24 พ.ย. 2021 เวลา 00:17 • ความคิดเห็น
เราพร้อมหรือยังที่จะทอดทิ้ง “หัวลำโพง” ?
2
การประกาศยกเลิกใช้สถานีรถไฟ “หัวลำโพง” เพื่อเตรียมปรับปรุงให้กลายเป็นพื้นที่ย่านพาณิชยกรรมแห่งใหม่ กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคม
มีความเห็นแสดงความไม่เห็นด้วย ที่จะยกเลิกใช้หัวลำโพงด้วยกันหลักๆ อยู่สองเหตุผล คือ
  • 1.
    เหตุผลด้านการอนุรักษ์ และ
  • 2.
    เหตุผลต้นทุนการใช้ชีวิตของพี่น้องประชาชน ที่จะสูงขึ้นหลังจากยกเลิกการใช้สถานี
ซึ่งสองเหตุผลหลักข้างต้นทั้งสอง ก็นำมาซึ่งคำถามสำคัญของบทความว่า เราพร้อมหรือยังที่จะทอดทิ้งหัวลำโพง?
📌 แนวคิดการอนุรักษ์สถานีรถไฟกลางกรุง อายุ 105 ปี
สำหรับเหตุผลเรื่องการอนุรักษ์นี้ เรียกได้ว่า ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรกแล้ว เมื่อเรื่องของ “โรงหนังสกาล่า” พึ่งจะซาลงไปไม่ทันใด เรื่องของหัวลำโพงก็ขึ้นมาสอดแทรกในหน้าข่าวแล้ว
1
และเมื่อถ้าเมื่อเทียบกันดูแล้ว โรงหนังสกาล่าที่ได้ชื่อว่ามีความสำคัญในแง่ของการอนุรักษ์ ก็อาจจะยังเทียบไม่ได้กับความสำคัญในแง่ประวัติศาสตร์ของหัวลำโพงด้วยซ้ำ
โดยสถานีหัวลำโพง เป็นสถานีที่เปิดบริการมานานกว่า 105 ปีแล้ว หรือก็คือ เปิดมาตั้งแต่ในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ทั้งนี้ ทั้งรูปแบบการตกแต่งและแนวคิดสถาปัตยกรรม ถูกออกแบบขึ้นตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ “พระปิยมหาราช”
 
เมื่อพระองค์ได้เสด็จประพาสไปที่หลายเมืองในต่างประเทศ และได้นำแนวคิดการพัฒนามาสู่ไทยหลายอย่าง หนึ่งในนั้น ก็คือ การสร้างสถานีรถไฟหัวลำโพง ที่ได้รับอิทธิพลการออกแบบสไตล์อิตาเลียนผสมผสานกับศิลปะยุคเรเนซองส์ และก็มีนาฬิกาอายุเก่าแก่ ติดตั้งไว้ที่กึ่งกลางยอดโดมสถานี
ถือเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่หาได้ยากยิ่งในไทย และก็เป็นร่องรอยแสดงถึงความทันสมัยของไทยในยุคนั้นเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
โดยเบื้องต้นจากการประกาศของบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ที่เป็นผู้ดูแลศึกษาพัฒนาพื้นที่หัวลำโพง ได้บอกว่า จะมีการอนุรักษ์ส่วนของอาคารสถานี และสถาปัตยกรรมสำคัญที่จารึกหน้าประวัติศาสตร์ ไว้อย่างแน่นอน
และจะเน้นสร้างพื้นที่เชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็น ร้านค้า โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ในบริเวณโดยรอบขนาดประมาณ 100 ไร่แทน
แต่ก็ยังมีการตั้งคำถามอยู่ดีว่า การพัฒนาพื้นที่ โดยเฉพาะในส่วนที่ทำการอนุรักษ์ไว้ จะสามารถพัฒนาไปได้อย่างเหมาะสมแค่ไหน
หนึ่งในคนที่เสนอแนวคิดออกมาคือ คุณวิกรม กรมดิษฐ์ ที่ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ Suthichai live เสนอว่า ในพื้นที่หัวลำโพงนี้ อาจจะเลียนแบบโมเดลของหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ ญี่ปุ่น และจีน
1
ทำการสร้างพิพิธภัณฑ์ที่ “สะท้อนความเป็นอดีตให้คนปัจจุบันเห็น” โดยการจำลองให้เห็นเลยว่า เมื่อ 105 ปีที่แล้ว สถานที่บริเวณหัวลำโพงในตอนนั้นเป็นอย่างไรทั้ง สภาพความเป็นอยู่ ร้านค้า และเครื่องไม้เครื่องมือ
อย่างไรก็ดี ก็มีความเห็นจากบางท่าน ที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างอาคารโดยรอบบริเวณสถานีหัวลำโพงเลย เช่น คุณรสนา โตสิตระกูล นักรณรงค์ด้านสุขภาพและสิทธิผู้บริโภค ที่โพสต์ที่เฟสบุ๊คส่วนตัวว่า การสร้างอาคารโดยรอบ จะเป็นการทำลายทัศนียภาพของสถานที่
โดย ยกกรณีศึกษาของสถานีรถไฟแฟรงเฟิร์ตในเยอรมัน ที่เป็นหนึ่งในต้นแบบของหัวลำโพง ที่ปัจจุบันก็ยังถูกให้ความสำคัญและใช้เป็นสถานีสำหรับเดินรถไฟอยู่
1
📌 รถไฟรางที่หายไป กับต้นทุนการใช้ชีวิตของประชาชนที่เพิ่มขึ้น?
1
อีกเหตุผลหลักที่ถูกนำมาใช้วิจารณ์ การยกเลิกสถานีรถไฟหัวลำโพง คือ เรื่องการเพิ่มต้นทุนการใช้ชีวิตของภาคประชาชน
โดยในปัจจุบัน มีผู้คนที่โดยสารรถไฟเข้าออกจากสถานีหัวลำโพง มากกว่าหมื่นคนต่อวัน ถือเป็นศูนย์กลางสำคัญของการเดินทางต้นทุนต่ำของประชาชน
ซึ่งหากทำการยกเลิกไม่ให้มีการนำรถไฟเข้ามาที่หัวลำโพงเลย ก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนที่ใช้บริการเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ชานเมือง ที่อาศัยการเดินทางระบบรางที่มีราคาถูกเพื่อเข้าสู่ใจกลางเมือง
ส่วนช่วงเส้นทางสำคัญที่ยังไม่ถูกเติมเต็มในปัจจุบัน หากต้องทำการยกเลิกหัวลำโพงไป ก็คือ ส่วนที่เชื่อมระหว่างสถานีกลางบางซื่อและสถานีหัวลำโพง ที่มีระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร
โดยหากผู้โดยสารต้องการ “จะเดินทางด้วยระบบราง” จากสถานีกลางบางซื่อมาที่หัวลำโพง จำเป็นต้องใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งมีค่าใช้จ่าย 42 บาท เทียบกับการดินทางด้วยรถไฟธรรมดาปกติที่ราคาไม่ถึง 10 บาท
1
นอกจากนี้ ยังจะมีเส้นทางอีกส่วน ที่จะประสบกับความยากลำบากในการเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองเช่นกัน ก็คือ เส้นทางจากฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่หากยกเลิกหัวลำโพง ก็จะไม่สามารถเชื่อมเข้าสู่ใจกลางเมืองได้ อันที่จริง เส้นทางนี้ยังไม่สามารถที่จะเชื่อมได้แม้กับ สถานีกลางบางซื่อด้วยซ้ำ
1
📌 เหตุผลที่ต้องปรับเปลี่ยนหัวลำโพง
หนึ่งในเหตุผลที่ทางการรถไฟ หยิบขึ้นมาเพื่ออธิบายการยกเลิกรางส่วนที่เข้าสู่หัวลำโพง คือ เรื่องการขัดขวางการจราจรบนท้องถนน เพราะเมื่อรถไฟตัดผ่านถนน รถยนต์ก็ต้องหยุดรถให้
ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ถูกวิพากษ์เช่นกันว่า แท้จริงแล้วการเดินทางด้วยระบบรางสามารถรองรับจำนวนคนได้มากกว่าโดยเปรียบเทียบกับพื้นที่ ทำไมถึงทำเหมือนกับว่า รถไฟเป็นผู้ร้ายของระบบการคมนาคมแทน
1
และอีกหนึ่งเหตุผลที่ถูกหยิบยกมา ก็คือ ความตั้งใจที่จะสร้างสถานีกลางบางซื่อให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งมวลชนอย่างแท้จริง ซึ่งในอนาคตก็มีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างนั้นอย่างสมบูรณ์
แต่ในปัจจุบัน เมื่อเส้นทางสายสีแดงเข้มและสีแดงอ่อน ยังไม่เสร็จสิ้นทั้งเส้นทาง รวมถึงการพัฒนาขนส่งมวลชนโดยรอบบางซื่อก็เหมือนจะยังไม่เรียบร้อยดี ภาระการเดินทางก็ดูเหมือนจะตกมาอยู่ในมือของประชาชนแทน ซึ่งเรื่องนี้ก็มีเคยมีการพิจารณาอยู่เช่นกัน
1
อย่างเช่น ในตอนต้นปี ที่ยังมีแนวคิดว่า จะไม่ได้ยกเลิกรถไฟทุกเส้นทางที่จะเข้าสู่หัวลำโพงทั้งหมด แต่จะยังคงเส้นทางที่มีผู้ใช้บริการมากไว้ 22 เส้นทาง ก่อนที่ไม่นานมานี้ จะมีการเปลี่ยนว่า จะยกเลิกทุกเส้นทางที่เข้าสู่หัวลำโพงแทน
และเหตุผลสุดท้าย คือ ทางการรถไฟจำเป็นต้องมีโครงการที่สามารถสร้างกำไรให้กับตัวเองได้ เนื่องจากจำนวนหนี้สะสมมากกว่าแสนล้าน มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ทางหน่วยงานจำเป็นต้องนำพื้นที่มาสร้างผลประโยชน์
1
อย่างไรก็ดี จากเหตุผลทั้งมวลที่ได้เล่ามาในบทความ ก็เป็นโจทย์ที่ทางการรถไฟต้องตีให้แตก มิเช่นนั้น ก็อาจจะเกิดเหตุการณ์เหมือนกับตอนสนามบินดอนเมือง “ที่ทำการปิดและเปิดสลับกันไปมา” จนสุดท้าย ก็พบว่า เราขาดเขาไม่ได้อยู่ดีถึงแม้จะคิดอยากเลิกในตอนแรก
#หัวลำโพง #สถานีรถไฟกลางกรุง
#Bnomics #Economic_outside_the_Box #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนกานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา