26 พ.ย. 2021 เวลา 16:26 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
Escape from Mogadishu : เศรษฐกิจโซมาเลียเป็นอย่างไรในวันที่รัฐบาลล่มสลาย
1
ลองจินตนาการดูว่าจู่ๆ วันหนึ่งรัฐในประเทศที่คุณอยู่หายไป เศรษฐกิจ บริการทางสังคม ตลาดแรงงานพังทลายลง ไม่มีสถาบันการเงินหลักอีกต่อไป สกุลเงินที่ใช้อยู่ไม่มีธนาคารกลางรับประกันระบบสาธารณูปโภคใช้งานไม่ได้ ข้าราชการและนักการเมืองก็หนีออกจากประเทศที่ล่มสลายนี้ไป คุณคิดว่าความเป็นอยู่ของคนในประเทศจะเป็นอย่างไร
1
Escape from Mogadishu (2021)
ภาพเหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่จินตนาการ แต่เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนสงครามกลางเมืองปะทุในโซมาเลีย เมื่อปี 1991
วันนี้ Bnomics จึงจะพาทุกท่านไปย้อนดูเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโซมาเลีย ผ่านหนังเรื่อง Escape from Mogadishu ที่อ้างอิงมาจากเหตุการณ์จริงเกี่ยวกับการหลบหนีออกนอกประเทศของนักการทูตเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ในขณะนั้น ซึ่งหนังเรื่องนี้ถือเป็นหนังฟอร์มยักษ์ที่ถูกเลือกให้เข้าชิงรางวัลออสการ์ปีหน้าอีกด้วย
บน : ท่านฑูตฮันซินซอง (รับบทโดย คิมยุนซอก) ล่าง : ที่ปรึกษาคังแทจิน (รับบทโดย โจอินซอง)
📌 เบื้องหลังการล่มสลายของรัฐบาลโซมาเลียในปี 1991
ต้องเล่าก่อนว่าในช่วงปี 1970 ภายใต้การบริหารแบบเผด็จการของคุณ Siad Barre รัฐบาลมีอำนาจในการควบคุมชาวโซมาเลียในเกือบทุกด้าน รวมถึงเสรีภาพในการสื่อสาร มีหนังสือพิมพ์เพียงเจ้าเดียวที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาล วิทยุและโทรทัศน์ก็ต้องผ่านการเซนเซอร์อย่างเต็มรูปแบบ
ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970 การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจถูกขัดขวางด้วยเหตุผลใดก็ตามจากรัฐ การพัฒนาต่างๆ ถูกจำกัดโดยนโยบายสังคมนิยมของรัฐบาลที่คอยออกคำสั่งภาคส่วนอื่นๆ รวมถึงควบคุมอุตสาหกรรมภายในประเทศ
การที่ไปควบคุมอุตสาหกรรมเหล่านี้เอง ทำให้เกิดการดำเนินการอย่างไร้ประสิทธิภาพขึ้น ตัวอย่างเช่น ในระหว่างปี 1984 ถึง 1988 โรงงานผลิตเนื้อที่รัฐบาลเป็นเจ้าของชื่อว่า Kismayo Meat ได้เปิดทำการเพียง 3 เดือนต่อปีเท่านั้น นอกจากนี้รัฐบาลยังเป็นเจ้าของโรงงานฟอกหนัง ซึ่งจ่ายเงินให้ผู้เลี้ยงสัตว์น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของราคาตลาด เพื่อนำมาแปรรูปในโรงงาน ซึ่งบริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของเหล่านี้ส่วนใหญ่จะทำงานได้เพียงเศษเสี้ยวของกำลังการผลิตจริงๆ ที่มีเท่านั้น ว่ากันว่า กำลังการผลิตของบริษัทในโซมาเลียในตอนนั้น อยู่ที่เพียงแค่ 20%
ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ภาครัฐเริ่มล่มสลายลงไปอย่างมาก และการจัดหาสินค้าและบริการจากรัฐให้แก่ประชาชนก็เริ่มย่ำแย่ เศรษฐกิจนอกระบบจึงขยายตัวอย่างรวดเร็วและเข้ามาเติมเต็มในช่องว่างเหล่านี้ จนถึงขนาดที่กลางทศวรรษที่ 1980 เศรษฐกิจนอกระบบกลายเป็นสัดส่วนใหญ่ของนายจ้าง อีกทั้งยังเป็นคนจัดหาบริการทางสุขภาพ การศึกษา และบริการทางการเงิน ที่โดยปกติจะเป็นบริการที่ผูกขาดโดยรัฐ
3
รัฐบาลในตอนนั้นก็ได้สร้างเงินเฟ้อขึ้นมา เพื่อหาเงินมา เพื่อสนับสนุนโครงการที่ไม่ค่อยมีความโปร่งใสต่างๆ ในระหว่างปี 1983 ถึง 1990 ค่าเงินของโซมาเลียอ่อนค่าเกิน 100% เมื่อเทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ในบางปีอ่อนค่าเกินกว่า 300% เลยด้วยซ้ำ แน่นอนว่า Hyperinflation ได้ทำลายเศรษฐกิจ เงินออมของประชาชนที่ทะยอยเก็บเล็กผสมน้อยมาตลอดก็หมดค่าลงไปในพริบตา
1
📌 เกิดอะไรขึ้นกับโซมาเลีย เมื่อเมืองโมกาดิชูแตกในปี 1991
ในปี 1988 สงครามกลางเมืองเริ่มปะทุขึ้นทางตอนเหนือของประเทศ จนกระทั่งในเดือนมกราคม ปี 1991 คุณ Siad Barre ผู้นำรัฐบาลเผด็จการได้ถูกขับออกนอกประเทศ ทำให้โซมาเลียอยู่ในภาวะไร้รัฐ และหลังจากนั้นก็ได้เกิดสงครามกลางเมืองครั้งที่ 2 และอีกหลายๆ ครั้งต่อมาเพื่อแย่งชิงอำนาจกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ผลจากสงครามนั้นทำให้เศรษฐกิจโซมาเลียต้องถอยหลังลงคลองอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านความสามารถในการสร้างผลิตผลของเศรษฐกิจ ผู้คนกว่า 350,000 คน ต้องจบชีวิตลงเพราะความเจ็บป่วย การขาดแคลนอาหาร และภาวะสงคราม
ในปี 1991 เกิดการต่อสู้กันอย่างหนักระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนคุณ Ali Mahdi (Abgal) และกลุ่มผู้สนับสนุนคุณ Aideed (Habar Gidir) มีการใช้อาวุธหนักทุกชนิด ยิงกระสุนปืนกันตามอำเภอใจ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และอพยพพลัดถิ่นเป็นจำนวนมาก
ในตอนนั้นเองเมืองโมกาดิชู ที่เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดและเป็นเมืองหลวงของโซมาเลีย ก็ได้ถูกทำลายและแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยมีเส้นแบ่งเขตแดนที่เรียกว่า “เส้นเขียว”
📌 โซมาเลียในวันที่ไร้รัฐบาล
อันที่จริง การที่รัฐบาลล่มสลายลง กลับกลายเป็นโอกาสที่ดีสำหรับตลาดภายในประเทศ เพราะภายใต้นโยบายทางเศรษฐกิจที่กดขี่ มีข้อจำกัดและการแทรกแซงตลาดมากเกินไป อีกทั้งเจ้าหน้าที่ที่ทำการทุจริตในยุคของคุณ Siad Barre ก็หายไปพร้อมกับการล่มสลายของรัฐ อย่างน้อยที่สุดก็จนถึงกลางปี ​​1995 ที่ตลาดในประเทศแทบไม่มีกฎระเบียบและระบบราชการมาคอยควบคุม ไม่มีการผูกขาดของรัฐ และไม่มีการแทรกแซงของรัฐในตลาดเพื่อบริหารราคาสินค้า หรือควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเลย
2
หลังจากเกิดสงครามกลางเมืองในปี 1991 โซมาเลียก็อยู่กันแบบไร้รัฐ (Statelessness) กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ก็ตกไปอยู่ในตลาดนอกระบบที่มีอยู่ ตลาดภายในประเทศนี้เองที่เป็นตัวกลางอำนวยความสะดวกในการส่งเงินเข้ามาจากต่างประเทศ การแลกเปลี่ยนสกุลเงินและสินค้า รวมถึงการให้บริการทางการเงินต่างๆ
เมื่อไม่มีการควบคุมจากภาครัฐ ความช่วยเหลือจากต่างประเทศรวมถึงภาคธุรกิจต่างๆ ก็หลั่งไหลเข้ามาให้โอกาสชนชั้นทางธุรกิจใหม่ๆ ได้สะสมความมั่งคั่ง
เศรษฐกิจโซมาเลียสามารถพัฒนาต่อไปได้แม้ว่าจะปราศจากรัฐบาล ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้พัฒนาเท่ากันทุกพื้นที่ก็ตาม ในบางพื้นที่ เศรษฐกิจท้องถิ่นฟื้นฟูไปอย่างมาก โดยมีการค้าโคข้ามพรมแดนกับเคนย่าเป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตนี้ การปศุสัตว์ถือเป็นภาคส่วนที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโซมาเลีย คิดเป็น 40% ของ GDPโซมาเลีย และเป็น 65% ของการส่งออกเลยทีเดียว
ทางด้านการศึกษาเองก็ได้รับประโยชน์จากการไร้รัฐบาล โรงเรียนประถมในโซมาเลียเพิ่มขึ้นจากตอนมีรัฐบาลเป็นเท่าตัว จากที่ในปี 1990 มีเพียง 600 แห่ง กลับเพิ่มเป็นเกือบ 1,200 แห่ง หลังจากไม่มีรัฐบาล
อาจกล่าวได้ว่า ภาวะไร้รัฐที่เกิดขึ้นกับโซมาเลียในปี 1991 เป็นการเปิดประตูไปสู่โอกาสในการพัฒนาสิ่งต่างๆ ที่ไม่สามารถทำได้เมื่อครั้งที่ยังมีรัฐบาลปกครองอยู่ โดยเน้นแนวทางที่ผิดคือ การกำกับจากส่วนกลาง ซึ่งการที่เศรษฐกิจมีพัฒนาการที่ดี สินค้าสาธารณะได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น เป็นสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นได้เมื่อไม่มีการผูกขาดและการคอร์รัปชั่นในระดับรัฐ
อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ไม่ได้แปลว่าโซมาเลียแบบไม่มีรัฐจะดีกว่าอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐแบบเดิมไปทั้งหมด เพราะการที่รัฐมีอำนาจ แต่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยไม่ทำอะไรเกินขอบเขต แต่ก็มีอำนาจพอที่จะสนับสนุนภาคเอกชนให้เป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น ย่อมดีกว่าการอยู่แบบไร้รัฐเป็นแน่ อีกทั้งถึงแม้โซมาเลียในวันที่ไร้รัฐ จะมีความพัฒนาในหลายๆ ด้าน ก็ไม่ได้แปลว่าหากปล่อยให้ไร้รัฐต่อไปเช่นนั้น การพัฒนาต่างๆ จะดำเนินต่อไปได้ด้วยดีอยู่ตลอด เพราะท้ายที่สุดแล้วโซมาเลียก็ต้องการการพัฒนาไปอีกระดับที่มากกว่านั้น ซึ่งก็จำเป็นที่จะต้องมีรัฐบาลกลางเข้ามาเป็นกลไกทำให้การพัฒนานั้นเกิดขึ้นได้อยู่ดี
4
อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับ 'Hyperinflation เงินเฟ้อขั้นรุนแรง'
#Escape_from_Mogadishu #ซีรี่ส์เกาหลี #โซมาเลีย
#Bnomics #Economic_Edutainment #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
Mubarak, J. A. (1997). The "hidden hand" behind the resilience of the stateless economy of Somalia. World development : the multi-disciplinary international journal devoted to the study and promotion of world development, 25(12), .
Webersik, C. (2006). Mogadishu: An Economy without a State. Third World Quarterly, 27(8), 1463–1480.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา