Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
17 พ.ย. 2021 เวลา 00:08 • ความคิดเห็น
ทำไมคนต้องบูลลี่กัน? (Bully) : การหยอกล้อที่ไม่ใช่เรื่องตลกสำหรับเหยื่อ
ถ้าคุณอ่านเรื่องนี้จะมองเรื่องการบูลลี่ (Bully) เปลี่ยนไปตลอดกาล
ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตในปี 2561 บอกว่า นักเรียนไทยกว่า 40% หรือราว 6 แสนคน ถูกบูลลี่ในโรงเรียน ซึ่งตัวเลขนี้ถือเป็นอันดับสองของโลกรองจากประเทศญี่ปุ่นเพียงแห่งเดียว
นอกจากนี้ ก็ยังมีข่าวการกลั่นแกล้งหรือบูลลี่ออกมาในหน้าสื่อของไทยตลอด ข่าวล่าสุดที่ใหญ่โตและเป็นที่พูดถึงกันอย่างมากก็คือ “ข่าวการดูแคลนชาวอีสาน” ซึ่งข่าวเหล่านี้ก็สะท้อนถึงปัญหาเรื่องการบูลลี่ (Bullying) ว่าเป็นหนึ่งในปัญหาที่ยังไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างจริงจังในสังคมไทย
รู้จักกับการบูลลี่
การบูลลี่ คือ การกระทำหรือพฤติกรรมที่ชอบกลั่นแกล้งผู้อื่นอย่างซ้ำๆ โดยผู้ถูกแกล้งไม่ได้ยินดีกับการกระทำนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
1) การกลั่นแกล้งทางร่างกาย (Physical Bullying) ก็เช่นการทำร้ายร่างกาย รวมถึงการทำลายข้าวของต่างๆ
2) การกลั่นแกล้งทางคำพูด (Verbal Bullying) ก็คือ การใช้คำพูดออกไปหรือเขียนถ้อยคำหยาบคาย
3) การกลั่นแกล้งทางสังคมหรืออารมณ์ (Rational or Emotional Bullying) ก็คือ การกลั่นแกล้งเพื่อทำให้อับอายทางสังคม เช่น การปล่อยข่าวลือ กีดกันเพื่อนเข้ากลุ่ม
4) การกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต (Cyberbullying) ก็คือ การกลั่นแกล้งกันผ่านทางอินเทอร์เน็ต ที่ปัจจุบันก็กลายเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ โดยจากการศึกษาของ Punch Up รายงานว่า ในช่วง พ.ย. 61 – ต.ค. 62 มีคนโพสต์ข้อความบูลลี่ในโซเชียลมีเดียไทย อย่างน้อย 703,484 ข้อความเลย
ซึ่งปัญหาการบูลลี่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ยกตัวอย่างเช่น การป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับอาการทางจิต หรือ การกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการควบคุม เป็นต้น ในโดยเนื้อหาส่วนต่อไป เราก็จะหยิบยกบางสาเหตุของการบูลลี่ที่มีความเกี่ยวข้องกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ มาเล่าให้ทุกคนได้อ่านกันครับ
การบูลลี่ ที่เกี่ยวเนื่องกับแนวคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม
หนึ่งในสาเหตุของการบูลลี่ เกิดขึ้นจากธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ นั่นก็คือ “การซุบซิบนินทา”
ในหนังสือ Sapiens: A Brief History of Humankind บอกไว้ว่า จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้มนุษย์อยู่เหนือสิ่งมีชีวิตอื่น ก็คือ ทักษะในการสื่อสารแบบพิเศษ การพูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า สิ่งมีชีวิตอื่นนั้นไม่สามารถสื่อสารกันได้เลย แต่ทว่า ไม่มีสิ่งชีวิตใดที่สามารถคุยกันได้อย่างยาวนานและออกรสเหมือนที่มนุษย์ทำได้ โดยมีงานศึกษาที่ชี้ให้เห็นเลยว่า ส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งทำให้มนุษย์สื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือ “การซุบซิบนินทา” นั่นเอง
1
เพราะว่าการซิบนินทาของมนุษย์นั้น ทำให้พวกเราได้รับรู้ข้อมูลเพิ่มเติมมากกว่าแค่เราจะหาอาหารที่ใด จะปลูกผักเมื่อไร แต่การซุบซิบนินทาที่ โดยพื้นฐานมักจะเพ่งเล็งไปที่เรื่องไม่ดีนั้น เป็นเหมือนกระบวนการตรวจสอบว่า ใครเชื่อถือได้หรือใครซื่อสัตย์ ซึ่งนี่เป็นกระบวนการที่สำคัญที่ทำให้เกิดการร่วมมือกันได้ของมนุษย์จำนวนมาก
โดยแนวคิดการเพ่งเล็งไปที่ด้านลบของมนุษย์จากการซุบซิบเนี่ย ก็มีความคล้ายคลึงกับ “แนวคิดอคติเชิงลบ (Negativity bias)” ที่กล่าวไว้ว่า มนุษย์เรามักจะเกลียดของที่ไม่ดีมากกว่าชอบสิ่งที่ดีในขนาดเท่าๆ กันยกตัวอย่างเช่น การเสียเงิน 1,000 บาท มักจะสร้าง “ขนาดความทุกข์” กับคนทั่วไปใหญ่กว่า “ขนาดความสุข” ที่ได้จากเงิน 1,000 บาท หรือก็คือเวลาติดลบจะรู้สึกเจ็บมากกว่าเวลาบวก
ซึ่งในเรื่องการซุบซิบนินทาก็มีลักษณะที่คล้ายกัน คือ คนมักจะให้ความสำคัญกับข่าวสารด้านลบ ซึ่งนี่ก็อาจจะนำไปสู่การบูลลี่ผ่านการกีดกันทางสังคมหรือบูลลี่ในช่องทางอื่นๆ ได้ เมื่อคนในกลุ่มเริ่มรู้สึกไม่ดีกับการกระทำของใครสักคน ที่แย่กว่านั้นก็คือ มันอาจจะมีการแพร่กระจายออกไปผ่านการซุบซิบนินทาต่อไปเรื่อยๆ ได้อีก
อีกหนึ่งสาเหตุของการบูลลี่ ที่เราสามารถโยงเข้ากับแนวคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมได้ ก็คือ เรื่องการเหมารวมกลุ่มคนอย่างง่าย (Stereotype)
การเหมารวมกลุ่มคนอย่างง่าย (Stereotype) คือ การที่เราตัดสินกลุ่มคนในสังคมหนึ่งๆ จากลักษณะ หรือพื้นฐานทางสังคมบางอย่างของเขา ยกตัวอย่างเช่น การที่เราบอกว่า “คนใส่แว่นต้องเป็นเด็กเนิร์ดแน่ๆ หรือ คนภาคเหนือต้องเป็นคนที่พูดช้าๆ และใจเย็น หรือแม้แต่ข่าวการบูลลี่คนอีสานในช่วงที่ผ่านมา เหตุผลก็อาจจะเกิดจากการเหมารวมกลุ่มอย่างง่ายนี้เช่นกัน”
ซึ่งถ้าลองพิจารณาอย่างละเอียด การเหมารวมแบบนี้เป็นการตัดสินใจที่ไม่สมเหตุสมผล เราจะสรุปตัวตนของใครสักคนผ่านแค่รูปลักษณ์ภายนอก หรือชาติ ศาสนาไม่ได้ แต่กระบวนการขึ้นแบบนี้มันก็เกิดขึ้นในสมองของคนเราอยู่เสมอ และอันที่จริงมันไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับเรื่องการเหมารวมกลุ่มคนอย่างเดียว โดยตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ ก็คือ “ระบบความคิดแบบรวดเร็วของมนุษย์เรา”
ในหนังสือ Thinking, Fast and Slow ได้เล่าว่า การตัดสินใจของคนเราถูกควบคุมโดยสมองสองระบบ มีทั้งระบบสมองส่วนที่ตัดสินใจแบบเร็วซึ่งถูกเรียกในหนังสือว่า “ระบบ 1” และระบบสมองส่วนที่ตัดสินใจแบบช้า ถูกเรียกว่า “ระบบ 2”
ขอเล่าถึงระบบ 2 ก่อนนะครับ เจ้าระบบ 2 ที่เราบอกว่าเป็นการตัดสินใจแบบช้า เพราะว่ามันเป็นระบบที่ต้องการการจัดสรรความสนใจของเราให้กับกระบวนการคิด ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ต้องใช้ระบบที่ 2 เท่านั้น เช่น การเตรียมพร้อมรอสัญญาณให้เริ่มต้นวิ่ง หรือ การนับว่ามีตัวอักษร “ก” กี่ตัวในหน้านี้ เป็นต้น
ซึ่งการทำงานของระบบ 2 มันมีขีดจำกัดและใช้พลังงานมาก ดังนั้นหลายครั้งหลายครา ด้วยความขี้เกียจของมัน เลยจะปล่อยให้ระบบ 1 เป็นคนจัดการตัดสินใจเรื่องราวต่างๆ แทน
ซึ่งเจ้าระบบ 1 เป็นระบบที่ทำงานอย่างอัตโนมัติและรวดเร็ว โดยไม่ต้องใช้ความพยายามหรือใช้ความพยายามเพียงเล็กน้อย ซึ่งเจ้าระบบนี้ก็จะถูกฝึกฝนอย่างต่อเนื่องผ่านประสบการณ์ของแต่ละคน และโดยทั่วไประบบ 1 ก็สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีเกือบตลอด เช่น การสังเกตว่าวัตถุไหนอยู่ไกลกว่ากัน หรือ การทำหน้า “ขยะแขยง” เมื่อเห็นภาพน่าขนลุก
แต่ทว่า ในบางครั้งการทำงานของระบบ 1 ก็เปิดโอกาสให้คนเรานำอคติจากประสบการณ์ที่ไม่เหมาะสม มาใช้ในการตัดสินใจเช่นกัน แล้วการเหมารวมอย่างง่ายก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนอย่างหนึ่งของการเปิดโอกาสจากระบบ 1 ให้อคติจากประสบการณ์เข้ามามีส่วนในการตัดสินใจ จนนำมาสู่การบูลลี่กันได้
ปัญหาการบูลลี่ในสังคมไทย
แต่อย่างที่เกริ่นไปข้างต้น สังคมไทยมีปัญหาเรื่องการบูลลี่อย่างรุนแรง มันมีแง่มุมในอีกไหมที่อธิบายถึงบริบทของประเทศไทยเป็นพิเศษ คำตอบคือ มี โดยหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้ทำการศึกษาการบูลลี่ในโรงเรียนไทย ก็คือ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ท่านได้ทำการศึกษาและก็ให้สัมภาษณ์ไว้ได้อย่างน่าฉุกคิด
โดยสาเหตุแรกที่อาจารย์ธานี ได้หยิบยกขึ้นมาอธิบายถึงความรุนแรงของการบูลลี่ในสังคมไทยคือ เรื่องของโครงสร้างทางภาษา ที่ตัวของภาษามีคำที่ใช้เป็นคำด่าในเชิงลบที่หลากหลาย เช่นหากเรานึกถึงการบูลลี่ ก็มีคำอธิบายทั้ง รังแก กลั่นแกล้ง หรือ กลั่นแกล้ง นอกจากนี้ บางครั้งคำที่มีพื้นฐานเป็นคำชมก็อาจจะใช้เพื่อต่อว่าและบูลลี่ได้ ยกตัวอย่างเช่น เธอนี่ฉล๊าดฉลาด ประโยคนี้มีคำว่า “ฉลาด” ที่พื้นฐานมันมีความหมายที่ดี แต่ในบริบทของภาษาไทยก็สามารถใช้เพื่อว่าได้เช่นกัน สะท้อนถึงความซับซ้อนของภาษาที่ส่งผลต่อความรุนแรงของการบูลลี่
เหตุผลประการต่อมาที่อาจารย์ใช้อธิบายการบูลลี่ในสังคมไทย เป็นการมองผ่านมุมมองกึ่งเศรษฐศาสตร์สถาบัน ที่อาจารย์ชี้ให้เห็นว่า ในสังคมไทยหลายครั้ง เราไม่มีกลไกในการทำให้ผู้กระทำความผิดรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำอย่างเหมาะสม ทั้งให้การกระทำความผิดมันไม่มีต้นทุน
อย่างในเรื่องของการบูลลี่ สังคมไทยยังไม่ได้มีการเรียกร้องค่าเสียหายทางจิตใจ (Psychological sue) แต่ถ้าเป็นในสังคมตะวันตก จะสามารถฟ้องร้องกันได้หากมีการกระทำที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจ โดยอาจารย์เล่าว่า ส่วนหนึ่งที่เป็นแบบนี้อาจจะเป็นเพราะว่าค่านิยมของคนไทย ที่สอนให้เก็บความรู้สึกไว้ อย่าแสดงออกว่าเศร้าหรือสุขมากจนเกินไป
1
แต่เมื่อมีใครสักคนออกมาเรียกร้องเรื่องแบบนี้ หลายๆ คนในสังคมก็จะพูดว่า “เรื่องแค่นี้เอง”
นอกจากนี้ อาจารย์ยังชี้ให้เห็นถึงลักษณะของการบูลลี่ในโรงเรียนของไทย ที่มักจะเป็นการกระทำของคนกลุ่มใหญ่รังแกคนกลุ่มเล็ก ที่มีความแตกต่างกับพวกเขา อาจจะเป็นเพราะเรื่องสีผิว การแต่งกายตามศาสนา เรื่องเพศทางเลือก ที่อาจารย์อธิบายเพิ่มเติมว่า สิ่งนี้เป็นค่านิยมของคนไทยที่ชอบให้ทุกคนเหมือนกัน ดังนั้น มันก็ทำให้เกิดการกีดกันคนที่แตกต่างออกไป
โดยอาจารย์ก็ได้เสนอแนะว่า เราอาจจะต้องมีแนวปฏิบัติ (Code of conduct) ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการบูลลี่โดยเฉพาะ เพื่อสร้างค่านิยมและปลูกฝังสิ่งที่ถูกต้องตั้งแต่เด็ก ให้เขาสามารถเข้าใจและยอมรับความแตกต่างของผู้คนได้
ซึ่งข้อแนะนำนี้ก็มีประโยชน์ในการขัดเกลาระบบความคิดอัตโนมัติ หรือ ระบบ 1 ที่เราได้กล่าวข้างบน เพราะเราเคยบอกว่า ระบบ 1 มันเปิดโอกาสให้เราใช้อคติที่เกิดจากประสบการณ์มาใช้ในการตัดสินใจ แต่ถ้าเราปลูกฝังประสบการณ์ที่ถูกต้องให้กับเด็กตั้งแต่แรก ระบบ 1 ก็อาจจะไม่ได้เป็นปัญหาอีกต่อไป แต่เป็นทางลัดทางความคิดที่ช่วยเลือกการตัดสินใจที่ดีที่สุดอย่างที่มันควรจะเป็นนั่นเอง
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนกานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website :
Facebook :
https://www.facebook.com/Bnomics.co
Blockdit :
https://www.blockdit.com/bnomics
Line OA : @Bnomics
https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube :
https://www.youtube.com/bnomics
Twitter :
https://twitter.com/bnomics_co
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:
หนังสือ Thinking, Fast and Slow by Daniel Kahneman
หนังสือ Sapiens A Brief History of Humankind
https://www.the101.world/thanee-chaiwat-interview/
https://www.thairath.co.th/spotlight/dtacstopcyberbullying/
https://www.youtube.com/watch?v=tlB1pFwGhA4
https://www.npr.org/transcripts/362373052
https://www.verywellfamily.com/reasons-why-teens-bully-others-460532
https://www.doctorraksa.com/th-TH/blog/bullying.html#what-is-bullying
5 บันทึก
8
11
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Economics Outside The Box
5
8
11
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย