5 พ.ย. 2021 เวลา 12:19 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
“ร่างทรง” อีสาน ความเชื่อเหนือธรรมชาติ กับบทบาทของสวัสดิการรัฐ
1
“ร่างทรง” หนังไทยที่ทำรายได้เปิดตัวสูงสุดแห่งปี และยังได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 94 สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ด้วยเรื่องราวความเชื่อลี้ลับในแถบอีสานที่ทั้งสยองขวัญ และชวนให้ตั้งคำถามตลอดเรื่องว่าอะไรคือ “ความเชื่อ” และ “ความจริง”
3
ร่างทรง (2021)
เพื่อที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้ เราคงต้องย้อนกลับไปที่สถานที่ตั้งต้นของเหตุการณ์ทั้งหมดก่อน นั่นคือ ภาคอีสาน ซึ่งมักจะถูกคนภาคอื่นๆ มองว่าเป็นดินแดนแห่งเรื่องลี้ลับ ดินแดนที่ชาวบ้านยังนับถือผี ประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความเชื่อดั้งเดิมในเกือบทุกกิจกรรมของชีวิต
1
📌 อีสาน...ดินแดนแห่งความลำบาก ท้าทายที่ผู้คนไม่เคยหมดหวัง
อีสาน เรียกได้ว่าเป็นภูมิภาคที่มีประชากรมากที่สุดถึง 22 ล้านคน และก็เป็นภูมิภาคที่รายได้ต่ำที่สุดเช่นกัน หนำซ้ำในประชากร 22 ล้านคนนั้น มีเพียง 4.5 ล้านคนที่อยู่ในเขตตัวเมืองส่วนที่เหลืออยู่ในเขตชนบทที่มีรายได้โดยเฉลี่ยต่ำกว่าเป็นเท่าตัว
3
ขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจรุดหน้า แต่ภูมิภาคที่ดูห่างไกลความเจริญนี้กลับถูกความเป็นเมืองผลักให้ห่างออกไป จนเกิดเป็นความต่างระหว่างภูมิภาค หรือ Regional Disparities ที่เกิดช่องว่างระหว่างตอนภาคกลางของประเทศที่รุ่งเรือง กับภูมิภาคอื่นโดยรอบ
นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากมองว่าความแตกต่างระหว่างภูมิภาคนี้เป็นเรื่องปกติของการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะว่าอุตสาหกรรมใหม่ๆ การลงทุนใหม่ๆ ย่อมต้องไปกระจุกตัวกันอยู่ตรงที่มีถนน ท่าเรือ สนามบิน ไฟฟ้าและการสื่อสาร มีแรงงานฝีมืออยู่เยอะ ซึ่งความแตกต่างนี้เองก็เป็นผลดี
จากอดีตในช่วงทศวรรษที่ 1960 ถึง 1990 ที่อุตสาหกรรมมุ่งเน้นการส่งออกของไทยในแถบภาคกลาง ดึงดูดแรงงานค่าแรงต่ำจากภูมิภาคโดยรอบเข้ามาจึงทำให้ภาคการส่งออกของไทยได้เปรียบในเวลานั้น อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างภูมิภาคนั้นได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับไทยน้อยลงเนื่องจากประเทศค่าแรงถูกอื่นๆ เช่น กัมพูชา บังคลาเทศ เวียดนาม ได้กลายเป็นที่น่าสนใจสำหรับอุตสาหกรรมมูลค่าเพิ่มต่ำแทน ดังที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเชื้อเพลิงหลักในการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
2
จากรายงานของ The Asia Foundation ชี้ให้เห็นว่า คนอีสานมีชีวิตและรายได้ดีขึ้นเพียงเล็กน้อย พวกเขายังคงต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี และยังเป็นกลุ่มเปราะบางต่อการถูกกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำ ครัวเรือนส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาการทำเกษตรแบบไม่มีระบบชลประทานเป็นรายได้หลัก
6
ดังนั้น จึงส่งผลให้เกษตรกรกว่า 8 ล้านคน ในภาคอีสานประสบกับภาวะผลผลิตตกต่ำ เพราะดินไม่ดี และฝนที่ไม่รู้ว่าจะตกเมื่อไหร่ ซึ่งในประเด็นนี้เราจะสังเกตได้อย่างหนึ่งจากที่ป้านิ่ม ผู้เป็นร่างทรงของย่าบาหยันได้เล่าไว้ตอนต้นเรื่องว่า ในการทำพิธีใหญ่ประจำปี สิ่งที่ชาวบ้านจะถามย่าบาหยันก็คือ “ปีนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง” นั่นแสดงให้เราเห็นว่าจากความไม่แน่นอนและสภาพอากาศที่ไม่สามารถคาดเดาได้ที่คนอีสานต้องเผชิญ ร่างทรงจึงเป็นเหมือนทางออกที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเหล่านั้นได้
5
เครดิตภาพ : GDH
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในภาพรวมของการพัฒนา จะเห็นว่าอัตราความยากจนในประเทศไทยค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา แต่ภาคอีสานก็ยังคงตามหลังภาคอื่นอยู่มาก และจากผลสำรวจในรายบุคคลพบว่า 44% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่ารายได้ของตนนั้นคงที่มาหลายปีแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นคนอีสานก็ยังมองโลกในแง่ดีอยู่มากเลยทีเดียว เพราะเกินครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามคิดว่าสถานการณ์ในอนาคตของพวกเขาจะดีขึ้นได้
1
📌 ชีวิตจะดีขึ้นได้อย่างไร หากปราศจากกลไกความช่วยเหลือจากภาครัฐ
เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ในอีสานเป็นเกษตรกร ที่ไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาล บำนาญ เงินช่วยเหลือเมื่อบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ดังนั้นนโยบายภาครัฐที่ช่วยเหลือทางสังคมอย่างครอบคลุม หรือเรียกว่าเป็น โครงข่ายรองรับทางสังคม (Social Safety Net) จากภาครัฐ ถือเป็นหัวใจสำคัญที่เข้ามาช่วยให้คนอีสานมีชีวิตที่ดีขึ้น ตัวอย่างของนโยบายของรัฐที่คนนโยบายที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค นโยบายให้เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และกองทุนหมู่บ้าน
1
นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ถือเป็นนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่คนอีสานส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้มากที่สุด และเป็นโครงการที่ช่วยลดความยากจน ความเหลื่อมล้ำในภูมิภาคนี้ได้อย่างมีนัยสำคัญ
1
ก่อนหน้าที่จะมีนโยบายนี้ มีคนไทยเพียงแค่ 20% เท่านั้นที่มีประกันสุขภาพ และส่วนใหญ่คนที่มีก็จะเป็นลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม ข้าราชการและครอบครัว และคนที่มีเงินมากพอซื้อประกันสุขภาพของเอกชน เมื่อพิจารณาในข้อเท็จจริงนี้ รวมกับที่ว่าคนอีสานส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรอยู่นอกระบบ นโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้ จึงเป็นนโยบายที่ทำให้ชีวิตของคนอีสานดีขึ้นได้จริง ช่วยให้กลุ่มคนรายได้น้อยสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท และลดความไม่เท่าเทียมทางสุขภาพลง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ แต่ยังคงมีปัญหาทรัพยากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรในบางพื้นที่ รวมถึงการจะเดินทางไปโรงพยาบาลในบางเขตพื้นที่ยังเป็นไปได้ยาก และมีค่าใช้จ่ายสูงสำหรับครอบครัวที่ไม่ได้มีรถส่วนตัว หลายๆ ครั้งผู้ป่วยจึงไม่ได้รับการวินิจฉัยได้ทันท่วงที และหลายคนก็ต้องหันไปพึ่งพาวิธีตามความเชื่อในท้องถิ่นของตน
1
เรื่องนี้ ก่อให้เกิดข้อสังเกตอีกอย่างว่า ในอดีตก่อนที่คนอีสานจะเข้าถึงการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล เมื่อมีคนป่วยและการวิธีพื้นบ้านไม่สามารถรักษาได้ (อาจจะเพราะเป็นโรคสมัยใหม่ที่คนยังไม่รู้จัก) จึงถูกผลักให้เป็นอาการที่เกิดจากสิ่งเหนือธรรมชาติที่มองไม่เห็น “ร่างทรง” จึงได้เข้ามามีบทบาทในด้านการช่วยรักษาอาการแปลกประหลาดเหล่านี้ และสืบทอดความเชื่อนี้มาเรื่อยๆ
📌 ความหวังสุดท้าย...ในวันที่จิตใจอ่อนล้า
ดังนั้น จากมุมมองของผู้เขียน สิ่งที่ถูกถ่ายทอดในเรื่องร่างทรง เป็นภาพสะท้อนวิถีชีวิตของชาวอีสานในชนบทห่างไกล ที่ยังถูกผูกติดอยู่กับความเชื่อเรื่องร่างทรงของผีบรรพบุรุษที่คอยปกปักษ์คุ้มครองชาวบ้าน เราจึงได้เห็นภาพการทำพิธีกรรมต่างๆ ตามความเชื่อจากรุ่นสู่รุ่นโดยไม่ได้ตั้งคำถาม
2
เครดิตภาพ : GDH
แง่มุมหนึ่งที่เราตระหนักได้จากเรื่องนี้ คือ ในสังคมชนบทที่ห่างไกลและความช่วยเหลือจากรัฐไปไม่ทั่วถึง เมื่อชาวบ้านไม่สามารถพึ่งพารัฐได้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์และความเชื่อลี้ลับจึงมีพื้นที่ได้งอกเงยเบ่งบานขึ้นมาทำหน้าที่แทน เป็นดั่งที่พึ่งพิงสุดท้ายในวันที่ไร้ความหวังของชาวบ้าน ที่อาจจะดูงมงายเมื่อมองผ่านสายตาคนในเมืองและคนสมัยใหม่ ส่งผลให้คนอีสานถูกมองเป็นกลุ่มคนชายขอบที่ล้าหลัง และเป็นภูมิภาคเต็มไปด้วยความเชื่อทางไสยศาสตร์มาโดยตลอด
1
เครดิตภาพ : GDH
ท้ายที่สุด ไม่ว่าคนดูจะตีความอย่างไร จะสงสัยเหมือนกับป้านิ่มว่าสุดท้ายแล้วย่าบาหยันมีอยู่จริงๆ หรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่ความเชื่อที่ส่งต่อๆ กันมาเท่านั้น
เมื่อเรามองลึกลงไปยังเบื้องหลังของความเชื่อเหล่านี้อาจจะเจอคำตอบที่ว่า การที่ความเจริญกระจายเข้าไปไม่ทั่วถึง ปัญหาสวัสดิการทางสังคมที่ไม่ครอบคลุม และการที่คนอีสานมักถูกกดด้วยวาทกรรมต่างๆ จากคนนอกภูมิภาคและผลักให้กลายเป็นเหมือน “คนอื่น” ในสังคมไทย ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สร้างความเชื่อลี้ลับเหล่านี้ขึ้นมาเช่นกัน...
5
#ร่างทรง #themedium #หนังสยองขวัญไทย #สวัสดิการรัฐ
#Bnomics #Economic_Edutainment #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
1
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
1
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา