21 ต.ค. 2021 เวลา 14:41 • ท่องเที่ยว
วันนี้เอาบทความของลูกมาลง เพราะยังไม่มีเวลาเขียนเองค่ะ ลูกเขียนไว้ในเว็บสามัคคีสมาคม ซึ่งก็คงไม่ค่อยมีใครได้อ่านมากนัก เล่าเรื่องเที่ยวทิพย์ ช่วงโควิดที่อังกฤษ ซึ่งจริง ๆ แล้วมีสามเรื่องด้วยกัน ขอยกเรื่องที่สามมาก่อน ไม่มีลำดับ
หวังว่าผู้ติดตามคงไม่คิดว่า มีกลิ่นอายฝรั่งมากไปนะคะ พอดีเลี้ยงลูกมาแบบเที่ยวธรรมชาติ เชิงสำรวจ และอนุรักษ์ เขาก็เลยจะถนัดสื่อเรื่องราวแบบนี้ อาจจะไม่ใช่ที่เที่ยวแบบที่พวกเราเที่ยว ๆ กัน ลองเปิดประสบการณ์ดูได้เลยค่ะ
เรื่องนี้เป็น ตอนสุดท้ายของซีรีส์เที่ยวนอกเมืองรอบอังกฤษ ทริปวันนี้จะเป็นทริปพิเศษเนื่องจากเราไม่ได้ไปแค่วันเดียว แต่พักอยู่ถึง 3 วัน ทำให้เนื้อหายาวสะใจสมกับเป็นตอนสุดท้ายส่งท้ายปีการศึกษานี้ไปเลยทีเดียว
พาเที่ยว Jurassic Coastline @ Dorset
3 ปีที่แล้วเมื่อครั้งตอนเราเรียน A-Level Geography เราได้มีโอกาสไปออก Field Trip ที่แคว้น Dorset เพื่อศึกษาผลของการกัดเซาะชายฝั่งต่อเมืองริมชายหาด เราเลยอยากนำภาพและประสบการณ์การไปเที่ยวระหว่างการออก Field มาให้ทุกคนชมกัน
Field Trip ของเราศึกษาแนวชายหาดหลายแห่งตลอดแคว้น Dorset ที่เรียกรวมๆ ว่า Jurassic Coastline ที่มีชื่อเรียกแบบนี้เป็นเพราะว่าหน้าผาริมชายฝั่งตลอดแนวได้โชว์ชั้นหินตะกอนที่ทับถมในช่วงยุค Triassic – Cretaceous โดยหน้าผาส่วนใหญ่เป็นชั้นหินจากยุค Jurassic นั่นเอง ได้ยินชื่อแบบนี้คงนึกถึงไดโนเสาร์ใช่ไหมครับ แต่เสียใจด้วยครับ ในสมัยนั้นเกาะอังกฤษยังอยู่ในทะเลกันอยู่เลย ดังนั้นฟอสซิลที่พบได้จะมีแค่สัตว์ในทะเลเท่านั้น
แต่ชายฝั่งนี้ก็มีชื่อเสียงอย่างมากจากการเป็นสถานที่ขุดพบฟอสซิลสัตว์ทะเลหลากชนิด เป็นที่แรกที่ขุดค้นพบ Ichthyosaurus และ Plesiosaur อีกด้วย ซึ่งที่นี่เป็นบ้านเกิดและสถานขุดค้นหลักของนักบรรพชีวินวิทยาหญิงคนแรกของโลก
Mary Anning และ Plesiosaur ที่เธอค้นพบ (ภาพจาก Natural History Museum, London: https://www.nhm.ac.uk/discover/mary-anning-unsung-hero.html)
Mary Anning ซึ่งเรียนรู้การจำแนกฟอสซิลด้วยตนเองจากการช่วยครอบครัวขายฟอสซิลที่ค้นพบได้ เธอเป็นคนแรกที่ค้นพบ Plesiosaur และยังศึกษาวิจัยฟอสซิลที่ค้นพบตลอดแนวชายฝั่ง Jurassic Coastline ตลอดชั่วชีวิตของเธอ เธอเป็นผู้ปูทางให้ผู้หญิงมีบทบาทในแวดวงบรรพชีวิตจนถึงทุกวันนี้ ฟอสซิลที่เธอค้นพบได้ถูกจัดแสดงในห้องจัดแสดง Ichthyosaurus ของ Natural History Museum ณ กรุงลอนดอนอีกด้วย ชีวิตของเธอยังถูกทำเป็นภาพยนตร์ “Ammonite” ที่เล่าเรื่องการต่อสู้ทางวิชาการของ Mary
แต่คราวนี้เราไม่ได้มาดูฟอสซิล เพราะเรามาศึกษาหาดทราย เลยขอแสดงความเสียใจล่วงหน้าแก่ผู้ที่รอดูฟอสซิล Ichthyosaurus นะครับ แต่เราจะเจอฟอสซิลระหว่างการสำรวจหรือไม่ ต้องติดตามกันครับ
ทริปนี้เราเดินทางกันด้วยรถส่วนตัวของอาจารย์ จึงสามารถเดินทางไปได้หลายจุดมากๆ หากเพื่อนๆที่ไม่มีรถ หากอยากมาเยี่ยมชม ก็สามารถนั่งรถไฟมาถึง Lyme Regis หรือ Weymouth ได้โดยตรง หรือนั่งรถไฟมาแวะยังสถานีใกล้เคียงหาดต่างๆได้ครับ ครั้งนี้เราพักกันที่ PGL Osmington Bay ซึ่งเป็นคล้ายๆค่ายลูกเสีอ อยู่ริมหาดของเมือง Osmington โดยที่เจ้าหน้าที่ของค่ายจะเป็นไกด์นำเที่ยวและสอนทักษะการทำงานภาคสนามให้กับพวกเรา
Shell Bay
ที่แรกที่เราแวะทำงานกันคือ Shell Bay ชายหาดที่อยู่ในเขตของ Studland and Godlingston Heath National Nature Reserve โดยเมื่อเรามาถึง เราจะพบพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยป่าและทุ่งหญ้า เมื่อเดินทะลุแนวทุ่งหญ้าไปก็จะพบกับหาดทรายอันกว้างใหญ่ ที่นี่เรามาศึกษาการเปลี่ยนแปลงแทนที่ของพืชในพื้นที่สันทราย แบบเดียวกันกับสันทรายที่เราเคยพาไปชมใน EP. 1 เลย เราวัดความหนาแน่นของพืชคลุมดินและความสูงของสันทรายจากริมหาดเข้าไปในตัวป่า จะเห็นว่าพืชคลุมดินค่อยๆเปลี่ยนไปจากหาดทรายโล่งๆ สู่พุ่มไม้เตี้ยๆ ไปจนเป็นป่า และสันทรายเองก็สูงขึ้นเรื่อยๆจากการที่พืชขนาดใหญ่กว่าจะยึดโครงสร้างสันทรายให้มั่นคงและไม่โดนลมพัดพังได้
 
เมื่อเข้ามาใน Shell Bay ก็จะพบกับป่าพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่
เมื่อทะลุผ่านป่าจะพบหาดทรายกว้างพร้อมสถานที่ปิ้ง Barbecue
พวกเรานับความหนาแน่นของพืชแต่ละชนิดในแต่ละจุดจากริมหาดไปจนถึงในป่า
ป่า Heather ขนาดใหญ่ด้านหลังหาดทราย
เราเก็บข้อมูลไปซักพัก เจ้าหน้าที่ก็เรียกพวกเราไปดูอะไรสักอย่างในกอหญ้าใกล้ๆ เราก็งงๆ แต่เมื่อเข้าไปดูในกอหญ้า เราก็พบกับต้นหยาดน้ำค้าง (Sundew) จำนวนมาก! หยาดน้ำค้างเป็นพืชล้มลุกที่จะผลิตน้ำเหนียวๆออกมาตรงปลายขนของมันเพื่อดักแมลงที่เข้ามาติดกินเป็นอาหาร โดยแมลงที่เป็นสารอาหารเพิ่มเติมนี้ ทำให้หยาดน้ำค้างเจริญได้ดีกว่าพืชชนิดอื่นในที่ที่มีสารอาหารในดินต่ำเช่นพื้นที่ชุ่มน้ำ การสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำจำนวนมากทำให้แหล่งอาศัยของหยาดน้ำค้างในอังกฤษลดลงอย่างรวดเร็วจนใกล้สูญพันธุ์ ที่นี่จึงเป็นแหล่งที่อยู่ไม่กี่ที่สุดท้ายของพืชชนิดนี้ในอังกฤษ และควรค่าแก่การอนุรักษ์อย่างยิ่ง
หยาดน้ำค้าง (Sundew) ที่เราพบ ณ Shell Bay
Durdle Door และ Lulworth Cove
เมื่อเก็บข้อมูลเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่ก็พาเราไปเที่ยวชมมรดกโลกทางธรรมชาติที่แรกของอังกฤษ นั่นคือ Durdle Door ประตูซุ้มหินขนาดยักษ์ที่ตั้งอยู่ริมผาอันสวยงาม เราเดินเข้าไปจากที่จอดรถ ประมาณ 500 เมตรก็ถึง Durdle Door ระหว่างทางเราจะได้พบภูมิประเทศอันสวยงามที่เกิดจากการกัดเซาะของคลื่นเข้าไปในหน้าผา เปิดให้เห็นการเรียงตัวกันของชั้นหินชอล์กสลับกับหินปูนและหินทรายที่สวยงาม และไม่ต้องกังวลว่าจะดูไม่ออก เพราะทุกจุดมีภาพจำลองชี้ให้เห็นชั้นหินแต่ละชั้นเปรียบเทียบกับของจริงให้ดูเลย
ภูมิประเทศระหว่างทางเข้าไปยัง Durdle Door แนวหินตัดกับน้ำทะเลสีเทอร์ควอยซ์ สวยงามมากๆ
จะสังเกตชั้นหินได้อย่างชัดเจน โดยชั้นหินที่ต้านทานแรงกัดเซาะได้น้อยกว่าจะถูกกัดเซาะออกไป เหลือไว้เพียงแต่ริ้วของหินที่ต้านทานแรงกัดเซาะได้มากกว่า และขนาดหินยังถูกกัดเซาะได้ บันไดข้างๆก็ย่อมไม่เหลือ
เมื่อไปถึง Durdle Door จริงๆ เราตะลึงกับภาพที่เห็น เพราะมันใหญ่กว่าที่คิดมากๆ ประตูหินขนาดใหญ่เท่าโดมอิมแพ็คอารีน่าฯที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางน้ำ มันช่างน่าประทับใจยิ่งนัก Durdle Door จริงๆเป็นโครงสร้างทีเรียกว่า Sea Arch เกิดจากการกัดเซาะของถ้ำใต้หน้าผาจากข้างล่างขึ้นไปด้านบนเรื่อยๆ อีกไม่นาน (ในระดับหลักร้อยปี) Durdle Door ก็จะถูกกัดเซาะไปจนทำให้คานหินที่เชื่อมเสาทั้งสองพังทลาย และกลายเป็นเสาหินโดดๆเหมือนเขาตะปูในไทย
Durdle Door เมื่อถ่ายด้วยกล้องเลนส์ Wide ลองเปรียบเทียบขนาดกับคนตรงนั้นได้เลย
ในขณะที่อีกฝั่งเราก็จะมองเห็นหน้าผาหินชอล์กสีขาวขนาดใหญ่สวยงามเหมือนกับที่ Devon หินชอล์กเกิดจากการทับถมของซากสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่ชื่อ Coccolithophore เป็นระยะเวลานาน และเป็นหินชนิดเดียวกับที่เขานำไปทำชอล์กเขียนกระดานในอังกฤษนั่นเอง เราเขียนกระดานกันด้วยซากสิ่งมีชีวิตมาโดยตลอด 555 ด้านล่างของหน้าผาก็เริ่มมี Sea Arch เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งสักวันมันจะเติบโตเป็น Sea Arch ที่ยิ่งใหญ่แบบ Durdle Door
หน้าผาหินชอล์ก ตรงข้าม Durdle Door
และเจ้าหน้าที่ก็พาเราไปยังอ่าว Lulworth Cove ที่อยู่ใกล้ๆกันเพื่อศึกษาชั้นหินเพิ่มเติม ที่นี่เป็นที่อยู่ของหิน Stair Hole ที่เป็นรูให้คลื่นซัดเข้ามาในอ่าวขนาดเล็ก ด้านบนของรูก็จะมีริ้วของชั้นหินดินดานสลับกับหินปูนที่เรียกว่า Lulworth Crumple อยู่ เรียงตัวกันสวยงามมาก
Stair Hole ที่ด้านล่างขวาของภาพ และ Lulworth Crumple ด้านบน
อีกฝั่งจะเป็นอ่าว Lulworth Cove ที่เว้าเป็นวงกลมสวยงามมาก พร้อมแท่นหินสลักว่าพื้นที่ Jurassic Coastline นั้นได้รับแต่งตั้งเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ และแน่นอน หินนี้ย่อมไม่ใช่หินธรรมดา! มันคือหินที่มีฟอสซิลหอยฝาเดียวนับร้อยอยู่ภายใน! เรียกได้ว่า เมื่อเราอ่านป้าย เราก็จะได้เห็นฟอสซิลไปด้วย เรียกได้ว่ามาถึง Jurassic Coastline ที่แท้จริงเสียที!
อ่าว Lulworth Cove ที่สวยงาม
แท่นหินสลักเป็นหลักฐานว่าที่นี่เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ
ฟอสซิลหอยฝาเดียวที่อยู่บนแท่นหินสลัก แยกกันออกไหม?
และไหนๆ ในทุก EP ที่ผ่านมาเราได้แนะนำสิ่งมีชีวิตไปด้วยทุกครั้ง รอบนี้เราขอนำเสนอนกสักสองตัวที่เราพบที่นี่ ทั้งสองตัวเป็นนกในตระกูลกาที่หน้าตาพิเศษกว่ากาทั่วไปในสหราชอาณาจักร (Carrion Crow) เราขอเรียกว่ากาพิเศษทั้งสองชนิด นั่นคือน้อง Rook และ น้อง Jackdaw น้องทั้งสองเป็นกาที่พบได้ทั่วไปในอังกฤษ ดังนั้นหากเพื่อนๆสังเกตการอบๆตัวดีๆก็อาจเจอน้องทั้งสองได้ น้อง Rook จะตัวใหญ่มาก และมีปากแหลมสีเทาขาวเด่นเป็นสง่า ในขณะที่น้อง Jackdaw หน้าตาจะบ้องแบ๊วมาก และมีหัวออกสีเทา ตัวเล็กกว่ากาทั่วไปมาก
น้อง Rook
น้อง Jackdaw
Lyme Regis
วันต่อมา เราก็มาที่เมือง Lyme Regis ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวชื่อดังของ Jurassic Coastline ซึ่งเป็นที่ที่มีการจัดการชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะให้กลายเป็นหาดท่องเที่ยวได้ เราเริ่มเดินจากชายฝั่งทางตะวันออกของเมือง ลัดเลาะริมผาไปบนกำแพงกันคลื่นที่สร้างป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่งตลอดแนว กำแพงกันคลื่น ที่นี่ไม่ใช่กำแพงธรรมดา แต่ด้านบนได้มีการพัฒนาเป็นทางวิ่งออกกำลังกาย มีที่นั่งพัก และที่สำหรับพาสุนัขมาเดินเล่น กล่าวได้ว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมมากๆกับการมาพักผ่อนชมวิวริมทะเล
แนวกำแพงกันคลื่นของเมือง Lyme Regis
ป้อมปราการเมือง Lyme Regis
และเมื่อเดินไปต่อถึงตัวเมือง เราจะได้พบกับป้อมปราการประจำเมืองที่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ไปเรียบร้อยแล้ว เมืองนี้เขาว่ากษัตริย์ Edward ที่ 1 ชอบน้ำทะเลศักดิ์สิทธิ์เมืองนี้มาก จนให้ชื่อต่อหลังว่า Regis ซึ่งแปลว่าเมืองป้อมปราการของกษัตริย์ โดยหารู้ไม่ว่า น้ำทะเลหน้าเมืองนี้ก็มาจากแม่น้ำ Lyme ที่ไหลพาสิ่งปฏิกูลจากชุมชนมาที่ทะเลนั่นเอง 555 แต่ในปัจจุบันมีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยมีการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงทะเลแล้ว
ปากแม่น้ำ Lyme ที่เคยพาสิ่งปฏิกูลลงทะเลที่ King Edward I ชื่นชอบ
เมื่อเดินเข้ามาอีก เราจะพบตัวเมืองของ Lyme Regis ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย เช่น บ้านของ Mary Anning ที่เป็นพิพิธภัณฑ์เมืองด้วย พิพิธภัณฑ์ฟอสซิล และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำให้เยี่ยมชม จุดไฮไลท์คือชายหาดของเมืองที่เกิดจากการถมชายหาดเพิ่มขึ้นทุกปีของเมือง จะมีร้านอาหารทะเลอยู่ริมหาดและบังกะโลหลากสีให้เช่านั่งเล่นในวันที่แดดอุ่น ๆ
ตัวเมือง Lyme Regis
บังกะโลให้เช่าริมหาด
หาด Lyme Regis Beach ที่ถมโดยมนุษย์
น้อง Herring Gull นกนางนวลที่พบได้ทั่วไปในอังกฤษ
West Bay และ Chesil Beach
นอกจาก Lyme Regis เราต้องเปรียบเทียบอัตราการกัดเซาะกับอีก 2 หาด นั่นคือ West Bay และ Chesil Beach West Bay เป็นหาดหินที่อยู่ระหว่าง Lyme Regis และ Chesil Beach ที่นี่เราจะได้เห็นหน้าผาหินทรายสูงใหญ่ที่พร้อมจะถล่มลงมาได้ตลอด พร้อมกับคนที่มานอนเล่นที่ชายหาด โดยไม่สนใจคำเตือนให้ระวังหน้าผาถล่ม! ซึ่งจริงๆหน้าผาที่นี่สวยมากและหาดที่นี่สงบมากกว่า Lyme Regis ดังนั้นใครมีเวลาก็สามารถแวะมาได้
หน้าผาหินทรายที่ West Bay
ในขณะที่ Chesil Beach เป็นชายหาดหินที่เชื่อมระหว่างแผ่นดินใหญ่และ Isle of Portland เป็นที่ที่มีหินที่สวยมากจนครั้งหนึ่งเคยพบปัญหาหินหายจากการที่คนแอบนำกลับบ้านไปขายเป็นเครื่องประดับจนหมด จึงมีกฎห้ามเก็บหินออกไปจากพื้นที่แล้ว เมื่อเข้าไปในหาดนี้ จะเห็นหาดหินสีเทาเข้มสุดลูกหูลูกตาตัดกับทะเลสีคราม แม้วันที่เราไปจะมีพายุเข้า แต่ก็ยังสวยงามมากๆ
หินที่ Chesil Beach ตัดกับน้ำทะเลสีคราม
หาดหินสุดลูกหูลูกตาที่ Chesil Beach
Weymouth
ปิดท้ายทริปที่ Weymouth เมืองท่องเที่ยวที่เคยโด่งดังจากการเป็นสถานที่จัดการแข่งขันกีฬาทางน้ำในการแข่งขันโอลิมปิกเมื่อปี 2012 ที่เรามาเพื่อสำรวจผลกระทบของการหยุดพัฒนาหลังจากการแข่งขันจบลง เราได้เยี่ยมชมท่าเรือเก่าที่ถูกใช้เป็นท่าเรือมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตึกรอบๆท่าเรือล้วนเป็นตึกที่เกี่ยวข้องกับการประมงในอดีตทั้งสิ้น เช่น สมาคมนักประมง สำนักงานดูแลการท่า โกดังเก็บปลา แต่ล้วนเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เตือนความจำถึงความรุ่งเรืองทางการประมงในอดีตของเมืองนี้ ตอนนี้เศรษฐกิจส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยว เรือต่างเปลี่ยนเป็นเรือนำเที่ยวอ่าวของเมืองทั้งสิ้น ใครสนใจล่องเรือสามารถมาติดต่อหาทัวร์ได้รอบๆอ่าวเลย
ท่าเรือของเมือง Weymouth
ที่ทำการ Harbour Master ที่ไม่ใช่ Pokemon Master แต่เป็นเจ้าหน้าที่การท่าของท้องถิ่นที่คอยดูแลการนำเรือเข้า-ออกอ่าวในอดีต
น้อง Herring Gull ชุดขน ฤดูหนาว
ชายหาดของที่นี่เรียกได้ว่าเป็นชายหาดแบบ Retro ที่ยังมีมุมชิคๆจากอดีตให้ถ่ายรูปเล่น และมีร้านอาหารรวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกจำนวนมาก แต่ว่าไม่ว่ามองทางไหน ทุกที่ก็เริ่มปิดตัว มีแต่คนในพื้นที่ที่มาเดินเล่น เป็นอีกเมืองที่กำลังจะตายไปจากการไม่ได้พัฒนาต่อ ถ้าใครสนใจก็สามารถไปถ่ายรูปเล่นและไปอุดหนุนร้านของคนในพื้นที่ให้อยู่รอดได้กัน
ตู้โชว์ละครหุ่นโบราณที่ยังตั้งตระหง่านอยู่กลางหาดของ Weymouth
แล้วก็จบไปแล้วกับเรื่องราวการออกทริปที่ Jurassic Coastline ที่ได้เห็นชายหาดแปลกตาและสัตว์น่ารักมากมาย ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามซีรีส์เที่ยวทิพย์และหวังว่า หมดโควิด เราคงจะได้ออกไปเที่ยวกันอีกนะครับ ขอให้ทุกท่านปลอดภัยและโชคดีครับ!
คำแนะนำ
การเดินทาง: เดินทางด้วยรถส่วนตัวจะดีที่สุดเนื่องจากแต่ละสถานที่อยู่ไกลกันมาก และหาดหลายจุดไม่มีรถสาธารณะเข้าถึง
ช่วงเวลาที่เหมาะสม: แน่นอนว่าต้องเป็นหน้าร้อนที่อากาศร้อนเหมาะแก่การเล่นน้ำ และยังมีนักท่องเที่ยวพลุกพล่านทำให้ร้านต่างๆเปิดรับนักท่องเที่ยว มีบริการต่างๆให้เลือกใช้ได้มากกว่าหน้าอื่น
ข้อควรระวัง: หาดทุกที่ใน Jurassic Coastline เป็นหาดที่เสี่ยงต่อการผุกร่อนจากการกัดเซาะ จึงมีโอกาสสูงที่หน้าผาที่ท่านเห็นจะพังลงมาทับเรา หรือเศษหินจะตกลงมาใส่หัวเรา ต้องหลีกเลี่ยงจุดที่ไม่ปลอดภัยและปฏิบัติตามป้ายคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
แหล่งที่มาของข้อมูล
ข้อมูลส่วนใหญ่ได้จากการฟังบรรยายจากวิทยากรท้องถิ่นจาก PGL Osmington Bay และมีแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้
• ประวัติของ Mary Anning: https://www.nhm.ac.uk/discover/mary-anning-unsung-hero.html
• รายละเอียดพื้นฐานและคำแนะนำในการเยี่ยมชม Jurassic Coastline: https://jurassiccoast.org/
• สถานการณ์ของหยาดน้ำค้างในอังกฤษ: https://www.nhm.ac.uk/discover/bringing-back-the-carnivorous-great-sundew-and-other-rare-plants.html
• ฐานข้อมูลการจำแนกนกในสหราชอาณาจักร: https://www.rspb.org.uk/birds-and-wildlife/wildlife-guides/bird-a-z/
อ่านฉบับจริงได้ที่ เว็บ สามัคคีสมาคม https://www.samaggisamagom.com/

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา