3 พ.ย. 2021 เวลา 05:00 • ความคิดเห็น
ทำอย่างไรถึงจะเลี้ยงลูกได้ดี? มองผ่านเลนส์เศรษฐศาสตร์ของการมีลูก...
การทำความเข้าใจการเลี้ยงลูกเป็นหนึ่งในปัญหาที่ซับซ้อน ที่หลายสาขาวิชาพยายามหาคำตอบมาอย่างยาวนาน มีคำแนะนำเกิดขึ้นจากผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก ทั้งเรื่องการกิน การเล่น หรือการเรียน ที่ออกมาชี้นำผู้ปกครองว่า ควรทำอย่างไรเพื่อให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ
1
ในบทความนี้ เราจึงจะพาผู้อ่านทุกท่านมาลองดูกันว่า แล้วถ้าเรามองเรื่องนี้ผ่านเลนส์ของเศรษฐศาสตร์ล่ะ มันจะเป็นอย่างไร? และ อะไรคือ ปัจจัยที่ส่งผลให้พ่อแม่สามารถเลี้ยงลูกได้อย่างมีคุณภาพกันและเติบโตไปเป็นคนที่ประสบความสำเร็จกันแน่?
📌 ทำไมคนถึงมีลูก ?
ก่อนที่จะไปดูกันว่าปัจจัยใดที่จะทำให้ลูกประสบความสำเร็จได้ เราอยากจะนำเสนอแนวคิดที่ว่าทำไมคนถึงมีลูกเสียก่อน โดยในเศรษฐศาสตร์ เราอาจจะมองเหตุผลของการที่คนต้องการจะมีลูกออกเป็น 2 ข้อหลักๆ ด้วยกันคือ
  • 1.
    คนมีลูกเพราะมองว่า “เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า” หรือก็คือ คนมองว่าผลประโยชน์ของการมีลูกสูงกว่าต้นทุนของการมีลูก และ
  • 2.
    คนมีลูกเพราะว่า “การมีลูกทำให้พวกเขามีความสุข” แนวคิดที่สองนี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายท่านได้ทำการเปรียบเทียบว่า “ลูกเหมือนเป็นสินค้าคงทนที่บริโภคได้ เหมือนบ้าน รถยนต์ หรือของใช้ต่างๆ” และการที่พ่อแม่ตัดสินใจมีลูกก็ คือ การตัดสินใจที่จะบริโภคสินค้าอย่างหนึ่ง โดยมีราคา คือ ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก
เหตุผลทั้ง 2 สองข้อข้างต้นอาจจะดูใจร้ายสำหรับคนทั่วไป แต่กรอบความคิดนี้จะมีประโยชน์ในการเล่าเนื้อหาในส่วนต่อไป จึงอยากให้ผู้อ่านดูแนวคิดนี้เอาไว้ในใจก่อน
📌 ทำอย่างไรถึงจะเลี้ยงลูกให้ดีได้?
ถ้าจัดให้มีการโหวตปัญหาโลกแตก สำหรับพ่อแม่แล้วปัญหาที่ว่า ทำอย่างไรถึงจะเลี้ยงลูกได้ดี? คงจะเป็นหนึ่งในปัญหาที่อยู่อันดับต้นๆ อย่างแน่นอน แต่การจะตอบคำถามนี้นั้นมีความยากไม่น้อย ความยากที่สำคัญที่สุดเกิดจากการที่เราต้องหาวิธีการในการวัดผลว่าการเลี้ยงแบบใดหรือปัจจัยไหนที่ส่งผลต่อเด็กจริงๆ
หนึ่งในชุดข้อมูลที่มีความน่าสนใจที่ถูกนำมาใช้อธิบายเรื่องนี้เป็นข้อมูลจากโครงการของกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐ ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ที่เรียกว่า โครงการระยะยาว เพื่อศึกษาพัฒนาการของเด็กปฐมวัย (Early Childhood Longitudinal Study – ECLS) หรืออีซีแอลเอส ซึ่งโครงการนี้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างจากเด็กอเมริกาทั่วประเทศ ทั้งเรื่อง เชื้อชาติ เพศ โครงสร้างครอบครัว ระดับการศึกษาของพ่อแม่ ฯลฯ และที่พิเศษยิ่งกว่านั้นยังมีข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์ผู้ปกครองและคุณครู ทำให้ได้ชุดข้อมูลที่มีความละเอียดและซับซ้อนมากขึ้น เช่น คำถามที่ว่าคุณลงโทษลูกบ่อยแค่ไหน หรือที่บ้านมีหนังสือเยอะหรือเปล่า
ซึ่งจากการนำข้อมูลชุดนี้มาวิเคราะห์ ได้ทำให้เห็นคำตอบที่น่าสนใจของการเลี้ยงลูกโดยวัดผลจากผลคะแนนของการศึกษาของเด็ก ที่เหมือนกำลังจะบอกว่าความสำเร็จของลูก “อาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ว่าพ่อแม่ทำอะไรให้ลูกบ้างโดยตรง แต่ขึ้นกับว่าเด็กคนนั้นเกิดมาในครอบครัวแบบไหน”
สองปัจจัยที่มีความน่าสนใจมากที่เราจะหยิบมาเล่าให้ฟัง คือ การที่เด็กมีหนังสืออยู่บ้านจำนวนมาก และการที่ผู้ปกครองอ่านหนังสือให้ลูกฟังเกือบทุกวัน ซึ่งถ้าดูเผินๆ แล้ว ทั้งสองปัจจัยนี้เหมือนจะเป็นปัจจัยเดียวกันเลย แต่จริงๆ แล้ว มีเพียงแค่ปัจจัย “การที่เด็กมีหนังสืออยู่บ้านจำนวนมากเท่านั้นที่มีความสัมพันธ์กับการที่เด็กเรียนดี” การอ่านหนังสือให้ลูกฟังเกือบทุกวันกลับไม่ได้มีความสัมพันธ์กับการเรียนดีของเด็กแต่อย่างใด
ที่เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เพราะหนังสือเป็นเครื่องรางนำโชคแต่อย่างใด แต่เพราะหนังสือจำนวนมากที่บ้านสื่อถึงการที่ครอบครัวมีการศึกษาสูงทำให้เลี้ยงลูกได้ดี นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นอีกที่มีความสัมพันธ์กับการเรียนที่ดีของลูก เช่น การที่ผู้ปกครองมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูง ผู้ปกครองพูดภาษาอังกฤษกันในบ้าน (แสดงถึงความเหลื่อมล้ำด้านชาติพันธุ์ในอเมริกา) หรือการที่เด็กมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ (เด็กกลุ่มนี้มักจะเกิดจากครอบครัวที่ไม่พร้อม แม่สุขภาพไม่ดี ทำให้การเรียนไม่ดี)
📌 ตั้งชื่อลูกดีมีชัยไปกว่าครึ่ง?
หลายคนอาจจะบอกว่า การตั้งชื่อลูกไม่ได้ส่งผลต่อชีวิตของเขาหรอก แต่ข้อมูลการตั้งชื่อลูกของรัฐแคลิฟอร์เนียกลับชี้ว่า มีชื่อบางชื่อที่ประสบความสำเร็จมากกว่าหลายชื่อจริงๆ แล้วทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?
คำตอบนั้นง่ายที่กว่าที่หลายคนคิดมาก เหตุผลเป็นเพราะว่าชื่อกลุ่มหนึ่งมักจะถูกตั้งกับ “ลูกที่มีผิวขาว” และชื่ออีกกลุ่มหนึ่งมักจะถูกตั้งกับ “ลูกที่มีผิวดำ” ซึ่งก็เป็นความจริงที่น่าเศร้าที่ว่า ยังมีความแตกต่างทางด้านโอกาสและสภาพแวดล้อมที่โตมาของคนผิวขาวและผิวดำในอเมริกาอยู่ คนผิวขาวยังมีความน่าจะเป็นที่จะสร้างรายได้ที่สูงกว่าอยู่
ขอย้อนกลับไปที่เรื่อง “ทำไมคนถึงมีลูก?” กันสักนิดนึง ในแนวคิดข้างต้นนั้นถูกนำมาต่อยอดอธิบายในการมองเรื่องการมีลูก โดยอธิบายว่า หากมองลูกเหมือนสินค้าปกติโดยทั่วไป ถ้าพ่อแม่มีรายได้สูงขึ้น มีการศึกษาสูงขึ้น ก็มีแนวโน้มจะตัดสินใจมีลูกจำนวนมากขึ้นหรือใช้จ่ายกับลูกแต่ละคนมากขึ้น เหมือนสินค้าปกติที่คนมีรายได้สูงขึ้นก็จะบริโภคมากขึ้น หรืออาจจะบริโภคสินค้าที่แพงกว่าเดิมได้
📌 เด็กผู้หญิงที่หายไปจากโลก
นอกจากนี้ พอเราลองมองไปที่ดินแดนแห่งอื่น นอกเหนือไปจากสหรัฐอเมริกากันบ้าง ในหลายๆ ประเทศในโลกโดยเฉพาะแถบเอเชียและแอฟริกาจะเกิดปัญหาอีกแบบหนึ่งที่เราเรียกกันว่า “การหายไปของผู้หญิง (The Missing Women)”
งานเขียนที่โด่งดังที่อธิบายเรื่องนี้ คือ งานเขียนอมาตยา เซน (Amartya Sen) ในชื่อว่า “More Than 100 Million Women Are Missing” ที่ชี้ให้เห็นว่า อัตราของประชากรเด็กผู้หญิงในหลายพื้นที่ของโลกต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาก
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ ประเทศในทวีปยุโรป หรือญี่ปุ่น ที่มีอัตราส่วนของเด็กผู้หญิงประมาณ 1.05 คนต่อเด็กผู้ชายหนึ่งคน ในบางพื้นที่ของเอเชียสัดส่วนเดียวกันนี้อาจตกลงไปถึง 0.94 คนของเด็กผู้หญิงต่อเด็กผู้ชายหนึ่งคนเลยทีเดียว ซึ่งรวมๆ แล้วมีเด็กผู้หญิงที่หายไปมากกว่า 100 ล้านคน
ปัญหาสำคัญ ลึกๆ แล้วก็คล้ายกับกรณีของคนผิวดำในอเมริกา เพราะว่าโอกาสและการได้รับการยอมรับจากสังคมของผู้หญิงในประเทศเหล่านี้น้อยกว่าในประเทศพัฒนาแล้ว และยิ่งในหลายประเทศที่มีนโยบายควบคุมประชากรอีก การมีลูกผู้หญิงก็อาจจะยิ่งเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าหรือเป็นความสุขที่ไม่เพียงพอ ที่ผู้ปกครองจะตัดสินใจมีลูกเพศหญิงก็ได้
สรุปส่งท้าย การมีลูกที่จะเติบโตได้ดีที่เป็นปัญหาซับซ้อนที่หลายศาสตร์พยายามจะหาคำตอบนี้ เมื่อมองผ่านเลนส์เศรษฐศาสตร์แล้ว คำตอบกลับกลายเป็นว่า ไม่ใช่แค่ว่า วิธีการใดที่ถูกใช้เพื่อเลี้ยงลูกเท่านั้นที่สำคัญ แต่เป็นว่าลูกที่เกิดมาเนี่ย เกิดอยู่ในครอบครัวใด ในพื้นที่ไหน และแม้แต่เป็นเพศอะไรมากกว่า ที่เมื่อเด็กลืมตามาดูโลกแล้ว ก็แทบจะบอกได้แล้วว่าเด็กคนนี้จะประสบความสำเร็จต่อไปมากแค่ไหน
#เศรษฐศาสตร์การมีลูก #การมีลูก #ความสุขกับการมีลูก
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนกานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
หนังสือ Freakonomics by Steven D. Levitt and Stephen J. Dubner

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา