22 ต.ค. 2021 เวลา 11:21 • ปรัชญา
" 8 คุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าถึงธรรม"
" ... ในสมัยหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายไว้ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดง
มหาปุริสวิตก 8 ประการ แก่เธอทั้งหลาย
เธอจงฟังให้ดี
พระองค์ได้ตรัสต่อไปว่า
ธรรมนี้ เป็นธรรมของผู้มีความปรารถนาน้อย
ธรรมนี้ มิใช่ธรรมของผู้มีความปรารถนามาก หนึ่ง
ธรรมนี้ เป็นธรรมของผู้มีความสันโดษ
ธรรมนี้ มิใช่ธรรมของผู้ไม่สันโดษ
ธรรมนี้ เป็นธรรมของผู้สงัด
ธรรมนี้ มิใช่ธรรมของผู้ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
ธรรมนี้ เป็นธรรมของผู้ที่ปรารภความเพียร
ธรรมนี้ มิใช่ธรรมของผู้ที่เกียจคร้าน
ธรรมนี้ เป็นธรรมของผู้ที่มีสติตั้งมั่น
ธรรมนี้ มิใช่ธรรมของผู้ที่มีสติหลงลืม
ธรรมนี้ เป็นธรรมของผู้ที่มีจิตมั่นคง
ธรรมนี้ มิใช่ธรรมของผู้ที่มีจิตไม่มั่นคง
ธรรมนี้ เป็นธรรมของผู้ที่มีปัญญา
ธรรมนี้ มิใช่ธรรมของผู้ที่มีปัญญาทราม
ธรรมนี้ เป็นธรรมของผู้ที่ชอบใจในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า
ยินดีในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า
ธรรมนี้ มิใช่ธรรมของผู้ที่ชอบใจในธรรมเนิ่นช้า
ยินดีในธรรมเนิ่นช้า
ท่านเรียกว่า มหาปุริสวิตก ๘ ประการ
ก็เป็นวิถีของสมณะ
ในการฝึกฝนขัดเกลาตนเองนั่นเอง
เรียกว่าจะเข้าถึงธรรมะ อันสงบบริสุทธิ์ได้
ก็ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ 8 ประการนี้นั่นเอง
คือ มีความมักน้อย
ถ้าเป็นผู้ปรารถนามาก ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้
จนกว่าจะละความปรารถนามากเสีย
เป็นผู้มักน้อย เป็นผู้สันโดษ เป็นผู้สงบสงัด
ถ้าเป็นผู้ที่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
ก็ไม่สามารถเข้าถึงธรรมะอันนี้ได้
เป็นผู้ปรารภความเพียร
เป็นผู้มีสติตั้งมั่น
เป็นผู้มีจิตมั่นคง
เป็นผู้มีปัญญา
เป็นผู้ที่ชอบใจในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า
ยินดีในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า
ก็คือการเข้าถึงความหลุดพ้นนั่นเอง
พระองค์ก็ขยายความต่อให้ว่า
ความมักน้อย หรือความปรารถนาน้อยนั้นเป็นอย่างไร ?
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
เป็นผู้มักน้อย
ย่อมไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นรู้ว่าตนเองเป็นผู้มักน้อย
เข้าใจไหม
เป็นผู้มักน้อย
ย่อมไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นรู้ว่าตนเองเป็นผู้มักน้อย
ก็คือมันเป็นคุณสมบัติในการฝึกฝนขัดเกลาตนเอง
มันเป็นคุณธรรมเฉพาะตัวเรา
ไม่ได้ปรารถนาให้ผู้อื่นมารู้มาเห็น
คุณธรรมของเราอันนี้นั่นเอง
เพราะว่ามันเป็นกิเลส
เป็นผู้สันโดษ
ย่อมไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นรู้ว่าเราเป็นผู้สันโดษ
เป็นผู้สงบสงัด
ย่อมไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นรู้ว่า เราเป็นผู้สงบสงัด
เป็นผู้ปรารภความเพียร
ย่อมไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นรู้ว่าเราเป็นผู้ปรารภความเพียร
เป็นผู้มีสติตั้งมั่น
ย่อมไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นรู้ว่าเราเป็นผู้ที่มีสติตั้งมั่น
เป็นผู้มีจิตมั่นคง
ย่อมไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นรู้ว่าเราเป็นผู้ที่มีจิตมั่นคง
เป็นผู้มีปัญญา
ก็ไม่ได้ปรารถนาให้ผู้อื่นรู้ว่าเราเป็นผู้ที่มีปัญญา
เป็นผู้ที่ชอบใจในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า
ยินดีในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า
ก็ไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นรู้
ว่าเราเป็นผู้ที่ชอบใจในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า
ยินดีในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า
ทำความเข้าใจให้ดีนะ
นี่ข้อแรกแลย ความมักน้อยนั้นหมายความว่าอย่างไร ?
เรียกว่าเป็นการขัดเกลาข้อแรกเลยนั่นเองนะ
ถ้าเรายังละกิเลสข้อแรก คือข้อหยาบ ๆ ไม่ได้
เราจะไปละกิเลสละเอียดได้อย่างไร
คุณธรรมต่าง ๆ มันเป็นสิ่งที่เรา
ไว้ฝึกฝนขัดเกลาตนเอง
ไม่ใช่มีไว้อวดผู้อื่นนั่นเอง
1
ไม่ได้ต้องการให้ผู้อื่นมายกยอสรรเสริญ
มาชื่นชมยินดี
มาเคารพเราด้วยคุณธรรมต่าง ๆ ที่เรามีนั่นเอง
เราสมาทานธุดงค์ ก็เพื่อขัดเกลาตนเอง
ก็ไม่ได้ปรารถนาให้ผู้อื่นรู้ว่า
เราเป็นผู้ที่สมาทานธุดงค์
เป็นผู้ที่ขัดเกลาตนเอง
อย่างในสมัยพุทธกาล ก็มีภิกษุสองพี่น้อง
อยู่ในภูเขาลูกหนึ่ง บำเพ็ญสมณธรรม
วันหนึ่งพระน้องชาย
ก็มีโยมอุปฐากถวายต้นอ้อยมา
ฉันเป็นปานะได้ น้ำอ้อยต้นอ้อย
ก็เลยได้รับมา แล้วก็จะเอามาถวายพระพี่ชาย
ในช่วงนั้นพระพี่ชาย
ฉันภัตตาหารเรียบร้อยแล้ว
ล้างปากเรียบร้อยแล้ว
พอพระน้องชายนำมาถวาย
ท่านก็ไม่รับ ท่านบอก นิมนต์ท่านฉันไปเถิด
พระน้องชายก็เลยถามว่า
ท่านสมาทานการฉันมื้อเดียวหรือ ?
จริง ๆ คือท่านสมาทานฉันมื้อเดียวมา
แต่ท่านไม่ได้ปรารถนาให้น้องชายรู้
อยู่ด้วยกันตั้งนานยังไม่รู้เลย
ท่านก็รับอ้อยนั้นมา แล้วก็ลงฉันเสีย
จากนั้นก็สมาทานใหม่ ฉันมื้อเดียว
จริง ๆ แล้วท่านสมาทานธุดงค์
ฉันมื้อเดียวมา 50 ปีเต็ม
พระน้องชายอยู่ด้วยกัน ยังไม่รู้เลยว่าท่านสมาทาน
แต่พอพระน้องชายถาม
ท่านก็ไม่ปรารถนาให้รู้อีกนั่นแหละ
ท่านก็เลยอธิษฐานถอนสมาทาน
แล้วก็รับมาฉัน แล้วก็สมาทานใหม่
นี่ตัวอย่างของความเป็นผู้มักน้อย
ไม่ได้ปรารถนาให้ผู้อื่นมารู้คุณธรรมของเรา
คุณธรรมต่าง ๆ เป็นคุณสมบัติ
ที่เราไว้ฝึกฝนขัดเกลาตัวเองเท่านั้น
...
มีภิกษุรูปหนึ่ง
บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในถ้ำ
ก็มีวันหนึ่ง มีเพื่อนสหธรรมิกมา
แล้วก็ขอพักอาศัยอยู่ด้วย
กลางคืนมันก็มืด ไม่มีไฟ คืนเดือนมืด
แต่ช่วงตกดึก
ฟ้าก็ร้องเปรี้ยงแว๊บนึง
เพื่อนสหธรรมิกที่มานอน
ก็เห็นภิกษุรูปนั้นท่านนั่งอยู่ ไม่นอน
ก็เลยลุกมาถามว่า
ท่านสมาทานเนสัชชิกไม่นอนหรือ ?
ภิกษุรูปนั้นก็ล้มตัวนอนเลย
ทั้ง ๆ ที่ท่านสมาทานเนสัชชิกมา 30 ปีเต็ม
เนี่ยความมักน้อย
ไม่ได้ปรารถนาให้ผู้อื่นรู้คุณธรรมของตนเอง
อันนี้พิจารณากันให้ดี
มันเป็นธรรมเบื้องต้นเลย ความมักน้อย
คุณสมบัติของสมณะ
เป็นเรื่องละเอียดอ่อน
กิเลสอย่างหยาบ ถ้าเรายังละไม่ได้
เราจะไปละสิ่งละเอียดได้อย่างไร
การที่เราบำเพ็ญฝึกฝนขัดเกลาตนเอง
ไม่ได้ปรารถนาให้ผู้อื่นมารู้คุณธรรมของเรา
อันจะเป็นกิเลส ที่ทำให้เราเกิดความพองโตขึ้น
อะไรก็ตาม
เราฝึกเพื่อละ เพื่อสละกิเลส
ไม่ใช่ฝึกเพื่อสะสมกิเลสนะ
ละสิ่งหนึ่งกลับไปเพิ่มสิ่งหนึ่งนั่นเอง
...
ภิกษุรูปหนึ่ง เป็นผู้ที่ทรงพระไตรปิฏกได้
ก็ไม่ได้ปรารถนาให้ผู้อื่นรู้ว่า
ตัวเองเป็นผู้ทรงพระไตรปิฏกได้
ก็แสดงธรรมโดยที่ผู้อื่นไม่รู้เลยว่าเป็นใคร
เป็นผู้ที่ทรงฌานสมาบัติ
ก็ไม่ได้ปรารถนาให้ผู้อื่นรู้ว่า
ตัวเองเป็นผู้ที่ทรงฌานสมาบัติ
เป็นผู้ที่ทรงปัญญาญาน
ก็ไม่ได้ปรารถนาให้ผู้อื่นรู้ว่า
ตัวเองเป็นผู้ที่มีปัญญาญาน
แม้กระทั่งเป็นผู้ที่บรรลุธรรมแล้ว
ก็ไม่ได้ปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นรู้ว่า
ตัวเองเป็นผู้ที่บรรลุธรรม
เพราะฉะนั้น ทำความเข้าใจคุณธรรมข้อแรกให้ดี
ความเป็นผู้ปรารถนาน้อยนั่นคือสิ่งใด ?
คุณสมบัติต่าง ๆ หรือผลที่เกิดขึ้น
จากการฝึกฝนขัดเกลาตนเอง
ไม่ว่าสติ สมาธิ ปัญญาต่าง ๆ
ก็ไม่ได้ปรารถนา
ที่จะให้ผู้อื่นรู้เรื่องพวกนี้นั่นเอง
มันจะเป็นกิเลสที่ตามเข้ามา
พอกภายในใจของเรานั่นเองนะ
เพราะฉะนั้น บางทีนี่เราฝึกฝนขัดเกลา
ถือธุดงค์หรือฝึกฝน
ให้สำรวจใจตัวเอง
บางทีเราทำเพื่ออวดผู้อื่นหรือไม่
ก็เป็นกิเลสอีก
เราฝึกเพื่อละนั่นเอง
เพราะฉะนั้น ข้อแรกเนี่ยมันจะบล็อกตัวเราเองได้เลย
เป็นผู้ที่มีความปรารถนาน้อยอย่างยิ่ง
คฤหัสถ์ฆราวาสก็สามารถนำไป
ประพฤติปฏิบัติได้เช่นกัน
คฤหัสถ์ฆราวาสฝึกปฏิบัติธรรม
ก็สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ
ไม่ใช่ว่าวางตัว
ให้เหมือนกับผู้อื่นต้องรู้ว่าเราเป็นนักปฏิบัติธรรม
ก็เคยเห็นกันมากใช่ไหม มันไม่เป็นธรรมชาติ
จริง ๆ แล้วคนปฏิบัติธรรม
ก็เป็นคนปกติธรรมดา
มีความเรียบร้อย มีวาจาอ่อนหวาน มีศีลมีธรรม
ก็ไม่ได้ไปโอ้อวดกับใครนั่นเอง
ก็ใช้ชีวิตที่ปกติ
นี่ความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย
ความเป็นผู้สันโดษ ก็คือสันโดษในปัจจัยทั้ง ๔
อาหารบิณฑบาต จีครเครื่องนุ่งห่ม
เสนาสนะที่อยู่อาศัย เภสัชยารักษาโรค
ก็ตามมีตามได้ ใช้แต่น้อย
ใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้นเอง
ใช้เพียงเพื่อยังอัตภาพให้เป็นไป
ถ้าเราะสะสมมาก
มันก็กลายเป็นพอกกิเลสในใจของเรานั่นเอง
แล้วห้วงน้ำแห่งตัณหาเนี่ย มันไม่เต็ม
มันจะมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง
เราก็ต้องพิจารณาตนเอง
เตือนตนเองอยู่เสมอ
เราเข้ามาบวชเพื่ออะไร ?
มันเป็นวิถีของการขัดเกลา
เพื่อละออก เพื่อสละออก
ไม่ใช่สะสมเข้านั่นเอง
ความเป็นผู้มักน้อย ความเป็นผู้สันโดษ
ความเป็นผู้สงบสงัด
ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ
ถ้ามีความจำเป็นต้องพูดคุย ก็พูดเท่าที่จำเป็น
ที่เรียกว่า กถาวัตถุ ๑๐ นั่นเอง
ก็คือพูดเฉพาะที่เกี่ยวกับความมักน้อย
ความสันโดษ ความสงบสงัด
ความไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ
การปรารภความเพียร
ความมีสติ มีสมาธิ มีปัญญา
มีวิชชา มีวิมุตตินั่นเอง
ก็คือพูดในเรื่องที่น้อมไป
เพื่ออรรถเพื่อธรรมเท่านั้น
ก็ละเรื่องทางโลกเสีย
ความเป็นผู้ปรารภความเพียร
ก็เพียรละอกุศลธรรมต่าง ๆ
เพียรยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อมนั่นเอง
ความเป็นผู้มีสติตั้งมั่น
ก็เป็นผู้มีการระลึกในกายตนเองอย่างมั่นคง
เป็นผู้มีความรู้ได้อย่างมั่นคง
แม้กิจหรือคำพูดที่เราทำไปแล้ว
แม้นานก็ยังสามารถระลึกได้
ระลึกได้ไหมว่า ในแต่ละวันเราทำกิจอะไรไป
เราพูดอะไรไป
เรามีสติในทุกการกระทำ ในทุกคำพูดหรือเปล่า
ผู้ที่มีสติตั้งมั่น พระองค์ตรัสว่า
ย่อมระลึกถึงกิจ และคำพูดที่เราพูดไป
แม้นานแล้วได้
ไม่ใช่หลง ๆ ลืม ๆ
ไม่ใช่เป็นผู้หลงลืมสตินั่นเอง
รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา
รู้ว่ากำลังทำอะไร
กำลังคิดอะไร กำลังพูดอะไร
แม้ย้อนกลับก็สามารถระลึกได้นั่นเอง
ไม่ใช่เป็นผู้มีสติหลงลืม
อันนี้คือความหมายของผู้มีสติตั้งมั่น
ความเป็นผู้มีจิตมั่นคง
ก็คือบำเพ็ญสมณธรรม
จนสงัดจากกามและอกุศลธรรม
ก็เข้าถึงปฐมฌาน
ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตฌาน
เป็นผู้ที่มีสติมั่นคง มีจิตตั้งมั่น
เข้าถึงสัมมาสมาธิ
มีความสงบระงับ อันเกิดจากความวิเวิกนั่นเอง
เป็นผู้มีปัญญา ก็เป็นผู้
รู้ความเป็นไปของสังขาร
การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
มีปัญญาน้อมไปเพื่อการปล่อยวาง
เพื่อการหลุดพ้น
แล้วก็เป็นผู้ที่ชอบใจในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า
ก็คือ ถ้าเราบำเพ็ญอย่างนี้
มันก็สามารถหลุดพ้นได้ไว
เข้าถึงธรรมที่หลุดพ้น
จากธรรมเครื่องเนิ่นช้าทั้งหลายทั้งปวง
ก็คือพวกกิเลสตัณหาอุปาทานนั่นเองนะ
เพราะฉะนั้น วิถีสมณะก็จะเป็นไป
เพื่อการฝึกฝน ขัดเกลาตนเอง
เพิกสิ่งที่รกรุงรัง สิ่งที่มันหนัก
สิ่งที่มันพอกหนาทั้งหลายทั้งปวง
ออกไปจากจิตจากใจ
ทางโลกนี่เป็นเรื่องของการสะสมใช่ไหม
ถ้าเรามีเงิน มีทรัพย์สมบัติมาก
มันรู้สึกปลื้มใจอุ่นใจ
แต่ทางธรรมกลับเป็นเรื่องของการสละออก
เมื่อจิตมันคลายจากอารมณ์หยาบ ๆ ต่าง ๆ
มันจะเข้าถึงความสงบระงับโดยธรรมชาติเลย
แล้วก็หลุดจากอารมณ์ละเอียดทั้งหลายทั้งปวง
จนเข้าถึงเนื้อธรรมชาติที่บริสุทธิ์
มันเป็นเรื่องของการเพิกออก สลัดออกนั่นเองนะ
เพราะฉะนั้น วิถีของสมณะ
ก็จะเป็นเรื่องของการฝึกฝนขัดเกลาตนเองอยู่เนือง ๆ
มหาปุริสวิตก เอาไปตรึกนึกอยู่เป็นประจำได้
คุณสมบัติที่จะทำให้เข้าถึงความเป็นมหาบุรุษ
ก็คือผู้แกล้วกล้าในธรรม
ผู้ที่สามารถชนะข้าศึกที่ชนะได้ยากยิ่ง
ก็คือข้าศึกภายในใจของเรานั่นเอง
กิเลสตัณหาภายในใจเรานั่นเอง
ท่านผู้รู้ท่านกล่าวไว้ว่า
ท่านมองไปทั่วจักรวาล ทั้งมหาจักรวาล
ก็ไม่เห็นข้าศึกอะไรที่ร้ายกาจเท่า
ข้าศึกภายในใจของเรานี่แหละ
กิเลส ตัณหา อุปาทาน
ชนะศึกภายนอกใด ๆ
ก็ไม่เท่ากับชนะศึกภายใน
ชนะกิเลสในใจตัวเอง
ชนะตนเองได้นั่นเอง
ชนะใจตนเองได้
จึงจะได้ชื่อว่าเป็นมหาบุรุษนั่นเอง
เพราะฉะนั้น มหาปุริสวิตก
เอาไปตรึกนึกอยู่เป็นประจำ
ท่านพระอนุรุทธะ
นำพระพุทธดำรัสนี้ไปตรึกนึก
จนบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
มหาปุริสวิตก 8 ประการนั่นเอง จำกันได้ไหม
1 ความเป็นผู้มักน้อย
2 ความสันโดษ
3 ความสงบสงัด
4 ความปรารภความเพียร
5 ความเป็นผู้มีสติตั้งมั่น
6 มีจิตมั่นคง
7 มีปัญญา
8 เป็นผู้ชอบใจในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า
ยินดีในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า ... "
.
ธรรมบรรยาย โดย
พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
Photo by : Unsplash , freepik

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา