน้ำของการผลิตปุ๋ย เช่น สารเคมีตั้งต้น และแม่ปุ๋ย เพื่อที่ไทยจะลดการพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างชาติ
1
แม้ว่าตอนนี้ภาครัฐมีโครงการสร้างเหมืองแร่โพแทชที่มีมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อผลิตสารตั้งต้นการผลิตปุ๋ยเคมี แต่ก็ยังเป็นที่น่ากังวลว่าโครงการจะสำเร็จหรือไม่ เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทำเหมือง
เนื่องจากการทำเหมืองแร่โพแทชมีผลพลอยได้เป็นเกลือปริมาณมาก ซึ่งจะแทรกซึมสู่พื้นที่บริเวณใกล้เคียง ดินในบริเวณดังกล่าวมีความเค็มจัด ทำการเพาะปลูกไม่ได้ และอาจปนเปื้อนแหล่งน้ำทำให้สิ่งมีชีวิตน้ำจืดไม่สามารถอยู่รอดได้ แต่หากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถแก้ปัญหาเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ การผลิตแม่ปุ๋ยประเภทโพแทชเซียมก้สามารถช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของเกษตรกรได้ไม่น้อย
#วิกฤตก๊าซขาดแคลน #ปุ๋ยแพง #เกษตรกรไทย
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ปรียา ชัชอานนท์ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา