Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
รอบรั้วอสังหาฯ
•
ติดตาม
28 ต.ค. 2021 เวลา 02:11 • บ้าน & สวน
หลักการออกแบบห้องครัวในงานสถาปัตยกรรม (Kitchen Design) Ep.1
หลักการออกแบบห้องครัว (Kitchen Design)
คือ
การออกแบบวางผังพื้นที่ปรุงอาหาร (ครัว) ในภาพรวม ให้มีความเหมาะสมสัมพันธ์กับรูปแบบการใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ ถูกต้องตามหลักสุขลักษณะ ให้ความสะดวกสบาย ให้ความปลอดภัยในการใช้งาน และช่วยยกระดับสุขอนามัยที่ดี หรือ คุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้อยู่อาศัย หรือ ผู้ใช้งาน โดยมีองค์ประกอบหลัก ดังนี้
ตำแหน่งที่ตั้ง (Area)
การกำหนดพื้นที่ตั้งของห้องครัวจะต้องคำนึงถึงปัญหาเรื่องการใช้งานเป็นหลัก ตำแหน่งของห้องครัวไม่ควรอยู่ใกล้กับส่วนที่เป็นมุมพักผ่อน เช่น ห้องนั่งเล่น หรือมุมที่ต้องการความสงบ เช่น ห้องนอน ห้องทำงาน ฯลฯ เนื่องจากการประกอบอาหารนั้นอาจมีเสียงและกลิ่น ที่เกิดจากการประกอบอาหารรบกวนได้
นอกจากนี้ตำแหน่งที่ตั้งของห้องครัวยังมีผลในเรื่องของความสะอาด และสุขอนามัยที่ดี ซึ่งจะต้องเป็นพื้นที่ ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่อับชื้น เพื่อไม่ให้เกิดแหล่งสะสมเชื้อโรค และจะต้องมีทางเดินที่สะดวกในการเดินเข้าสู่พื้นที่ครัว
แสงสว่าง (Lighting)
การออกแบบแสงสว่างในพื้นที่ครัวถือเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่จะต้องพิจารณาเป็นลำดับต้นๆ แสงธรรมชาติที่ส่องผ่านเข้ามาจากช่องเปิด หรือ หน้าต่าง นอกจากจะให้แสงสว่างที่นุ่มนวลสบายตาแล้ว ยังเป็นช่องระบายอากาศที่ดีอีกด้วย การมีแสงสว่าง และการระบายอากาศที่เหมาะสมจะทำให้ครัวไม่มีกลิ่นเหม็นอับ และไม่มีปัญหาเรื่องความอับชื้น อีกทั้งยังให้อุณหภูมิความร้อน (โดยเฉพาะแสงแดดช่วงบ่าย) ที่สามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้ดีอีกด้วย
ในกรณีภายในครัวมีช่องเปิด หรือ มีหน้าต่างค่อนข้างน้อยจนทำให้มีแสงสว่างไม่เพียงพอ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายในระหว่างปรุงอาหาร หรือ ประกอบอาหารได้ไม่สะดวกเท่าที่ควร ดังนั้นควรติดตั้งไฟส่องสว่างเพิ่ม เพื่อให้แสงกระจายไปยังจุดต่างๆภายในครัวได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้การทาสีห้องครัวด้วยโทนสีอ่อนๆ จะช่วยให้บรรยากาศภายในครัวรู้สึกสว่าง และดูกว้างขึ้น
การถ่ายเทอากาศ (Ventilation)
พื้นที่ห้องครัวภายในบ้านพักอาศัยทั่วไป ถ้าหากมีช่องเปิด หรือ มีหน้าต่างที่เพียงพอย่อมเป็นผลดี (ส่วนมากนิยมใช้หน้าต่างบานเปิด หน้าต่างบานเลื่อน หรือ หน้าต่างบานกระทุ้ง) เพราะนอกจากจะเป็นช่องให้แสงธรรมชาติส่องผ่านเข้ามาอย่างเพียงพอแล้ว ยังเป็นช่องระบายอากาศที่จะช่วยให้พื้นที่ครัวมีอากาศถ่ายเทอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็นอับ และไม่มีปัญหาเรื่องความชื้น อีกทั้งยังช่วยลดการสะสมตัวของเชื้อโรค เชื้อรา และแบคทีเรียได้อีกด้วย
แต่ในกรณีที่ห้องครัวอยู่ในอาคารชุดที่มีพื้นที่จำกัด หรือ อาคารสาธารณะ เช่น อพาร์ทเมนต์ คอนโดมิเนียม โรงแรม ฯลฯ อาจมีช่องเปิด หรือ หน้าต่างในพื้นที่ครัวค่อนข้างน้อย หรือ ไม่มีช่องเปิดเลย จึงจำเป็นต้องติดตั้งระบบระบายอากาศเพิ่มเติม เพื่อช่วยดูดควัน หรือ กลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ออกไปยังด้านนอกอาคาร และช่วยถ่ายเทอากาศได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดความอับชื้น กลิ่นเหม็นอับ และการสะสมของเชื้อโรคได้ดียิ่งขึ้น
พื้น (Floor)
การออกแบบตกแต่งพื้นห้องครัว ควรออกแบบให้ลดระดับต่ำกว่าพื้นห้องอื่นๆประมาณ 5-10 ซม. และจะต้องมีองศาพื้นที่ลาดเอียงเล็กน้อยซึ่งจะช่วยให้การระบายน้ำสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น การออกแบบพื้นห้องครัวในลักษณะนี้ก็เพื่อความสะดวกเวลาทำความสะอาดพื้น หรือ ล้างพื้น เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำที่ใช้ในการล้างทำความสะอาดใหลไปเปรอะเปื้อนห้องอื่นๆ เนื่องจากเวลาที่ปรุงอาหารพื้นจะเป็นส่วนที่สกปรกได้ง่ายจากคราบวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหารซึ่งมักจะหล่นลงสู่พื้นในระหว่างปรุงอาหาร
แต่ในกรณีที่ห้องครัวอยู่ในอาคารชุดที่มีพื้นที่จำกัด เช่น อพาร์ทเมนต์ หรือ คอนโดมิเนียม ซึ่งไม่สามารถลดระดับเพื่อล้างพื้นได้ มักนิยมทำเป็นครัวฝรั่งมากกว่าเป็นครัวไทย เพราะมีกรรมวิธีปรุงอาหารที่เรียบง่ายกว่า และมีความสกปรกน้อยกว่า ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการทำความสะอาด
ห้องครัวถือเป็นพื้นที่ ที่มีการใช้งานค่อนข้างหนัก วัสดุที่เหมาะสมกับการปูพื้นห้องครัวนั้น ควรเป็นวัสดุที่แข็งแรงทนทาน สามารถรับน้ำหนักได้ดี ทนทานต่อรอยขีดข่วน ทนความร้อน ทนความชื้น ทนกรดด่าง หรือ สารเคมีต่างๆ และดูแลรักษาทำความสะอาดได้ง่าย เช่น กระเบื้องที่มีพื้นผิวไม่มันหรือด้านจนเกินไป หรือ พื้นหินขัด
แม้พื้นไม้จริง พื้นลามิเนต หรือ พื้นกระเบื้องยาง จะมีความสวยงาม แต่ในแง่การใช้งานจริงมักจะทำความสะอาดได้ยาก และไม่ค่อยทนทาน แต่ถ้าหากอยากจะนำมาใช้งานจริงๆควรนำมาใช้งานในครัวฝรั่ง เพราะมีกรรมวิธีปรุงอาหารที่เรียบง่ายกว่า และมีความสกปรกน้อยกว่าครัวไทย
ผนัง (Wall)
การออกแบบตกแต่งผนังห้องครัว ถ้าหากทาสี แนะนำว่าควรใช้สีน้ำมัน หรือสีอะครีลิคกึ่งเงาแทนการใช้สีน้ำพลาสติคสำหรับทาภายในทั่วไป เนื่องจากสามารถทำความสะอาดคราบเขม่า คราบควัน ที่เกิดจากการปรุงอาหารได้ง่ายกว่าสีทาบ้านทั่วไป
แต่ถ้าหากเลือกใช้วัสดุตกแต่งปิดผิวผนัง ควรใช้วัสดุที่ทนทานต่อรอยขีดข่วน ทนความร้อน และมีพื้นผิวมัน เพื่อความสะดวกในการกำจัดคราบสกปรกจากการปรุงอาหาร เช่น กระเบื้องเคลือบที่มีพื้นผิวไม่มันหรือด้านจนเกินไป กระจกเคลือบสี หรือ คริสตัลบอร์ด
ท็อปเคาน์เตอร์ (Top Counter)
การออกแบบตกแต่งท็อปเคาน์เตอร์ครัว ควรมีความลึกอย่างน้อย 60 ซม. และสูงจากพื้นถึงท็อป 90-105 ซม.ในบริเวณขอบควรลบมุมขอบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานเวลาเกิดการชน หรือ การกระแทกโดยไม่ตั้งใจ
ควรใช้วัสดุที่แข็งแรงทนทานสามารถรับน้ำหนักแรงกดได้ดี ทนทานต่อรอยขีดข่วนไม่แตกหักง่าย ทนความร้อน ทนความชื้น ทนกรดด่าง หรือ สารเคมีต่างๆ และมีพื้นผิวมัน เพื่อความสะดวกในการกำจัดคราบสกปรกจากการปรุงอาหาร เช่น สแตนเลส ปูนซีเมนต์เปลือย หินแกรนิต หินสังเคราะห์ ลามิเนตแรงอัดสูง(HPL) หรือ คริสตัลบอร์ด
ฝ้าเพดาน (Ceiling )
การออกแบบฝ้าเดานห้องครัวควรมีความสูงจากพื้นห้องถึงฝ้าเพดานไม่น้อยกว่า 2.5 เมตร เพื่อความสะดวกในการถ่ายเทอากาศ และวัสดุที่ใช้ควรเป็นแบบแผ่นเรียบที่ดูแลทำความสะอาดได้ง่าย ทนความร้อน ทนความชื้นได้ดีในระดับหนึ่ง และเป็นวัสดุไม่ลามไฟ เช่น ยิปซั่มบอร์ด ไฟเบอร์ซีเมนต์ ฯลฯ
สำหรับ Ep.2 เราจะมาพูดถึง ลักษณะพื้นที่ใช้สอยแบบต่างๆของห้องครัว (Function Zoning) ว่าเราควรแบ่งโซนไหน ยังไงบ้างค่ะ
#รอบรั้วในครัว
#ออกแบบห้องครัว
#รู้หลักจัดห้องครัว
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก
wazzadu.com
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
รอบรั้วในครัว
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย