21 ธ.ค. 2021 เวลา 07:39 • สิ่งแวดล้อม
นก กับ หาดทราย
นกหัวโตมลายู Malaysian plover มีสปอนเซอร์แต่โพสต์นี้ไม่มีสปอนเซอร์….
ประเทศไทยเป็นอีกประเทศที่ชายหาดได้รับความนิยมมากในด้านการท่องเที่ยว ถึงขั้นสำหรับบางคนถือเป็นที่”สิ้นคิด”เวลาไม่รู้จะไปเที่ยวที่ใหนดี
นกหัวโตมลายู Malaysian plover
แต่นั่นก็เป็นเพียงมุมมองของเรา หาดทรายยังมีความหมายและคุณค่าที่มากกว่านั้น
ไม่ใช่เพียงแต่เป็นประโยชน์ให้กับมนุษย์ แต่ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตอีกมาก จนถ้าจะเรียกหาดทรายว่าเป็น
”ป่า”แห่งหนึ่งก็ยังได้
ผู้ผลิตที่ทำหน้าที่แทนต้นไม้ใหญ่ ก็คือแพลงก์ตอนพืช
ผู้บริโภคก็จะเป็นแพลงก์ตอนสัตว์ และสัตว์อื่นๆที่สามารถกินแพลงก์ตอนเป็นอาหารได้
หาดทรายมีห่วงโซ่อาหาร มีสายใยอาหาร มีระบบนิเวศเป็นของตัวเอง ไม่ต่างอะไรจากป่า เพียงแต่หาดทรายไม่ได้มีสีเขียวชอุ่มอย่างในป่าเท่านั้นเอง
ซึ่งนกหัวโตมลายูก็ถือเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิต ที่อยู่ในสายใยอาหารนี้เช่นกัน
แต่ก่อนจะพูดถึงนกหัวโตมลายู
เราไปทำความรู้จัก”นกหัวโต”กันก่อน
นกหัวโตขาดำ Kentish plover จากเดอะเกลือ คาเฟ่
นกหัวโต(plover) เป็นนกที่มีขนาดกลางๆ ตั้งแต่14cm ไปจนถึง20cm แล้วแต่ชนิดของมัน
มักจะอาศัยอยู่เป็นกลุ่ม ตั้งแต่หลักหน่วย ไปจนถึงหลักพัน
(ในประเทศไทย)
และหลายครั้งก็จะรวมกลุ่มกับนกกลุ่มอื่นๆ เช่นนกนางนวล นกเด้าดิน นกอีก๋อย และนกชายเลนอื่นๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว นกหัวโตในไทยจะเป็นนกอพยพ มักพบในช่วงฤดูหนาว แต่ก็สามารถพบได้ตั้งแต่เดือนกันยายน ไปจนถึงช่วงเดือนเมษายน
ฝูงนกหัวโต จากศูนย์อนุรักษ์นกชายเลน ปากทะเล
เราสามารถเจอนกกลุ่มนี้ได้หลากหลายพื้นที่มาก ตั้งแต่ชายหาด นาเกลือ หรือพื้นที่ชุ่มนำ้ภายในประเทศก็สามารถเจอได้เช่นกัน แต่ในแต่ละพื้นที่ก็จะเจอนกหัวโตชนิดที่ต่างกันออกไป
นกหัวโตหลังจุดสีทอง Pacific golden plover จาก เดอะเกลือ คาเฟ่ จะเห็นได้ชัดว่าหน้าตาของมันต่างจากนกหัวโตชนิดอื่น สูงใหญ่กว่า คอยาวกว่า แต่มันก็คือนกหัวโตเหมือนกัน
นกหัวโต เป็นนกที่กินสัตว์ขนาดเล็กในทราย เช่นหนอนแมลง และสัตว์จำพวกกุ้ง ปู และหอย
นกหัวโตทรายเล็ก จากหาดชะอำเหนือ
ซึ่งหนึ่งในพฤติกรรมที่พิเศษและน่าสนใจของนกหัวโตคือ
“foot trembling”
มันคือการใช้ฝ่าเท้า ตบลงไปที่พื้นแบบถี่ๆ ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือน และทำให้อาหารของมันที่ซ่อนอยู่ในทรายโผล่ขึ้นมา
พฤติกรรมนี้มีอยู่ในนกหัวโตหลายชนิด ซึ่งนกหัวโตทรายเล็กเป็นหนึ่งในนั้น
สามารถดูตัวอย่างการfoot tremblingของนกหัวโตทรายเล็กได้ในคลิบนี้ นาทีที่2:14 (ขออภัยที่ภาพมองค่อนข้างยาก ตอนนั้นยังถ่ายไม่ค่อยเก่งครับ😅)
ทีนี้เรามาพูดถึงนกหัวโตมลายูกันบ้าง
นกหัวโตมลายู Malaysian plover
เป็นนกหัวโตที่มักจะอาศัยอยู่ตามพื้นที่ชายหาด ซึ่งสามารถพบได้ตั้งแต่หาดฝั่งอาวไทย(ด้ามขวานทั้งแถบ) ชายฝั่งพัทยา-ระยอง และชายฝั่งอันดามัน และยังพบได้ในประเทศเพื่อนบ้านอีกหลายประเทศในSEAอีกด้วย
มันเป็นหนึ่งในสองของนกหัวโตในไทย ที่เป็นนกประจำถิ่น (อีกชนิดคือนกหัวโตเล็กขาเหลือง แต่พวกมันมีประชากรที่อพยพด้วย ต่างจากนกหัวโตมลายูที่ไม่มีการอพยพเลย)
พวกมันใช้ชีวิตทั้งชีวิตอยู่ถิ่นเดิม รวมไปถึงการทำรังวางไข่ด้วย
นกหัวโตชนิดนี้สามารถแยกเพศได้โดยง่าย โดยสำหรับเพศผู้ มันจะมีแถบสีดำบนศีรษะ แถบคาดตาสีออกดำ ท้ายทอยสีส้ม และมีวงแหวนสีดำคาดตั้งแต่แถบอกไปจนถึงหลังคอ(แต่แถบอก2ข้างจะไม่เชื่อมถึงกัน)
ส่วนเพศเมีย วงแหวนจะเป็นสีส้ม แถบคาดตาสีนำ้ตาล และไม่มีแถบสีดำบนศีรษะ
นกหัวโตมลายู เพศผู้ เทียบกับเพศเมีย
โดยปกติ อย่างที่ผมบอกไปว่า นกหัวโตมักจะอยู่กันเป็นฝูง และจะรวมกับนกชนิดอื่นในบางครั้ง แต่นั่นไม่เสมอไปสำหรับนกหัวโตมลายู
ด้วยความที่มันเป็นนกประจำถิ่น จึงทำให้มันมีช่วงเวลาที่อยู่โดดๆ หรือมีเพียง1คู่แบบในภาพ
ชายหาดที่ผมไปมาคือหาดนมสาว ผมเดินมองหานกอยู่เกือบครึ่งชั่วโมง ทั้งหาด…..มีแค่2ตัว
มีแค่นกเด้าดิน common sandpiper เดินสวนกับนกหัวโตมลายูนิดๆหน่อยๆ
ตอนที่ผมเดินหามันเกือบครึ่งชั่วโมง ผมเกือบจะตัดใจแล้วด้วยซำ้ว่าวันนี้คงหาไม่เจอแล้ว แต่ตอนระหว่างกำลังจะเดินออกจากหาด อยู่ๆน้องก็”เดิน”จนเรามองเห็นมัน
รูปที่ถ่ายมา เป็นรูปที่ผมคลานลงไปกับพื้นและถ่ายมันในระดับสายตา จึงมองเห็นมันได้ง่าย แต่ถ้าเรามองจากมุมสูง หรือยืนมองปกติ เราจะแทบมองไม่เห็นมันเลยถ้ามันไม่ขยับตัว เพราะลายของมันเนียนไปกับทรายมากๆ
แล้วอย่างตอนที่ผมไปเป็นเวลาประมาณ11โมง มันสายมากๆแล้ว แดดก็แรง พวกมันจึงไม่ค่อยขยับตัว ยืนกันนิ่งมากกกกก
เนื่องจากพวกมันจะเริ่มหาอาหารกันตอนเช้าตรู่ และช่วงสายๆบ่ายๆที่แดดแรงมันจะอยู่นิ่งๆเพื่อพักผ่อน
มีสบัดขน ยืดเส้นยืดสายบ้าง
ปกติเวลาเราเดินเข้าไปใกล้นกมากเกินไป นกจะบินหนี แม้แต่นกหัวโตปกติมันก็sensitive มาก แทบจะเข้าใกล้ไม่ได้เลย
แต่พวกหัวโตมลายู มันแทบไม่หนีเลย พอเข้าใกล้เกินไป….ก็ค่อยๆเดินหนี
ถ้าใครอยากดูความน่ารักของมันเพิ่มเติม สามารถดูในคลิบนี้ได้เลยครับ เดินด๊อกแด๊กๆน่ารักมาก
ถึงแม้ว่านกหัวโตมลายู จะยังคงมีรายงานอยู่ในหลายพื้นที่ แต่สำหรับสถานภาพการอนุรักษ์นั้น ในระดับโลก พวกมันถูกจัดอยู่ในสถานภาพNT(Near threatened) คือ ใกล้ถูกคุกคาม หมายความว่าพวกมันเริ่มมีความเสี่ยงในการสูญพันธุ์นั่นเอง
แต่นั่นคือในระดับโลก ถ้าเป็นในระดับประเทศ พวกมันถูกจัดอยู่ในสถานภาพEN(Endangered) คือ ใกล้สูญพันธุ์ เพราะถึงแม้ว่าจะยังเจอได้ในหลายพื้นที่ แต่หลายพื้นที่ที่มีอยู่ตอนนี้ มันน้อยกว่าแต่ก่อนมาก….และยังไม่มีทีท่าที่จะหยุดลดลงเลย
ขนาดเป็นหาดที่ไม่ค่อยมีคน ยังมีขยะเยอะขนาดนี้เลยครับ
มันเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากการหายไปของชายหาดมากที่สุด
ไม่ว่าจะเพราะการท่องเที่ยว การสร้างกำแพงกันคลื่น ผลกระทบจากชนิดพันธุ์ต่างถิ่น(alien species)เช่นพืชล้มลุก และสัตว์นักล่าอย่างสุนัขจรจัด แมวจรจัด ก็ล้วนส่งผลกระทบต่อประชากรของพวกมัน
ซึ่งเมื่อชายหาดเดิมที่มันอยู่นั้นไม่เหมาะสม สิ่งที่มันทำได้มีเพียงอย่างเดียวคือการย้ายไปอยู่หาดอื่น เหมือนกับการถูกต้อนไปเรื่อยๆจนอาจจะจนมุมในอนาคตอันใกล้นี้ก็เป็นได้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา