19 พ.ย. 2021 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Fast Fashion อุตสาหกรรมสร้างรายได้แต่ทำร้ายโลก ผ่านซีรี่ย์ Now we are breaking up
“แม้ว่าแฟชั่นดีไซเนอร์จะหวังอยากสร้างผลงานคลาสสิกที่จะคงอยู่ตลอดกาล พวกเขาก็ยังคงต้องตามเทรนด์ที่เปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ ความรักก็เหมือนกัน”
ขึ้นชื่อว่าแฟชั่น ก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรวดเร็วอยู่แล้ว แต่ความสวยงามที่มาไวไปไวเช่นนี้ แลกมาด้วยผลกระทบในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการกดขี่แรงงาน ซึ่งวันนี้ Bnomics จะขอนำเรื่องของอุตสาหกรรม Fast Fashion มาเล่าในแง่มุมต่างๆ ผ่านซีรีส์เรื่อง Now we are breaking up ที่เล่าเรื่องความรักและการเลิกรา โดยมีฉากหลัง คือ อุตสาหกรรมแฟชั่น และเผยให้เห็นถึงการทำงานในวงการแฟชั่นที่แสนจะท้าทายและมีอะไรเปลี่ยนแปลงได้ทุกเวลา...ความรักก็เช่นกัน
📌 อุตสาหกรรมแฟชั่นของเกาหลีใต้
ในช่วงทศวรรษที่ 1970 บริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ได้ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมแฟชั่น และภายใน 40 ปีต่อมา ก็ได้ช่วยให้อุตสาหกรรมนี้ขยายตัวจนสร้างเงินได้มากกว่า 20 ล้านล้านวอนต่อปี อย่างที่เราทราบกันดีว่ากลุ่มแชโบล (Chaebols) อย่าง Samsung, Lotte, Hyundai และ LG ได้ควบคุมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเอนเตอร์เทนเมนท์ในเกาหลีใต้มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 รวมไปถึงอุตสาหกรรมค้าปลีกและธุรกิจแฟชั่นด้วยเช่นกัน
เครดิตภาพ : hancinema.net
ที่เกาหลีใต้จะมีย่านทงแดมุนในกรุงโซล ซึ่งเป็นเขตแฟชั่นขนาดใหญ่ มีทั้งผู้ค้าส่งและผู้ผลิตอยู่บริเวณนั้น นั่นจึงทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นในย่านนั้นเติบโต เสื้อผ้าที่มาจากไอเดียของดีไซน์เนอร์ที่อยู่บนชั้นวางในร้านแถวนี้ ภายในไม่กี่วันต่อมาก็จะกลายเป็นสิ่งที่หาได้ทั่วไปในเว็บไซต์ช็อปปิ้งออนไลน์ แล้วด้วยความที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว จึงมีสตาร์ทอัพทางด้านแฟชั่นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีถือกำเนิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้การช็อปปิ้งออนไลน์ได้กลายเป็นช่องทางสำคัญของอุตสาหกรรมแฟชั่นทั้งในและต่างประเทศ จึงไม่น่าแปลกที่ในทุกวันนี้เราจะเห็นร้านขายเสื้อผ้าออนไลน์ในไทยที่เน้นขายเสื้อผ้าเกาหลี หรือเสื้อผ้าสไตล์เกาหลี ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
เครดิตภาพ : hancinema.net
📌 Fast Fashion ความสวยแบบฉาบฉวยที่มาไวไปไว
แต่ก็อย่างที่บอกว่าแฟชั่นนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว คนที่อยากจะตามแฟชั่นให้ทันก็มักจะนิยมซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นราคาถูกๆ ที่บางทีก็ใส่ถ่ายรูปแค่ครั้งเดียวและไม่กลับมาใส่อีกเลย อุตสาหกรรม Fast Fashion จึงได้เกิดขึ้นในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมานี้ เพื่อตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการเสื้อผ้าตามสมัยนิยมในราคาถูกๆ
มูลค่าคาดการณ์ตลาด Fast Fashion ทั่วโลก
Fast Fashion มีความหมายอย่างตรงตัวเลยคือ เสื้อผ้าแฟชั่นตามกระแสที่นำรูปแบบไอเดียจากเสื้อผ้าตามแคทวอร์ค หรือจากคนดัง แล้วนำมาดัดแปลงให้เป็นรูปแบบของเสื้อผ้าที่ขายกันตามร้านค้าริมถนนอย่างรวดเร็วในราคาที่จับต้องได้ เพื่อตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภค
ในช่วงทศวรรษที่ 1990 และ 2000 แฟชั่นต้นทุนต่ำก้าวเข้าสู่จุดสูงสุด เมื่อเริ่มเข้าสู่ขาขึ้นของการช็อปปิ้งออนไลน์ ร้านค้าปลีกที่เป็น Fast Fashion อย่างแบรนด์ H&M, Zara, และ Uniqlo ก็ได้เข้ามายึดครองพื้นที่ High-street fashion ด้วยรูปลักษณ์และดีไซน์ที่คล้ายกับแบรนด์แฟชั่นระดับบน แต่ผลิตออกมาได้อย่างรวดเร็วกว่าและราคาต่ำกว่า
📌 ผลกระทบของ Fast Fashion ต่ออุตสาหกรรมแฟชั่น เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
Fast Fashion มีผลต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก และมีส่วนอย่างมากต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมแฟชั่นเครื่องแต่งกาย มีการจ้างงานกว่า 300 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมาจากประเทศยากจน และมักจะทำการผลิตในประเทศที่ค่าแรงต่ำ
แน่นอนว่าการที่ต้นทุนต่ำ ส่งผลให้บริษัทสามารถขายเสื้อผ้าในราคาถูกได้ Fast Fashion จึงเป็นเหมือนส่วนหลักๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมแฟชั่น อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางลบนั้น เริ่มจะแสดงออกมาให้เราเห็นชัดขึ้นในปัจจุบัน เพราะแม้ว่าต้นทุนการผลิตจะต่ำ แต่ต้นทุนต่อสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และโลก ไม่ได้น้อยอย่างที่คิด
เครดิตภาพ : copensocietyfoundations.org
การจะผลิตเสื้อผ้าสักตัวหนึ่ง สำหรับอุตสาหกรรม Fast Fashion ก็มักจะต้องไปตั้งฐานการผลิตในประเทศที่ค่าแรงต่ำ เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนดในประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ แรงงานเหล่านี้จึงมักจะถูกกดค่าแรงและไม่ได้รับสิทธิ หรือความปลอดภัยอย่างเพียงพอในที่ทำงาน ซึ่งส่งผลต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต
นอกจากนี้อุตสาหกรรม Fast Fashion ยังใช้น้ำกว่า 1 ใน 10 ของน้ำที่ใช้กันในอุตสาหกรรมทั่วโลก เพื่อนำมาดำเนินการในโรงงานและทำความสะอาดผลิตภัณฑ์ พูดให้เห็นภาพง่ายๆ คือ จะต้องใช้น้ำประมาณ 3,000 ลิตร เพื่อจะผลิตเสื้อเชิ้ตคอตตอนสักตัว และเพื่อที่จะทำให้ราคาต่ำ ผู้ผลิตจึงมักจะใช้เส้นใยโพลีเอสเตอร์ ซึ่งปล่อยคาร์บอนมากกว่าฝ้ายและยังย่อยสลายได้ยาก ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศทางทะเล ยิ่งไปกว่านั้น ในกระบวนการย้อมสีสิ่งทอ ยังใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายและสุดท้ายสารเคมีนั้นก็ไปจบลงในมหาสมุทร และในหลายๆ กรณีที่เคยเกิดขึ้น น้ำที่เต็มไปด้วยสารเคมีของเสีย ไม่สามารถทำให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีกแล้ว
เครดิตภาพ : ©Ded Mityay
และด้วยราคาที่ถูก ผู้บริโภคจึงรู้สึกไม่เสียดายเงินที่จะซื้อใหม่อยู่เรื่อยๆ จากข้อมูลในปี 2019 รายงานล่าสุดพบว่ามีเครื่องแต่งกาย 62,000,000 เมทริกซ์ตัน ที่ถูกบริโภคทั่วทั้งโลก ในช่วงทศวรรษก่อนหน้านี้ จำนวนการซื้อเสื้อผ้าเหล่านี้เพิ่มขึ้นสูงลิ่ว แม้ว่าจะมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจก็จริง แต่เพราะว่ามันเป็นเสื้อผ้าที่มีคุณภาพต่ำ ขาดง่ายหลังจากที่ซักไม่กี่ครั้งจึงทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการซื้อเสื้อผ้าใหม่อีก แล้วก็วนเป็นวงจรเช่นเดิม
กว่า 57% ของเสื้อผ้าที่ถูกทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นเพราะใส่ไม่ได้หรือเพราะมันไม่ทันสมัยแล้ว ก็มักจะลงเอยที่อยู่ที่หลุมฝังกลบขยะ เมื่อเริ่มมีขยะกองรวมกันมากเข้าก็ค่อยย้ายไปพื้นที่เผา ซึ่งกระบวนการนี้ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในบริเวณใกล้เคียงอยู่หลายประการ เนื่องจากมีการปล่อยสารพิษหรือก๊าซพิษจำนวนมากจากการเผาฝังกลบ ถึงแม้จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สร้างตัวกรองเพื่อดักจับมลพิษ แต่มันก็ยังคงมีสารตกค้างอยู่และมักจะกลายเป็นสารอันตราย ซึ่งต่อมาจะกลับสู่หลุมฝังกลบและทำให้อากาศเสียเพิ่มขึ้นอีก
ในปัจจุบัน ผู้บริโภคมีการตระหนักถึงผลกระทบเหล่านี้มากยิ่งขึ้น อย่างในไทยก็มีแคมเปญ #Wearวนไป ที่หมายถึง การสนับสนุนให้ทุกคนใส่เสื้อซ้ำๆ และไม่ซื้อเสื้อผ้าบ่อยเกินความจำเป็น ไม่ต้องคอยซื้อเสื้อผ้าให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลาแล้วท้ายที่สุดก็ใส่แค่ไม่กี่ครั้ง ส่วนแบรนด์เสื้อผ้าบางแบรนด์อย่าง H&M ก็เริ่มมีแนวคิดที่จะผลิตเสื้อผ้าแบบยั่งยืนและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ผ่านการปรับใช้โมเดล Circular Fashion System หรือระบบแฟชั่นแบบหมุนเวียน
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอยกประโยคหนึ่งที่ในซีรีส์เรื่องนี้ได้หยิบมาจากประโยคอมตะของคุณโคโค ชาแนล ผู้ก่อตั้งแบรนด์หรูเหนือกาลเวลาอย่าง Chanel
ต่อจากนี้เราคงต้องมีสติให้มากขึ้นในการช็อปปิ้งแต่ละครั้ง เลิกตามแฟชั่นมากจนเกินไป ได้เวลา Breaking up กับ Fast Fashion เพื่อโลก และเพื่อตัวเราเองแล้วค่ะ
Fashion comes and goes but style lasts forever. – Coco Chanel
#Nowwearebreakingup #ซีรี่ส์เกาหลี #ซงเฮเคียว #จางกียง #FastFashion #ธุรกิจแฟชั่น
#Bnomics #Economic_Edutainment #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา