Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
10 พ.ย. 2021 เวลา 00:17 • ความคิดเห็น
“สกาลา” ควรค่าต่อการรักษาไว้หรือไม่?
📌 สกาลา: การจากไปของโรงหนังที่โดดเดี่ยวท่ามกลางการเติบโตของโลกทุนนิยม
เป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าการทุบ “โรงหนังสกาลา” เป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือเปล่า?
มีหลากหลายความคิดเห็นที่ถูกแสดงออกมา บางคนก็ยอมรับได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่บางคนก็ออกมาวิจารณ์และไม่เห็นด้วยกับการทำลายโรงหนังสแตนอโลน (Standalone Cinema) แห่งสุดท้ายในย่านสยามและของกรุงเทพนี้ จากที่ในอดีต แค่พื้นที่ของสยามอย่างเดียว ก็เคยมีโรงหนังสแตนอโลนมากถึงสามแห่งแล้ว
📌 อดีตอันรุ่งโรจน์ของสกาลา
เมื่อประมาณเกือบ 50 ปีก่อน นับเป็นช่วงเวลาที่เรื่องราวของสกาลาได้เริ่มถูกเขียนขึ้นมา เมื่อในตอนนั้นบริษัท เซาท์อิสต์เอเชียก่อสร้าง จำกัด (ซีคอน) ที่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารในพื้นที่บริเวณสยามจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ติดต่อมาหา นายพิสิฐ ตันสัจจา นักธุรกิจเจ้าของโรงภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จในสมัยนั้นอย่าง “ศาลาเฉลิมไทย” เพื่อให้สร้างโรงหนังร่วมกัน
โดยนายพิสิฐ ก็ได้ตกลงเข้าร่วมสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงหนังถึงสามแห่งในบริเวณสยามแห่งนี้ ไล่ตามลำดับตั้งแต่ โรงภาพยนตร์สยาม โรงภาพยนตร์ลิโด และโรงภาพยนตร์สกาลา ที่แม้สกาลาจะถูกสร้างเสร็จเป็นลำดับสุดท้าย แต่ด้วยการออกแบบที่เป็นการผสมผสานกันระหว่างศิลปะตะวันตกและตะวันออก ชื่อที่มีรากฐานมาจากโรงมหรสพในอิตาลี ความหรูหราจากการตกแต่งไฟ จึงทำให้สกาลาถูกขนานนามว่าเป็น “ราชาแห่งโรงภาพยนตร์สยาม”
ประกอบกับในช่วงนั้น ร้านค้าต่างถิ่นเข้ามาเปิดกันอย่างมากและมีการเกิดขึ้นของ “ห้างสรรพสินค้าสยามเซ็นเตอร์” องค์ประกอบเหล่านี้รวมเข้ากับโรงหนังทั้งสามแห่ง เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สยามกลายเป็นแหล่งติดต่อและพบเจอกันของผู้คนโดยเฉพาะวัยรุ่น ซึ่งสะท้อนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต การแต่งตัว ที่สยามก็ทำหน้าที่นี้เรื่อยมาตราบจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไป ก็ใช่ว่าทุกธุรกิจจะสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น โรงหนังสแตนอโลนทั้งสามแห่งของสยามเป็นหนึ่งในตัวอย่างของธุรกิจที่เจออุปสรรค เมื่อปัจจุบันทั้งสามแห่งไม่ได้ถูกถือครองโดยเจ้าของคนเดิมอีกต่อไป แต่ได้ถูกเปลี่ยนมือและปรับปรุงแล้ว โดยสกาลาก็เป็นโรงหนังแห่งสุดท้าย ที่ถูกส่งต่อไปให้กลุ่มเซ็นทรัลได้เข้ามาเช่า และก็พึ่งมีข่าวที่ทำการทุบตัวอาคารนั่นเอง
📌 สกาลาควรค่าต่อการรักษาไว้ไหม?
อันที่จริงแล้ว ในประเด็นของสกาลา คำถามสำคัญที่สุดคำถามเดียวที่ต้องตอบก็คือ “สกาลามีค่าพอให้รักษาไว้ไหม?”
หากมองแค่มุมมองทางด้านเศรษฐกิจและการหารายได้เพียงอย่างเดียว คำตอบที่ออกมาก็คงจะเป็นว่า สกาลาควรจะต้องถูกทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่เป็นอย่างอื่นที่สร้างรายได้มากกว่า อย่างเช่น ในอดีตที่ “โรงหนังสยาม” เคยถูกสร้างใหม่เป็นศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน
แต่ถ้าเรามองถึงต้นทุนส่วนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงินโดยตรงด้วยแล้ว การทุบสกาลาก็อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องก็ได้ เมื่อมันมีทั้งต้นทุนทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น จนได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น พ.ศ. 2555 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือต้นทุนทางด้านความพิเศษและหายาก ที่สกาลาเป็นโรงหนังสแตนอโลนแห่งสุดท้ายของย่าน หรือจะเป็นต้นทุนทางด้านประวัติศาสตร์และสังคม ฯลฯ ปัญหาของมันคือ ต้นทุนเหล่านี้นั้นยากที่จะทำการวัดได้
หนึ่งในวิธีที่ถูกนำมาใช้ในการประเมินมูลค่า ทำโดยการประเมินว่าผู้คนพร้อมที่จะจ่ายเท่าไร เพื่อที่จะรักษาสถานที่นี้ไว้ ซึ่งถ้ารวมกันแล้วมากกว่าโอกาสที่จะหาเงินได้จากการปรับปรุงสถานที่นั้น เราก็ควรที่จะอนุรักษ์ไว้ ซึ่งต้นทุนค่าเสียโอกาสของพื้นสกาลาและร้านค้ารอบๆ โรงหนัง ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งไว้ให้เช่าก็มีมูลค่าหลักมากกว่าร้อยล้านบาทต่อปี
หลายคนอาจจะรู้สึกว่า แนวคิดข้างต้นก็ยังเป็นการใช้ตัวเงินเข้ามาตีมูลค่าของสถานที่อยู่ดี แต่ถ้าพูดกันตามตรง แนวคิดแบบนี้ก็เป็นแนวคิดที่ยุติธรรมพอสมควร เมื่อคุณอยากให้สถานที่นี้ยังอยู่ คุณก็ควรพร้อมที่จะจ่ายเพื่อให้มันคงอยู่ด้วย ซึ่งถ้าสถานที่เหล่านั้นเป็นของรัฐอยู่แล้ว เราก็อาจจะนำเงินภาษีของประชาชนเพื่อมาใช้ในการดูแลได้ เพราะนั่นคือ ความต้องการของประชาชนที่อยากอนุรักษ์สถานที่ไว้
แต่ในกรณีของสกาลา มันก็ซับซ้อนกว่านั้นเล็กน้อย เพราะเป้าหมายแรกเริ่มของสกาลาเอง ก็ตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานประกอบการที่มุ่งหวังกำไร ไม่ใช่สถานที่หรือสินค้าสาธารณะที่ทุกคนจะเข้าถึงได้ และเมื่อสิทธิในการเช่าของบริษัทเดิมหมดลง การดูแลก็ตกมาอยู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในกรณีนี้ มันก็มีความยากในการจัดการ สมมติหากทางจุฬาฯ ไม่ได้ปล่อยเช่าต่อและเลือกที่จะเก็บสกาลาไว้อย่างเดิมเนื่องจากคนส่วนใหญ่ต้องการ ทางมหาลัยมีความสามารถที่จะเข้ามาดูแลอาคารได้ไหม? และถ้าต้องแบกรับต้นทุนด้วยตัวเองต่อไปจะมีความเหมาะสมหรือจะสามารถทำได้หรือเปล่า?
แต่พอทางเอกชนเข้ามา ก็เป็นเรื่องปกติที่ทางบริษัทต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้สถานที่นี้สามารถสร้างกำไรได้ เพราะต่อให้ไม่ได้ทุบทิ้งแบบนี้ เชื่อว่าทุกคนก็ต้องยอมรับลึกๆ เหมือนกันว่า สกาลาแบบดั้งเดิมเลยอาจจะไม่ได้สามารถไปต่อได้แล้ว ในโลกของทุนนิยมที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือด โดยเฉพาะในบริเวณสยามที่มีการเปลี่ยนแปลงเกือบตลอดเวลา
📌 บทเรียนจากสกาลาสู่หัวลำโพง
การตัดสินใจที่ทำการทุบสกาลาอาจจะเจ็บปวดสำหรับบางคน และหลายคนก็บอกว่านี่ไม่ใช่ทางเลือกเดียวที่เลือกเดินได้ มันควรจะมีทางเลือกที่ดีกว่านี้ที่ทำให้สกาลาอยู่ต่อไปได้ แต่อย่างที่เล่าไป มันก็มีความซับซ้อนของคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ที่ก็พยายามที่จะตัดสินใจเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีที่สุดกับตัวเอง
อย่างไรก็ดี มันก็มีกรณีศึกษาใกล้เคียงที่น่าสนใจก็คือกรณีของ Lido Connect ที่ทางบริษัท LOVEiS ได้เข้ามาปรับปรุงโรงหนังลิโด้ แต่ก็ยังคงกลิ่นอายบางส่วนของอาคารเดิมและโรงหนังไว้ และก็ได้เพิ่มพื้นที่สำหรับคนรุ่นใหม่ขึ้นมาด้วย เป็นการแสดงการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป
และปัจจุบันก็มีอีกหนึ่งกรณีที่น่าจะถูกถกเถียงกันในวงกว้างในเร็วๆ นี้อย่างแน่นอนคือ กรณีของสถานีรถไฟหัวลำโพง ที่ล่าสุดมีข่าวของการขอปรับพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ในลักษณะอื่น เตรียมตัวสำหรับการปรับปรุงพื้นที่ ซึ่งก็ต้องติดตามกันดูว่า เมื่อผู้เล่นที่เข้ามามีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงไปแบบนี้ ลักษณะของการปรับปรุงจะเป็นเช่นใด จะสอดรับกับยุคสมัยปัจจุบันได้ไหม
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website :
https://www.bnomics.co
Facebook :
https://www.facebook.com/Bnomics.co
Blockdit :
https://www.blockdit.com/bnomics
Line OA : @Bnomics
https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube :
https://www.youtube.com/bnomics
Twitter :
https://twitter.com/bnomics_co
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:
https://adaybulletin.com/life-feature-lido-connect/40233
https://www.prachachat.net/property/news-797098
https://thethaiger.com/th/news/493347/?fbclid=IwAR2EqLtFFjHBauCoHgX1J-llCTXni7_o6gc_mUoDILFwnYFv7013qXF-dUA
https://thematter.co/entertainment/siam-square-before-it-was-cool/21492
https://www.marketingoops.com/news/biz-news/lido-connect-2/?fbclid=IwAR1gt93Msmxg3AjqZH1RraKtFNhsufe2Cftt_GR0S0ZdAwW4bfOiQ7D-AJU
https://www.doc.govt.nz/documents/science-and-technical/IR167.pdf?fbclid=IwAR3-kMwVknjMtNfgpMpdvF3u4PEXq_Gjvp-XDNOTmE5akILN8Z9E5rcZH04
ความคิดเห็น
สกาลา
พฤติกรรม
1 บันทึก
6
2
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Economics Outside The Box
1
6
2
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย