29 ต.ค. 2021 เวลา 12:19 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
Silenced : การล่วงละเมิดเด็ก...ความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ที่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ
นับเป็นเรื่องดี ที่ในยุคนี้การเคารพสิทธิในร่างกายของเด็กเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ให้ความสำคัญและถูกพูดถึงกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่มักเป็นเรื่องที่ถูกมองข้าม และมองว่าเป็นการกระทำจากความเอ็นดูของผู้ใหญ่ ส่งผลให้เมื่อเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศจึงไม่สามารถสื่อสารกับใครให้เข้ามาช่วยเหลือได้ หรือไม่ก็เป็นเสียงที่ไม่มีใครได้ยิน
Silenced (2011)
หนังเรื่อง Silenced เป็นหนังเกาหลีที่อ้างอิงจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนสำหรับเด็กที่บกพร่องทางการได้ยินแห่งหนึ่ง เด็กเหล่านั้นถูกล่วงละเมิดทางเพศจากผู้ที่เรียกว่าเป็นอาจารย์ แต่เรื่องนี้กลับเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ นานนับ 5 ปี จน คังอินโฮ (แสดงโดย กงยู) ได้เข้ามาสอนและค้นพบเรื่องนี้ จึงนำไปสู่การพยายามเปิดโปงความจริงที่เงียบงันให้สังคมได้รับรู้
วันนี้ Bnomics จึงอยากจะบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ ผ่านมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ ว่าการล่วงละเมิดเด็กนั้นสามารถก่อให้เกิดความสูญเสียเชิงเศรษฐศาสตร์ (Economic Burden) ได้มากมายอย่างไร
📌 ล่วงละเมิดทางร่างกาย...แต่ทำร้ายจิตใจเด็กไปตลอดชีวิต
งานวิจัยมากมายได้พยายามศึกษาผลกระทบของการล่วงละเมิดทางเพศเด็กในระยะยาว ที่นอกเหนือไปจากความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในขณะเกิดเหตุ โดยพิจารณาไปถึงความเสี่ยงที่เด็กอาจเกิดปัญหาทางจิตใจ ร่างกาย และโรคทางพฤติกรรมอย่างรุนแรงตลอดช่วงชีวิต มีโอกาสที่จะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และมีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อซ้ำอีก
ด้วยผลกระทบทางลบเหล่านี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่การล่วงละเมิดทางเพศเด็กจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของเด็กเหล่านั้นลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กผู้หญิงที่มักถูกทารุณได้หลายรูปแบบ
📌 ความสูญเสียเชิงเศรษฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากการล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก
ส่วนใหญ่แล้วการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กมักจะเกิดขึ้นจากคนใกล้ตัวที่เด็กไว้ใจ ทำให้หลายครั้งเรื่องเหล่านี้ถูกปล่อยให้เงียบหายไปโดยไม่คิดว่าจะส่งผลกระทบอะไรในภายหลัง
ความสูญเสียเชิงเศรษฐศาสตร์ (Economic Burden) ที่เกิดจาก การล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก โดย NCANDS
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยหนึ่งของทางสหรัฐฯ ได้รวบรวมข้อมูลการล่วงละเมิดทางเพศเด็กจาก National Child Abuse and Neglect Data System (NCANDS) เพื่อนำมาประเมินผลกระทบออกเป็นต้นทุนในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก
1) ต้นทุนทางด้านสุขภาพ (ด้านร่างกายและจิตใจ)
เนื่องจากการล่วงละเมิดทางเพศเด็กอาจส่งผลให้ค่ารักษาพยายาลผู้ป่วยนอกที่มารับบริการสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น หรือมีการสั่งยาจากแพทย์มากขึ้น โดยเมื่อเปรียบเทียบค่ารักษาพยาบาลระหว่างกลุ่มเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ กับกลุ่มปกติ ที่ช่วงอายุ 11 - 17 ปี พบว่ามีความแตกต่างถึง 2,034 ดอลลาร์สหรัฐฯ (มูลค่าปี 2009) ต่อเหยื่อ 1 คน
เมื่อดูต่อไปถึงผลกระทบเมื่อเด็กเหล่านั้นโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็พบว่าเมื่อเปรียบเทียบกลุ่มผู้หญิงอายุระหว่าง 18 - 64 ปี ที่เคยมีประวัติว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศ มีค่ารักษาพยาบาลต่อปีสูงกว่ากลุ่มที่ไม่เคยมีประวัติดังกล่าวถึง 16% (382 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2004)
2) ความสูญเสียเชิงผลิตภาพ (Productivity Losses)
สะท้อนผ่านรายได้ที่สูญเสียไปของคนที่เคยมีประสบการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็ก ซึ่งพบว่าผู้หญิงที่เคยผ่านเรื่องราวดังกล่าวมาในวัยเด็ก จะมีรายได้ต่ำกว่าผู้หญิงปกติถึง 20.3% และชี้ให้เห็นข้อสรุปเพิ่มเติมที่ว่าการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กผู้หญิงทำให้รายได้ของเหยื่อเหล่านั้น เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ลดลงกว่า 8,271 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ปี 2015) ต่อปี จากอายุ 18 ถึง 64 ปี
เครดิตภาพ : Han Cinema
3) ต้นทุนทางสวัสดิการเด็ก
ในสหรัฐฯ จะมีงบประมาณที่เกี่ยวกับสวัสดิการเด็ก และหนึ่งในนั้น คือ การวางระบบสำหรับคุ้มครองเด็กในระดับชุมชนไม่ให้ถูกกระทำในทางมิชอบ ซึ่งประมาณว่าเหยื่อที่เป็นเด็กกว่า 3.5 ล้านคนในปี 2006 ต้องเข้าไปสู่กระบวนการสอบสวนเกี่ยวกับคดีการถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยประเมินว่าคิดเป็นต้นทุนราว 7,183 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเด็กที่ถูกนำสอบสวน 1 คนในคดีเหล่านี้
4) ต้นทุนทางด้านการเกิดความรุนแรง/อาชญากรรม (การทำร้ายร่างกาย ชิงทรัพย์ ลักทรัพย์)
เครดิตภาพ : imdb
จากงานวิจัยพบว่าผู้ที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็กมีแนวโน้มที่จะก่อคดีทำร้ายร่างกาย ชิงทรัพย์ ลักทรัพย์ และลักเล็กขโมยน้อยมากกว่าคนปกติถึง 12%, 8.3%, 9.8% และ 9.8% ตามลำดับ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า
  • 1.
    1,389 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับคดีทำร้ายร่างกาย
  • 2.
    909 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับคดีชิงทรัพย์
  • 3.
    113 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับคดีลักทรัพย์ และ
  • 4.
    23 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการลักเล็กขโมยน้อย
5) ต้นทุนทางการศึกษา
เด็กที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศส่วนใหญ่มักมีแนวโน้มที่จะต้องเข้ารับการศึกษาพิเศษ (Special Education) ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกายและจิตใจ จากข้อมูลประมาณว่าต้นทุนโดยเฉลี่ยต่อเด็ก 1 คน ที่จะต้องเข้ารับการศึกษาพิเศษต่อปีอยู่ที่ 7,791 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ปี 1998)
6) ต้นทุนจากการฆ่าตัวตาย
จากการศึกษาพบว่า เหยื่อที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็ก มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายในช่วงอายุ 31 ปี โดยเฉลี่ย ซึ่งเมื่อนำไปคำนวณเป็นมูลค่าการสูญเสียชีวิตของผู้ใหญ่ที่อายุ 31 ปี (รวมต้นทุนทางด้านค่ารักษาพยาบาลและผลิตภาพที่หายไป) จะมีมูลค่าความสูญเสียอยู่ที่ 1,965,928 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับเหยื่อเพศชาย และ 1,419,072 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับเหยื่อเพศหญิง
ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก ไม่ใช่แค่เรื่องเล็กๆ ภายในครอบครัว แต่คืออาชญากรรมที่ฝากรอยแผลไว้ในร่างกายและจิตใจของเหยื่อคนหนึ่งไปตลอดชีวิต อีกทั้งยังทำให้สังคมอาจต้องสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพที่จะมาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตไปเลยทีเดียว
หลายครั้งผู้ที่มีหน้าที่ต้องปกป้องเด็ก กลับกลายเป็นคนทำร้ายเด็กเสียเอง เรื่องราวจึงจบลงอย่างเงียบๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผู้กระทำยังคงใช้ชีวิตตามปกติ ในขณะที่ชีวิตของผู้ถูกกระทำไม่มีวันเหมือนเดิม
แม้ว่าหนังเรื่อง Silenced จะมีตอนจบที่แสนสะเทือนใจเช่นนั้น แต่หลังจากที่ได้ออกฉายกลับสร้างแรงสั่นสะเทือนไปสู่สังคมเกาหลีให้เกิดการตั้งคำถามต่อคดีล่วงละเมิดทางเพศ และนำไปสู่การเรียกร้องให้แก้กฎหมายเพื่อเพิ่มบทลงโทษแก่ผู้ล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะในกรณีที่เหยื่อเป็นเด็กและผู้พิการ อีกทั้งยังเกิดการทบทวนเรื่องสิทธิและการดูแลให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานสำหรับคนพิการอีกด้วย (Dogani Law เป็นกฎหมายที่ตั้งขึ้นตามชื่อเกาหลีของหนังเรื่องนี้)
เครดิตภาพ : Han Cinema
สุดท้ายนี้ Bnomics จึงอยากฝากไว้ว่า “การล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่าด้วยวิธีใด ไม่ว่าจะเกิดกับเพศไหน หรือเกิดกับเหยื่อช่วงอายุเท่าใด ถือเป็นอาชญากรรมทั้งสิ้น” แต่สำหรับเด็กที่อาจจะยังไม่เข้าใจ หรือปกป้องตัวเองได้เต็มที่ สิ่งพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับพ่อแม่ คือ การปลูกฝังลูกตั้งแต่เล็กๆ ให้ตระหนักถึงสิทธิในร่างกายของตนเอง รวมถึงไม่ไปละเมิดสิทธิในร่างกายของผู้อื่น และให้เกียรติลูกในฐานะสมาชิกในครอบครัวคนหนึ่ง…เพราะเราเชื่อว่าการปลูกฝังจากจุดเล็กๆ ในครอบครัว จะเป็นพลังยิ่งใหญ่ที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้
#Silenced2011 #หนังเกาหลี #กงยู #การล่วงละเมิดเด็ก #EconomicBurden
#Bnomics #Economic_Edutainment #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
Letourneau, E. J., Brown, D. S., Fang, X., Hassan, A., & Mercy, J. A. (2018). The economic burden of child sexual abuse in the United States. Child abuse & neglect, 79, 413–422.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา