12 พ.ย. 2021 เวลา 11:28 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
The Devil Wears Prada : ทำไม “ผู้หญิงเก่ง” ถึง(เลือกที่จะ) “เป็นโสด”?
1
"ชีวิตความรักล่วงหรือยัง ครอบครัวล่มสลายหรือยัง นั่นแหละเป็นสัญญาณว่าเธอจะเจริญก้าวหน้า"
2
เนื่องจากเมื่อวานเป็นวันคนโสด (Singles' Day) วันนี้ Bnomics จึงได้เลือกหนังเรื่องหนึ่งมาเล่าเรื่องราวความโสดผ่านมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ ว่าทำไมผู้หญิงเก่งหลายๆ คนจึงเลือกที่จะเป็นโสด
The Devil Wears Prada (2006)
ถ้าพูดถึงหนังที่เกี่ยวกับชีวิตการทำงาน The Devil Wears Prada คงเป็นหนังที่อยู่ในใจของใครหลายๆ คน เรื่องราวของ มิแรนด้า พรีสท์ลี (เมอริล สตรีพ) บก.นิตยสารแฟชั่นที่ทรงอิทธิพล เธอเป็นผู้หญิงที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเป็นอย่างมาก แต่ความสัมพันธ์ในชีวิตส่วนตัวกลับไม่ค่อยดีนัก และแอนเดรีย แซคส์ (แอนน์ แฮ็ทธาเวย์) นักศึกษาจบใหม่ไฟแรงที่ไม่เคยสนใจเรื่องแฟชั่นมาก่อน เธอได้รับตำแหน่งผู้ช่วยของมิแรนด้า ตำแหน่งที่หญิงสาวนับล้านคนยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มา..แต่เมื่อเธอเข้ามาทำงานถึงได้รู้ว่าในความสำเร็จที่หลายคนใฝ่ฝัน อาจต้องแลกมาด้วยชีวิตส่วนตัวที่ล่มสลาย
1
📌 ความย้อนแย้งของหน้าที่การงานกับหน้าที่ในบ้าน...ในวันที่โลกเปลี่ยนไปแล้ว
ด้วยวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ตีกรอบให้ผู้หญิงและผู้ชายมีหน้าที่แตกต่างกันออกไป บทบาทของผู้ชาย คือการออกไปทำงานที่มีระบบ และมีค่าตอบแทน ส่วนผู้หญิงต้องรับผิดชอบเรื่องการดูแลในบ้าน กรอบแนวคิดนี้เอง ที่ไปส่งผลกับกิจวัตรและการกระทำต่างๆ ของผู้หญิงกับผู้ชาย ถ้ายกตัวอย่างตามกรอบแนวคิดข้างต้น การทำงานออฟฟิศติดต่อกัน 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 5 วันต่อสัปดาห์ จะเป็นเรื่องปกติตามแนวคิดบทบาทของผู้ชายที่สังคมคาดว่าควรจะเป็น แต่จะกลายเป็นเรื่องไม่ง่ายนักสำหรับผู้หญิง ที่ต้องบริหารเวลาทำงานประจำในออฟฟิศไปพร้อมกับการแบกรับภาระในบ้าน ซึ่งปัญหานี้เรียกว่า “Double Shift” หรือภาระสองทาง
เครดิตภาพ : 20th Century Fox
ปัญหาความย้อนแย้งของบทบาทหน้าที่ในสังคมที่มักจะต้องพึ่งพาผู้หญิงให้รับผิดชอบดูแลภายในบ้าน ได้รับการยืนยันในงานวิจัยหลายชิ้น และปัญหานี้จะหนักขึ้นทันทีเมื่อมีลูก ถึงแม้ว่าในบางประเทศทั้งพ่อและแม่สามารถลางานมาเลี้ยงลูกหลังคลอดได้ แต่ภาระยังคงตกอยู่ที่ผู้หญิงมากกว่าอยู่ดี ดังนั้นหากอยากจะก้าวหน้าในอาชีพได้ ผู้หญิงจึงจำเป็นจะต้องพิสูจน์ความสามารถของตัวเองในที่ทำงานมากกว่าผู้ชาย
📌 ต้นทุนทางสังคมของการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน
จากงานวิจัยของ คุณ Miree และคุณ Frieze พบว่า การมีลูกนั้นส่งผลทางลบกับหน้าที่การงานของผู้หญิง ในขณะที่อาจจะเป็นผลทางบวกสำหรับผู้ชาย โดยจำนวนของลูก และช่วงเวลาที่มีลูกจะมีผลกับเงินเดือนของผู้หญิง หากมีลูกเร็ว (อายุ 20 - 27 ปี) มีโอกาสที่เงินเดือนจะน้อยลงไป 4% เมื่อเทียบกับการมีลูกหลังจากช่วงเวลานั้น เพราะในช่วงอายุ 20 -27 ปี เป็นช่วงเวลาที่สำคัญในหน้าที่การงาน และเป็นเหมือนโอกาสทองในการเก็บเกี่ยวประสบการณ์และคอนเนคชั่นในสายงาน
2
ผู้หญิงหลายคนที่เพิ่งจะเริ่มต้นทำงานจึงมีแนวโน้มที่จะเลื่อนการแต่งงานและการมีลูกออกไปก่อน เนื่องจากความกังวลว่าจะต้องออกจากงานไปดูแลลูก หรือทำให้โอกาสจะได้ตำแหน่งสูงๆ นั้นหลุดลอยไป เพราะผู้หญิงหลายคนที่ออกไปเลี้ยงลูก เมื่อกลับมาก็มักจะอยู่ในตำแหน่งต่ำกว่าเดิมหรือเท่าเดิม
เครดิตภาพ : 20th Century Fox
เมื่อรวมประเด็นเรื่องกรอบแนวคิดที่กำหนดบทบาทระหว่างเพศ และผลกระทบทางรายได้ที่เกิดขึ้นจากการมีลูกแล้ว ต้นทุนทางสังคมในการที่จะประสบความสำเร็จในอาชีพสำหรับผู้หญิงนั้นมีราคาที่ต้องจ่ายสูงกว่าผู้ชายมาก และนี่ไม่นับรวมปัญหาการเลือกปฏิบัติในหน่วยงาน ตำแหน่งงาน หรือในเรื่องของ Glass Ceiling (ถ้าอยากเข้าใจให้มากขึ้น ลองเข้าไปอ่านบทความเรื่อง Kim Ji Young, Born 1982 ที่ Bnomics เคยเขียนไว้ได้ค่ะ)
📌 อยากประสบความสำเร็จในอาชีพหรือในความสัมพันธ์?...ทางแยกที่ต้องเลือก
งานวิจัยหนึ่งที่ถูกตีพิมพ์ลงใน American Economic Journal ได้ใช้โมเดลเศรษฐมิติ เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับเลื่อนตำแหน่งกับความยั่งยืนของการแต่งงาน โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานกับภาครัฐ ประกอบด้วย นายกเทศมนตรีและสมาชิกรัฐสภา กับอีกกลุ่มหนึ่ง คือ คนที่ทำงานภาคเอกชน
ซึ่งงานวิจัยนี้พบว่าผู้หญิงที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นระดับ CEO มีโอกาสที่จะหย่าร้างในช่วง 3 ปีหลังจากนั้นเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เมื่อเทียบกับผู้ชาย
สำหรับผู้ที่ทำงานกับภาครัฐพบว่า มีผู้หญิง 75% ที่ยังอยู่กับคู่สมรส ใน 8 ปีต่อมา หลังจากได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีและสมาชิกรัฐสภา เมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิงที่ไม่ได้รับตำแหน่ง ที่ยังคงอยู่กับคู่สมรสถึง 85% ส่วนอาชีพแพทย์ หรือตำรวจ ก็พบลักษณะคล้ายๆ กัน คือ เมื่อผู้หญิงได้รับตำแหน่งสูงขึ้น มีโอกาสที่เธอจะหย่าร้างมากขึ้น อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ไม่พบว่าผู้ชายได้รับผลกระทบจากการเลื่อนตำแหน่งเช่นเดียวกับที่ผู้หญิงเผชิญ
นอกจากนี้ การศึกษายังได้ขยายผลเพิ่มเติมว่า การหย่าร้างหลังจากได้รับเลื่อนตำแหน่งของผู้หญิงนั้นจะพบมากในคู่รักที่ตั้งอยู่ในกรอบทัศนคติทางเพศแบบดั้งเดิม คู่รักที่มีอายุต่างกันมาก และคู่ที่มีการใช้สิทธิลาไปทำหน้าที่พ่อแม่ (Parental Leave) หนักไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในขณะที่คู่รักที่ตั้งอยู่บนความเท่าเทียมทางเพศที่มากกว่า มีโอกาสที่จะหย่าร้างน้อยกว่าหลังได้รับเลื่อนตำแหน่ง ผลลัพธ์นี้ยังชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่ยากจะแก้ปัญหาได้ระหว่างรูปแบบของคู่รัก กับ Glass Ceiling ของผู้หญิงในตลาดแรงงาน ด้วยเหตุนี้เราจึงได้เห็นหลายคนที่ยอมเสียสละความสัมพันธ์ในชีวิตส่วนตัวเพื่อแลกกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
1
เครดิตภาพ : 20th Century Fox
ต้องขอบอกก่อนว่า ผู้เขียนมองว่าการเลือกที่จะเป็นโสด หรือหย่าร้าง ไม่ใช่ความผิดหรือความล้มเหลวของชีวิต เพราะทุกคนล้วนต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อตัวเองอยู่แล้ว (ตามที่ใจของตนจะปรารถนา)
2
แต่สิ่งที่สำคัญคือ ไม่ควรมีใครต้องแบกรับต้นทุนของการเติบโตในหน้าที่การงานด้วยการสูญเสียความสัมพันธ์ที่ดีในชีวิตไป เพราะว่าชีวิตไม่ได้มีแค่การทำงานอย่างเดียว แต่ยังมีด้านอื่นๆ ด้วย เหมือนอย่างที่ในหนังเรื่องนี้ได้ทำให้เราเห็นพัฒนาการของแอนเดรีย จากที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับแฟนและกลุ่มเพื่อน แต่เมื่อเธอพยายามพัฒนาตัวเองให้ก้าวหน้าและเป็นที่ยอมรับในที่ทำงาน กลับต้องแลกมาด้วยการที่ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับคนเหล่านั้นเริ่มจางหายไป
ทั้งนี้ ในงานวิจัยยังได้เสนอแนะถึงการปรับให้ทั้งภาครัฐและเอกชน สนับสนุนบทบาทในการทำงานและบทบาทในครอบครัวของพนักงานทั้งชายและหญิงไปพร้อมๆ กัน เพื่อไม่ให้เพศใดเพศหนึ่งต้องแบกรับต้นทุนของความก้าวหน้าในหน้าที่การงานด้วยความสัมพันธ์ในชีวิตส่วนตัว อีกทั้งการสนับสนุนให้พนักงานมีชีวิตที่ดี มี Work-life balance หรือ Work-life integration ยังช่วยให้พนักงานสามารถจัดสรรเวลาและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับองค์กรในระยะยาวอีกด้วย
3
เครดิตภาพ : 20th Century Fox
#TheDevilWearsPrada #MerylStreep #AnneHathaway #EmilyBurnt #หนังดัง #SingleDay #WorkingWomen #11thnovember
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
Folke, Olle & Rickne, Johanna. (2020). All the Single Ladies: Job Promotions and the Durability of Marriage. American Economic Journal: Applied Economics. 12. 260-287. 10.1257/app.20180435.
Tower, L. E., & Alkadry, M. G. (2008). The Social Costs of Career Success for Women. Review of Public Personnel Administration, 28(2), 144–165. https://doi.org/10.1177/0734371X08315343
Guy, M. (2003). The difference that gender makes. In S. W. Hays & R. C. Kearney (Eds.), Public personnel administration: Problems and prospects (pp. 265-269). Upper Saddle, NJ: Prentice Hall.
Miree, C. E., & Frieze, I. H. (1999). Children and careers: A longitudinal study of the impact of young children on critical career outcomes of MBAs. Sex Roles, 41(11/12), 787-808.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา